fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

ทำความรู้จัก ‘Yamashi Jewelry’ งานฝีมือเก่าแก่สุดประณีตจากจังหวัดยามานาชิ
date : 7.กันยายน.2018 tag :

เราเชื่อว่าประเทศญี่ปุ่นคืออีกหนึ่งเดสทิเนชั่นของนักเดินทาง และการได้เห็นภูเขาไฟฟูจิก็เป็นหนึ่งใน ‘To do list’ ที่ต้องทำให้ได้สักครั้งในชีวิต แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า ณ เมืองที่อยู่แนบชิดกับภูเขาไฟฟูจิ อย่าง จังหวัดยามานาชิ (Yamanashi) มีงานคราฟต์จากฝีมือชาวบ้านท้องถิ่นซึ่งเก่าแก่และมีเรื่องเล่าซ่อนอยู่ไม่แพ้ที่ไหนในประเทศญี่ปุ่นเลยล่ะ

ยามานาชิเป็นเมืองเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ภูเขาไฟฟูจิ และโชคดีเหลือเกินธรรมชาติได้เสกที่นี่ให้เป็นแหล่งกำเนิดแร่คริสตัลเปี่ยมคุณภาพมาอย่างยาวนาน จนทำให้เมืองนี้สามารถผลิตเครื่องประดับคริสตัลและพัฒนาศักยภาพในการผลิตอัญมณีอื่นๆ กระทั่งได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองผลิตอัญมณีอันเลอค่าของประเทศญี่ปุ่น’ ที่มีความโดดเด่นเหนือเมืองอื่นๆ เนื่องจากดำเนินอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ไม่ว่าจะด้านการวางแผน การออกแบบ การจัดหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และการจำหน่าย ซึ่งทุกกระบวนการล้วนเกิดขึ้นที่เมืองยามานาชิแห่งนี้

อุตสาหกรรมจิวเวลรีของเมืองยามานาชิเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1800 จกานั้นก็กลายเป็นแหล่งผลิตจิวเวลรีชั้นนำของญี่ปุ่นที่ได้รับความเชื่อถือคุณภาพระดับสากลมาจนถึงปัจจุบัน ศักยภาพและความเชี่ยวชาญที่เพียบพร้อมในด้านการผลิตจิวเวลรีของย่านนี้ ทำให้ธุรกิจจิวเวลรีของยามานาชิเป็นแหล่งส่งออกจิวเวลรีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น เพราะนอกจากฝีมือที่ยอดเยี่ยมของช่างฝีมือ ซึ่งเป็นเสมือนมรดกที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นแล้ว เหล่าช่างฝีมือชั้นนำยังทุ่มเทแรงกายแรงใจในการรังสรรค์ผลงานจิวเวลรีทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเจียระไนหรือการขึ้นรูปโลหะ ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับเทคโนโลยีชั้นสูง จนได้รับความสนใจและการยอมรับจากทั่วโลก

แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีและเครื่องมือสำหรับการเจียระไนอัญมณีเข้ามาช่วย แต่เทคนิคการเจียระไนด้วยมือแบบดั้งเดิมก็ยังมีอยู่อย่างแพร่หลายในเมืองยามานาชิ  และเป็นความสามารถที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเจียระไนแบบหยาบ แบบปานกลาง หรือการขัดผิว ช่างฝีมือที่นี่ก็สามารถเก็บทุกรายละเอียดได้อย่างสวยงาม

เชื่อหรือไม่ว่าความสามารถทั้งหมดนี้ใช้เพียงสัมผัสปลายนิ้วมือและเสียงของหินเจียระไนเป็นหลักเท่านั้น! ที่สำคัญคือต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่ขั้นตอนแรกยันขั้นตอนสุดท้ายคือการขัด ช่างฝีมือจะกดอัญมณีลงบน Zelkova Board (บอร์ดเซลโควา) เพื่อขัดให้เกิดความเงางามจนกว่าพื้นผิวอัญมณีจะเปล่งประกาย ซึ่งการเจียระไนแบบนี้เครื่องจักรไม่สามารถทำได้ ต้องใช้งานฝีมือล้วนๆ และนั่นยิ่งเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้หินแร่ก้อนหนึ่งสามารถกลายเป็นอัญมณีน้ำงามได้ ด้วยฝีมือของช่างผู้มากประสบการณ์

นอกจากงานเจียระไนสุดละเมียดแล้ว เมืองยามานาชิ ยังขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งที่รวบรวมช่างโลหะฝีมือดีไว้เพียบอีกด้วย แม้ว่าในยุคนี้ผู้ผลิตหลายแห่งจะหันมาใช้เครื่องจักร แต่ยามานาชิก็ยังต้องใช้ฝีมือช่างเหล่านี้อยู่ เนื่องจากจิวเวลรีของคืองานคราฟต์ที่ต้องอาศัยประสบการณ์ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น ดังนั้นช่างจึงมีความสามารถในการทำความเข้าใจดีไซน์ เข้าใจธรรมชาติของโลหะ และมีฝีมือในการทำโลหะให้เป็นรูปร่าง โดยช่างฝีมือจะนำโลหะมาขึ้นรูปพร้อมแกะสลักให้สวยงาม และนำมาผลิตเป็นจิวเวลรีตามแบบ ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าเป็นงานง่ายๆ ที่ใครจะทำได้ เพราะทุกขั้นตอนต้องใช้ฝีมือและเวลานานหลายชั่วโมงกว่าจะสำเร็จเป็นชิ้นงานสวยๆ สักชิ้น นี่แหละที่ทำให้จิวเวลรี่ของยามานาชิแตกต่างจากที่อื่นในโลก

การสลักคริสตัลเป็นอีกหนึ่งความเชี่ยวชาญของชาวยามานาชิ ในสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603 – 1868) มีการนำลูกบอลคริสตัลและกระดุมกิโมโนที่ทำจากคริสตัลมาแกะสลัก แต่หลังจากนั้นเริ่มมีการขยายสู่วัสดุอื่นๆ ทำให้เกิดผลงานที่สวยงามและมีความหลากหลาย การผลิตคริสตัลที่สวยงามนอกจากต้องอาศัยฝีมือและประสบการณ์ของช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญในการสลักคริสตัลแล้ว จิวเวลรีของยามานาชิ ยังนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาใช้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์สมัยใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด เพื่อช่วยให้การผลิตจิวเวลรีรวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรังสรรค์จิวเวลรีชิ้นงามสู่สายตาชาวโลก  

Yamanashi Prefectural Industrial Technology Center

กำเนิดแบรนด์ Koo-fu 

ความงดงามของจิวเวลรีแห่งเมืองยามานาชิยังได้รับการต่อยอดขึ้นอีกขั้น ด้วยการสร้างแบรนด์จิวเวลรีญี่ปุ่นที่สะท้อนเอกลักษณ์เฉพาะตัว ภายใต้ชื่อ  Koo-fu (คูฟู) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2007 โดยแนวคิด ความงามที่เป็นธรรมชาติและละเอียดอ่อน’ คือการผลิตด้วยวัสดุคุณภาพเยี่ยมจากช่างฝีมือชั้นสูงที่ส่งต่อความประณีตบรรจงจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้ยังมีนักออกแบบจิวเวลรีและช่างฝีมือระดับมาสเตอร์ของญี่ปุ่นอีกมากมายที่ได้มาร่วมงานกับ Koo-fu เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนถึงปรัชญาแห่งงานช่างฝีมือให้คนรุ่นใหม่อย่างเราๆ ได้รู้จักและเห็นคุณค่ามากขึ้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยกันสนับสนุน และต่อลมหายใจให้งานศิลปะท้องถิ่นชิ้นนี้ยังคงอยู่ต่อไปได้ ซึ่งเราว่าโมเดลของจังหวัดยามานาชิก็สามารนำมาเป็นต้นแบบให้กับงานศิลปะ หัตถกรรม หรืองานฝีมือท้องถิ่นในประเทศไทยเองได้เช่นกัน

ภาพบรรยากาศในงาน Yamanashi Jewelry Fair 2018 ซึ่งจัดขึ้นที่ Gochiso Space ชั้น 6 ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมา


มาร่วมสัมผัสความประณีตด้วยตัวเองได้ที่เมืองไทย! ใน านแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 62) ที่ยกอัญมณีจากเมืองยามานาชิมาไว้ที่ ‘Yamanashi Pavilion’ (ยามานาชิ พาวิเลียน) ระหว่างวันที่ 7 – 11 กันยายน นี้ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพค เมืองทองธานี

RECOMMENDED CONTENT

21.ตุลาคม.2022

เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนชาวไทย ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค จึงนำ “เสียง” หรือความคิดเห็นจากประชาชนภาคธุรกิจ มีส่วนร่วมในการส่งเสียงผ่านการสำรวจของ ‘Business of the People Poll’ ร่วมออกแบบและขับเคลื่อนโดย สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในจัดทำการสำรวจผ่านตัวแทนผู้ประกอบการไทยจำนวน 451 ตัวอย่าง โดยมุ่งเน้นหัวข้อไปที่ ‘ปัจจัย, ความท้าทาย, โอกาส และคำแนะนำ ในการเสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต’ เพื่อที่จะทราบถึงความเข้าใจ ข้อเท็จจริง และแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากผู้ที่มีบทบาทจริงในภาคธุรกิจของประเทศไทย