fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#Culture – บทเรียนของ Victoria’s Secret ในวันที่โลกอาจไม่ต้องการความสมบูรณ์แบบอีกต่อไปแล้ว 
date : 17.สิงหาคม.2019 tag :

ปี 2018 เป็นปีที่แบรนด์ชุดชั้นในอเมริกันเบอร์ใหญ่ Victoria’s Secret ต้องชีช้ำกะหล่ำปลี กับเรทติ้งของแฟชั่นโชว์ประจำปีตกฮวบ มียอดผู้ชมทางโทรทัศน์อยู่ที่ 3.27 ล้านคนทั่วอเมริกา ร่วงจากปี 2017 ซึ่งมียอดผู้ชม 4.98 ล้านคน ถือว่าเป็นเรทติ้งต่ำสุดนับตั้งแต่ออกอากาศเมื่อปี 2001 ถึงจะทำทุกทาง ย้ายวิกจากช่อง CBS ไปช่อง ABC ก็แล้ว ย้ายจากออกอากาศวันอังคารไปวันอาทิตย์ก็แล้ว เพิ่มซูเปอร์โมเดลไปอีก 60 คน ขนศิลปินนักร้องวงดนตรีท็อปๆ มาสร้างสีสันอีกเพียบ 

… ก็ยังไม่ช่วย 

Ed Razek และนางฟ้า Victoria’s Secret

เมื่อเร็วๆ นี้ เอ็ด ราเซ็ค (Ed Razek) วัย 71 ประกาศลาออกจากตำแหน่งบอสใหญ่ฝ่ายการตลาดของ L Brand ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Victoria’s Secret เป็นที่เรียบร้อย ด้วยเหตุผลเรื่องยอดขายลดลงรวมถึงการปิดตัวของสโตร์มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

แต่สาเหตุที่ทำให้แบรนด์ลดความนิยมลงในช่วงปีสองปีมานี้ เอ็ด ราเซ็ค อาจตกเป็นจำเลยมากกว่านั้น จากการที่ครั้งหนึ่งเขาเคยแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาจนทำให้ตัวเองต้องตกที่นั่งลำบาก เมื่อถูกสื่อถามว่าทำไม Victoria’s Secret ถึงยังเน้นขายความสวยขั้นสมบูรณ์แบบ ทั้งผอมสุด, ฟิตสุด, ยั่วยวนสุด ของบรรดา Angle อยู่ ทั้งที่โลกแฟชั่นเขาเปิดรับความสวยงามที่หลากหลายไม่ว่าจะเรื่องเพศหรือรูปร่างหน้าตากันหมดแล้ว 

ราเซ็คให้เหตุผลว่า ไม่จำเป็นต้องเอานางแบบข้ามเพศหรือนางแบบพลัส-ไซซ์มาเดินบนรันเวย์ของ Victoria’s Secret เหมือนกับแบรนด์อื่นๆ ที่พยายามทำตามกระเเส “ทำไมน่ะเหรอ? ก็เพราะมันเป็นโชว์ 42 นาทีที่ขายความแฟนตาซีน่ะสิ เราทำการตลาดกับกลุ่มที่เราอยากจะขาย เราขายทุกอย่างที่คนทั้งโลกต้องการไม่ได้หรอกนะคุณ” 

นั่นแหละคำตอบของราเซ็คกับนิตยสาร Vouge ที่ทำให้ Victoria’s Secret นางฟ้ายักษ์ใหญ่ส่อเค้าปีกหักตั้งแต่นั้น 

Miranda Kerr นางแบบออสซี่ในตำนานที่ได้เป็นนางฟ้า Victoria’s Secret คนแรกเมื่อปี 2007

แม้ว่าในแง่หนึ่ง พูดกันอย่างแฟร์ๆ นางแบบตัวท็อปบนรันเวย์ที่เดินเฉิบๆ ในชุดชั้นในคริสตัลวิบวับติดปีกพวกนี้ก็อาจจะเคยเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนลุกขึ้นมาดูแลรูปร่างหน้าตาให้ฟิตแบบนั้น มีวินัยกับการกินอยู่แบบนั้น แต่เมื่อโลกเปลี่ยน เรากลับมองว่ามันเป็นแค่ค่านิยมความสวยแบบพิมพ์นิยมในยุคหนึ่งที่โฆษณาให้ชวนเชื่อว่าผู้หญิงสมบูรณ์แบบคือผู้หญิงสูงยาวเข่าดีแบบเหล่านางฟ้าวิคตอเรียเท่านั้น 

จริงๆ แล้วในเครือของ L Brand เองก็เคยมีแบรนด์ชุดชั้นในพลัส-ไซซ์ด้วยเหมือนกันชื่อว่า Lane Bryant แต่ภายหลังแยกตัวออกไปในปี 2001 และยังเคยมีความพยายามที่จะทำรายการทีวีเกี่ยวกับสาวพลัส-ไซซ์ แต่ปรากฏว่าผลตอบรับไม่ดีเท่าไร ซึ่งเอ็ด ราเซ็คบอกว่า ความพยายามในครั้งนั้นไม่เป็นที่สนใจของคนดู จนถึงตอนนี้เขาก็ยังเชื่อว่าไม่มีใครสนใจจะดูรายการประเภทนั้นอยู่ดี

Lane Bryant

ถึงแม้ว่าอดีตบอสใหญ่จะออกสเตทเม้นต์มาขอโทษกับสิ่งที่ได้พูดไปในประเด็นนางแบบข้ามเพศ โดยชี้แจงว่า ไม่ใช่ว่าแบรนด์ไม่เคยพยายามคัดเลือกนางแบบทรานส์มาเดิน มีมาเหมือนกันแต่ก็แคสไม่ผ่านบ้างอะไรบ้าง เขาไม่ได้มีความคิดเหยียดเพศหรือกีดกันคนข้ามเพศอะไรแบบนั้นเลย 

อย่างนั้นก็เถอะ เมื่อพูดตรงขนาดนั้นแล้วเหมือนกลับลำไม่ได้ มันได้แสดงทัศนคติของแบรนด์ต่อเพศและรูปลักษณ์เป็นที่เรียบร้อยว่าแคบเกินไป เมื่อเราอยู่ในโลกเปิดกว้างให้กับความสวยงามอันไร้กรอบที่ควรจะส่งต่อแมสเสจทัศนคติเรื่อง Body Positive เช่นทุกวันนี้ ดูเหมือนว่าการปรากฏตัวของ Winnie Harlow นางแบบผู้เป็นโรคด่างขาว (Vitiligo) เมื่อปี 2018 น่าจะเป็น ‘ความหลากหลาย’ ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในโชว์ Victoria’s Secret แล้ว 

Winnie Harlow

การประกาศลาออกของเอ็ด ราเซ็คเกิดขึ้นไล่เรี่ยกับข่าวว่า Valentina Sampaio นางแบบทรานส์ชาวบราซิลวัย 22 จะมาเป็นนางแบบคนแรกของ Pink ไลน์ลูกของ Victoria’s Secret ซึ่งเน้นทำการตลาดกับกลุ่มวัยรุ่นที่เด็กลงมาหน่อย

ถ้าข่าวนี้จริงละก็… Valentina Sampaio จะเป็นนางแบบทรานส์คนแรกในประวัติศาสตร์ของ Victoria’s Secret 

แต่ก็ไม่รู้ว่ายังกู้สถานการณ์ทันมั้ย เพราะดูเหมือนว่าปีนี้โชว์ จะไม่เกิดขึ้นซะแล้ว หลังจากมรสุมต่างๆ ถาโถม

Valentina Sampaio

นี่อาจเป็นบทเรียนของ Victoria’s Secret  ซึ่งรู้แล้วว่าในบริบทของยุคนี้ ความบันเทิงกับแฟนตาซีที่เพอร์เฟ็กซ์ไปซะหมดเหมือนนางฟ้าไม่ทำให้คนยุคใหม่อินอีกต่อไปแล้ว 

ในเมื่อเรามีความแฟนตาซีอื่นๆ บนโลกแฟชั่นอีกมากมายที่เริ่มหยิบเอาความบิดเบี้ยว ประหลาดบ้าง ย้อนแย้ง ไม่เข้ากันบ้าง มาให้ดูให้ว้าวกันอยู่ทุกวัน บนพื้นฐานของความแตกต่างหลากหลายที่โลกอยากเห็นมากกว่า 

RECOMMENDED CONTENT

17.มกราคม.2020

“People on Sunday” (2562) เป็นการตีความ บทสนทนาโต้ตอบ และสาส์นแสดงความนับถือต่อภาพยนตร์บุกเบิกจากประเทศเยอรมันเรื่อง “Menshen Am Sonntag” (2473) หรือ “ผู้คนในวันอาทิตย์” ผลงาน “People on Sunday” (2562) ได้นำภาพยนตร์ต้นฉบับดังกล่าวกลับมาตีความใหม่ผ่านบริบทที่แตกต่างจากเดิม ทั้งยุคสมัย ภูมิประเทศ ตลอดจนสภาพในการทำงาน