fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

รวม 5 เรื่องน่ารู้ ก่อนตัดสินใจติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้าน
date : 21.พฤศจิกายน.2023 tag :

รวม 5 เรื่องน่ารู้ ก่อนตัดสินใจติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้าน 

ในปัจจุบัน กระแสการติดตั้งโซลาร์เซลล์ หรือ Solar Rooftop กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดต้นทุนค่าไฟฟ้า เป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับเก็บสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉินแล้ว ยังสามารถผลิตและขายต่อให้การไฟฟ้าเป็นรายได้เสริมได้อีกช่องทาง อีกทั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์ยังเป็นพลังงานสะอาด ไม่ก่อมลพิษและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงไม่แปลกที่จะทำให้คนนิยมติดตั้งโซลาร์เซลล์มากขึ้น ใครที่มีบ้านและวางแผนอยากจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ แต่ไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นจับจุดจากตรงไหน วันนี้เราได้รวบรวมสิ่งที่ควรรู้ก่อนตัดสินใจติดตั้งโซลาร์เซลล์มาให้แล้ว ว่าจะมีเรื่องที่ต้องตรวจสอบและข้อกำจัดเรื่องอะไรบ้าง สามารถหาคำตอบพร้อมกันในบทความนี้ได้เลย 

1. สำรวจความพร้อมของสถานที่ก่อนติดตั้งโซลาร์เซลล์

  • ตรวจสอบกำลังไฟ

ก่อนที่จะลงมือติดตั้งโซลาร์เซลล์ ควรตรวจสอบการพฤติกรรมการใช้ไฟในบ้านย้อนหลัง 3 เดือน – 1 ปี เพราะพฤติกรรมการใช้ไฟที่ผ่านมา จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่าควรติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังผลิตเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม โดยสามารถใช้หลักการคำนวณค่าไฟที่ชำระในแต่ละเดือน เช่น สมมติค่าเฉลี่ยการใช้ไฟต่อเดือนอยู่ที่เดือนละ 5,000 บาท ให้แบ่งการใช้ไฟช่วงกลางวันออกเป็น 70% และช่วงกลางคืน 30% ดังนั้นค่าไฟช่วงกลางวันจะอยู่ที่ 3,500 บาท โดยค่าเฉลี่ยของการใช้ไฟจะอยู่ที่ประมาณหน่วยละ 4 บาท นั้นเท่ากับว่าช่วงกลางวันเราใช้ไฟฟ้าไปประมาณ 875 หน่วย/เดือน นั่นเอง ซึ่งเมื่อนำหน่วยการใช้ไฟมาหารกับจำนวนวัน (30 วัน) และจำนวนชั่วโมงของแสงอาทิตย์ (โดยประมาณ 9 ชั่วโมง) ก็จะเท่ากับว่าเราใช้ไฟ 3.2 หน่วย/ชั่วโมง ดังนั้น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่เหมาะสม อยู่ที่ประมาณ 3 – 5 กิโลวัตต์ เป็นต้น แต่ถึงอย่างนั้นการคำนวณที่เรายกตัวอย่างมานี้เป็นเพียงการคำนวณคร่าวๆ เท่านั้น แนะนำให้ขอคำปรึกษาเพิ่มเติมจากผู้ให้บริการติดตั้งอีกครั้ง

 

  • ความแข็งแรงของหลังคา

โดยมาตรฐานแล้ว แผ่นโซลาร์เซลล์จะมีขนาด 1×2 เมตร แต่ละแผ่นมีน้ำหนัก 22 กิโลกรัม ดังนั้น ใครที่กำลังวางแผนจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ ควรทำการตรวจเช็กหลังคา วัสดุของหลังคา ความแข็งแรง และพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ มีร่องรอยชำรุดเสียหาย รอยแตกร้าว และควรได้รับการแก้ไขไหม เพราะการติดตั้งโซลาร์เซลล์เป็นการติดตั้งระยะยาวหลายสิบปี หากไม่ตรวจสอบและทำการแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนติดตั้ง อาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้นั่นเอง

 

  • รูปทรงของหลังคา

รูปทรงของหลังคานับเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการติดตั้งโซลาร์เซลล์เช่นเดียวกัน บางประเภทเหมาะกับการติดตั้ง แต่บางประเภทก็อาจมีข้อจำกัดในเรื่องของการระบายน้ำ ที่อาจส่งผลต่อการรั่วซึมของหลังคาได้ เช่น

  • หลังคาทรงจั่ว หลังคาทรงนี้เป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศไทย มีลักษณะลาดชัน ระบายความร้อนได้ดี สามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ง่ายที่สุด
  • หลังคาทรงปั้นหยา เป็นหลังคาที่นิยมใช้กันทั่วโลก มีความลาดชั้นเล็กน้อย สามารถกันแดด กันลม และกันฝนได้ดี สามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ทุกทิศทาง
  • หลังคาทรงเพิงแหงน ลักษณะลาดชั้นน้อย มีพื้นที่หลังคากว้าง สามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ง่ายคล้ายกับหลังคาทรงจั่ว แต่มักจะมีปัญหาการรั่วซึมเมื่อฝนตก ทำให้การระบายน้ำไม่ดีเท่าที่ควร
  • หลังคาชั้นดาดฟ้า หลังคาประเภทนี้จะพบเจอในบ้านสไตล์โมเดิร์น มีพื้นที่ใช้สอยเยอะและกว้าง การติดตั้งโซลาร์เซลล์จำเป็นต้องสร้างฐานยกจากพื้น และมักจะมีปัญหารอยแตกร้าว รั่วซึม และน้ำท่วมขัง เช่นเดียวกับหลังคาทรงเพิงแหงน เป็นต้น

 

  • ทิศทางที่เหมาะสมกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์

 

  • ทิศเหนือ อย่างที่รู้กันว่าดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออก อ้อมไปทางทิศใต้ และตกในทิศตะวันตก ดังนั้นทิศเหนือจึงเป็นทิศที่ได้รับแสงอาทิตย์น้อยที่สุด จึงไม่เหมาะจะหันแผงโซลาร์เซลล์ไปทางทิศนี้นั่นเอง
  • ทิศใต้ ดวงอาทิตย์จะอ้อมไปทางทิศใต้ จึงเป็นทิศที่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน เหมาะสมต่อการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ โดยสามารถติดตั้งเป็นแนวเอียงประมาณ 13.5 องศา เพื่อให้แผงโซลาร์เซลล์รับแสงได้มากขึ้น 
  • ทิศตะวันออก แม้จะเป็นทิศที่ดวงอาทิตย์ขึ้น แต่ก็สามารถรับแสงได้ในระดับปานกลางเท่านั้น เพราะจำกัดการรับแสงแค่ในช่วงเช้า – เที่ยง ทำให้แผงโซลาร์เซลล์อาจได้รับแสงไม่พอและทำงานได้ไม่เต็มที่
  • ทิศตะวันตก ทิศนี้การรับแสงจะเท่ากับทิศตะวันออก โดยรวมจะรับแสงได้น้อยกว่าทิศใต้ประมาณ 2-16% นั่นเอง 

2. ทำความรู้จักแผงโซลาร์เซลล์แต่ละประเภท

ระบบการติดตั้งโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่ที่นิยมติดตามบ้านหรือที่พักอาศัยนั้น เป็นระบบออนกริด (On Grid) เพราะมีการติดตั้งที่เหมาะสมและราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งแผงโซลาร์เซลล์จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท โดยมีคุณสมบัติการใช้งานแตกต่างกัน ดังนี้

 

  • แผงโมโนคริสตัลไลน์ (Monocrystalline Silicon Solar Cells)

แผงโซลาร์เซลล์ประเภทนี้จะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมมุมตัด รูปทรงของเซลล์มีสีเข้ม ทำมาจากซิลิคอนทรงกระบอกบริสุทธิ์ ข้อดีของแผงประเภทนี้ คือมีคุณภาพสูง สามารถผลิตไฟได้ดีแม้ในวันที่มีแสงแดดน้อย และมีอายุการใช้งานยาวนาน ประมาณ 25-40 ปี แต่แผงประเภทนี้จะมีราคาสูงมากว่าประเภทอื่น

 

  • แผงโพลีคริสตัลไลน์ (Polycrystalline Silicon Solar Cells)

ลักษณะแผงจะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ไม่ตัดมุม แผงสีเข้มออกไปทางน้ำเงิน ทำมาจากผลึกของซิลิคอน ข้อดีของแผงประเภทนี้ คือราคาไม่แพง และรองรับการใช้งานในพื้นที่ที่อุณหภูมิสูงได้ดีกว่าแผงคริสตัลไลน์ แต่มีอายุการใช้สั้น ประมาณ 20-25 ปีเท่านั้น

 

  • แผงโซล่าเซลล์ชนิด ฟิล์มบาง (Thin Film Solar Cells)

ลักษณะของแผงโซล่าเซลล์ชนิดฟิล์มบางคือ แผงจะมีสีเข้มออกไปทางสีดำ ฟิล์มจะมีความบางมากกว่าชนิดอื่น ซึ่งข้อดีคือมีน้ำหนักเบา สามารถโค้งงอได้ดี มีความยืดหยุ่น ทนอากาศและความร้อนได้ดี และมีราคาถูกที่สุด แต่แผงประเภทนี้มีอายุการใช้งานสั้น ผลิตไฟฟ้าได้น้อย และไม่เหมาะในการนำมาติดตั้งบ้านเรือนและภาคอุตสาหกรรม

3. เลือกผู้ให้บริการในการติดตั้งโซลาร์เซลล์

สิ่งสำคัญในการเลือกผู้ให้บริการติดตั้งโซลาร์เซลล์คือ การพิจารณาถึงความเชี่ยวชาญในการติดตั้ง งบประมาณในการติดตั้ง และการให้บริการหลังการขายและการรับประกัน โดยเจ้าบ้านควรเปรียบเทียบผู้ให้บริการอย่างน้อย 2-3 บริษัท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา ข้อดี-ข้อเสีย และการให้บริการอื่นๆ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วงบประมาณในการติดตั้งจะอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาท 

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบบ ชนิดของแผ่นโซลาร์เซลล์ ระยะเวลาการรับประกันสินค้า และประสิทธิภาพของแผง ซึ่งระยะเวลารับประกันปกติจะอยู่ที่ประมาณ 10 ปี และประสิทธิภาพของแผงอยู่ที่ 25 ปี รวมไปถึงการรับประกันอุปกรณ์อื่นๆ ที่ควรมีร่วมด้วยประมาณ 1 ปี เช่น คอนโทรลเลอร์ชาร์จเจอร์ อินเวอร์เตอร์ออฟกริด ไฮบริดออฟกริด และอินเวอร์เตอร์ออนกริด เป็นต้น 

4. ทำเรื่องขอติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

หลังจากวางแผนการติดตั้งโซลาร์เซลล์เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนการทำเรื่องขอติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ระยะเวลาในขั้นตอนนี้จะอยู่ที่ประมาณ 1-2 เดือน รายละเอียดการขอติดตั้งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน โดยขั้นตอนสำหรับการติดตั้งเพื่อใช้งานสำหรับบุคคล มีดังนี้

  • ขั้นแรก จำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้งโซลาร์เซลล์เข้าตรวจสอบพื้นที่ วัดขนาด และทิศทางในการติดตั้ง
  • จัดเตรียมเอกสารเพื่อเข้ายื่นการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เอกสารที่จำเป็นต้องใช้ ได้แก่ 
  • รูปถ่ายแสดงการติดตั้งอุปกรณ์
  • สำเนาหลักฐานการยื่นแจ้งราชการส่วนท้องถิ่น โดยต้องทำเรื่องขอไปที่สำนักงานเขต เพื่อขอติดตั้งโซลาร์เซลล์ในสถานที่พักอาศัย
  • ในกรณีการต่อเติม ที่อาคารไม่เป็นไปตามมาตรฐานกระทรวง จำเป็นต้องแจ้งให้วิศวกรโยธาเข้าตรวจสอบและเซ็นรับรอง และนำเอกสารชุดนี้ไปยื่นขออนุญาต อ.1 ที่สำนักงานเขตต่อไป
  • ให้ทางโยธาและวิศกรโยธาที่มีใบประกอบวิชาชีพ เข้าตรวจความพร้อมการติดตั้ง และทำการรับรองว่าสถานที่มีความพร้อม 
  • เอกสาร Single line Diagram ที่ถูกลงนานด้วยวิศวกรไฟฟ้าที่มีใบ กว. รับรอง
  • รายละเอียดของแผงโซล่าเซลล์
  • รายการตรวจสอบมาตรการด้านการออกแบบ

ขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้งโซลาร์เซลล์นับเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้ระยะเวลาพอสมควร อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่มามากมาย แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีผู้ให้บริการรับติดตั้งโซลาร์เซลล์หลายแห่งที่ดำเนินการขออนุญาตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ โดยที่เจ้าบ้านไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเองให้ยุ่งยาก

5. การดูแลแผงโซลาร์เซลล์

เมื่อทำการติดตั้งโซลาร์เซลล์เรียบร้อยแล้ว การดูแลและตรวจสอบสภาพแผงโซลาร์เซลล์เป็นสิ่งที่เจ้าบ้านควรทำอยู่เสมอ เพราะหากปล่อยไว้โดยไม่ได้ตรวจเช็กอย่างสม่ำเสมอ อาจทำให้ประสิทธิภาพในการรับแสงน้อยลง ซึ่งการดูแลและตรวจสอบโซลาร์เซลล์สามารถทำได้ดังนี้

  • ตรวจสอบรอยแตกร้าวและสีของแผ่นโซลาร์เซลล์ ว่าเสียหายหรือต่างไปจากเดิมหรือไม่
  • ทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์เป็นประจำ โดยใช้อุปกรณ์ที่ไม่สร้างความเสียหายต่อพื้นผิวของแผงโซลาร์เซลล์ เช่น แปรงขนไนลอน ผ้า หรือฟองน้ำ เพื่อล้างคราบฝุ่นและสิ่งสกปรกต่างๆ ความถี่ที่เหมาะสมในการทำความสะอาดควรอยู่ที่ 4-5 ครั้ง/ปี และควรเลือกทำในช่วงเช้า
  • ตรวจสอบอุปกรณ์เชื่อมต่ออยู่เสมอ เช่น แบตเตอรี่ สายไฟ กล่องอุปกรณ์ต่างๆ เพราะอาจเกิดความเสียหายจากแมลงหรือสัตว์ขนาดเล็กได้
  • เลือกใช้งานผู้ให้บริการที่เชี่ยวชาญในการตรวจสอบและรับทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์

 

ข้อมูลการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่เรานำมาฝากนี้ มั่นใจได้เลยว่าจะช่วยปูพื้นฐานให้เจ้าของบ้านหลายๆ คนได้ทำความรู้จักและเรียนรู้การติดตั้งโซลาร์เซลล์เบื้องต้นได้เป็นอย่างดีเลย หากคุณกำลังมองหาบริษัทรับติดตั้งโซลาร์เซลล์ หรือ Solar Rooftop ที่ Sorarus เราเป็นบริษัทผู้นำการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ โซลาร์รูฟท็อป รับออกแบบโซลูชันสำหรับแต่ละบุคคลและธุรกิจอย่างเหมาะสม พร้อมให้คำปรึกษาและคำแนะนำ โดยทีมช่างที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์มากกว่า 40 ปี ผ่านการวางแผนและติดตั้งแล้วกว่า 1,000 แห่ง ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพไปกับเราได้แล้ววันนี้ ที่ Sorarus สนใจติดตั้งโซลาร์เซลล์ โทร. 089-608-7999 หรือ 02-551-2516

 

RECOMMENDED CONTENT

27.กันยายน.2022

เคยมีข่าวออกมาบ้างแล้วในปี 2019 ว่าเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประกาศว่า พวกเขากำลังพัฒนา G-Class SUVภายใต้ชื่อ EQG