หากเสื้อผ้าคือเครื่องวัดชนชั้นทางสังคมอย่างหนึ่ง การกำเนิดของ ‘กางเกงยีนส์’ ก็ได้ทำลายกฎเกณฑ์นั้นลงอย่างสิ้นเชิง
เริ่มแรกยีนส์คือกางเกงตัวเก่งของคนงานเหมืองในช่วงยุคตื่นทองราวปี 1800s เนื่องจากฟังก์ชันการใช้งานที่เหมาะกับความอึด ถึก ทนทาน และราคาถูก เมื่อพ่อค้าหัวใสอย่างนาย Levi Strauss มองเห็นลู่ทางทำเงินผลิตยีนส์คุณภาพดีออกมาสู่ตลาด ตอนนั้นละที่ยีนส์ได้เปลี่ยนสถานะจากกางเกงของชนชั้นกรรมมาชีพสู่คีย์พีซฆ่าไม่ตายในโลกแฟชั่น ที่ไม่ว่าจะ Blue Collar มาร์ลอน แบรนโด หรือเจมส์ ดีน ก็ไม่อาจปฏิเสธความดีของมันได้
“ผมไม่ได้มาเพื่อยีนส์ ยีนส์มาเพื่อผม น่อว…ววว พอได้ไหม” ฝรั่งผู้มีกรรไกรเล่มใหญ่ในมือหัวเราะดังลั่นอยู่ตรงหน้าเราคือ Ben Viapiana ชายวัย 30 เจ้าของ Viapiana ร้านยีนส์ Custom Made เพียงไม่กี่แห่งในเมืองไทยที่มีคนงานเพียง 2 คนคือเขาและเพื่อนรักอย่างเอก-ณัฐพล ธีราภินันท์ นั่งคร่ำเคร่งกับการตัดเย็บกางเกงยีนส์ตามสั่งจากลูกค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์ที่ดัดแปลงมาเป็นร้านขนาดย่อมย่านสุขุมวิท 31 เรียงรายไปด้วยวัตถุดิบและจักรเย็บผ้ายี่ห้อซิงเกอร์นับ 10 ตัวแห่งนี้
“เมืองไทยมีทุกอย่างครบ ทั้งจักร ทั้งคนงาน ทั้งผ้าดีๆ เส้นด้าย กระดุม ทุกอย่างของดีหมด ถ้าเป็นผ้า ส่วนใหญ่จะใช้ผ้าญี่ปุ่น แต่ไม่ถึงกับไปหาเองที่โน่น ส่วนใหญ่หาได้ในนี้หมด ตอนนี้ตลาดยีนส์กว้างขึ้นมาก คนซื้อก็เยอะขึ้น”
ตอนอยู่โตรอนโต ประเทศแคนาดา เบนทำงานหลายอย่าง เป็นคนขัดส้วม เป็นเด็กสเก็ตบอร์ด เบนบอกว่าชีวิตเขาเหมือนวัยรุ่นธรรมดาทั่วไป วันหนึ่งตอนอายุ 19 เขาเกิดอยากออกเดินทางค้นหาชีวิตจนมีโอกาสมาเที่ยวเมืองไทย ซึ่งตั้งใจไว้ว่าจะมาแค่ 1 เดือน ไปๆ มาๆ ถึงตอนนี้ก็อยู่เป็น 10 ปีแล้ว แม้จะโดนพ่อด่าและตามกลับบ้านบ้าง แต่เขายังยืนยันว่าจะอยู่ทำสิ่งที่รักต่อไป
เริ่มแรกเบนทำงานเป็นครูสอนภาษาเพื่อหาข้ออ้างอยู่เมืองไทยต่อและพอให้มีเงินเลี้ยงชีพ อยู่ๆ ก็ซื้อจักรเย็บผ้ามาลองเย็บอะไรเล่นที่บ้าน เนื่องจากพ่อของเขาเป็นช่างตัดสูท เบนจึงได้ทักษะการเย็บผ้าติดตัวมาบ้างนิดหน่อย เขาเริ่มจากทำแจ็กเก็ตยีนส์ใส่เอง แต่ด้วยความที่อากาศเมืองไทยร้อนเกินจะใส่ เลยหันมาทำกางเกงยีนส์แทน โดยเริ่มศึกษาด้วยตัวเองตั้งแต่การเลือกผ้า การวาดแบบ ไปจนถึงวิธีเย็บ
“คนไทยใส่ยีนส์เยอะมาก เอาจริงๆ ผมว่าคนไทยรักยีนส์มากกว่าฝรั่งอีก แต่ส่วนใหญ่จะติดแบรนด์ ผมไม่ถึงกับเซ็งหรืออะไรหรอกนะ พอฝรั่งเห็นงานคราฟต์หรือเจอคนที่ลงมือทำของอะไรสักอย่างเองเขาจะตื่นเต้น ยอมจ่ายเพิ่มได้เพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา แต่คนไทยจะไม่ค่อยเป็นอย่างนั้น”
เบนเป็นหนุ่มแคนาเดียนโดยกำเนิด แต่การมีจิม แครี่และอาม่าข้างบ้านเป็นไอดอล ทำให้เขาหัดพูดเลียนเสียงคนนั้นคนนี้มาตั้งแต่เด็กจนพูดภาษาไทยได้คล่องปรื๋อ
“เวลาคนถามว่าผมทำงานอะไร พอผมบอกทำยีนส์ เขาถามเลยว่าลีวายส์เหรอ ผมแบบ “คือไรวะ” (กรอกตา) นึกออกไหม สิ่งที่ต่างกันกับยีนส์แบรนด์ดังๆ คือเราทำแบบ Custom Made คุณมาถึงก็เลือกผ้า เลือกทรง เลือกตะเข็บ เลือกได้ทุกอย่าง แล้วผมจะตัดให้ตามที่คุณอยากได้ แต่ คุณต้องรออย่างน้อย 2 อาทิตย์ ไม่ใช่มาสั่งแล้วผมทำให้ได้เลย ลูกค้าที่มาตัดมีหลากหลายวัย เคยตัดให้เด็ก 2 ขวบยันคุณปู่อายุ 88 ก็มี เขาบอกผมว่านี่เป็นยีนส์ตัวสุดท้ายก่อนตาย ผมบอกเห้ย อย่าเพิ่งสิครับ เดี๋ยวรีบตัดให้เลย (หัวเราะ)”
กางเกงยีนส์ที่เบนตัดส่วนใหญ่เป็นของผู้ชาย อาจมีแจ็กเก็ตหรือเสื้อกั๊กบ้างตามโอกาสและความอยากของตัวเอง เหตุผลที่เขาไม่ทำยีนส์สำหรับผู้หญิงเพราะ 99.99 % ยีนส์ผู้หญิงเป็นผ้ายืด ซึ่งจากประสบการณ์ของเขา ผู้หญิงส่วนใหญ่ใส่แล้วไม่ประทับเนื่องจากไม่ชินกับผ้ายีนส์จริงๆ ที่ค่อนข้างแข็งและไม่ยืดตามสรีระ
“เคยลองทำกางเกงผู้หญิง ปรากฏว่าต้องแก้เยอะมากเพราะเขาไม่ชอบผ้าแข็ง ผมไม่ได้บอกว่า ผู้หญิงเรื่องเยอะนะ เพราะเรื่องเยอะอยู่แล้ว (หัวเราะ) ไม่หรอก บางทีผู้ชายก็เรื่องเยอะ เหมือนกัน แต่ผู้หญิงมักจะมีปัญหาเรื่องสะโพก บางทีเอวได้ สะโพกหลวม หรือสะโพกได้แต่เอว หลวมไป อะไรแบบนี้ หรือบางทีใส่แล้วผมคิดว่าสวย แต่เขาก็ยังรู้สึกไม่ใช่อยู่ดี ถ้าเป็นผ้ายืด ทุกส่วนสามารถยืดได้ ไม่ต้องทำทุกขนาด แค่ประมาณเอา แก้เอวใช้เวลาเยอะกว่าตัดทั้งตัวอีก”
ฟังแล้วอาจดูเป็นพ่อค้าติสต์แตก แต่การจะตัดกางเกงยีนสักตัวไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น แค่เอาแบบที่อยากได้มาให้ที่ร้านดู หรือจะถือกางเกงตัวจริงมาเลยก็ยิ่งดี และยังสามารถรีเควสได้อีกว่าอยากให้ฝีเข็มหรือวิธีการเย็บเป็นแบบไหน หรือให้ง่ายสุดๆ คือเดินเข้ามาที่ร้านให้เบนแนะนำ วัดตัว แล้ววาดแบบเดี๋ยวนั้นเลยก็ทำได้
“บางคนเข้ามาอยากได้แบบเบสิกที่สุด ไม่ต้องมีลูกเล่นอะไรเลย บางคนหอบกระดาษ A4 เขียนดีเทลมาเป็นสิบๆ ข้อ ผมอยากบอกว่าคุณไม่ต้องรู้เยอะก็ได้ แค่รู้ว่าชอบอะไรก็พอ ตอนผมเริ่มทำยีนส์ผมยังไม่รู้เลยว่าริมแดงคืออะไร ไม่สน แค่อยากใส่ พอชอบแล้วเลยศึกษามาเรื่อยๆ บางคนที่อยากได้ดีเทลเยอะๆ ผมจะถามเขาว่าทำไมถึงชอบ มันพิเศษยังไง ถ้าเขาตอบไม่ได้ ผมก็ไม่ทำให้ จะทำไปทำไมในเมื่อเขายังไม่รู้ว่ามันคืออะไร (หัวเราะ)
“อีกอย่างไม่ใช่ว่าเดินเข้ามาสั่งเยอะๆ แล้วจะทำให้ได้ ทำออกมาแล้วคุณจะชอบหรือเปล่าก็ไม่รู้ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแพตเทิร์นที่ผมเลือกให้จะถูกใจไหม ผมจะทำให้ตัวเดียวก่อน ถ้าชอบค่อยว่ากัน ทำออกมาแล้วไม่ชอบ คุณเซ็ง คุณเสียตังค์ ผมคนทำก็ยิ่งเซ็งกว่า”
ราคากางเกงยีนส์ของ Viapiana เริ่มต้นราว 7,000-15,000 บาท นั่นคือราคาที่แพงที่สุดที่ร้านเคยตัด เพราะยีนส์แต่ละตัวมีรายละเอียดต่างกัน ขึ้นอยู่กับผ้าที่ใช้ วัสดุ ระยะเวลา ความประณีต ขายในเมืองไทยหรือส่งต่างประเทศ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายคนที่รู้จักร้านของเขาผ่านโซเชียลฯ มักสตั๊นท์ไป 5 วิฯ เมื่อเขาไม่ยอมบอกเรื่องราคาไม่ว่าจะตื๊อแค่ไหน
“ผมไม่ชอบลงราคาในเฟซบุ๊ก เพราะถ้าคุณสนใจงานแฮนด์คราฟต์จริงๆ คุณเข้ามาคุยกับผมเถอะ ราคามันอาจพอๆ กับแบรนด์ดังที่คุณชอบ แต่นี่คุณได้เจอกับคนเย็บโดยตรง มันมีค่ากับคุณไหมล่ะ ถ้ามีก็เข้ามาเลย บางคนเห็นในเฟซบุ๊กแล้วชอบมาก แต่เขาบอกผมตรงๆ ว่ายังไม่มีตังค์ตัด ช่วยแก้ขาให้สวยๆ นิดหนึ่งได้ไหม ผมบอกเอาเลย บางทีผมทำให้ฟรีด้วยซ้ำถ้ามีเวลา ผมยินดีจะช่วยอยู่แล้ว อย่างครั้งหนึ่งเคยเย็บกางกางให้พี่วินมอเตอร์ไซค์ใส่ฟรี ไม่คิดสักบาท เพราะเขามาส่งผมทุกวัน ทำไมแค่นี้ผมจะให้เขาไม่ได้”
ระหว่างดูเบนง่วนอยู่กับการใช้กรรไกรเหล็กเยอรมันเล่มใหญ่ค่อยบรรจงตัดแพตเทิร์นกระดาษ เราสงสัยว่าทำไมเขาถึงต้องใช้ใจและความรู้สึกมากมายกับงานแฮนด์คราฟต์ขนาดนั้น
“เอาตรงๆ คุณต้องคิดเองว่ะ” เขาทำหน้าครุ่นคิดก่อนหันมาตอบ “มันเหมือนเวลาคุณไปเจอคนนั่งถักตุ๊กตาเชือกขายตัวละ 20-30 บาทอยู่บนสะพานลอย มันไม่ได้ถักกันง่ายๆ นะ ถ้าคุณเห็นงานฝีมือแล้วไม่สนใจว่ามันเป็นงานฝีมือ อยากได้ราคาถูกๆ ก็ไม่ต้องสนใจอะไรแล้ว ผมเข้าใจว่าราคาเป็นเรื่องสำคัญเวลาจะซื้อของ แต่สมมติว่าคุณซื้อรองเท้าห่วยๆ ใส่ได้ 2 เดือน ปีหนึ่งคุณซื้อไปแล้ว 6 คู่ เอาราคามาบวกกันซื้อรองเท้าดีๆ คู่หนึ่งใส่ได้เป็นปี อยู่ที่มุมมองว่าอยากได้ระยะยาวหรือฉาบฉวย อยากได้ยีนส์แบบที่มีตัวเดียวในโลกก็มา
“บ้านผมที่แคนาดามีคนทำยีนส์แฮนคราฟต์บ้างเหมือนกัน แต่ไม่มาก เขาคิดว่ามันไม่คุ้ม ต้นทุนไม่ใช่น้อยนะคุณ พูดตรงๆ ผมไม่มีวันรวยหรอก แค่พออยู่ได้ ทำได้วันละตัว 2 ตัว วันไหนถึง 3 ตัวก็เครียดแล้ว ร่างกายไม่ไหว มันมีลิมิตของรายได้ ถ้าพูดในแง่ธุรกิจคือเป็นวิธีทำเงินที่ค่อนข้างโง่ แต่ผมทำเพราะผมรัก แค่นั้นแหละ” หนุ่มตาน้ำข้าวเจ้าของออร์เดอร์สั่งตัดกางเกงที่รอจ่อคิวกว่า 50 ตัวในเวลานี้กล่าวเรียบๆ
หากชื่อร้าน Viapiana ของเขาหมายถึง ‘ทางเรียบง่าย’ ในภาษาแคนาเดียน บางทีปรัชญาของเบนก็คงไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเหมือนกันนั่นละ
There’re something about Jeans
– บางคนอาจเคยได้ยินคำว่า ‘ริมแดง’ มานานแต่สงสัยว่ามันคืออะไร แล้วทำไมมันถึงเป็น Rare Item ของคนเล่นยีนส์ขนาดนั้น ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 100 ก่อน ขอบผ้ายีนส์ทั้งหมดจะเป็นสีขาว แต่ยีนส์ Levis อยากได้อะไรที่ต่างออกไป จึงกำหนดให้โรงานทอขอบผ้าของตัวเองให้เป็นด้ายสีแดง เมื่อเจ้าอื่นๆ เห็นก็อยากเก๋บ้าง ต่อมาจึงมี ‘ริมเหลือง’ โดยยี่ห้อ Lee ส่วน Wrangler ก็ไม่น้อยหน้าขอ ‘ริมเขียว’ กับเขาบ้าง กลายเป็นวัฒนธรรมการใส่ไอดีให้ผ้าเพื่อที่โรงทอจะได้รู้ว่ายีนส์นี้เป็นของใคร แบรนด์ยีนส์รุ่นต่อมาจึงหันมาใส่สีให้ริมผ้ากันยกใหญ่ มาถึงตอนนี้แบรนด์อย่าง Paul Smith ครีเอทไปถึงขั้นทำ ‘ริมสายรุ้ง’ กันแล้ว แต่ไม่ว่าอย่างไรยีนส์ลีวายส์ริมแดงสุดคลาสสิกก็ยังคงความเลอค่า (และอาจหายากกว่าทอง) อยู่ดี
– ผ้าที่ Viapiana ใช้คือผ้าริมแดงซึ่งใช้วิธีการทอแบบเดียวกับการทอผ้าทางภาคเหนือของบ้านเรา แต่ถ้าเป็นริมแดง แบบของกางเกงจะเปลี่ยนอะไรมากไม่ได้ เดปเกินไปก็ไม่สวย จะเหมาะกับกางเกงทรงคลาสสิก (แบบเดียวกับยีนส์ลีวายส์รุ่น 501) มากกว่า
Writer: Wednesday Adam
RECOMMENDED CONTENT
มาแรงสมการรอคอย สำหรับศิลปินหญิงยอดฟังสูงสุดอันดับ 1 มากความสามารถอย่าง “BOWKYLION” (โบกี้ไลอ้อน) หรือ “โบกี้ - พิชญ์สินี วีระสุทธิมาศ” จากสังกัดค่าย What The Duck (วอท เดอะ ดัก) ที่ประสบความสำเร็จด้วยผลงานเพลงคุณภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “ทราบแล้วเปลี่ยน”, “บานปลาย”, “ซับ”, และเพลง “ยิ้มมา” ที่กวาดยอดวิวทะลุหลักล้านทุกเพลง กลับมาครั้งนี้ “BOWKYLION” (โบกี้ไลอ้อน) ตั้งใจพาทุกคนดำดิ่งไปกับเพลงใหม่ความหมายเศร้าอย่างเพลง “วาดไว้ (Recall)” เพลงเศร้าที่มีจุดเริ่มต้นจาก ‘ภาพวาด’ ที่ได้มาจากแฟนคลับ