fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#EXCLUSIVE — ขึ้นตึกแกรมมี่พูดคุยกับ ‘เจ๋อ–ภาวิต’ และ ‘เปิ้ล–จิราภรณ์’ สองเบื้องหลังความสำเร็จศิลปิน ผู้ปลุกอิสระในการทำเพลงจากค่ายสนามหลวงมิวสิก
date : 13.กรกฎาคม.2018 tag :

สำหรับคนที่ชื่นชอบการฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ถ้าจะบอกว่า “เพลงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว” อะไรทำให้เราคลั่งไคล้ และถวิลหามันได้มากขนาดที่ทุกเช้าต้องฟังอย่างน้อยหนึ่งเพลงก่อนออกจากบ้าน หรือเครียดจากงานก็เพลงนี่แหละ ตัวช่วยอย่างดี บางทีความชอบก็หาเหตุผลได้ยากเหมือนกัน

แต่สำหรับคนทำเพลงและผู้อยู่เบื้องหลัง ความชอบอย่างเดียวคงไม่พอ โดยเฉพาะในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปไวแบบก้าวกระโดด เพลงที่เราฟังกันอยู่ทุกวันก็ล้วนมาจากหลายช่องทาง หลายผู้ถ่ายทอดไม่ใช่แค่นักร้องอาชีพอีกต่อไป จนเราอดคิดไม่ได้เหมือนกันว่าฝากฝั่งคนทำเพลง โดยเฉพาะค่ายใหญ่เขาคิดอะไรกันบ้าง ยิ่งเพลงอินดี้ที่หลายคนรู้จักและเรียกชื่อนี้กันจนติดปาก ทุกวันนี้ยังคงเป็นอินดี้ในแบบที่เคยเข้าใจกันอยู่หรือเปล่า

วันนี้ดู๊ดดอทจึงอยากชวนทุกคนมาฟังคำตอบจากปากของผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินที่โด่งดังมากมาย อย่างคุณเจ๋อ–ภาวิต จิตรกร ; ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในสังกัดแกรมมี่ที่ทุกคนรู้จัก และอีกหนึ่งพาร์ทเนอร์ที่สำคัญ คือ คุณเปิ้ลจิราภรณ์ สุมณศิริ ; ผู้อำนวยการฝ่าย สังกัดสนามหลวงมิวสิก ที่จะมาเปิดเผยทุกเรื่องราวความสำเร็จ และไขข้อสงสัยเกี่ยวกับส่วนหนึ่งของวงการเพลงบ้านเรา ณ เวลานี้

กระแสวงการเพลงในบ้านเรา ตอนนี้เป็นยังไง

เจ๋อจริงๆ ผมว่ากระแสของวงการเพลงบ้านเราก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องนะ แต่สิ่งที่เป็นภาพที่ชัดเจนที่สุด คือการเปิดกว้างมากขึ้นมากๆ แน่นอนมันเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีหรือความทันสมัย ซึ่งทุกคนก็ทราบกันอยู่ ในเมื่อเพลงเกิดใหม่ทุกวัน มีทั้งคนที่เป็นนักร้อง นักดนตรี ทุกคนมีโอกาสที่จะสร้างเวทีแสดงตัวตนได้ทุกวินาที เพราะฉะนั้นปริมาณก็มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น DNA ที่แตกต่างก็เป็นหัวใจสำคัญนะครับ

รวมถึงระยะเวลาในการพิสูจน์คนดนตรีผมว่ามันมี journey ที่ยาวขึ้น เพราะยุคนี้ความดังอาจจะวัดค่าลำบาก มาตรวัดความสำเร็จเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้ความดังกับการค้ามันไม่ได้เดินมาคู่กันนะ บางคนดังเพลงเดียวเป็นร้อยล้านวิว แปลว่าดังหรือเปล่า? “ผมว่ามีร้อยล้านวิว แปลว่ามีร้อยล้านวิว” เพราะเรามองไม่เห็น user ว่าเป็นเท่าไหร่ แต่ว่าคนที่มีแฟนคลับ จัดกี่ทีก็มีคนไปดู อันนั้นคือสิ่งที่เป็นมูลค่าในการวัดมากกว่า

—————

คุณเจ๋อยังพูดถึงเรื่องการฉาบแสงของสื่อที่เปลี่ยนไป เนื่องจากสื่อมักจะหยิบยกประเด็นใหม่ๆ มาพูดถึงเสมอ จึงกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘happening’ ที่ใช้เวลาเพียงไม่นานก็ดังกลายเป็นกระแส แต่พอหมดความน่าสนใจก็อาจไม่มีพื้นที่ให้แสดงความสามารถ แม้ช่องทางจะมีเพิ่มขึ้น แต่การโฟกัสไปที่ตัวศิลปินน้อยลง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ฟังจะเปลี่ยนไปชอบศิลปินคนอื่นได้ง่ายๆ

ซึ่งเมื่อสื่อและสังคมให้ความสำคัญกับการเห็นเยอะๆ บ่อยๆ แต่การสร้างรายได้อาจไม่ได้มากตามนั้น สิ่งที่คนทำธุรกิจมองจึงต้องประคองความชอบของคนเข้ามาควบคู่กับเรื่องธุรกิจให้ได้ ด้วยหน้าที่ที่เป็นหัวใจหลักสี่แบบ คือ ต้องทำเพลงที่ดี, สร้างศิลปินที่ดี, โปรโมทศิลปินให้โด่งดัง และต้องสร้างการค้าให้ได้

ความท้าทายของแกรมมี่กับการทำเพลงในยุคดิจิตอล

เจ๋อผมว่าเป็นเรื่องของการปรับตัว และเป็นการนำหน้าศิลปินให้ได้ ต้องใช้คำว่าเป็นหน้าที่ของบริษัทเลยก็ว่าได้ คืออันดับแรกบริษัทมีหน้าที่ต้องกระจายความสร้างสรรค์ของศิลปินไปทุกพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เพราะเดี๋ยวนี้ศิลปินทำเพลงเองเยอะ ความท้าทายของเราจึงเน้นไปที่เรื่องของการวางรูปแบบ partnership จะเห็นว่าแกรมมี่นั้นเข้าได้ทุกแพลตฟอร์มอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้ง YouTube, Facebook, Line, Joox, Spotify และยังมีอีกเยอะที่ไม่ได้เอ่ยชื่อ

เรื่องต่อมาก็ต้องเข้าใจวิทยาศาสตร์ของการทำเพลงให้ดังในแพลตฟอร์มนั้นๆ ด้วย รวมถึงต้องเข้าใจวิทยาศาสตร์ในการสร้างเม็ดเงินจากแพลตฟอร์ม เพื่อทำให้เกิดการเจริญเติบโต สุดท้ายอาจจะต้องมีเรื่องของโปรดักส์ต่อยอด ที่เป็นโปรดักส์ที่คิดค้นร่วมกับแพลตฟอร์มด้วย เช่น การที่เราทำ artist content ใน LINE TV ปีนี้ 12–13 รายการ หรือจับมือร่วมกับพันธมิตรอื่นๆ เพื่อสร้างโปรดักส์ตัวใหม่ขึ้นมา

เทรนด์ของการฟังเพลงที่เปลี่ยนไป

เจ๋อผมว่าเวลาเราจะเอา judgement ของการบอกว่าคนเราทุกคนเป็น universe แล้วเห็นเป็นเทรนด์ไม่ได้แล้ว ส่วนตัวไม่เชื่อเรื่องนี้มาตั้งแต่เกิดเลย ที่ไม่เชื่อเพราะคิดว่าทุกคนมีกลุ่ม มีความสนใจหรือความชอบที่แตกต่างกัน เป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะมีเทรนด์ที่เป็นความสนใจเดียวกัน เพียงแต่ว่าคนที่มีความสนใจเดียวกันรวมตัวกัน ก็กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘เทรนด์’

ดังนั้น เทรนด์ที่ผมจะตอบ ไม่ได้คิดว่ามันเป็น genre หรือ วัดจากแนวเพลง แต่เทรนด์ที่ผมว่า คือ music จะกลายเป็น part of life ที่ลึกขึ้น เพราะเราฟังเพลงได้ทุกที่ มันอยู่ในวิถีชีวิต เป็นโมเม้นต์ที่ไม่ขาดเพลงเลย อุตสาหกรรมเพลงน่าจะอยู่ในนั้น และผมว่าโอกาสที่ทำให้เราเป็น part of life ของคนเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ตรงนี้น่าจะเป็นหัวใจสำคัญ

‘GMM Grammyกับการทำงานร่วมกับSanamluang Music

เจ๋อสนามหลวงมิวสิกเป็นค่ายเพลงเป็นเหมือนยุทธศาสตร์ของแกรมมี่ อย่าเรียกพาร์ทเนอร์เลยครับ จริงๆ เขาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างองค์กรที่สำคัญ สนามหลวงถูกเปิดขึ้นมา เพราะเราเชื่อว่าในโลกนี้ต้องมีอิสรภาพกับโอกาสเดินมาคู่กัน ค่ายนี้เขาตะโกนดังๆ ว่า “ฉันมีวิธีคิดแบบอินดี้ นั่นแปลว่าให้อิสระที่อยากจะทำเพลงรูปแบบใด อยากจะคิดสร้างสรรค์งานรูปแบบใด ฉันสามารถทำงานร่วมกับเธอได้ โดยมีพื้นที่ มีมีเดีย มีโอกาส และมีประตูทางการค้า” นี่คือคอนเซ็ปต์ของสนามหลวง

ส่วนตัวผมอาจจะไม่ได้ชอบคำว่า อินดี้ มากมายเท่าไหร่นัก เพราะอินดี้อาจจะเป็นการเรียกบางกลุ่ม แต่นี่คือยุทธศาสตร์ที่เราต้องเดิน สิ่งนี้แปลว่า เราสามารถทำงานร่วมกับศิลปินได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะเราเปิดประตูกว้างที่จะรับคนหลากหลายเข้ามาร่วมงานกับแกรมมี่ ภายใต้ชื่อค่าย ‘สนามหลวง’

—————

และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเราคงได้เห็นการประกาศตัวจากหลายสื่อแล้วว่า สนามหลวงขอเรียกตัวเองอย่างเต็มปากว่าจะเป็น ‘Hub of Indie’ ด้วยการทำงานใน artist model ที่มีหลากหลายรูปแบบ คุณเจ๋อบอกว่านี่คือหัวใจสำคัญที่สุด โดยสามารถแบ่งเป็น 4 แบบด้วยกัน ทั้ง

• ศิลปินอินดี้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ นั่นหมายถึง ศิลปินสามารถผลิต สร้างสรรค์เพลงและมิวสิควิดีโอได้ด้วยตนเอง แต่สนามหลวงจะช่วยบริหารจัดการสิทธิ์ทั้งหมด เพราะค่ายมีช่องทางการสื่อสาร
• ศิลปินอินดี้และสนามหลวงมิวสิกร่วมกันผลิต ก็จะเป็นการสร้างสรรค์เพลงและมิวสิควิดีโอ โดยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกัน
มาเป็นศิลปินของสนามหลวงมิวสิกเลย เช่น อพาร์ตเมนต์คุณป้า, Lomosonic และ Tabasco
ศิลปินหรือค่ายเพลงมาทำร่วมกับสนามหลวงมิวสิก มาเป็นพันธมิตรความร่วมมือ และบริหารคอมมูนิตี้ร่วมกัน จะเรียกว่าเป็นการนำค่ายกับค่ายมาร่วมกันก็ได้ เช่น ค่ายเล็กๆ ที่ไม่ได้มีเงินทุนมาก

สนามหลวงกลายเป็น community ได้อย่างไร

เปิ้ลเริ่มมาจากตอนแรกที่เข้ามาทำงาน ปีแรกนี่มีก็วงเดียว คือ อพาร์ตเมนต์คุณป้า หลังจากนั้นก็ทำ Sanamluang Music Playtime สนามสนุกของคนรักดนตรี เป็น event เปิดพื้นที่ให้ ศิลปินได้แสดงสด และได้พบปะกับแฟนเพลงอย่างใกล้ชิด มีการ recruit น้องๆ วงดนตรีรุ่นใหม่ๆ ให้ได้เข้ามาเป็นวงเปิด (opening act) ให้กับศิลปินดังๆ รุ่นพี่จากทุกค่ายเพลง

หลังจากนั้นสนามหลวงก็มีวงเพิ่มขึ้นมา เช่น TABASCO และ Lomosonic ด้วยความที่ตัวเราเองทำงานด้านมีเดียมาก็จะมีคอนเน็กชั่นอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็เพื่อนๆ กัน เลยรวมตัวกันทำงานได้ง่าย เช่น ไปร่วมงานกับดีเจ ทำเพลงเป็น another version ร่วมงานกับ แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่น จัดงาน Sanamluang Music pop up party ตามที่ต่างๆ มันก็เลยกลายเป็นจุดจุดหนึ่งที่คิดได้ว่า เราเริ่มเป็น community ได้นี่นา

อีกอย่างคือเราก็จะมีเครือข่ายเพื่อนศิลปินที่อยู่ในแวดวง ที่รวมตัวกันแล้วก็จะช่วยทำอะไรกันได้หลายอย่าง ทั้งภาพทั้งเพลง ผู้กำกับมิวสิควิดีโอ ช่างภาพ graphic designer เป็น community ที่กว้างขยายเพิ่มไปอีก เราส่งศิลปินไปเล่นที่ต่างประเทศด้วย ก็มีเพื่อนๆ ในแวดวง festival ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น จากค่ายเพลงก็กลายเป็น community แล้ว

เกณฑ์ในการรับศิลปินเข้ามาทำงานกับสนามหลวง 

เปิ้ลด้วยความที่สนามหลวงเปิดกว้าง เปิดรับศิลปินทุกแนว เพลงจะเป็นแบบไหนก็ได้ แนวเพลงไม่จำกัด เรื่องแรกก็มาดูกันเรื่องเพลงว่าเป็นยังไง เรื่องต่อไปก็เป็นเรื่อง attitude ว่าเข้ากันได้ไหม และเรื่องความต้องการของเขา ซึ่งบางทีก็บอกไม่ได้นะต้องมานั่งคุยกัน ในทุกวงที่มาปล่อยของ ต้องนั่งคุยจริงจังว่าเขาต้องการอะไร เขาอยากได้อะไร เราสามารถสนับสนุนเขาให้ไปถึงในสิ่งที่เขาต้องการ ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือ และ เครือข่ายที่เรามีหรือเปล่า ถ้ามาอยู่สนามหลวง เขาอยากจะได้อะไรที่มากกว่าที่เขาปล่อยเองบ้าง จากนั้นค่อยมาวาง timeline กัน วางแผนทำงานด้วยกัน ซึ่ง ศิลปินที่เข้ามาทำงานกับเราในตอนนี้มาจาก

ศิลปินที่มาจากโครงการ opening act ของ Sanamluang Music Playtime เราเปิดรับวงดนตรีรุ่นใหม่ๆ ที่ไร้ค่ายแต่ไม่ไร้ฝีมือ เพื่อคัดเลือกมาเป็นวงเปิดให้กับศิลปินรุ่นพี่ในงาน Sanamluang Music Playtime พอจบงานก็คุยกันต่อสนับสนุนให้เขาได้มีผลงานอย่างต่อเนื่อง

ศิลปินที่เป็นศิลปินอยู่แล้ว คุ้นหน้าคุ้นตาและยังทำเพลงของตัวเองอยู่ตลอด แต่ไม่อยากทำเองทุกอย่าง อยากทำเพลงก็มาคุยกันให้เขาทำเพลงให้สบายใจ เรื่องอื่นๆ สนามหลวงมิวสิกดูแลให้

ศิลปินบางกลุ่มก็จะรวมตัวกันเป็น community เล็กๆ ทำดนตรีของเขาอยู่แล้ว และอยากเพิ่มช่องทางเผยแพร่ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ก็มาเป็นพันธมิตรกันกับสนามหลวงมิวสิกในการผลักดันให้เพลงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

กลุ่มสุดท้าย Walk–in คือติดต่อมาหาเราหลังจากที่สนามหลวง เริ่มปล่อยเพลงของศิลปินอินดี้ต่างๆ ออกไป  ก็จะติดต่อเข้ามาพูดคุย และตกลงทำงานด้วยกัน

มีการวัดผลศิลปินไหม

เปิ้ล : จริงๆ วัดผลตลอด ตั้งแต่ช่วงแรกที่เริ่มทำ จะเชิญศิลปินมานั่งคุย สรุปงานกัน ก็จะถามว่าปล่อยแล้วเป็นยังไงบ้าง แฮปปี้ไหม ทุกคนทุกวงบอกว่าแฮปปี้ เพราะเราช่วยสนับสนุนเขา ด้วย tools ทุกช่องทางหลังบ้านที่ GMM Grammy มีอยู่ ทำการตลาด ประชาสัมพันธ์ สนับสนุน ผลักดันให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นได้ ทุกวงแฮปปี้ ที่เห็นชัดคือ เพลงของเขาเข้าไปติดอันดับชาร์ตเพลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Top 50 Indie ของ JOOX, Artist Super Room, Best of The Week และ Top Thai Chart ของ Apple Music, Top 10 Indie Chart ของ Cat Radio

มีเพลงที่ถูกเลือกไปเป็นเพลงประกอบรายการและเพลงประกอบซีรี่ส์ อย่างเช่น เพลง ‘ให้ฉันเข้าไป’ ของ C/O GO! ถูกเลือกให้เป็นเพลงประกอบรายการ Game Of Teen หรือเพลง ‘เกอิชา’ ของ BLUES TAPE ถูกเลือกให้เป็นเพลงประกอบรายการ เช่น นี่เพื่อนเอง, Game Of Teen และยังถูกนำไปประกอบซีรีส์เรื่อง Friend Zone เอา.ให้.ชัด ที่กำลังจะออกอากาศเร็วๆ นี้ทางช่อง ONE31 อีกด้วย

อีกเรื่องคือเรื่อง ยอดวิวใน YouTube เรา support เขาด้วยการสามารถรับชมเพลงของเขาได้ผ่านแชนแนล GMM Grammy Official ที่มีผู้ติดตามกว่า 12 ล้าน subscribers รวมถึง Sanamluang Music Official ที่มีผู้ติดตาม 970,000 subscribers จึงทำให้มิวสิกวิดีโอมีโอกาสถูกฟังและรับชมมากยิ่งขึ้น ซึ่งมากกว่าและดีกว่าที่ศิลปินจะเผยแพร่ผ่านช่องทางของตนเอง ซึ่งการเติบโตของยอดวิวทั้งหมดนั้นมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึงกว่า 80% แถมยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยศิลปินสร้างรายได้เพิ่มเติมอีกด้วย โดยเพลงที่มีค่าเฉลี่ยที่โดดเด่นที่สุดคือเพลง ‘ปล่อย’ ของวง Clockwork Motionless ที่ปัจจุบันมียอดวิวมากกว่า 22 ล้านวิว มียอดการเติบโตที่สูงกว่า 700 เท่าเลยทีเดียว

มาถึงในตอนนี้ artist model แบบแรกเยอะที่สุด (ศิลปินอินดี้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์) ตอนนี้ศิลปินของสนามหลวงมิวสิกมีจำนวน 30 กว่าวง แต่ก็พร้อมเปิดรับศิลปินเข้ามาร่วมงานกัน ยินดีต้อนรับเข้าสู่ครอบครัวสนามหลวงมิวสิก Hub of Indie เสมอ

เจ๋อสิ่งที่คุยวันนี้ไม่ใช่สิ่งที่บอกว่าจะทำ แต่เราตัดสินใจทำเลย ดังนั้นสิ่งที่จับต้องได้ และเรียกว่าเป็นกลยุทธ์ในแบบสนามหลวงมิวสิก มีทั้ง สนามปล่อยของ คือพื้นที่ของศิลปินอินดี้ทุกแนวสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างอิสระ สนามโชว์ของ คือเวทีการแสดงความสามารถทางดนตรี เช่น Big Mountain Music Festival หรือ What the Fest! Music Festival สนามลองของ คือพื้นที่ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และสนามหลวงมิวสิก ได้จัดเตรียมเอาไว้ให้กับศิลปินในสังกัดฯ

ในเชิงธุรกิจกลัวขาดทุนไหม

เจ๋อไม่ได้กลัวขาดทุน เพราะในความเป็นจริงบริษัทไม่ได้มีภาวะขาดทุนแบบนั้นอยู่ จริงๆ แล้วในการทำธุรกิจที่ดีนั้นมันจะต้องมี business model มารองรับ ซึ่งก็เป็นความเชี่ยวชาญที่เราอยู่ในอุตสาหกรรมมานานเรารู้ว่าเราจะสร้างรายได้แบบไหน ลงทุนแบบใด และจะมี return อย่างไร ในส่วนของตลาดอินดี้เอง เราคิดว่าเราก็มี business model รองรับที่แตกต่างจากพื้นฐานที่เรามีอยู่

การดูแลศิลปินหากเทียบกับเมื่อก่อน มีอุปสรรคไหม

เปิ้ล : ไม่มีเลย สนุกมาก ยิ่งเพื่อนเยอะยิ่งเติมเต็ม อะไรที่ขาดก็คือยกมือ และที่สำคัญคือนายซัพพอร์ต ทุกเช้านายก็จะได้ไลน์ (หัวเราะ)

เจ๋อ : มาทุกช่องทาง (หัวเราะ)

เปิ้ล : ใช่! ทุกช่องทาง แต่จะคุยกับนายทุกวัน ก็จะได้รับการซัพพอร์ต ทั้งข้างบนที่ให้นโยบาย เพื่อนรอบตัว และก็น้องๆ ศิลปิน ทีมงาน 

เจ๋อ : ความท้าทายของอุตสาหกรรมดนตรีปัจจุบัน มันไม่ใช่ความรับผิดชอบของค่ายใดค่ายหนึ่ง หรือ community ใด community หนึ่ง เราจะเห็นว่าโครงสร้างที่เป็นอยู่คือ คุณทำตรง segment ของคุณให้ดี คุณเติบโตใน segment ของคุณให้ได้ เรื่องธุรกิจเป็นเรื่องของบริษัท เราอยากให้ค่ายสบายใจที่สุด ทั้งค่ายและศิลปินจะได้ทำในสิ่งที่เขารักที่สุด ถนัดที่สุด แล้วหัวใจสำคัญที่ใหญ่ที่สุด คือค่ายต้องสร้างศิลปิน ดังนั้นศิลปินที่ยืนอยู่ จะมีแบ็คอัพข้างหลังคือทีมสนามหลวง ข้างหน้าคือแฟนคลับ ก็จะต้องสร้างไปด้วยกัน

บทเรียนที่ทำให้กลายมาเป็นสนามหลวงมิวสิกในตอนนี้

เปิ้ลสิ่งที่เราได้อันแรกคือโอกาส เมื่อเราได้โอกาส ก็อยากให้โอกาสกับคนอื่น เรื่องที่สองคือความมุ่งมั่น สัญญาต้องเป็นสัญญา เพราะไม่งั้นคงไม่อยู่มาจนทุกวันนี้ (หัวเราะ) เวลาเราพูดว่า “คุณยายสัญญา” ทุกคนจะเชื่อ จะไม่มีคำถาม อันนั้นน่าจะเป็นส่วนที่ดีที่สุดที่เราทำงานมา ก็เลยจีบนักร้องง่ายหน่อย (ยิ้ม)

ความตื่นเต้นที่เราจะได้เห็นหลังจากนี้

เจ๋อสำหรับผมคิดว่า พรมแดนหรือเส้นแบ่งจะแคบลงเรื่อยๆ ความตื่นเต้นที่คุณจะได้เห็นหลายๆ ศิลปินที่คุณคาดไม่ถึงว่าทำไมเขามาร่วมทำกับเรา อย่าง กลุ่มโปรดิวเซอร์ฮิปฮอปแถวหน้าของเมืองไทย MVL : BOTCASH :  SUNNYDAY : MINDSET ในนาม PROJECT X (เป้ วงมายด์ / เอ้ บูมบูมแคช / เดย์ ไทเทเนี่ยม / ป๊อกมายด์เซ็ท) ผมว่ามันเป็นนวัตกรรมที่ไม่มีวันเกิด แต่เกิดขึ้นแล้วที่นี่ เดิมทีเมื่อก่อนเราอยู่แบบแบ่งค่ายแบ่งพวกกันชัด แต่ต่อไปเราก็จะได้เห็นการ collaboration concert อาจจะได้เห็นโอกาสของคนที่มาทำงานหลากหลายรูปแบบ แล้วก็เจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

อะไรทำให้แกรมมี่ประสบความสำเร็จมายาวนานกว่า 35 ปี

เจ๋อข้อแรกและเป็นหัวใจสำคัญที่สุด คือ เพราะแกรมมี่มีกันและกันที่ดีแบบนี้ ทุกคนในแกรมมี่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะตำแหน่งไหน ผมว่าเขาเป็นคนที่มีความพิเศษมาก แตกต่างจากวงการอื่น คนอุตสาหกรรมดนตรีไม่ใช่ว่าจะหาเจอตามท้องถนน แล้วบอกว่าจะชวนมาทำงานจนประสบความสำเร็จได้ มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ผมว่าเป็นคนที่ต้องมีดนตรีเป็นตัวตั้ง เป็น music lover อีกอย่างเราสะสมคนเก่งที่อยู่ในตึกนี้เยอะมาก นี่คือรากฐานสำคัญ 

สองคือต้องให้เครดิต คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม (ผู้ก่อตั้งบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่) ผมยังชอบวิสัยทัศน์ที่คุณไพบูลย์เคยให้ผมไว้ว่า “ต้องทำธุรกิจดนตรีให้มีความยั่งยืน และกลายเป็นอาชีพที่ทำให้คนอยู่รอดในชีวิตให้ได้” สิ่งที่เราเป็นคือ มีความจริงใจและซื่อสัตย์กับผู้ฟัง อยากจะทำสิ่งดีๆ ออกไป ทำให้ผู้ฟังมีความสุขกับสิ่งที่เราตั้งใจ เพื่อให้อุตสาหกรรมนี้เดินไปข้างหน้าได้

RECOMMENDED CONTENT

9.กรกฎาคม.2020

ROKU (โร-คุ) คืออีกหนึ่งคอลเล็กชั่นที่ร่วมงานกับนักออกแบบระดับโลกอย่าง คอนสแตนติน เกอร์ชิค (Konstantin Grcic) โปรดักซ์ดีไซเนอร์ที่มีผลงานร่วมกับแบรนด์มากมาย อย่าง Muji และ Vitra และยังชนะรางวัลงานออกแบบมาแล้วนับไม่ถ้วน