fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#VISIT – ก็โลกมันร้อน! ชวนคุยหัวร้อนกับ ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’ ถึงความจริงเรื่องภาวะโลกร้อน และทางรอดของมนุษย์ก่อนไม่มีโลกให้อยู่
date : 8.ตุลาคม.2019 tag :

เราถือคติอยากเจอสิงห์ต้องเข้าถ้ำสิงห์ ทำใจดีสู้สิงห์ เพื่อไปเจอกับ วรรณสิงห์  ประเสริฐกุล ที่เพิ่งกลับมาจากตุรกีได้เพียง 3 วัน จากการถ่ายทำรายการ เถื่อน Travel พร้อมๆ กับในวาระที่เขาออกหนังสือใหม่ว่าด้วยการรวบรวมภาพถ่ายตลอด 10 ปีที่เขาเดินทางทั่วโลกและถ่ายภาพบันทึกความทรงจำด้วยตัวเอง กลายมาเป็น 100 ภาพในหนังสือ ‘เถื่อน 100’ เสมือนเป็นการปิดศักราชการทำงาน 1 ทศวรรษของตัวเองอย่างสวยงาม

เขายอมรับว่าจริงๆ ใจไม่อยากไปเที่ยวแล้ว มันเหนื่อย และเบื่อ และอยากอยู่บ้านจะแย่ แต่เป้าหมายเดียวที่ล้มความเหนื่อยทั้งมวลได้ และเป็นแมสเสจที่มีพลังมากพอจะฉุดเขาออกจากบ้านไปเดินทางอีกครั้ง นั่นก็คือ ‘ภาวะโลกร้อน’ 

สำหรับแฟนๆ เถื่อน Travel คุณอาจยังได้ดูความยากลำเค็ญของพิธีกรหนุ่มกับการไปถึงที่หมายสไตล์โหดๆ อยู่เหมือนเดิม แต่ถ้าหวังว่าจะได้ดูการบุกป่าฝ่าดงกระสุน หลบทุ่นระเบิด ครั้งนี้คงต้องผิดหวัง เพราะมันจะเป็นการพาไปดูภูเขาถล่ม หิมะละลายที่ขั้วโลกแทน เขาถึงขั้นไปเรียนดำน้ำ ไม่ใช่ยากเห็นปะการังสวยงาม แต่อยากพาเราดำไปดูขยะพลาสติกที่กองรวมกันอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก 

“พูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วมันขึ้น!”  เขากล่าวทั้งหัวเราะ ทั้งหัวร้อนในเวลาเดียวกัน 

สิ่งที่วรรณสิงห์บอกกับเราอยากหนึ่งคือ ถ้าเรามองแค่ชีวิตตัวเอง ตื่นเช้า กินกาแฟ ไปทำงาน กลับมาวิ่งหนึ่งรอบ แล้วนอน ไม่มีทางรู้เลยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับโลก แต่ถ้าเราทำเป็นมองไม่เห็นมันเยอะๆ เข้า เดี๋ยวมันจะมาหาเราเอง ในรูปแบบปัญหาปากท้องและสังคมที่เรารู้สึกได้  

เมื่อเป็นเรื่องของธรรมชาติ ในสายตาของคนที่มีโอกาสได้เดินทางไปสัมผัสธรรมชาติมาแล้วทั่วโลกและกำลังเห็นมันค่อยๆ ล่มสลาย เขาไม่สามารถปล่อยให้มันเป็นแบบนั้นโดยไม่ลงมือทำอะไรสักอย่างกับมัน บทสนทนาครั้งนี้เป็นความในใจของเขาต่อโลกที่เถื่อนมาก 

เถื่อนมากๆ 

______________________________________________________________________________________

จาการที่คุณได้เดินทางมาหลายประเทศ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตอนนี้มีอะไรบ้าง

อธิบายให้ฟังง่ายๆ อย่างนำ้แข็งขั้วโลกละลาย ถ้าเป็นขั้วโลกเหนือ น้ำในทะเลไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะนำ้แข็งเหล่านั้นมาจากน้ำทะเลอยู่แล้ว การที่มันละลายไปมันก็คือปริมาณน้ำเท่าเดิม แต่สิ่งที่หายไปคือพื้นที่สีขาว หน้าที่ของน้ำแข็งที่คนไม่รู้คือมันสะท้อนความร้อนกลับไปสู่ชั้นบรรยากาศได้ 

พอน้ำแข็งเริ่มละลาย ความร้อนที่มาจากดวงอาทิตย์ก็จะสามารถซึมซับเข้าไปในทะเลได้มากยิ่งขึ้น ยิ่งซึมซับมากเท่าไร น้ำทะเลก็ยิ่งเป็นกรดมากขึ้น ดูดซับคาร์บอนน้อยลง โลกยิ่งร้อน เพราะนำ้แข็งที่เอาไว้สะท้อนแสงได้หายไปแล้ว นี่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ภาวะโลกร้อนมันเหยียบคันเร่งตัวเองขึ้นไปอีก ซึ่งไอ้เรื่องนำ้ทะเลสูงขึ้นอาจจะเกิดขึ้นในอีกสัก 50 ปีข้างหน้า คนเจนฯ ต่อไปยังไงต้องเจอแน่นอน แต่เรื่องที่ใกล้กว่านั้นคือภัยพิบัติทางธรรมชาติจะเกิดมากขึ้น รุนแรงขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วโลก 

อย่างปัญหาการกัดเซาะหน้าดินที่ทำให้พื้นที่ป่าหลายแห่งค่อยๆ แห้งกลายเป็นทุ่งหญ้า หรือกลายเป็นพื้นที่ทะเลทราย (Desertification) ไปเลยด้วยซ้ำ นำไปสู่ระบบนิเวศน์ที่พังทลาย สัตว์จำนวนมากสูญพันธุ์ นี่คือผลลัพธ์ระยะสั้นที่เราจะทันได้เห็นในเจนฯ เรา มันกำลังจะมาถึงเร็วๆ นี้

ภัยพิบัติที่เราเจอในประเทศไทย มันสัมพันธ์กับภาวะโลกร้อนยังไง 

นำ้ท่วมอุบลฯ ทุกคนรู้กันดีอยู่แล้วว่าพอป่าหายน้ำก็ท่วม ถูกมั้ย เพราะหนึ่งคือไม่มีอะไรมาชะลอการไหลของน้ำ และสองคือหน้าดินที่แห้ง อุ้มน้ำได้น้อยลง มันแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติทั่วทุกมุมโลกสัมพันธ์กันหมด ส่วนหนึ่งเกิดจากตัดไม้ทำลายป่า พอตัดปุ๊บ ต้นไม้ที่ถูกตัดหรือโดนเผาก็จะปล่อยคาร์บอนที่กักเก็บไว้ออกมา คาร์บอนที่เคยเก็บไว้ในป่าดงดิบทั่วโลกจะกลับมาสู่ชั้นบรรยากาศ ขณะเดียวกันเครื่องมือในการดูดซับคาร์บอนเหล่านี้คือต้นไม้ก็น้อยลงเรื่อยๆ คาร์บอนจึงทั้งถูกปล่อยมากขึ้น และดูดซับน้อยลง

สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับป่าคือความชื้น ความชื้นทำให้เกิดฝน หน้าดินชุ่มฉ่ำ ไม่แล้ง ทีนี้พอป่าแล้ง ฝนน้อยลง ไฟป่าก็เกิดง่ายขึ้น และไม่มีฝนมาดับไฟป่าเหล่านั้น พูดง่ายๆ คือยิ่งตัดป่า ป่ายิ่งเผาตัวเอง ไม่ต้องไปดูไหนไกล เกาะสุมาตรา หรือป่าแอมะซอนที่ตอนนี้ไฟอาจจะยังไม่ดับดีด้วยซ้ำ ทั้งหมดนี้เป็นหลักฐานแล้วว่ากระบวนการเหล่านี้กำลังเกิดขึ้น และจะไม่หายไปไหน 

อย่างเมื่อเดือนกรกฎาคม 2019 ก็คือเดือนที่ร้อนที่สุด… ที่สุดตั้งแต่เคยมีบันทึกในประวัติศาสตร์โลกเลยนะเว้ยเห้ย แล้วทำไมคนยังไม่ตกใจกันอีกวะ (หัวเราะ)

อะไรเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่เร่งให้เราต้องรับรู้เรื่องภาวะโลกร้อนกันอย่างจริงจังได้แล้ว 

มันเกิดมาจากโจทย์ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่ตั้งเป้าไว้ว่าเราต้องเข้าสู่เสตทของ Carbon Neutral หรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับศูนย์ ภายในปี 2030 ซึ่งอีกแค่ 11 ปีข้างหน้าเท่านั้น

เป้าหมายที่พอจะหวังได้ตอนนี้คือการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงไปกว่า 1.5 องศา เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ขณะที่ตอนนี้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 0.8 องศา แปลว่าเรามากันเกินครึ่งทางแล้ว เพราะกราฟภาวะโลกร้อนไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นเส้นตรง แต่ขึ้นแบบที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Exponential Growth ถ้าถึงปี 2030 ยังหยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในปริมาณนั้นไม่ได้ เราจะหวนกลับไม่ได้แล้ว

แล้วชาวโลกมีการตื่นตัวเรื่องนี้กันมากน้อยแค่ไหน ทั้งในฝั่งประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศยังไม่พัฒนา

มันจะมีประเทศที่ถ้าใช้มาตรวัดแบบทั่วไปอาจบอกว่าไม่ได้ว่าเจริญ เนื่องจากประชากรแถวนั้นเขาอยู่กับธรรมชาติโดยไม่ต้องมีคนมาบอกเรื่องความสัมพันธ์ของธรรมชาติ ทุกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเขารู้สึกได้ เช่น แถวขั้วโลก ชาวอินุอิต (Inuit) หรือชาวเอสกิโมที่คนไทยรู้จัก ชีวิตเขาอยู่กับนำ้เเข็งตลอดเวลา ในช่วงฤดูหนาวปกติจะมีสิ่งที่เรียกว่า Sea Ice หรือผืนน้ำที่กลายเป็นน้ำแข็ง แต่ช่วงที่ผ่านมาเขาสังเกตว่าทำไมมันเล็กลงทุกปี สิ่งนี้มันเอ็ฟเฟ็กต์กันเป็นลูกโซ่ พอน้ำเเข็งไม่มี หมีขั้วโลกก็หากินไม่ได้ ความสัมพันธ์เหล่านี้ค่อนข้างประจักษ์ชัดกับคนที่อยู่กับธรรมชาติจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าดงดิบ ขั้วโลก หรือทะเลทราย คนพวกนี้จะหวงแหนธรรมชาติโดยอัตโนมัติ เพราะมันคือชีวิต ความเชื่อ บรรพบุรุษ คืออะไรที่มากกว่าแค่เรื่องทรัพยากร 

กับอีกด้านคือประเทศเจริญแล้วที่ก้าวข้ามความพยายามในการพัฒนาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ก็จะสนใจว่าจะทำยังไงให้สิ่งแวดล้อมอยู่คู่กับสังคมเมืองและกับการพัฒนาเชิงวัตถุของสังคมมนุษย์ได้ ซึ่งแถวบ้านเราก็อย่างสิงคโปร์ จะเห็นว่าบ้านเมืองเขามีความกรีนสูงมาก หลังจากที่ได้พัฒนาทางเศรษฐกิจจนถึงขีดสุดแล้ว หรือย่างประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่ใส่ใจเรื่องทรัพยากรมากพอกัน มีการใส่เรื่อง Climate Change เข้าไปในการศึกษาของเด็กด้วย 

และมีประเทศตรงกลางอย่างเราที่ไม่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติขนาดนั้น แล้วก็ไม่ได้พัฒนาเชิงเศรษฐกิจจนถึงขีดสุดจนมานั่งใส่ใจเรื่องอื่นๆ มีประเทศแบบนี้อยู่ทั่วโลก เขาจะรู้สึกว่าเรื่อง Climate Change เป็นเรื่องไกลตัวที่ต้องเอาไว้ทีหลัง พัฒนาเศรษฐกิจก่อน ให้คนหายจนก่อน ถ้าให้ผมมองคร่าวๆ จะมี 3 ระดับประมาณนี้

ประเทศที่เขาพัฒนาครบทุกด้านแล้ว เขามีมูฟเม้นต์ยังไงต่อเรื่องนี้บ้าง

4 ประเทศที่ปล่อยคาร์บอร์มากที่สุดคือ อเมริกา อินเดีย จีน บราซิล ซึ่งแค่ 4 ประเทศนี้ก็รวมประชากรถึง 40% ของโลกเข้าไปแล้ว

แต่ผมสังเกตอย่างหนึ่งว่า สิ่งที่ทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทั้งระบบอย่างจริงจัง ไม่ใช่ปัญหาเทคโนโลยี หรือปัญหาเชิงความรู้ของประชากรอย่างเดียว มันคือปัญหาเชิงการเมืองที่ไม่สามารถเอาความวิตกกังวลต่อโลกขนาดนี้แปลเป็นแอคชั่นที่เกิดผลได้ 

ไม่ได้น้องมีแค่น้องเกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) คนเดียวที่ออกมาเรียกร้อง ยังมีเยาวชนอีกจำนวนมากจากทั่วทุกมุมโลกกำลังส่งเสียงให้รัฐบาลทั่วโลก ไม่ใช่แค่สหรัฐฯ ทำอะไรที่จริงจังกว่านี้ ตั้งเป้าให้ชัดเจน เปลี่ยนความคิดเข้าสู่วิกฤตการณ์ (Crisis Mode) เพราะมีการคะเนว่าประมาณปี 2100 วิกฤติการณ์มันจะมาอย่างโหดจริงๆ ซึ่งทั้งผมและคนที่กำลังอ่านผมอยู่ตอนนี้คงตายไปแล้ว แต่นี่จะเป็นโลกที่พวกเขาต้องอยู่ต่อไป 

ที่ตลกคือพอเด็กอายุ 16 ออกมาพูด คนกลับสนใจว่า เอ๊ะ น้องก้าวร้าวเกินไปหรือเปล่า คนสนใจว่าน้องเป็นใคร และพูดยังไง ขณะที่ไอ้เรื่องสำคัญกว่าคือสิ่งที่น้องพูด ไอ้เรื่องโลกร้อน กลับไม่พูดกัน 

เพราะภาวะโลกร้อนถูกมองว่าเป็นปัญหาเชิงการเมือง ทำให้ยังไม่เกิดการแก้กันจริงๆ  

ใช่ ซึ่งไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ฝั่งเสรีนิยมก็จะชูประเด็นนี้ ขณะที่ฝั่งอนุรักษ์นิยมก็จะบอกว่าเรื่องนี้เป็นข้ออ้างให้รัฐบาลจัดการตลาด จัดการทุนต่างๆ ได้ เพราะเอาข้ออ้างเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามา ทั้งที่ความจริงมันควรเป็นประเด็นเรื่องความอยู่รอดของพวกเราทุกคน และดึงพวกเราเข้าหากันได้ น่าเสียดาย เรายังเห็นมันเป็นประเด็นทางความคิดเห็น ทั้งที่มันคือข้อเท็จจริง ไม่ว่าเราคิดเห็นยังไง สุดท้ายมันจะมาหาเราชัวร์ๆ 

แต่สิ่งที่เห็นแน่ๆ ตอนนี้คือโลกกำลังเปลี่ยน เราไม่เคยเห็นเด็กอายุ 16 ขวบพูดในระดับเดียวกันกับประธานาธิบดีแล้วมีคนฟัง อาจจะฟังมากกว่าด้วยซ้ำ ต่อไปเราอาจไม่ได้เริ่มการเปลี่ยนแปลงจากผู้มีอำนาจแล้ว แต่เป็นคนในสังคมตัวเล็กๆ โดยไม่ต้องรอให้การเมืองระดับโลกเปลี่ยนก่อน 

พอมันกลายเป็นการเมืองแล้ว ดูยากขึ้นทันทีในทางปฏิบัติ 

ยากแน่นอน ถ้าเราหวังจะเริ่มจากการเมืองก่อน มีแค่บางรัฐบาลฯ เท่านั้นที่ประกาศว่าภาวะโลกร้อนเป็นภาวะฉุกเฉิน เช่นประเทศอังกฤษ ส่วนสหรัฐฯ ทุกคนก็รู้ว่าโดนัล ทรัมป์ ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อนด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น เราอย่าเอาพลังไปด่าหรือบังคับภาครัฐฯ เลย เราเอาพลังมาทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้และเร็วที่สุดกันดีกว่า

ความเปลี่ยนแปลงจะยากหรือง่ายขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง 

ขึ้นอยู่กับประชาชนจะรับรู้เรื่องเหล่านี้ได้มากแค่ไหน สิ่งที่เราสังเกตได้อย่างหนึ่ง พอประชาชนรู้ปุ๊บ มันจะเด้งไปสู่ภาคเอกชนก่อน พอภาคเอกชนตื่นตัวกับการ Demand ของประชาชน ผมเชื่อว่าต่อไปภาครัฐฯ ก็จะขยับตามเอง เราได้แต่หวังอย่างนั้นนะ 

เพราะว่าหากรอการเปลี่ยนแปลงจากภาครัฐฯ ก่อน ผมมองว่ามันช้าเกินไป แล้วปัญหาการเมืองบ้านเราก็เยอะเกินกว่าจะคาดหวังให้เขามาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจัง โดยที่ไม่ได้มีแรงกดดันจากองค์กรหรือกลุ่มทุนใหญ่ๆ ก่อน กลุ่มทุนเหล่านั้นเขาน่าจะเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า โดยเริ่มจากตลาดต้องการให้เขาเปลี่ยน ซึ่งตลาดที่ว่าก็คือพวกเราทุกคนนั่นเอง 

ถ้างั้นก็แปลว่ารัฐฯ ไม่ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบเรื่องนี้ก่อนงั้นเหรอ 

เปล่า แค่เราหมดหวังที่จะหวังอย่างนั้น มันไม่มีมนุษย์โลกคนไหนที่ไม่ต้องรับผิดชอบกับเรื่องนี้หรอก ถ้าตาย เราตายกันทุกคน แต่ถ้ามองอีกแง่คือเราทำเต็มที่แล้วยังตายอยู่ดีก็ช่างแม่ง มนุษย์ก็แค่เป็นอีกหนึ่งสปีชีส์ที่เกิดขึ้นมาแล้วสูญพันธุ์ไป ก็เท่านั้นเอง เหมือนแมมมอธ หรือไดโนเสาร์ (หัวเราะ) 

คนชอบพูดว่าก่อนจะไปพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม เราต้องแก้ปัญหาเรื่องปากท้องก่อน 

เอาใหม่นะ เรื่องสิ่งแวดล้อมคือเรื่องปากท้อง ไม่ควรแยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ปากท้องมาจากไหน มาจากการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ เหล่านี้มาจากธรรมชาติทั้งนั้น ตัวเร่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากการเผาเชื้อเพลิง (Fossil Fuels) รองลงมาคือการเกษตร ซึ่งทำลายพื้นที่ผืนป่าไปเยอะมาก อีกอย่างหนึ่งที่คนไม่ค่อยรู้คือการใช้ปุ๋ย พวกไนโตรเจน ฟอสฟอรัสจะไหลลงมหาสมุทร แล้วไปลดเปอร์เซ็นต์ที่น้ำในมหาสมุทรสามารถกักอ๊อกซิเจนเอาไว้ได้ ทำให้ปลาตาย ทำให้สาหร่ายเติบโตมาบังแสงอาทิตย์ พอแสงมาไม่ถึงข้างล่างมหาสมุทร ระบบนิเวศน์ในน้ำก็เสียอีก

สิ่งเหล่านี้ส่งผลมาถึงปากท้องยังไง พอปลาหาย แล้วเราจะจับปลาที่ไหนล่ะ มันเรื่องของปากท้องชัดๆ น้ำท่วมที่อุบลฯ นั่นปากท้องมั้ย มันเป็นวิถีชีวิตของคนเลยนะ 

ผมไม่ได้บอกว่าเรื่องอื่นๆ ไม่สำคัญ มันสำคัญมาก แต่ถ้าเราไม่แก้กันที่เรื่องสิ่งแวดล้อมก่อน เรื่องเหล่านั้นไม่ต้องมาพูดกันแล้ว เพราะภายในร้อยปีอาจไม่มีพวกเราเหลืออยู่อีกเลย ทรัพยากรจะหายไป ตามมาด้วยปัญหาปากท้อง ปัญหาสังคม กลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ โครงสร้างสังคมอะไรต่างๆ จะเปลี่ยนไปหมด

อีกอย่างที่ได้ยินมาตลอดคือเรื่องรักโลกเป็นเรื่องดัดจริตของชนชั้นกลาง คนมีอันจะกิน

ความจริงคนที่จะเดือดร้อนก่อนคือคนจน คิดง่ายๆ เลย ถ้าระดับน้ำสูงขึ้น ที่ดินหายไป ราคาที่ดินที่อยู่สูงก็จะแพงขึ้นโดยอัตโนมัติ แล้วใครล่ะที่มีโอกาสไปอยู่สูง ก็คนรวยกับชนชั้นกลางไง ตอนนี้ทั่วโลกเกิดภาวะผู้ลี้ภัยทางธรรมชาติ (Climate Refugee) มากขึ้นทุกปี คนรวยอพยพไปอยู่ยุโรปได้ คนจนอาจจะต้องลี้ภัยไปอยู่เมียนมาร์ ลาว หรือประเทศที่อยู่สูงกว่าเราหน่อย สุดท้ายแล้วมันจะกลายเป็นปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ การแบ่งแยกชาติพันธุ์ เป็นลูกโซ่ตามมา

หรืออย่างเรื่องฝุ่น PM 2.5 คนรวยเขาก็ซื้อเครื่องฟอกอากาศ อยู่ในห้องแอร์ แล้วคนจนล่ะ ก็นั่งสำลักฝุ่นกันไป นี่ไง ใครเดือดร้อนก่อนกัน

“จริงที่ว่าก่อนหน้านี้เราโดนสอนมาว่าถ้าคุณเป็นคนดี คุณต้องรักโลกนะ

แต่ตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องของคนดี คนไม่ดีอีกต่อไปแล้ว มันคือเรื่องว่า ‘พวกมึงจะอยู่รอดกันมั้ย ในฐานะสปีชีส์หนึ่ง’” 

สิ่งที่เราจะหวังว่าภาคเอกชน ภาคธุรกิจใหญ่ๆ เขาจะเปลี่ยนแปลงก่อนภาครัฐฯ คืออะไร

ต่อไปนี้สินค้าที่เราซื้อทุกชิ้นควรจะมี Carbon Footprint ให้ดูเลยว่า นมขวดนี้ปล่อยคาร์บอนเท่าไรในการผลิต เสื้อตัวนี้ปล่อยคาร์บอนเท่าไร เพื่อให้เราตัดสินใจก่อนซื้อ ของทุกชิ้นที่เราซื้อมันควรจะสะท้อนทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับโลก ไม่ใช่แค่ต้นทุนของผู้ผลิตอย่างเดียว มันควรจะมีระบบที่ทำให้ผู้ผลิตต้องจ่ายเงินเมื่อเขาปล่อยควันสู่ชั้นบรรยากาศ กระทบมาสู่ราคาของผู้บริโภคที่ต้องจ่ายด้วย ซึ่งถ้าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมันสะท้อนออกมาในราคาสินค้า คนก็จะเริ่มโวยวายแล้ว Demand ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแน่ๆ 

ประชากร 70 กว่าล้านคน ทุกคนต้องรับผิดชอบหมด ถ้าคุณเป็นประชาชน คุณต้องเริ่มจากชีวิตตัวเอง ถ้าคุณเป็นหัวหน้าองค์กร คุณต้องเริ่มเปลี่ยนองค์กรที่คุณอยู่ได้แล้ว

ถ้างั้นเรา-ในฐานะภาคประชาชนและผู้บริโภค มีสิทธิ์สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรในระดับสังคมได้บ้าง

ถ้าสังเกตนะ โดยเฉพาะปีนี้ ผู้คนเริ่มเลิกซื้อกาแฟด้วยแก้วพลาสติก เลิกใช้หลอกพลาสติก แปลว่ามันเปลี่ยนได้ทั้งสังคม ด้วยการพูดถึงมันเยอะๆ แล้วนิสัยของการเล่นโซเชียลฯ ของพวกเรา พอทำอะไรแล้วโพสต์ มันจะกลายเป็นอินฟลูเอนซึ่งกันและกัน เดี๋ยวธุรกิจเขาจะเปลี่ยนตามเราเอง แต่ถ้าเรายังโพสต์กันเรื่องของแพง ฟุ่มเฟือยกันอยู่ แน่นอนว่าธุรกิจเขาก็จะไม่ได้เปลี่ยนอะไร 

ผมมองว่า ถ้ามีดาราหรือคนดังที่มีอิทธิพลต่อคนในสังคมรวมตัวกัน ทำให้มันเกิดเทรนด์ เช่น อยู่ๆ เขาซื้อโทรศัพท์มือถือใหม่พร้อมกัน แล้วบอกว่าเอาเครื่องเก่าไปรีไซเคิลได้ที่ไหนบ้าง คนทั่วไปเห็นแล้วก็อยากทำตาม ต่อไปบริษัทสมาร์ทโฟนใหญ่ๆ อาจจะต้องเปิดช่องทางรับซื้อเครื่องเก่า แล้วต้องอธิบายว่าชิ้นส่วนทั้งหมด เอาไปรีไซเคิลยังไง 

เรามีสิทธิ์ในการสั่งธุรกิจได้ แต่เราต้องสั่งพร้อมกันทั้งสังคม พอธุรกิจเกิดการตื่นรู้ เขาจะเปลี่ยนตามเรา 

การเปลี่ยนแปลงมาจากการกินอยู่ของพวกเรานั่นละ เริ่มจากเลือกใช้แต่ของที่ดีต่อธรรมชาติ หรือถ้าทำเกินกว่านั้น อาจเริ่มจากแยกขยะพลาสติกที่บ้านตัวเอง เก็บขยะพลาสติกในชุมชนของคุณ เลือกเดินทางด้วยวิธีที่ปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด แล้วก็โชว์ออฟมันให้เยอะที่สุดว่าคุณกำลังทำ อาจฟังดูแปลกนะ เเต่เดี๋ยวจะมีคนโชว์ตาม มันจะกลายเป็นกระแสสังคมไปเอง 

สิ่งสำคัญคือทำมันเรื่อยๆ ไม่ใช่เค่ตามเทรนด์แล้วเลิก ผมเชื่อว่าพอถึงจุดหนึ่งสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นสามัญสำนึกที่ว่า ‘เห้ย คุณไม่ทำแบบนี้ไม่ได้แล้วนะ’ 

ที่คุณรู้สึกกับมันขนาดนี้เป็นเพราะการได้เดินทาง  

เพราะผมเห็นจริงๆ กับตาตัวเองว่าน้ำแข็งกำลังละลาย ผมไป Everest Base Camp คนที่นั่นเขาเล่าให้ฟังว่าช่วงนี้เจอศพคนเต็มเลย เพราะน้ำเเข็งที่อยู่บนโลกละลาย แล้วศพที่อยู่บนนั้นมันไหลลงมา ซึ่งผมฟังแล้วแบบ ‘เชี้ยยย…’

ผมไปป่าแอมะซอนมาเมื่อประมาณ 9 ปีที่แล้ว จำได้เลยว่าป่ามันชื้นจนจุดไม้ขีดไม่ติด แล้วพื้นที่ที่จุดไม้ขี้ไม่ติดกลายเป็นพื้นที่ที่ไฟป่าลามขนาดนั้นน่ะ ผมนั่งอ่านข่าวแล้วเกาหัวตัวเองว่ามันเป็นไปได้ไงวะ ทุกๆ ตารางนิ้วในป่าแอมะซอนเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก เป็นบ้านของสัตว์กี่ชนิดก็ไม่รู้ ผมเห็นแล้วโคตรเสียดายเลย 

แต่ว่าคนก็ยังไม่ลิงก์กลับมาสู่ชีวิตตัวเองอยู่ดี ซึ่งถ้าเป็นผมแค่ 3 สเต็ปผมก็ลิงก์ได้แล้วนะ ป่าแอมะซอนหาย คาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น อุณหภูมิโลกสูงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกก็ละลาย กรุงเทพฯ ก็หายไป บ้านเราก็หายไป แล้วคุณจะรู้สึกว่า ‘ฉิบหายแล้ว กูน่าจะทำอะไรสักอย่างตอนนั้น’ แต่ถึงตอนนั้นมันก็สายไปแล้ว 

“เราพูดกันมาตลอดเรื่องทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection) ที่บอกว่าใครแข็งแรงกว่าคนนั้นอยู่รอด 

ถ้ามนุษย์ทำได้แค่นี้ โอเค บางทีเราควรสูญพันธุ์แล้วก็ได้ สุดท้ายเราอาจไม่ได้ฉลาดกว่าไดโนเสาร์ ขนาดนั้น

ในฐานะปัจเจกบุคคล เราอาจจะฉลาดกว่า แต่พอรวมกันเป็นสังคมแล้ว ทำไมเราไม่มีประสิทธิภาพมากพอในฐานะฯ เผ่าพันธุ์ที่จะอยู่รอด”

แล้วเทคโนโลยีอหรือความเจริญทางวัตถุจะไม่ได้ช่วยให้เรารอดบ้างเลยเหรอ

ก็ในเมื่อมีเทคโนโลยีแต่ไม่เอามาใช้กัน ก็ต้องถามว่าไอ้มนุษย์นี่มันเป็นอะไรกันวะ ผมเองไม่ได้พูดจากมุมมองว่าผมอยู่เหนือคนอื่นนะ เพราะจำได้ว่าก่อนหน้านี้เมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว เราเองยังรู้สึกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว แต่พอได้ไปเห็นเยอะๆ ทำให้ต้องเปลี่ยน Mindset ใหม่ว่ามันเป็นเรื่อง ‘ฉิบหายแล้วเว้ย’

ในฐานะนักสื่อสารมวลชน ผมก็จะเอาความรู้สึกฉิบหายแล้วเว้ยเนี่ย ส่งต่อให้คนอื่นมากที่สุด อย่างน้อยให้คนในประเทศไทยเข้าใจก่อนว่านี่เป็นเรื่องวิกฤตการณ์แล้ว ผมจะพยายามรวบรวมข้อมูลเยอะเเยะมากมายเหล่านี้มาเล่าในรูปแบบที่เสพง่ายที่สุด 15 นาทีจบ 

ถึงเวลาที่เราต้องหยุดเถียงกันสักทีว่าใครเสื้อสีอะไร ใครเป็นลิเบอรัล (Liberal) ใครเป็นคอนเซอร์เวทีฟ (Conservative) เพราะนอกจากเปลืองไฟแล้ว ต่อไปอาจไม่มีโลกให้เรามานั่งเถียงกันอีกต่อไปก็ได้ 

แต่ถ้าเลยปี 2030 ไปแล้วและยังเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ โอเค ตอนนั้นผมคงเลิกพูด ก็จะพยายามใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ต่อไปอย่างมีความสุขที่สุด และไม่มีลูกครับ (หัวเราะ)

____________________________________________

หนังสือ เถื่อน 100 เป็นอีกงานในฐานะช่างภาพของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน โดยจะเปิดตัวครั้งแรกในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 24 วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม 2562 นี้ ณ เวทีกลาง ชาเลนเจอร์ 2 อิมเเพ็ค เมืองทองธานี และจะวางจำหน่ายแค่ 3,500 เล่มช่วงพรีเซลล์ที่งานหนังสือเท่านั้นใน ณ บูธสำนักพิมพ์ a book หลังจากนั้นจึงจะเริ่มวางจำหน่ายตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป

ใครอยากเจอวรรณสิงห์ตัวเป็นๆ ไปขอลายเซ็น หรือแค่ไปกรี๊ด เจอเขาได้ใน วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคมนี้ เวลา 14.00 – 16.00 น. ดำเนิน Session โดยโตมร ศุขปรีชา

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 2-13 ตุลาคม 2562  

RECOMMENDED CONTENT

ทุกวันนี้ศิลปะในการผลิตมิวสิควิดีโอนั้นถือว่าก้าวหน้าไปอย่างมาก ทั้งในเรื่องเทคนิคและวิธีการเล่า ที่ศิลปินไม่น้อยให้ความสำคัญกับมันไม่แพ้ตัวเพลงที่พวกเขาทำ