CONTACT US

สิ้นสุดยุค ‘แอนนา วินเทอร์’ ประกาศลงจากตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร Vogue อเมริกา หลังครองบัลลังก์นาน 37 ปี
date : 5.กรกฎาคม.2025 tag :

สิ้นสุดยุค ‘แอนนา วินเทอร์’ ประกาศลงจากตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร Vogue อเมริกา หลังครองบัลลังก์นาน 37 ปี

นับเป็นข่าวใหญ่ที่สะเทือนวงการแฟชั่นและสื่อทั่วโลก เมื่อมีรายงานว่า แอนนา วินเทอร์ (Anna Wintour) ไอคอนหญิงเหล็กแห่งโลกแฟชั่น เตรียมก้าวลงจากตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร (Editor-in-Chief) ของนิตยสาร Vogue ฉบับอเมริกา ปิดฉากตำนานการกุมบังเหียนที่ยาวนานถึง 37 ปี นับตั้งแต่ปี 1988 อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ใช่การอำลาวงการแต่อย่างใด โดยแอนนา วินเทอร์ ในวัย 75 ปี จะยังคงทำงานร่วมกับบริษัทแม่ Condé Nast ต่อไปใน สองตำแหน่งสำคัญคือ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเนื้อหา (Chief Content Officer) ของ Condé Nast และ ผู้อำนวยการกองบรรณาธิการระดับโลก (Global Editorial Director) ของ Vogue

 

 

สื่อดังอย่าง WWD รายงานว่า การปรับเปลี่ยนครั้งนี้เป็นไปตามกลยุทธ์ใหม่ขององค์กรมากกว่าการเกษียณอายุ ซึ่งหมายความว่า แอนนา วินเทอร์ จะยังคงมีอำนาจดูแลทิศทางเนื้อหาของสื่อยักษ์ใหญ่ในเครือ Condé Nast ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Wired, Vanity Fair, GQ, AD, Condé Nast Traveler, Glamour, Bon Appetit และอีกมากมาย (ยกเว้น The New Yorker) เรียกได้ว่าอิทธิพลของเธอจะยังคงอยู่ในทุกอณูของ Vogue และสื่อหัวอื่นๆ อย่างแน่นอน

แอนนา วินเทอร์ ได้แจ้งกับทีมงานของเธอแล้วว่าจะมีการแต่งตั้งบุคคลใหม่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารของ Vogue อเมริกาแทนที่เธอ แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าใครจะมารับช่วงต่อตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลที่สุดตำแหน่งหนึ่งในวงการแฟชั่นนี้ การก้าวลงจากตำแหน่งในครั้งนี้จึงถือเป็นการสิ้นสุดยุคสมัยแห่งการนำทัพ Vogue อเมริกาของแอนนา วินเทอร์ อย่างเป็นทางการ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นจุดเริ่มต้นของบทบาทใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ซึ่งจะคอยกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมสื่อแฟชั่นระดับโลกต่อไป

RECOMMENDED CONTENT

14.ธันวาคม.2020

‘School Town King’ แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน เป็นหนังสารคดีที่สร้างจากเรื่องจริงของ ‘บุ๊ค’ เด็กหนุ่มวัย 18 และ ‘นนท์’ วัย 13 ผู้เติบโตมาในชุมชนคลองเตย หรือที่ใครๆ ต่างรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘สลัมคลองเตย’ นอกจากความยากจนที่มาพร้อมกับสถานะทางสังคมที่เลือกไม่ได้แล้ว ทั้งบุ๊คและนนท์ยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับระบบการศึกษา รวมทั้ง หลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นแต่ความสำเร็จเชิงวิชาการก็ยิ่งทำให้เด็กเรียนไม่เก่งอย่างพวกเขาขาดความสนใจในชั้นเรียนลงไปเรื่อยๆ  ระบบการศึกษาที่น่าจะเป็นความหวังและเท่าเทียมกันของเด็กทุกคน กลับยิ่งบีบบังคับและผลักไสให้พวกเขาเป็นแค่ ‘คนนอก’ ของสังคมไปโดยปริยาย

preload imagepreload image