fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#Visit : “ธีร์ ไชยเดช” ดอกไม้ ประตู แจกัน และเรื่องราวชีวิตของผู้ชายคนนี้
date : 22.ตุลาคม.2014 tag :

Visit Thee Chaidej Cafe' Somebody Musician Folk Guitar thai dooddot (1)

เมื่อไม่กี่วันก่อนนั่งรถแล้ววิทยุก็เปิดเพลงที่มีท่อนเริ่มขึ้นมาว่า ดอกไม้ประตูแจกัน ดินทราย ต้นไม้ใหญ่… บทเพลงที่ต่อให้เวลาจะผ่านไปนานขนาดไหน ถ้อยคําเนื้อหาและทํานองก็ยังกินใจได้อยู่เสมอๆ คิดในใจเหมือนกันว่าแล้วเจ้าของเพลงนี้ตอนนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง เราจึงคิดอยากทําคอลัมน์พูดคุยกับเขาสักครั้ง โดยนัดเจอกันที่ร้าน Café Somebody ร้านกาแฟเล็กๆย่านศรีนครินทร์ที่พี่โอ๋ตั้งใจทําให้ออกมานอกจากจะเป็นร้านกาแฟแล้วยังเป็นพื้นที่ในการแสดงดนตรีของศิลปินคนอื่นๆอีกด้วย เราเริ่มกันด้วยคําถามแรกที่ฟังดูแล้วอาจจะฟังดูธรรมดา แต่สําหรับผู้ชายที่ชื่อ “ธีร์ ไชยเดช” หลายคนคงอยากรู้ว่าชีวิตที่ผ่านมาของเขาเป็นอย่างไรกัน…

วัยเด็กเป็นอย่างไร?

ชีวิตผมในวัยเด็ก ก็คงเหมือนเด็กๆทั่วไปล่ะครับ ผมมีครอบครัวที่อบอุ่น แต่อาจจะมีเรื่องสภาพแวดล้อมที่อยู่อาจจะแปลกหรือแตกต่างจากคนอื่น เพราะเรามีสนามเด็กเล่นเป็นสุสานผมเติบโตอยู่ในชุมชนมุสลิมเล็กๆที่มีสุสานขนาดเท่าๆเกือบสนามฟุตบอลได้อยู่ตรงซอยเจริญกรุง 36 ตรงนั้นเค้าเรียกมัสยิดฮารูณครับ คนทำงานถ่ายรูปโฆษณาต่างๆจะรู้จักดีเพราะเค้าจะเข้าไปถ่ายตรงตึกเก่าๆตรงตรอกมัสยิดบ่อยมาก โอเคเราก็เติบโตวิ่งเล่นมีป่าช้าเป็นสนามหญ้าของเรา เวลามีคนเสียชีวิตเราก็ไปช่วยกันขุดหลุมฝังศพแต่ไม่ได้เรียกว่าเป็นสัปเหร่อนะครับ เรียกว่าเรามาช่วยกันมากว่า ตอนนั้นเรายังเด็กก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าสนุกครับ เด็กๆพอตัวได้เปื้อนดินคุณพ่อคุณแม่เค้าก็จะอนุโลมให้เราไปเล่นน้ําในแม่น้ํา ตอนนั้นมีเพื่อนเยอะแยะเลยครับ มีทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้อง เราเติบโตมาพร้อมๆกัน

อะไรที่ทําให้ผูกพันกับดนตรี?

ถ้าถามจริงๆมันต้องเริ่มจากฟังเพลงครับ เราต้องชอบเสียงดนตรีก่อนแล้วถึงทําให้อยากเล่นดนตรีมีความสุขกับการฟังเพลงมาก พอเริ่มโตขึ้นมาหน่อย เห็นกีตาร์แขวนอยู่ที่บ้านตัวหนึ่งเป็นของคุณลุงซื้อให้พี่ชาย แต่พี่ชายไปเรียนต่อเมืองนอก ก็คิดว่าดีกว่าแขวนอยู่เฉยๆครับเราก็เลยลองหยิบเอาขึ้นมาเล่น เออนะ มันก็สนุกดีเหมือนกัน จับไป 2 คอร์ด 3 คอร์ด พอเริ่มเล่นออกมาเป็นเพลงได้ก็ฮึกเหิม ก็ค่อยๆฝึกฝนหาหนังสือมาเรียนรู้ครับ

เพลงแรกที่หัดเล่น?

โห สมัยนั้น มันนานมากๆแล้วครับ ก็เป็นศิลปินโฟล์คอย่าง Peter, Paul & Mary เพลง “Where Have All The Flowers Gone” หรือ Bob Dylan ก็ต้องเพลง “Blowing in the Wind”อะไรอย่างนี้นักร้องผู้หญิงก็มี Joan Baez แล้วที่ชอบอีกก็มี Don Mclean, The Beatles ก็เล่นบางเพลง เยอะแยะไปหมดเลยครับ ตอนแรกเราก็เริ่มต้นแบบก๊อกแก๊กแกะเพลงไปเรื่อยล่ะครับ แต่พอเราเริ่มเล่นไปเรื่อยๆ เรารู้สึกว่ามันยังมีแนวเพลงที่แตกต่างจากเดิมที่เล่นอยู่อีกเยอะ ก็เริ่มมีความรู้สึกแปลกแยกในด้านการฟังเพลงในแนวเพลงที่อยากจะเล่น อาจจะเป็นเพราะว่าพี่ชายที่ไปอยู่ต่างประเทศเค้าพยายามส่งเพลงกลับมาให้ เราก็เริ่มทําความเข้าใจ เพลงที่ในบ้านเราฮิตชอบชอบกัน จริงๆที่ต่างประเทศเค้าอาจจะไม่ได้ชอบเหมือนเรา อัลบั้มของศิลปินนึงยังมีเพลงอีกเยอะแยะเลยที่ดีและน่าสนใจ พอเราค่อยๆกลับไปฟังไปรื้อสิ่งเหล่านั้นแล้วก็พบว่ายังมีอีกหลายเพลงเยอะแยะเลยของหลายๆศิลปินที่ดีที่เพราะ ก็เลยเริ่มหยิบสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาเล่น

null

null

มาเริ่มรู้ตัวว่า “ดนตรี” เป็นอาชีพเมื่อไหร่?

ไม่เคยคิดมาก่อนเลยครับว่าดนตรีมันจะกลายมาเป็นอาชีพ ตอนเรียน Commerce มีคนแนะนําให้ไปเล่นในโรงแรมเล็กๆตรงถนนสุรวงศ์ก็ไปเล่นวันนึง 45 นาทียังจําความได้นะครับ นิดๆหน่อยเองๆ ตอนนั้นก็เล่น Bob Dylan เพลงอะไรที่มันเป็นเพลงฮิตของสมัยก่อนก็เป็นกีตาร์โปร่งตัวเดียว สมัยก่อนมันจะมีเครื่องเคาะจังหวะเรียกว่า Rhythm Box เป็นเครื่องทําจังหวะกลอง แต่เอามาฟังตอนนี้มันจะขํา ไปเล่นอยู่ 4- 5 เดือน ก็หยุด ทีนี้มีอยู่อีกที่นึง วันนึงพอดีเป็นวันเกิดของเพื่อน ก็เลยแหย่กัน เพื่อนบอกว่าขึ้นไปเล่นเพลงให้เราฟังหน่อยเราก็ขอผู้จัดการร้านเป็นคนมาเลเซีย ก็พูดอังกฤษแบบงูๆปลาๆขอขึ้นไปเล่นให้เพื่อน 2 – 3 เพลง พอเล่นจบเราไม่ได้คิดว่าเราเล่นดีหรือเก่งนะ แต่มันเหมือนไปแตะหูเค้าพอดีเดินลงมาเค้าพูดว่าทําไมเพลงที่เราหยิบขึ้นมาเล่นมันเหมือนกับเพลงที่เค้าเคยเล่นเมื่อหลายปีก่อนซึ่งปกติไม่ค่อยเห็นคนไทยเล่นซักเท่าไหร่ เค้าก็บอกว่าถ้าอยากได้งานเล่นที่นี่ พรุ่งนี้ให้เรามาเล่นให้ดูแล้วจะให้เจ้าของร้านมานั่งดูด้วย แล้วเราก็เล่นเหมือนเดิมเจ้าของร้านก็ตอบตกลงให้เรามาเล่นเลย ตอนนั้นอายุประมาณ 17 ได้ ตอนนั้นโอเคเลยล่ะครับเพราะที่ร้านนั้นเค้าปล่อยให้เราเป็นอย่างที่เราเป็น เค้ารู้ว่าเราเป็นอะไรแบบไหนเราก็เล่นอย่างที่เราอยากเล่น ไม่ต้องวิ่งตามชาวบ้านเค้า ไอ้นู้นฮิต ไอ้นี่ฮิต ถ้าเราไม่ชอบก็ไม่ต้องเล่น มันทําให้เรามีความรู้สึกเป็นตัวของตัวเองตั้งแต่นั้นมา

อัลบั้มแรกเกิดขึ้นได้อย่างไร?

เรื่องนี้ก็ยาวอีกครับ แต่จะพยายามพูดให้สั้นที่สุดละกัน ก็คือ ก่อนที่จะมาจบที่ Bakery ผมผ่านการเซ็นสัญญากับค่ายต่างๆมาเยอะมากเลย คือมันมีทั้งสัญญาใจและสัญญาจริง มีทั้งการทําบางสิ่งบางอย่างร่วมกัน เสร็จเรียบร้อย แล้วก็เขวี้ยงทิ้ง โละทิ้งก็มี ตอนนั้นมันก็ทําให้เราเรียนรู้ล่ะนะ ว่าบางทีคนเราอยากให้ใครเซ็นสัญญาทุกอย่างมันคือขนมหวานหมดแหละ แต่พอเซ็นเสร็จแล้วมันจะเริ่มมีข้อแม้เยอะมากต้องเปลี่ยนอย่างนั้นอย่างนี้ทั้งๆที่ตอนแรกบอกให้เราเป็นตัวของตัวเองสบายๆ ซึ่งเราก็คิดมาเสมอว่าการเป็นตัวของเรามันไม่ทําให้ใครต้องลําบากและเราก็ไม่ได้ต้องการที่จะเป็นตัวเราเองสุดโต่ง ก็ไม่ได้วิ่งแก้ผ้ากลางถนนอยู่แล้วนี่ การเปลี่ยนแปลงถ้าเปลี่ยนเพื่อดีขึ้นมันเป็นเรื่องดีนะครับ แต่ถ้าต้องเปลี่ยนจนไม่เหลือความเป็นตัวเองเลยก็คงมากเกินไปสุดท้ายก็เลยไม่ได้ทําครับ จนมาถึงค่ายสุดท้ายที่จําได้คือดําเนินไปถึงการทําเทปการทําอัลบั้มเสร็จเรียบร้อยแล้ว ออกมาเป็นมาสเตอร์ 1 อันเสร็จเรียบร้อยแล้วครับ ผมถือมาสเตอร์อยู่ในมือ เหลือแต่ไม่มีการออกเพราะว่าคนที่คุยกับเราไว้ลาออกไป คนใหม่เข้ามาเค้าก็ไม่ได้คิดแบบนั้น ก็กลายเป็นว่างานของคุณเนี่ยเดี๋ยวมันจะขายไม่ได้ เค้าคิดว่ามันไม่ใช่ของตลาดมันไม่สร้างผลประโยชน์ให้เค้า ก็โอเค เราก็รู้สึกว่ามันเหนื่อยใจเหนื่อยกายแล้วบางทีมันก็อายด้วยเหมือนกันนะ เพราะว่าในระหว่างที่เราทําเพลงอัดเสียงแต่ละเดือนแต่ละปีพวกเพื่อนๆเราในกลุ่มก็รู้กันหมดแหละ คนเค้าก็จะถามว่า “อ้าว โอ๋ออกเมื่อไรวะ” อะไรแบบนี้บางทีเราก็ไม่อยากบอกเล่าให้ใครฟังว่ามันล้มเหลวมันอะไรของมัน สุดท้ายก็ยังดีที่เราได้มาสเตอร์ตัวนั้นกลับมาก็ตกลงกันขอฉีกสัญญาทิ้ง กลับมาถึงบ้านก็เขวี้ยงมาสเตอร์ใส่ลิ้นชักแล้วบอกตัวเองว่าเลิกเลย แล้วตอนนั้นกําลังมีงานประจําที่เชื่อว่ามั่นคงมากด้วย ก็คิดว่าถ้ามีเวลาว่างก็คงออกไปเล่นดนตรีกลางคืนอะไรอย่างนั้นครับ แต่เรื่องการออกเทปก็ไม่สนใจใยดีอีกเลย เราเสียใจมาก ก็ปล่อยมันทิ้งไว้แล้วก็ลืมมันไป หลังจากนั้นมาระหว่างที่ผมเล่นดนตรีอยู่ที่ Saxophone (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) ผมได้เจอกับ พราย ปฐมพร ยังจําได้แม่นเลย พรายถามว่า “เอ้ย พี่โอ๋สนิทกับเอื้อง (สาลินีปัญยารชุน) ไม่ใช่เหรอ? ” ผมก็บอกว่า “ใช่ๆ ทําไมเหรอ” พรายเค้าก็เล่าต่อว่า “พอดีเอื้องเค้าไปเปิดค่ายเพลงกับ บอย (ชีวิน โกสิยพงษ์), สุกี้ (กมล สุโกศล แคลปป์) แล้วก็สมเกียรติ (หรือ Mr.Z) เป็นชื่อค่ายว่า Bakery Music ทําไมพี่โอ๋ไม่ลองเอามาสเตอร์ของพี่ไปให้เค้าดูละ พี่โอ๋น่าจะได้นะ เพราะว่าน้องๆกลุ่มนี้ไฟแรงเค้าเป็นกลุ่มที่เชื่อมั่นในตัวเองสูงและต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมการฟังเพลงในบ้านเรา” ผมก็บอกพรายว่า “จะดีเหรอพรายเอ้ย พี่แม่งหมดใจไปแล้ว” ผมไม่เชื่อเลยตอนนั้น ก็บอกว่าอย่าเลยมันน่าเบื่อน่า พรายเค้าก็ยืนยันว่าเออน่า ลองดูพี่โอ๋สุดท้ายก็ตัดสินใจลองดูอีกครั้ง ก็ลองติดต่อไปเค้าก็บอกว่าให้เอามาสเตอร์มาฟังกัน พอสุกี้เค้าเอาไปฟังแล้ว เค้าก็ถามผมประโยคเดียวเลยว่า “พี่โอ๋อยากได้อะไรจากตรงนี้” ผมก็บอกว่า “ถ้าถามว่าอยากได้อะไร ผมตอบเลยไม่รู้เพราะยังไม่รู้เลยว่ามันสามารถทําอะไรให้ได้ผมแค่คิดว่าผมเอาตรงนี้มาให้ Bakery Music มาให้เอื้อง มาให้สุกี้ฟังดูเผื่อว่าถ้าเกิดเห็นดีด้วยก็หยิบเอาตรงนี้ไปทําอะไรต่อแค่นั้นเองเพราะว่าถึงยังไงถ้าไม่ทําอะไร ไอ้นี่มันก็ยังอยู่ในลิ้นชักต่อไป ก็แค่นั้นเอง” แต่ก็เน้นย้ำบอกไปว่าขออย่างเดียว อย่าต้องให้พวกคุณต้องมาเจ็บตัวกับงานผมนะไม่อยากให้ทุกคนต้องมาเสียเงินเสียทองไปกับงานผม ไม่จําเป็นต้องไปเข็นมัน เค้าก็เห็นดีด้วยทุกอย่างก็ยอมรับในความคิดของเรา แล้วเบเกอรี่ก็ไม่เปลี่ยนอะไรที่เป็นผมเลยแม้แต่นิดเดียวจริงๆ ก็คือเหมือนเอาก้อนมาสเตอร์ก้อนนั้นไปทําแล้วก็กลายเป็นอัลบั้มชุดแรกคืออัลบั้ม Why (สามารถอ่านเรื่องราวของอัลบั้ม Why ได้ที่ https://www.dooddot.com/tee-chaiyadech-music-side-b/)

คิดอย่างไรกับความสําเร็จในตอนนั้น?

มันขึ้นอยู่กับว่าเรามองอย่างไรด้วยล่ะครับ ถ้าความสําเร็จของผมคือการทําเทปออกมาให้คนฟังก็ได้ครับ แต่ถ้าความสําเร็จคือการทําเทปแล้วได้ตังค์เป็นกอบเป็นก้อน อาจจะไม่ใช่ มันอยู่ที่เราตั้งเป้าให้กับตัวเองแค่ไหน สําหรับผมคือ โอเค พองานของเราได้ถูกนําเสนอแล้ว ได้เล่นกีต้าร์แล้วมีคนฟัง 20 คน ไม่จําเป็นต้องมีคนฟังเป็นหมื่นผมก็ภูมิใจแล้ว หรือสมัยเล่นที่ Saxophone ต่อให้คนนั่งในร้าน 100 คนแต่มีคนฟังแค่ 3 คน ผมก็มีความสุข แต่มันก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ผิดคาดไปมากกว่าที่เราคิดเอาไว้เยอะเลย จากตอนแรกที่เทปนี้ถูกทิ้งในลิ้นชักไม่มีใครสนใจ กลายเป็นมีคนฟังเรากลุ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ผมไม่ได้บอกว่าตัวเอง Famous หรือโด่งดังอะไรนะครับ ผมคิดว่าผมคงเป็นเหมือน Signature บางอย่างที่ไม่ค่อยมีใครทํามาก่อนมากกว่า

null

null

ยุคนั้นวงการเพลงบ้านเราเป็นอย่างไร?

สมัยก่อนเราจะเห็นว่ามันมีค่ายเทปหลักอยู่ไม่กี่ค่าย ค่ายเหล่านี้เราไม่ปฏิเสธหรอกว่าเค้าดังมากแบบใหญ่โตมโหฬาร แล้วทุกคนก็คงรู้สึกว่ามันเป็นสวรรค์ของคนที่อยากจะเข้าไป ความรู้สึกว่ามันเท่ มีคนรู้จักเยอะแยะเลยที่อยากเข้าไปทํางานบริษัทนั้น บริษัทนี้เพราะชื่อมันใหญ่โต ถ้ามองในมุมผมไม่ได้บอกว่าเขาไม่ดีนะครับ ดีครับ แต่ว่าในหลายๆอย่างของการทํางานในระบบนั้นๆมันเป็นระบบของ Music Business ที่เกือบจะถือว่าโดยสมบูรณ์แบบเลย อย่างเขียนเพลงก็มีหน่วยเขียนเพลง ส่งต่อไปมีหน่วยทํา Arrangement หรือ Produce มีหน่วยอัดเสียง มีหน่วย Casting มีหน่วยคอยคิดว่าแต่งตัวแบบไหน รูปลักษณ์ของนักดนตรีต้องเป็นยังไงคือเปลี่ยนสวิตช์กันหมดทุกอย่าง เหมือนกับสร้างละครล่ะครับ ซึ่งถ้ามองไป ศิลปินที่ประสบความสําเร็จก็เห็นประสบความสําเร็จมาเยอะแยะเลยนะครับ แต่ผมคงไม่เลือกแบบนั้นเพราะสุดท้ายเราคงไม่มีโอกาสทําอะไรในแบบที่อยากทํา

เวลาที่เปลี่ยนไปมีผล?

ถ้าพูดถึงเรื่องการผลิต การอัดเสียง ถือว่าต่างกันครับ การเข้าห้องอัดสมัยก่อนมันยากกว่า เราใช้เทป Reel เป็นม้วนเทปในการอัดเสียง จะแก้ก็แก้ไม่ได้ถ้าแก้ได้ก็ยากมาก ถ้าพลาดอาจต้องอัดใหม่หมด สมัยนี้ที่มันง่ายกว่าเพราะว่ามันเป็นภาค Digital การเบรค การพัก การตัดต่อมันง่าย อะไรๆมันก็ง่ายขึ้น แต่มันก็ง่ายแค่ในแง่ของการปฏิบัตการนะครับ ในด้านความพิถีพิถันมันก็ขึ้นอยู่ที่แต่ละตัวบุคคลเหมือนเดิม ส่วนถ้าเป็นเรื่องของวิธีการคิด การแต่งเพลงทุกอย่างถ่ายทอดเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าจะเอา Mood Tone ไหน จะเอาอุปมาอุปไมยแบบไหน คิดแบบไหนในการเขียนมากกว่า

การแต่งเพลงเริ่มจากอะไร?

การแต่งเพลงนี่ อย่างแรก ถ้าเรารู้เรื่องดนตรีถ้าเราอาจเล่นเป็น เราจะรู้ทางหนีทีไล่เราจะรู้ทางไป มันก็ง่ายขึ้น แล้วเราก็ทําเมโลดี้ให้อยู่ในกลุ่มนั้นๆ สุดท้ายก็คือการเขียนก็คือคิด แล้วกลั่นกรองเป็นกาพย์กลอน มีสัมผัส เพลงแรกที่แต่งชื่อเพลงว่า “รัก” มันเป็นเพลงรักที่เขียนขึ้นมาโดยที่ตัวเองไม่ได้รู้สึกอะไรกับใคร ไม่มีแฟน ไม่มีอะไรไม่มีใครเลย เราคิดขึ้นมาว่าความรู้สึกแบบนี้มันเป็นยังไง นั่นเป็นเพลงที่แต่งเพลงแรก พื้นฐานผมไม่ใช่คนเขียนเพลงรักประเภทจูบกันดูดดื่ม บางคนอาจจะหวานซึ้งแต่เราไม่ใช่แบบนั้น เราอาจจะมีวิธีเปรียบเปรยมีมุมมองความรักอีกอย่างหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีเพลงนึงเป็นเพลงอยากกอดอยากจะมอบไออุ่น ที่เขียนออกมาได้เพราะเราไม่ได้เขียนให้กับคนรักหรือผู้หญิง เราเขียนให้เด็กๆแต่แค่เราไม่ได้บอกไปในเพลงเท่านั้นเอง ให้คิดถึงผู้หญิงสักคนแล้วเขียนเราคงเขียนไม่ได้เพราะมันไม่ใช่นิสัยไงครับ ผู้ชายบางคนอาจจะมีความโรแมนติกเหลือเฟือ แต่บางคนก็อาจจะมีความแข็งกระด้างอยู่ในตัวเอง ก็เป็นส่วนผสมที่แตกต่างกันไปครับ

null

null

null

ความยากของการขึ้นเวที?

แรกๆก็ต้องมีตื่นเต้นล่ะครับ เป็นธรรมดา แต่พอเวลาผ่านไป ถ้าเรารู้ว่าต้องทําอะไร ขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมรึเปล่า ทั้งร่างกายและความรู้สึกบางอย่างที่อาจจะต้องทําแล้วลําบากใจบ้างเพราะนั่นอาจไม่ใช่คาแรคเตอร์ผม องค์ประกอบอื่นๆด้วยก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือ sound system รวมทั้ง guitar ของเราเองด้วย ถ้าทุกอย่างพร้อม ความวิตกกังวลคงจะน้อยมาก แล้วเปลี่ยนเป็นความอยากที่จะขึ้นไปเล่นแทน

รู้สึกอย่างไรที่ต้องร้องเพลงเดิมๆเป็นพันครั้ง?

อืม เป็นคําถามที่ดีนะครับ โอเค เรื่องนี้สมัยก่อนผมก็เคยรู้สึกนะครับ จนเกิดวิธีคิดที่ง่ายมากเลยคือ เราต้องอย่าลืมสิว่า เรามาถึงตรงนี้ได้เพราะสิ่งเหล่านี้แล้วข้อที่สองที่สําคัญเลยต่อให้เราจะเบื่อแค่ไหนที่จะต้องทํา เพราะว่าคนที่เค้ามานั่งฟังเราอยู่ เค้าจะรู้สึกว่าสิ่งที่เรากําลังจะทําให้เค้ามันมีความสดใหม่เสมอๆ ถ้าลองมองในทางกลับกันนะ เวลาเราไปดู The Eagles เป็นเรา เราอยากให้เค้าร้องเพลงอะไรล่ะ Hotel California หรือผมอยากฟังเค้าเล่น Desperado สองเพลงนี้ถามว่าเค้าเบื่อมั้ย เค้าก็คงเบื่อเหมือนกันนะ เค้าก็คงเบื่อเหมือนกัน แล้วถ้าเกิดเค้าไม่เล่นล่ะเราก็จะแบบ เห้ย ทําไมวันนี้เค้าไม่ยอมเล่นเพลงนี้เพราะฉะนั้นถ้ามองในมุมกลับกันคําถามนี้มันจะไม่เกิดขึ้นเลย ผมเองก็คงร้องเพลง Home มาพอๆกับร้องเพลงชาติแล้วล่ะร้องบ่อยมากเลยครับ เกือบทุกครั้งที่ขึ้นก็ร้องตลอดทุกครั้งเพราะฉะนั้นบางทีเราต้องมองในใจคนฟังเหมือนกัน เค้ามานั่งฟังก็เพราะเรา ส่วนเราเติบโตมาถึงทุกวันนี้ได้ก็เพราะเค้า แล้วเราจะเบื่อเหรอ เราจะเบื่อในสิ่งที่คนเค้าชื่นชมเราน่ะเหรอไม่ได้หรอกครับ เค้าให้เกียรติเรา เราเบื่อยังไงเราก็ต้องเปิดประตูต้อนรับเค้า

ทําไมศิลปินไทยยังก้าวออกไปไม่ถึงต่างประเทศหรือระดับโลก?

การที่เรายังจํากัดวงกันอยู่ในประเทศมันมีหลายเรื่องเลยครับ ก่อนอื่นเราต้องย้อนถามตัวเองก่อนว่าเรามีอะไรไปนําเสนอเค้า เรามีอะไรไปให้เค้าฟังหนึ่งเลย ภาษาเราไม่ใช่ภาษาสากล แต่บางคนก็อาจจะบอกได้ว่า Spanish ก็ไม่ใช่ภาษาสากลเกาหลีก็ไม่ใช่สากล แต่ทําไมเราเอาของเค้ามาฟังได้ถ้าอย่างนั้นผมถามข้อที่สอง ข้อที่สองคือเราทําดนตรีได้สวยอย่างที่เค้าทํารึเปล่า? เราทําดนตรีได้ดีพอรึเปล่า? เราทํา Presentation ได้ดีเหมือนเค้ารึเปล่า? ที่เห็นๆกันอยู่ตอนนี้จะเป็น บอยแบนด์เลดี้แบนด์เกิร์ลแบนด์ต่างๆนาๆ ผมมีความรู้สึกว่าเราเต้นกันเหมือนกุ้งโดนน้ําร้อนลวก เราเต้นกันห้าคนเจ็ดคน ยังไม่เท่ากับเกาหลีเค้าเต้นกันสองคนเลย แล้วยิ่งเดี๋ยวนี้เห็นแต่ละคนทําเพลงอะไรกันออกมายังไม่ทันไร เรียกตัวเองว่าเป็นศิลปิน ไม่ใช่นะครับมันไม่มีใครหรอกครับที่อยู่ๆจะตื่นขึ้นมาวันนึงแล้วชั้นอยากเรียกตัวเองว่าเป็นศิลปิน ถ้ามีก็คงต้องตบให้ตื่นได้แล้ว คุณบ้าไปแล้วรึเปล่า? คําว่าศิลปินมันต้องเกิดมาจากคนอื่นเรียก… ศิลปินก็คือคนทําผลงาน ทําบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา แล้วเป็นที่ยอมรับหรือรับได้สําหรับคนกลุ่มนึง นั่นล่ะคือ “ศิลปิน” ที่ผมกําลังพยายามจะบอกไม่ใช่ว่าพวกเราห่วยนะครับ แต่ถ้าเราอยากจะไปถึงระดับโลกตรงนั้นวงการเพลงบ้านเราก็ต้องทํางานหนักกันอีกเยอะ… ทีนี้เรื่องการนําเสนอก็สําคัญ มากๆเลยด้วย ใช่ มันจะต้องมีแรงผลักดัน จะต้องมีการโฆษณา การทํา Marketing การทําอะไรต่ออะไรมากมายแน่นอน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งเกื้อหนุนที่จะทําให้นักดนตรีไทย ศิลปินไทยเจริญเติบโตได้ ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้เราก็ทําได้แค่วนเวียนกันอยู่แถวนี้แหละครับ ผมเชื่อว่ายังมีศิลปินไทยอีกเยอะแยะที่มีคุณภาพระดับโลก เรามีนักดนตรีเก่งๆอีกเยอะครับที่เค้าผุดหัวขึ้นมาไม่ได้เพราะว่าค่ายต่างๆไม่ยอมรับความเป็นตัวของตัวเค้า ซึ่งตรงนี้ค่ายเพลงต่างๆต้องทําความเข้าใจกันใหม่ เราต้องหัดยอมรับโดยปล่อยให้เป็นเรื่องของตัวผู้ฟังเองยอมรับในสิ่งที่นักดนตรีเป็นเอง ถึงจะเจอสิ่งที่แปลกไปจากที่เป็นกันอยู่ ไม่ใช่ไปเปลี่ยนสิ่งที่เค้าเป็นให้เป็นแต่แบบที่คุณต้องการ สุดท้ายคนฟังพอเดินไปแผงเทปมันก็มีกันอยู่เท่านี้ละ ซื้ออันไหนมันก็คล้ายกัน มันก็เหมือนกัน ก็เคยคุยกันแบบขําๆกับเพื่อนนะ เพลงค่ายนี้บอกได้เลย ว่าเดี๋ยวคอยดูได้เลยตอนจบต้องลงคีย์ต้องจบคอร์ดนี้ต้องจบแบบนี้ แล้วก็เป็นจริงๆ ลองไปฟังดูได้ครับ ยิ่งย้อนสัก 10 ปี ยิ่งชัดเลย เพราะเค้าทํากันเป็นธุรกิจ

ในมุมของคนฟังด้วยรึเปล่า?

แน่นอนครับ ท้ายที่สุดต้องอย่าลืมว่าถ้าสังคมไทยเรายังฟังเพลงกันลักษณะแบบ ก็อปมาให้ด้วยเดี๋ยวส่งมาให้ทีนะ ยิ่งในกรณีของบ้านเราเป็นประเภทกฎหมายหละหลวมแล้วเรายังไม่เคารพในสิทธิคนอื่นอีก ในมุมคนทําผลงานมันเหมือนกับเราตั้งใจทําแล้วโดนเอามาทิ้งลงท่อมันก็รู้สึกเจ็บปวดนะครับ ถ้าประเทศเรายังเป็นแบบนี้อยู่ ต่อไปนักดนตรีเก่งๆก็คงเลิกกันหมด การจะเป็นศิลปินหรือนักดนตรีสมัยนี้ไม่ง่ายเลยครับ สิ่งสําคัญอยู่ที่ว่าเรามีกึ๋นมากพอไหมที่เราจะออกไปเล่นให้ใครต่อใครฟัง ทุกวันนี้นักดนตรีเหลือแค่อย่างเดียวที่จะเอาตัวรอดได้นั่นคือการออกไปเล่นโชว์ให้ได้ด้วยตัวเอง เพราะเมื่อคนไม่ซื้อแผ่นคุณแล้ว คุณขายเทปไม่ได้ ถ้าคุณออกไปโชว์ตัวไม่ได้คุณก็ไม่ได้ตังค์นั่นก็แปลว่าจบ

นอกจากเรื่องดนตรี ตอนนี้มีความสนใจอะไรบ้าง?

โดยปกติแล้ว ผมเป็นคนมีเพื่อนเยอะครับ คือมีอะไรให้ทําเยอะแยะเลยในชีวิต ส่วนตัวผมชอบถ่ายรูปชอบเดินออกไปถ่ายรูป นี่ก็เป็นรูปที่ถ่ายมาหมดเลย (ชี้ให้ดูภายในร้าน) ชอบท่องเที่ยวเดินทางครับ สมัยก่อนก็เดินทางบ่อย ถ้าไม่ลําบากถ้าพอมีกําลังไปได้ก็ไป แต่สมัยนี้ทําได้น้อยเพราะงานมันเยอะขึ้นก็เลยว่างบ้างไม่ว่างบ้าง ออกกําลังกายบ้าง เล่นกีฬาก็ลดหลั่นไปตามอายุก็ยังมีเหลือที่ชอบเล่นมีสนุ๊กเกอร์ครับ จะมีกลุ่มเพื่อนกัน 8-10 คน เป็นเพื่อนเก่าเล่นด้วยกันเป็นแก๊งค์ประจํา

ตั้งเป้ากับร้าน Cafe Somebody ไว้อย่างไร?

ร้านกาแฟ Cafe Somebody ไม่ได้ดีในเชิงธุรกิจครับ แต่นั่นก็คือตรงตามเป้าหมายอย่างที่เราคิดเอาไว้ ไม่ใช่ว่าเป้าหมายอยากให้มันออกมาไม่ดีนะครีบ (หัวเราะ) แต่เป้าหมายของการเปิดร้านกาแฟนี้เพื่อจะเอาไว้เป็นส่วนสําคัญในการแสดงออกซึ่งทางดนตรีไม่ใช่จากตัวผมเองคนเดียว ในภายภาคหน้าคาดว่าก็อยากจะให้คนอื่นอาศัยตรงนี้เป็นที่นําเสนองานของตัวเค้าเองกัน แต่สิ่งที่พิเศษที่ตั้งใจทําที่นี่คือเราต้องการให้คนที่เค้าอยากมาฟังเรา ได้รู้อะไรมากไปกว่าฟังเพลงบางทีการที่เราได้พูดคุย เล่าเรื่อง ได้เล่าชีวิต เล่าอะไรให้เค้าฟัง มันอิ่มเอมขึ้นเยอะเลยทั้งเราและเค้าเวลาไปดูคอนเสิร์ตใหญ่ไม่ว่าจะคนไทยคนเทศก็เถอะ คุณไม่มีสิทธิ์หรอกที่จะได้รับรู้ว่าเค้าคิดอะไรวิธีคิดเค้าคืออะไร ยกตัวอย่างว่า ผมชอบดู James Taylor เวลาไปดูก็คงจะได้แค่ดูดูและฟังไม่รู้แม้กระทั่งว่าเค้าใช้กีตาร์อะไร แต่เป็นที่นี่ คนดูคนเล่นเราสามารถถามตอบกันได้เลย ใช้กีตาร์อะไรตั้งสายแบบไหน ขอเพลงก็ได้เล่นได้ไม่ได้ก็ว่ากันไป เราคุยกัน พอจบเพลงเราก็จะเล่าให้เขาฟังว่า เขียนเพลงนี้คิดถึงอะไร เขียนตอนไหน มันทําให้ตรงนี้มันรู้สึกอิ่มกว่า มันได้รู้สึกว่ามันใกล้กัน

แฟนเพลงมีโอกาสจะได้เห็นผลงานใหม่เมื่อไหร่?

ครับก็ต้องขอโทษด้วย ที่ผ่านมาก็เหมือนบอกผลัดมาเรื่อยๆครั้งสุดท้ายก็บอกไปว่าจะออกสักภายในประมาณสิงหา กันยา แต่ดูก็น่าจะเป็นไปไม่ได้แล้วเพราะก็ยังไม่ได้เข้าห้องอัดอะไรเลย ตัวเพลงก็มีเกือบจะพอแล้วล่ะครับ แต่ถ้าได้อีกสักหน่อยเอามาคัดเลือกเพิ่มเติมก็คงไม่เลว การทําอัลบั้มชุดนึงถ้าทํากันอย่างพิถีพิถันนี่มันเรื่องเยอะหลายเรื่องเลยครับ เอาเป็นว่าจะให้เร็วที่สุดครับ

null

อยากเห็นอะไรในอนาคตของวงการเพลงบ้านเรา?

ที่มีอยู่คงเป็นสิ่งที่อยากบอกมากกว่าครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับนักดนตรีรุ่นใหม่ทุกคน คืออยากบอกว่าให้เค้าเป็นตัวของตัวเองกันเยอะๆ ถ้าผมเป็นพ่อเป็นแม่ใครผมจะภูมิใจมากที่ลูกไปเรียนดนตรี ไปชอบใคร ไปได้แรงบันดาลใจ ไปเอาความรู้วิชาดนตรีจากใครมาก็แล้วแต่ แล้วเขารู้วิธีการดื่มด่ำสาระสำคัญ มาประมวลใช้กับตัวเอง มาปรับใช้กับตัวเอง ผมจะภูมิใจมาก แต่ถ้าเกิดวันนึงลูกเรา วิ่งกลับมาบ้านแล้วบอกว่า พ่อ ดีใจกับผมหน่อย วันนี้ผมชนะประกวดเล่น Guitar ได้อันดับหนึ่ง อ้อเหรอ ลูก ประกวดอะไรล่ะ วันนี้ผมประกวดเล่นเหมือน Tommy Emmanuel (นักกีตาร์ Fingerstyle ชื่อดัง) โอเค ก็ดีใจด้วยนะลูก แต่ว่าในใจลึกๆเราไม่ได้อยากให้ลูกต้องไปเลียนแบบใคร จริงๆแล้วการที่เค้าเล่นได้อย่างใครซักคนแสดงว่าเค้าต้องเก่งมาก ทำไมเค้าไม่เอาความเก่งตรงนั้นมาประยุกต์ใช้กับตัวเอง เวลาเราไปฟังเพลงร้านไหนแล้วต้องไปเห็นคนนั่งเล่นดนตรีเหมือนแผ่น มันไม่มีประโยชน์ครับ เราเปิดแผ่นนั่งฟังอยู่ที่บ้านก็มีค่าเท่ากัน แต่เราอยากไปเห็นแบบที่เห้ย เค้าเก่งนะ มันมีบางสิ่งที่มันแตกต่าง มัน Unique มันเท่ เค้าทำออกมาแล้วดี ทำออกมาสวยคนอื่นเห็นก็จะได้เป็นความรู้กันและกันด้วย อีกสิ่งหนึ่งที่ทุกวันนี้ก็ยังบอกเพื่อนๆนักดนตรีตลอดเวลาว่า ถ้าอยากจะเล่นดนตรีให้มีความสุข พยายามหางานหรือธุรกิจประจำทำ จะตื่นขึ้นมาขายกาแฟ ขายปาทองโก๋ ตอนเช้าก็ได้ ตกเย็นไปเล่นดนตรีจะได้มีความสุข ทุกวันนี้ที่ผมเล่นดนตรีแล้วมีความสุข ก็เพราะว่ามีงานประจำที่มั่นคงรองอยู่ อาชีพนักดนตรีบางทีขับรถไปเล่นหรือเดินๆตกบันไดแขนหัก คุณเล่นให้เค้าไม่ได้ก็ไม่มีร้านไหนเค้าให้ตังค์แล้ว ยิ่งทุกวันนี้นักดนตรีหรือศิลปินจะทำอะไรออกมาสักอย่าง ต้องโดนหักค่าอะไรต่อมิอะไรเยอะไปหมด กว่าจะได้อะไรกลับมาก็แทบอยู่ยากมากๆ เพราะฉะนั้นทำใจลำบากครับ เป็นไปได้ถ้าคุณมีงานหรือทำอะไรที่มันรองรับได้ แล้วใช้เวลาทำงานเก็บความรู้สึกที่อยากเล่นดนตรีบ่มเพาะเอาไว้ แล้วเราให้มันปล่อยออกมาอย่างมีความสุขในเวลาของมันดีกว่า

Writer: Pakkawat Tanghom
Photographer: Pakkawat Tanghom

RECOMMENDED CONTENT

18.เมษายน.2019

Tiger Woodsที่ตอนนี้ อายุ 43 ปี ได้รับชัยชนะครั้งแรกของเขาชนะตั้งแต่ปี 2008 และ การชนะครั้งที่ 15 ของเขาในการแข่งขันกอล์ฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสี่รายการด้วยคะแนน 13 อันเดอร์พาร์ ในปี 2019