คอลัมน์ Dooddot Visit ครั้งนี้ เราพูดคุยกับ “RUKKIT” (รักกิจ ควรหาเวช) ศิลปิน Street Art ระดับแนวหน้าของเมืองไทย ที่ตอนนี้มีผลงานออกมาให้เราเห็นกันมากมาย ถึงความเป็นมาจาก Graphic Designer ผันตัวมาเป็น Artist เต็มตัวแล้วตอนนี้ และอัพเดตให้ฟังถึงผลงานที่กำลังทำอยู่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง สำหรับแฟนๆคอลัมน์ Visit อาจจะรู้สึกแปลกตาหน่อยนึง เพราะคราวนี้เราไม่ได้ไปเยี่ยมชมในสตูดิโอกัน บรรยากาศบ่ายหน้าฝนแบบนี้เรานัดเจอกับ RUKKIT คุยกันที่ปากซอยเอกมัยซอย 10 คาเฟ่บรรยากาศสบายๆที่มีชื่อว่า “(un) FASHION Café” ส่วนบทสนทนาจะเป็นอย่างไรบ้าง ลองอ่านดูด้านล่างนี้ได้เลย…
“บ้านเราชอบให้ความสนใจกับเรื่องอะไรแบบนี้กัน ย้อนกลับไปมองศิลปินสมัยก่อน ผลงานเป็นตัวคัดกรองอย่างแรกนะ เรารู้จักศิลปินทุกๆคนผ่านตัวงาน ไม่ใช่มองที่ตัวบุคคล” -RUKKIT-
จาก Graphic Designer มาเป็น Artist ?
เราเป็นคนเปิดรับโอกาส เราเปิดรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามา คือถ้ามีโอกาสอะไรที่เข้ามาหรือมีอะไรให้ทำ เราก็จะทำ พอดีกับตอนนั้นพี่พี (P7) มาชวนเราทำงานบนกำแพง ทุกวันนี้เราต้องขอบคุณแกเลยจริงๆ แกให้โอกาสเราทั้งๆที่แกไม่เคยเห็นงานเราบนกำแพงมาก่อนเลย เราก็ตกลงทำ งานที่ทำกันคืองาน For ครั้ง ที่ 2 ใน BACC พอไปเขียนบนกำแพงจริงๆ จากที่ส่วนตัวเราเคยเรียน Drawing มา อย่างมากเฟรมใหญ่สุดมันไม่เคยเกินเมตร พอมาเป็นกำแพง เป็น Hall ใหญ่ มันคนละแบบเลย แล้วยิ่งได้มาเจอคนเก่งๆ เจอเพื่อนๆพี่ๆศิลปิน ตอนนั้นเราบอกกับตัวเองเลยว่าโอกาสมันมาแล้ว เราจะใช้โอกาสนั้นให้มันดีที่สุด พอได้ลองทำแล้ว เราค้นพบว่า Street Art มันสนุกดีนะ เราก็ทำมาเรื่อยๆจนถึงทุกวันนี้
สองโลกนี้แตกต่างกันมากน้อยขนาดไหน?
เราว่าเรื่องของความมุ่งมั่นในการทำงาน เราว่าเหมือนกัน คือเวลาเราได้ Output ออกมาเป็นงาน คุณต้องรู้สึกชอบมัน คุณต้องตื่นเต้นกับมัน เราต้องภูมิใจกับมัน เหมือนตอนเราทำปก Computer Arts อันแรก ตอนนั้นเราแม่งตื่นเต้นชะมัด คือเราอยากให้งานมันออกมาดีที่สุด ขนาดตัวเองทำเอง ยังรู้สึกตื่นเต้นเลย เราก็อยากให้คนอื่นได้ตื่นเต้นบ้าง เป็นกราฟฟิก มันก็สนุกในแง่ เราจัด องค์ประอบ ทำ Layout เราได้ทำ Typography ผลงานออกมาก็เป็นพวกสิ่งพิมพ์ ปกซีดี เราก็ได้แค่ซื้อเก็บมาไว้ครอบครอง แต่พอมาเป็น Street Art พอได้เริ่มทำงานกระบวนการทำมันต่างกัน วิธีการคิด วิธีการอยู่หน้างาน การแก้ไขปัญหา มันต่างกับเราอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ทำงานในคอมพิวเตอร์เราแก้ยังไงก็ได้ ทำยังไงก็ได้ให้มันสวยงามจนกว่าจะพอใจ แต่พอเรามาทำงานศิลปะจริงๆ มันอยู่ที่การฝึกฝน มันอยู่ที่ทักษะแล้ว มันไม่ใช่ว่าเราจะแก้ไขอะไรได้ง่ายๆแบบนั้นอีกต่อไป
สไตล์ของเราได้แรงบันดาลใจมาจาก Artist คนไหนเป็นพิเศษไหม?
สไตล์ของเรามันเกิดมาจากการแก้ปัญหา ตอนนั้นเรากำลังศึกษาเรื่อง Typography เราอยากทำ Typo ที่มันไม่มีใครเคยทำมาก่อน เราก็ศึกษาดู แล้วก็ได้รู้จักกับการทำฟอนต์จาก Stencil ก็ทำให้เราเจอระบบการทำ Modular ของมัน ทีนี้พอรู้จักกับฟอร์มของ Stencil แล้ว เราตั้งใจว่าเราอยากจะทำบล็อก Stencil ที่มันเป็นบล็อกมหัศจรรย์ขึ้นมา คือเราชอบการมีข้อจำกัด เราชอบการเอาข้อจำกัดต่างๆมาพลิกแพลง เหมือนสมมุติว่ามีเลโก้ให้ชิ้นเท่านี้ๆ คุณจะทำยังไงให้มันออกเป็นรูปทรงต่างๆที่ไม่เหมือนใคร จะเป็นฟาโรห์ หรือจะเป็นอะไรที่คุณสร้างสรรค์ สุดท้ายมันก็ไปเจอกันกับ ภาพ Graphic Bitmap Low-Res พวกภาพเกม 8bit อะไรแบบนั้นมันคล้ายๆกับงานเราเหมือนกัน แต่มากันคนละอย่างกับงานของ “Space Invader” (ศิลปิน Street Art ชาวฝรั่งเศสที่งานของเขาได้แรงบันดาลใจมาจากวิดีโอเกม 8bit อย่างชัดเจน) ที่อันนั้นเขาก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเกม 8Bit ตรงๆเลย สำหรับเราถ้าถามว่าแรงบันดาลใจเรามาจากไหน คงมาจาก เราอยากใช้อะไรที่มันน้อยๆ แต่เอาไปทำอะไรให้มันได้เยอะ
เริ่มมี Art Exhibition ?
พอเราเริ่มทำงานที่เป็นฟอร์มโครงสร้าง Stencil ตัวนี้ออกมา มันใหม่สำหรับวงการศิลปะ คือมันเป็นกราฟฟิก แต่มันยังเป็นระบบ Manual ผสมอยู่ด้วย ตัวงานมันเป็นโครงสร้าง Geometric style เป็นการตัดทอน ความ Realistic ออกมาให้เป็นโครงสร้างเหมือน Stencil ซึ่งมันไม่เคยมี Street Art ทั้งเมืองไทยและเมืองนอกทำมาก่อน พอเราทำครั้งแรกตอนนั้น ก็ถูกพี่พีชวนมาทำเรื่อยๆ ทุกครั้งเราก็จะกดดันว่า “ไปวาดกับพี่เขาอีกแล้ว เราต้องพัฒนายังไงถึงจะให้วาดคู่กับเขาได้” ลึกๆเรากดดันทุกครั้งแต่เราเน้นว่าเราทำบ่อย เชื่อไหม ตอนนั้นเราคิดในใจเลยนะว่า งานเราไม่ Art ปะวะ งานเราแม่ง Graphic ว่ะ งานเรามันคือไรวะ เราว่ามันก็คงต้องมีกระแสพูดกันล่ะ แบบ “มึงเป็นใครวะเนี่ย อยู่ดีๆก็ขึ้นมาวาดกับ P7 อยู่ดีๆก็มี Exhibition” แต่สุดท้ายมาถึงตรงนี้ ทุกอย่างมันพิสูจน์ด้วยงานจริงๆ เราเน้นทำเยอะ คนเห็นผลงานเราเอง ยิ่งโลกเดี๋ยวนี้ Social Media ทุกอย่างมันง่ายขึ้นเยอะมาก
เคยได้รับ Feedback ที่ไม่ดีกลับมาบ้างไหม?
ใครมันจะเดินเข้ามาบอกกับเราตรงๆ ว่าเราไม่ใช่ศิลปิน (หัวเราะ) แต่ถามว่ามีไหม มันก็คงอาจจะมีแหละ แต่ว่าเราไม่แคร์ เพราะเราก็ไม่ใช่จริงๆ เราก็บอกว่าเราเป็น Graphic Design มา แต่เราชอบทำ Art เราทำแล้วเราสนุก คือจริงๆเสียงคนนอกเขาจะมองว่าอะไรเราก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไรนะ แล้วอีกอย่าง ถ้าจะมานั่งคิดกันว่าใครใช่ ไม่ใช่ศิลปิน บางทีเราว่ามันว่างมากเกินไป ถ้าให้เลือกระหว่างมัวมานั่งตัดสินคนอื่น เราเลือกเอาเวลามาทำงานดีกว่า
ไปแสดงงานที่เกาหลีมา?
ไปเกาหลีอย่างแรกเลยคือ เรารู้สึกว่าวงการศิลปะบ้านเค้ามันแข็งแรงมากนะ ถ้าเทียบกับบ้านเรา เราไปสองอาทิตย์ ทุกวันเราเจอแต่ศิลปินหน้าไม่ซ้ำกัน แล้วแต่ละคนงานมันเก่งมากๆ งานมันดีจริงๆ คือที่นั่นเรียกได้ว่าศิลปินมันล้นตลาดเลย กลับมามองเมืองไทยนี่ทำให้รู้เลยว่าจริงๆบ้านเรายังมีช่องทางเปิดให้ศิลปินทำไรกันได้อีกเยอะมากๆ
ถ้างั้นวงการนี้ในเมืองไทยยังขาดอะไร?
อุปกรณ์ก็ซื้อยากเหมือนกันนะ… (หัวเราะ) เราว่ามันเป็นเรื่องแรงบันดาลใจ คือแรงบันดาลใจก็มี แต่มันมีกันแต่ในกลุ่มแค่นี้ อาจจะเพราะเราเก็บตัวด้วยมั้ง เราก็เลยไม่ค่อยได้เห็นหน้าใหม่ที่เห็นแล้วขนลุกเหมือนตอนเราไปเกาหลี ศิลปินที่นั่นเวลาคุยมันธรรมดาๆนะ แต่พอมันโชว์งานทีนึงนี่แบบขนลุกเลย มันเก่งจริงๆ คือทำไมของเค้ามันไม่มีกำแพงกันเลย เมืองไทยต่อให้คุณงานเจ๋งแล้วไงต่อ? บ้านเรามันตันกันพอสมควร มันจะมีกลุ่มชั้น กลุ่มเธอ มึงเด็ก กูผู้ใหญ่ เอ้ะ นี่เราต้องรู้จักกันก่อนนะ ถึงจะคุยกันได้ มันทำให้ข้ามไปข้ามมากันลำบาก ซึ่งอันนี้ไม่ค่อยดี เมืองไทยเราติดไอ้ความเป็น Senior Junior กันอยู่เยอะ มันต่างกับฝรั่ง มึงพี่มึงน้อง มึงก็เท่ากัน มันคุยกันง่ายกว่าเยอะ เพียงแต่บ้านเราเอาเวลามานั่งเกลียดกัน อิจฉากัน วิจารณ์กัน เปลี่ยนเอาเวลาแบบนั้นมานั่งทำงานกันดีกว่า เวลามันมีหน้าใหม่เกิดขึ้นมา อย่ามานั่งเกลียดเขาเลย ก็เลิกเกลียดแล้วทำงานของตัวเองออกมาสู้กันสิ ของเกาหลีมันแข่งกันแหลก แต่ท้ายสุดแม่งเป็นเพื่อนกันหมด ไอ้นี้ไม่ชอบหน้ากันแต่มันยังไปดูงานกัน มันยังคุยกันได้หมด ไม่รู้สิ เค้าไม่แบ่งพรรคแบ่งพวกเหมือนบ้านเรา
มองศิลปิน Street Art รุ่นใหม่เป็นอย่างไรบ้าง?
เราอยากให้ศิลปินรุ่นใหม่หันมาใช้งานคุยกัน ไม่อยากให้คนรุ่นใหม่พอเห็นคนเก่าๆดังแล้ว ก็พากันยึดติดว่าต้องทำแบบนี้แล้วถึงจะประสบความสำเร็จ คืองานแต่ละคนมันไม่เหมือนกันนะ ความชอบส่วนตัว ความถนัดของแต่ละคนมันเหมือนกันไม่ได้ กำแพงไม่ใช่คำตอบเดียวของศิลปะเสมอไป จริงๆแล้วคุณอาจจะจบที่งานปั้นก็ได้ อาจจะจบที่งานภาพพิมพ์ก็ได้ คุณอาจจะจบที่งานเฟรมเล็กๆ งานสีน้ำมัน หรือ Installation คือการทำงานศิลปะมันมีช่องทางเยอะมากๆ ลองๆทำแล้วศึกษาว่าชอบอะไร อย่าจำกัดตัวเองว่าต้องเป็นอะไร อย่าเพิ่งรีบ โอเค สมมุติคุณปล่อยงานออกมาแล้วดี ก็ดีไป ถ้าไม่ดี ก็ทำให้มันดีขึ้น ทุกวันนี้ Social มันเยอะหลากหลาย บางทีมันดีนะ แต่บางทีขยะใน Social มันก็เยอะ ท้ายที่สุดแล้วอะไรพวกนี้ก็ไม่ได้สำคัญที่สุดหรอก มันอยู่ที่เราทำหรือไม่ทำ เราเชื่อเลยนะ ถ้าศิลปินได้เจอโจทย์ใหม่ๆ แล้วเค้ากล้าที่จะทิ้งอันเก่าไปลองเริ่มอะไรใหม่ๆ มันจะเป็นอะไรที่ช่วยให้เราพัฒนาได้ดีมากๆ แล้วสุดท้ายมันจะเจออะไรที่เป็น Original เราเอง อย่างที่บอกล่ะ ทำงานแล้วให้งานมันพูด พองานมันพูดชัดพอ เราจะพูดหรือไม่พูดเลยก็ได้ คนอื่นเห็นก็รู้
เดี๋ยวนี้ศิลปินไทย เป็นส่วนหนึ่งกับวงสังคมมากขึ้น จำเป็นมั้ยที่ศิลปินต้องดูดี?
ไม่ต้องเลย เราเกลียดมากเลยนะอะไรแบบนี้ มันเกี่ยวไรกันด้วย ลองดูได้เลยศิลปินเก่าๆ ใครจะมานั่งแต่งตัว พอคุณทำงานดีแม่งหล่อเอง บางทีเราก็ไม่ค่อยเข้าใจนะว่าคนที่คิดแบบนี้มันเอาอะไรมาคิด บ้านเราชอบให้ความสนใจกับเรื่องอะไรแบบนี้กัน ร้านข้าวบางร้านคนขายน่ารักเป็นข่าวดังเฉยเลย เรางงมาก ย้อนกลับไปมองศิลปินสมัยก่อน ผลงานถือเป็นตัวคัดกรองอย่างแรกนะ เรารู้จักศิลปินทุกๆคนผ่านตัวงาน ไม่ใช่มองที่ตัวบุคคล
สำหรับ RUKKIT งานที่ดีกับงานที่ไม่ดี แยกแยะยังไง?
เอาความตื่นเต้นก่อนเลย เมจเสจที่ส่งมัน Impact ทำให้เราขนลุกมั้ย พอหลังๆมาได้เจองานที่เมจเสจมันแรงมากๆ แบบมองแต่เมจเสจแล้วขนลุก จนมองข้ามข้อไม่สวยไปเลย เหมือนงานเขากระแทกใส่หน้าเราเต็มๆ เราว่าทั้งหมดนี้รวมๆกันนั่นล่ะ คืองานที่ดีในความหมายเรา
ทุกวันนี้มีความสุขกับเรื่องอะไรบ้าง?
มีความสุขกับการทำงาน (ยิ้ม) ทุกครั้งที่เราทำงานเสร็จ มันจะรู้สึกว่าเออ เห้ย เราทำได้แล้ว เสร็จแล้ว พองานดีขึ้นเราก็มีภูมิใจตัวเองเล็กๆว่า เออ เจ๋งดีว่ะ เราแฮปปี้กับตัวเองเสมอๆว่า เออ เราก็เดินมาถึงตรงนี้ ตรงนี้แล้วนะ ก็เดินไปเรื่อยๆ
งานเยอะขนาดนี้ มีเวลาหาแรงบันดาลใจจากอะไรบ้าง?
จากงานเก่าๆนะ ที่เราทำแล้วรู้สึกมันด้อยหรือไม่ดี แล้วก็ได้มาจากการฝึกทักษะ มันออกมาเองเวลาเราตั้งใจทำอะไร เราบอกตัวเองเสมอๆว่า เห้ย เราจะจบอยู่แค่ตรงนี้ไม่ได้
มีเป้าหมายที่คิดไว้ไหม?
ไม่มี เราอยู่กับปัจจุบันสุดๆเหมือนกัน เราอยากทำอะไรทำ ใครชวนอะไร ถ้ามันใหม่เราก็อยากลองทำดู เราทำแต่งาน เรื่องอื่น พวกการเข้าหาคน การตลาด อะไรพวกนั้น เราไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไร ซึ่งจริงๆอาจจะแย่ก็ได้นะ แต่เราว่ามันไม่ใช่หน้าที่เราอะ คงต้องจ้างคนมาทำล่ะ (หัวเราะ) สำหรับเรา เราขอทำงานให้มันดีที่สุดเท่าที่มันดีได้ก็พอ
ทุกวันนี้อยากทำอะไรที่ยังไม่ได้ทำบ้าง?
อย่าง Paint รถนี่ก็จับพลัดจับผลูมาก แล้วหลังจากงานนี้ทำให้เราเกลียด Paint รถไปเลยนะ (หัวเราะ) คือตอนแรกเรานึกว่ามันไม่ยาก พอตอนทำจริงๆมันยากมาก ทั้งรูปทรง ทั้งฟอร์มของมัน ก็บ่นๆๆๆ แต่พอเสร็จแล้วก็ภูมิใจมากๆ ถ้าเอาตัวผลงานเราชอบงานนั้นมากนะ หรือตอนไปภูเก็ต เห็นกำแพง ต้องนั่งร้านทำก็คิดว่าสูงขนาดนี้จะไหวเหรอวะ พอทำไปๆ มันก็เสร็จได้ เราก็ภูมิใจ ยังนึกไม่ออกจริงๆว่าอยากทำอะไรอีก แต่มันคงยังมีอีกเยอะล่ะ ก็พยายามจะไม่ยึดติด อยากลองทำเยอะๆ
Movement ต่อไป?
ตอนนี้เราชอบ Street Art มาก เราอยากทำให้งานมันมีคุณค่ามากขึ้นกว่านี้ ช่วงแรกที่เริ่มทำมันจะเป็นแบบ ขอให้มันทำได้ ขอให้มันออกมาได้ดีไว้ก่อน แต่ต่อไปนี้ พอเราทำบ่อยเราเริ่มรู้ว่าต้องทำอะไร มันเริ่มมีช่องให้เราใส่ไอเดีย ใส่อารมณ์ลงไปมากขึ้น อยากให้อะไรกับคนดูงานมากกว่านี้
Interview: Norrarit Homrungsarid
Writer: Pakkawat Tanghom
Photographer: Pakkawat Tanghom
ขอบคุณร้าน (un) FASHION Café สำหรับสถานที่
RECOMMENDED CONTENT
ขยันสร้างผลงานดี ๆ ให้แฟน ๆ ได้ฟังกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับศิลปินหนุ่มหล่อมากความสามารถที่มีแนวเพลงเป็นเอกลักษณ์อย่าง “เป้ - อารักษ์ อมรศุภศิริ” จากค่ายเพลง What The Duck หลังปล่อย EP อัลบั้ม “ARAGOCHINA” ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา