หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความฟู่ฟ่าของโลกวัตถุนิยมเหมือนเป็นยาหวานชุบชูใจผู้คนในสังคมตะวันตก แต่กลับมีคนกลุ่มหนึ่งที่เห็นต่าง ไม่ยอมให้ความเจริญสุดขีดมามีอำนาจเหนือคุณค่าทางจิตใจ ปลาย ค.ศ. 1940 กวี นักคิด นักเขียน ศิลปินพวกหนึ่งที่แรกตัวเองว่า Beat Generation เริ่มสะกิดคนให้ออกมา ‘แสวงหาตัวตนกันเถอะ!’ ด้วยการใช้ชีวิตแบบอิสรเสรี ไร้กรอบสังคม ต่อต้านวัตถุนิยม หันหน้ารับความเชื่อแบบโลกตะวันออก ใช้ชีวิตสุดโต่ง โดยมีความรัก เซ็กซ์ และยาเสพติดเป็นแรงขับเคลื่อน พวกเขาเหล่านี้ได้ทิ้งตะกอนให้คนรุ่นหลังในยุคต่อมาเดินหน้าแสวงหาตัวตนกันต่อไปในชื่อใหม่แต่อุดมการณ์เดิมว่า ‘ฮิปปี้’ และไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย กลิ่นอายของดอกไม้อิสระเหล่านั้นก็ยังไม่เคยจางไป
Woodstock (1970)
Director: Michael Wadleigh
ฤดูร้อนปี 1969 ในนิวยอร์กครั้งนั้น เรียกร้องให้คลื่นมนุษย์กว่า 500,000 คนมารวมตัวกันในเทศกาลดนตรี Woodstock ทำให้การจราจรมหานครนิวยอร์กเป็นอัมพาตครั้งประวัติศาสตร์ ถึงขนาดต้องจารึกไว้เลยว่าเป็น 3 วันแห่ง Love Drug และ Music ของหนุ่มสาวยุคดอกไม้บานอย่างแท้จริง ท่ามกลางการแสดงดนตรีสดศิลปินเจ๋งๆ ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็น The Grateful Dead, Jimi Hendrix, Alvin Lee, The Who, Joe Cocker และอีกคับคั่ง
เหตุผลที่โลกยังคงจดจำการรวมตัวของบุปผาชนครั้งนี้ เพราะมันไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของคนรักดนตรี หรือจะมาแก้ผ้า ปาร์ตี้ เมคเลิฟกันอย่างเดียว แต่ยังเป็นการแสดงออกทางความคิดเสรีของคนรุ่นใหม่ต่อเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นอย่างมีนัยยะ ทั้งเรื่องการแบ่งแยกชนชั้น ปัญญาสีผิว สภาพเศรษฐกิจ การเมือง ผู้นำถูกลอบยิง สงครามเวียดนาม ฯลฯ
สารคดีความยาวกว่า 200 นาทีที่ได้ Martin Scorsese มาร่วมกำกับฯ เรื่องนี้กลายมาเป็นต้นแบบให้กับหนังสารคดี เทศกาลดนตรีทั้งหลาย รวมถึงในแง่ของแรงบันดาลใจจากแฟชั่นแบบฮิปปี้ ชุดหนังกรุยกราย เดรสลายดอก ผ้ามัดย้อม กางเกงขาบาน สร้อยประคำ วัฒนธรรมตะวันออก (เราขอไม่นับรวมการเปลือย) วัตถุดิบที่ดูเหมือนว่าทุกวันนี้แบรนด์แฟชั่นทั่วโลกยังคงจับมาเล่นอย่างไม่นึกเบื่อ (และเราก็ยังจะมีธีมแต่งตัวแบบฮิปปี้กันต่อไปยันวันสุดท้ายของโลกเช่นกัน)
On the Road (2012)
Director: Walter Salles
ว่ากันว่าช่วงเวลาที่เบ่งบานสุดในชีวิตคนเราคือห้วงขณะแสนสั้นที่เรียกว่า ‘ความหนุ่มสาว’ และเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่เราจะสามารถออกไปอ้าแขนทำความรู้จักโลกได้อย่างเต็มที่ที่สุด เหมือนอย่าง ‘แซล’ นักเขียนหนุ่มผู้กำลังค้นหาวัตถุดิบสำหรับงานเขียน จนบังเอิญเจอกับ ‘ดีน’ ไอ้หนุ่มสำมะเลเทเมาเสือผู้หญิงตัวพ่อ ที่หากินด้วยการขโมยรถชาวบ้าน และ ‘แมรี่ลู’ สาวคนรักของดีน
ทั้งหมดเริ่มต้นออกเดินทางจากนิวยอร์กสู่ชิคาโก เดนเวอร์ ซานฟรานซิสโก ไปยังเม็กซิโก พร้อมกับลิ้มรสชาติของชีวิตทั้งโหด ฮา บ้า หวาน ขมผสมปนเปกันระหว่างความรัก ความฝัน มิตรภาพ กัญชา และเซ็กซ์ สุดท้ายเพื่อได้เรียนรู้ว่าความหอมหวานของวัยหนุ่มสาวนั้นมันช่างแสนสั้น แต่กลับมีอำนาจพอที่จะกำหนดชะตากรรมทั้งชีวิตได้เลยทีเดียว
Jack Kerouac นักเขียนอเมริกันเจ้าของนิยาย ‘On The Road’ คือหนึ่งใน Beat Generation ตัวพ่อในช่วงปลายยุค 50s งานเขียนชิ้นนี้ของเขาได้ทิ้งแรงบันดาลใจให้ใครมานักต่อนัก ไม่แค่เฉพาะคนยุคดอกไม้บานเท่านั้น แต่ยังคงมีอิทธิพลทางความคิดมาสู่วัยรุ่นอเมริกันจนถึงทุกวันนี้ เมื่อมาอยู่ในมือผู้กำกับฯ ที่เคยนำการเดินทางตะลุยละตินอเมริกาด้วยมอเตอร์ไซต์เก่าๆ ของนักปฏิวัติแห่งคิวบา ‘เช เกบารา’ มาเล่าใน ‘The Motorcycle Diaries’ มาแล้วเมื่อ 2004 ยิ่งทรงพลังเข้าไปใหญ่
Almost Famous (2000)
Director: Cameron Crowe
เด็กเนิร์ด ดู Loser ในสายตาใครๆ อย่าง วิลเลียม มิลเลอร์ วัย 15 ผู้คลั่งไคล้ดนตรีร็อกจากการบุกเบิกแผ่นเสียงเก่าเก็บของพี่สาว เกิดมาพร้อมพรสวรรค์ในการเขียนหนังสือแบบที่ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน จนฝันว่าวันหนึ่งจะเป็นคอลัมนิสต์ด้านดนตรีร็อกให้ได้
อยู่ๆ บรรณาธิการนิตยสาร Rolling Stone เกิดเห็นแววว่าไอ้เด็กคนนี้มันมีของ เลยส่งเขาไปทำสกู๊ปเกี่ยวกับวงร็อกชื่อ Stillwater เพื่อนำบทสัมภาษณ์มาตีพิมพ์ แต่เรื่องมันไม่ง่ายอย่างนั้น วิลเลียมต้องตามติด Stillwater ตลอดระยะทางการทัวร์คอนเสิร์ต พบเจอความเพี้ยนสารพัดของสมาชิกที่ไม่ยอมให้นักข่าวบันเทิงจำเป็นอย่างเขาล้วงข้อมูลได้ง่ายๆ รวมถึงเหล่า Groupie จอมป่วนที่ต้องรับมือ จากความวุ่นวายกลายเป็นมิตรภาพอย่างคาดไม่ถึง นำมาซึ่งบทเรียนก่อนการเติบโตอันน่าจดจำ
เป็นหนัง Drama-Comedy ชวนยิ้มอีกเรื่องที่จิตวิญญาณ Rock ’n Roll ของผู้คนและวิถี 70s ยังลอยตลบอบอวลจนอยากรื้อแผ่นเสียงเก่าๆ มาเปิดฟังซ้ำไปซ้ำมาเหลือเกิน
Into the Wild (2007)
Director: Sean Penn
ผลงานกำกับของนักแสดงรุ่นเก๋า ป๋า Sean Penn หยิบเอาบทบันทึกการเดินทางของ Jon Krakauer มาเล่าผ่าน Christopher McCandless หนุ่มรูปหล่อพ่อรวย บัณฑิตหมาดๆ จากรั้วมหาวิทยาลัยแถวหน้า ดูชีวิตดีมากๆ แต่อยู่ๆ ก็เกิดคำถามขึ้นในใจถึงชีวิตคนว่าแท้จริงแล้วอะไรคือแก่นสารกัน (วะ) เรียนจบ ทำงาน เก็บเงิน แต่งเมีย ดูลูกโต ไปเที่ยวรอบโลก แล้วกลับมานั่งรอความตายหลังเกษียรแค่นี้เองละหรือ คริสจึงตัดสินใจหักบัตรเครดิต แบกเป้ใบเก่า เผาเงินทิ้ง ออกเดินทางพร้อมไดอารี่กับกีตาร์หนึ่งตัวสู่ดินแดนแสน ‘Wild’ เพียงลำพัง
การเดินทางของ Jon Krakauer คือเศษเสี้ยวหนึ่งของวัฒนธรรม Beat ที่ยังหลงเหลืออยู่ เด็กที่โตมากับโลกวัตถุนิยมยังโหยหาอิสรภาพ ผู้ใหญ่ที่ถูกฝังหัวด้วยแบบแผน American Dreams เองก็ยังไม่พบสิ่งเติมเต็มความเว้าแหว่งในใจจนแล้วจนรอด น่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไมทั้งหนังและหนังสือชื่อ Into the Wild จึงกระแทกต่อมคนยุคนี้เข้าอย่างจัง
Across the Universe (2007)
Director: Julie Taymor
ปีเดียวกันกับที่ Into the Wild ออกฉาย ‘Across the Universe’ ก็เป็นอีกเรื่องที่รับวัฒนธรรม Beat มาเต็มๆ แต่เรื่องนี้ออกจะแฟนตาซีกว่ามาก เพราะสร้างในรูปแบบของหนังเพลง บวกกับการใช้ลูกเล่นเทคนิคการตัดต่อแพรวพราวมาเพิ่มสีสัน
ใครที่เลิฟเพลงของวงสี่เต่าทอง The Beatles น่าจะชอบเป็นพิเศษ เหมือนได้ฟัง Songbook ย้อนวันวานของวงระดับตำนานนี้ที่เราคุ้นหูกันดี (แถมร้องตามได้ทุกเพลงด้วยสิ) อย่าง Hey Jude ที่กลายมาเป็นชื่อพระเอก Lucy ชื่อของนางเอกก็มาจากเพลง Lucy In The Sky With Diamond, I Want to Hold Your Hand และ Across the Universe ตามชื่อหนังเรื่องนี้
แม้เรื่องจะดำเนินไปด้วยแบ็กกราวนด์เหตุการณ์บ้านเมืองหนักๆ ในช่วงปี 1960s แต่หนังยังไม่ลืมใส่เรื่องราวความรักโรแมนติกดูดดื่มปานจะกลืนกินของชีวิตวัยรุ่นอาไว้พอหอมปากหอมคอ คลอไปกับเพลงของน้าๆ The Beatles ก็เพลินดีไม่หยอก
RECOMMENDED CONTENT
เล่นกันแบบนี้เลย! Coming Soon: The Starcourt Mall! | Ha […]