fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#BIGMONEY — Haupcar : คาร์แชร์ริ่งรูปแบบใหม่ เน้นใส่ใจสิ่งแวดล้อม
date : 23.สิงหาคม.2017 tag :

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายคนคงได้ยินข่าวการเปิดตัวเครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ปลั๊กอิน ไฮบริด ที่ใหญ่ที่สุดในโลกกันมาบ้างแล้ว หลายคนก็อดตื่นเต้นไม่ได้ ที่หลังจากนี้เราจะได้เริ่มก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงด้านยานยนต์ในทางที่ดีขึ้น ซึ่งเราเองหลังจากมีโอกาสได้ไปพูดคุยกับ 2 ผู้ประกอบการธุรกิจคาร์แชร์ริ่งในนาม ‘Haupcar’ อย่าง คุณกฤษฏิ์ วิชัยวัฒนาพาณิชย์ ผู้ก่อตั้ง ร่วมกับ ดร.สโรช บุญศิริพันธ์ co-founder ก็รู้สึกว่าแนวคิดนี้ตรงกับเป้าหมายสูงสุด แถมยังเป็นแนวคิดแรกของการเริ่มต้นธุรกิจคาร์แชร์ริ่งที่เรากำลังพาทุกคนมาทำความรู้จักในวันนี้ รูปแบบจะน่าสนใจขนาดไหนลองไปอ่านกัน!

จุดเริ่มต้นของ Haupcar

“จริงๆ ต้องบอกว่า car sharing มีมาเยอะแล้ว จุดเริ่มต้นมาจากตอนที่ผมเรียนอเมริกาก็เห็นว่าเมืองนอกมีแล้ว ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่เพิ่งกลับมาไทย เริ่มรู้สึกว่าทำไมไม่มีธุรกิจประเภทนี้อยู่ในไทยล่ะ ก็ตกใจเหมือนกัน เพราะประเทศไทยรถติดมาก ซึ่งหากมองดูประเทศรอบๆ เรา อย่างเช่น ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ อเมริกา ลอนดอน มีหมดแล้ว และเมื่อมองย้อนมาบ้านเรา ถามว่าพอเป็นไปได้ไหมที่จะทำให้  Car sharing เกิดขึ้นในประเทศไทย คำตอบที่ได้ก็ซัพพอร์ตกันอยู่หลายปัจจัย เช่น คนที่มีรถเองสมัยนี้ถ้าอยู่คอนโดก็ลำบากมากขึ้นเรื่องที่จอดรถไม่พอ แนวคิดนี้จึงทำให้เกิด Haupcar ขึ้น”

ความสัมพันธ์ของ EV Car Sharing กับ Car Sharing กลุ่ม Ecocar

จากนั้นคุณกฤษฏิ์ก็เริ่มชักชวนรุ่นพี่ที่รู้จักมาทำธุรกิจ car sharing ร่วมกัน โดยความตั้งใจแรกต้องการทำ EV Car Sharing หรือ Electric Vehicle Car Sharing ซึ่งเป็นคาร์แชร์ริ่งที่เลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้า แต่ก็ชะลอโปรเจกต์นี้ไปก่อน เนื่องจากมีข้อจำกัดต่างๆ ทั้งยานยนต์ที่ยังไม่ติดตั้งระบบไฟฟ้า แบตเตอรี่ยังไม่มี สถานีชาร์จมีน้อย หรือแม้กระทั่งช่างไม่มีความเชี่ยวชาญ จึงตัดสินใจใช้รถยนต์ในกลุ่ม Ecocar ไปก่อน เนื่องจากต้องการแก้ปัญหามลพิษ และเน้นสนับสนุนการใช้พลังงานสีเขียว รวมถึงใส่ใจการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)

ทำไมต้อง EV Car sharing ?

“แน่นอนว่าเรายังคงมีเป้าหมาย (goal) ที่จะทำ EV Car sharing เลยพยายามติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (Electric Vehicle Association of Thailand หรือ EVA) ตอนนั้นทางนายกสมาคมก็มีโปรเจ็กต์ที่จะทำให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย เราก็ไปร่วมด้วย ซึ่งแต่ละประเทศก็มีวิธีเริ่มต้นทำ EV ไม่เหมือนกัน เช่น ฝรั่งเศส เริ่มทำรถยนต์ไฟฟ้าหรือทำ EV ด้วยการไปติดตั้ง charging station ทั่วปารีส หลังจากนั้นก็มีการทำ EV sharing ขึ้น

ทั้งหมดนี้อาจเป็นเพราะต่างประเทศให้ความสนใจและเป็นกังวลมาก เราจึงเห็นมาตรการต่างๆ อย่างในลอนดอนที่ห้ามรถยนต์ที่มีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เกินค่ามาตรฐานเข้าประเทศ หรือประเทศยุโรปมีการรวมตัวรณรงค์ให้ตระหนักถึงความจำเป็นเรื่องโลกร้อน น้ำท่วมที่ไม่ใช่เรื่องปกติ หากไม่เร่งแก้ปัญหาภายใน 50 ปีเราจะไม่มีที่อยู่ ดังนั้นตัวผมเองรู้สึกว่าไม่ว่าจะเป็น electric vehicle (EV) หรือ Car sharing ก็เป็นเรื่องที่สำคัญจริงๆ ”

ทำความรู้จัก Car sharing

คำว่า ‘Car sharing’ ที่ดร.สโรชอธิบายให้เราฟัง มาจากคอนเซ็ปต์ที่คนหลายๆ คนได้มาแชร์ใช้รถร่วมกัน แต่รถนั้นไม่มีใครเป็นเจ้าของถาวร ซึ่งทุกคนไม่ต้องดาวน์รถ หรือเสียเงินผ่อน ที่สำคัญจากแนวคิดนี้ยังแก้ปัญหาคนที่ปกติมักจอดทิ้งไว้ กว่า 95% ของเวลา แถมมีเพียง 5% เท่านั้นกับเวลาที่ใช้ขับจริงๆ นอกจากนี้ station ยังเหมือนเป็นจุดนัดพบของคนที่เข้ามาใช้รถ โดยมีพฤติกรรมการใช้งานที่เหมือนๆ กัน ดร.สโรช ยังพูดเสริมหลักการการใช้งานร่วมกันอีกว่า EV ใช้สถานีชาร์จ ใช้เวลาชาร์จนานกว่าปกติ ส่วน Car sharing รูปแบบนี้ก็มี station ที่ต้องเอารถมาคืน สองส่วนนี้แหละเป็นดั่งจุดนัดพบ แต่ต่างกันที่แวะเติมน้ำมัน กับต้องชาร์จ ณ จุดเริ่มต้นหรือปลายทางแทน

คอนเซปต์ของ ‘Haupcar’

“Car sharing รูปแบบของเราไม่ได้นับว่าเป็นคู่แข่งของ Grab และ Uber เรียกว่าไปช่วยเสริมข้อจำกัดของกลุ่มเหล่านี้จะเข้าใจง่ายกว่า เช่น จุดที่รถแท็กซี่เข้าไม่ถึง เรียกแล้วไม่มา หรือการใช้งานแบบ multicle stop (จอดหลายที่-หยุดหลายครั้ง) เป็นต้น ดังนั้นเมื่อพูดถึง Car sharing เราจึงอยากให้นึกถึง Haupcar”

Haupcar ดีอย่างไร ?

ต้องบอกเลยว่า Haupcar มาแทนที่การครอบครองรถ เหมาะกับคนที่ไม่ต้องการซื้อรถแต่มีเหตุให้ต้องใช้รถ เช่น บางครั้งเสาร์อาทิตย์ก็อยากพาครอบครัวไปเที่ยวต่างจังหวัด เพราะวันธรรมดาปกติใช้รถไฟฟ้า BTS หรือ MRT และเมื่อลดความจำเป็นในการซื้อรถแล้ว เหล่าลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของ Haupcar ยังได้นำเงินที่เหลือนี้ไว้เพื่อการลงทุนรูปแบบอื่นที่สามารถสร้างรายได้ระยะยาวอย่างการซื้อบ้านหรือคอนโด เป็นต้น

กลุ่มเป้าหมายของ Haupcar

“คนที่ใช้ Haupcar จะกระจุกเป็นกลุ่มๆ เพราะว่าจุดนัดพบหรือ station ส่วนใหญ่จะเน้นจอดบริเวณมหาวิทยาลัย แน่นอนว่ากลุ่มเป้าหมายหลักเป็นนักศึกษา เพราะกำลังในการซื้อรถมีเปอร์เซ็นต์น้อยกว่ากลุ่มอื่น แถมยังสนใจรูปแบบ community car แต่ตอนนี้ก็อาจมีนักศึกษาหรือคนที่อยู่ไกลจากจุดจอดที่ยังไม่รู้จัก อีกกลุ่มคือวัยทำงานที่อายุยังไม่เกิน 30 ปี กลุ่มนี้จะมีความเข้าใจในเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว เป็นกลุ่มที่ชอบลองและใส่ใจสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเพิ่มเป็นกลุ่มนักงานบริษัท ด้วยการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่เป็นบริษัทรถเช่า TOP 3 ของประเทศ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าองค์กรตามตึกในสำนักงานใหญ่ต่างๆ”

เทคโนโลยีที่ Haupcar นำมาพัฒนาระบบการใช้งาน

เชื่อว่าแต่ละคนต้องเคยผ่านประสบการณ์การใช้งานรถเช่ากันมาบ้าง ทุกคนจะรู้สึกแบบกับผู้ก่อตั้ง Haupcar นั่นคือขั้นตอนในการสมัครที่ยุ่งยาก ต้องกรอกข้อมูลในเอกสารและกรอกใหม่ทุกครั้งที่จะจอง ทำให้ผู้เช่าไม่สะดวก ดังนั้น Haupcar จึงพัฒนาด้วยการนำแอปพลิเคชั่นเข้ามาช่วย 2 เรื่อง คือ การจองรถ ที่ไม่ต้องสอบถามผ่าน call center แต่สามารถดูได้ 24 ชม. ผ่านแอปว่ามีรถว่างหรือไม่ ต่อมาคือ การเช่ารถใช้งาน โดยใช้ keyless technology เวลาที่เราจะเข้ารถ ซึ่งปลดล็อครถด้วยการแตะบัตรหรือกดผ่านแอปพลิเคชั่น นอกจากนี้ ขั้นตอนในการสมัครครั้งแรกยังไม่ยุ่งยากและสมัครครั้งเดียวใช้งานได้ตลอด โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลทุกครั้งที่ใช้ จึงแก้ปัญหาการจอง การเปิดเข้ารถและคืนรถที่ลำบาก เพราะแค่มีมือถือเครื่องเดียวก็ใช้รถได้ภายในไม่กี่นาที

ขั้นตอนการใช้ Haupcar

ก่อนอื่นต้องโหลดแอปพลิเคชั่น Haupcar มาก่อน หลังจากนั้นกด register ที่สามารถ login ได้ทั้ง Face book และ Google แล้วจึงถ่ายรูปบัตรประชาชน ใบขับขี่ และบัตรพนักงานหรือบัตรนักศึกษา เสร็จแล้วคอนเฟิร์มแล้วเซ็นชื่อ กดตกลง (หลัง register แล้วรอประมาณ 24 ชม.เพื่อดำเนินการครั้งแรก) แล้วระบบจะตอบรับการ submit ว่าข้อมูลมาครบถ้วนแล้ว จึงเริ่มต้นใช้งานด้วยการเข้าแอปแล้วกดจองได้เลย! ส่วนการใช้งานแต่ละครั้งจะจ่ายเงินผ่านแอป เนื่องจากตอนสมัครใส่เลขบัตรเครดิตหรือเดบิตไปแล้ว

เมื่อเข้าแอปให้กดมาที่หน้า Drive แล้วเดินไปที่รถปลดล็อค เท่านี้ก็ไปได้ทุกที่ตามที่แจ้งปลายทางไว้ สามารถใช้งานได้ตลอด 24 ชม.ไม่ต้องสมัครซ้ำ เพราะระบบจำข้อมูลไว้แล้ว พร้อมมั่นใจว่ารถทุกคันมีประกันเพื่อความปลอดภัยทุกกรณี

คำนวนราคาและจุดจอด

“รูปแบบการคิดราคาจะนับเป็นรายนาที เช่าได้ตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงไปจนถึง 7 วัน ซึ่งข้อแตกต่างจะอยู่ตรงนี้ ที่ไม่เหมือนรถเช่าตรงกำหนดเวลาบังคับเพียงรายวันขึ้นไป อีกทั้งยังมีราคาพิเศษสำหรับนักศึกษาด้วยเป็นเรตราคาน้อยกว่าประเภทอื่น เพราะกิจกรรมที่ต้องใช้รูปแบบ Car sharing เอื้อประโยชน์กับตัวเด็ก โดยโมเดลต่างประเทศก็เริ่มจากมหาวิทยาลัยก่อน ดังนั้นทุกคนที่ใช้จึงมีอิสระในการเดินทางได้เหมือนคนที่ซื้อรถ แถมยังมีอิสระทางการเงิน” โดยแบ่งจุดจอดเป็น 2 แบบ ได้แก่ จุดจอดแบบถาวร ไปถึงเมื่อไหร่ก็มีรถจอดอยู่มีประมาณ 10 จุด กับอีกแบบคือเอารถไปส่งให้ตามสถานี BTS เท่านั้น ซึ่งเราสามารถเข้าไปดูได้จากในแอปพลิเคชั่นนั่นเอง

อุปสรรคและการแก้ปัญหา

ตลอดการพูดคุยทำให้เราเข้าใจรูปแบบการใช้งานมากขึ้น แม้ระยะเวลา 1 ปีของ start-up หน้าใหม่นี้จะเจอปัญหาของระบบที่เกิดการขัดข้องบ้าง หรือพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่ส่งคืนรถล่าช้าบ้าง แต่ก็สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและพัฒนาระบบอยู่เสมอ ซึ่งถ้าได้ลองเข้าไปดูใน Facebook Fanpage ก็จะเห็นโปรโมชั่นดีๆ มากมาย ทั้งหมดนี้ยิ่งกระตุ้นให้ทุกคนเข้าถึงบริการรูปแบบนี้มากขึ้น และผูกพันกับการใช้งาน ทำให้เราเชื่อมั่นว่าสู่เป้าหมายที่ทาง Haupcar ตั้งใจไว้แต่แรกจะพัฒนาได้มากเช่นกัน

เทรนด์ EV กำลังมา?

ล่าสุดกับข่าวที่หน่วยงานภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฮบริด-ไฟฟ้า หรือ EV ด้วยการประกาศลดภาษีสรรพสามิต ก็ยิ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของ EV Car sharing และเมื่อถามความเห็นจากกระแสดังกล่าวก็ยิ่งทำให้เราเข้าใจระบบการใช้งานรถยนต์ประเภทนี้มากขึ้น “คือทุกประเทศที่มี EV เกิดขึ้น มาจากภาครัฐ อย่างในลอนดอนทุกหัวมุมจะมี charging station ซึ่งผมมองว่าต่อไปเทรนของ EV มาอยู่แล้ว เพราะเมืองนอกจะเปลี่ยนการนำเข้ารถแค่ EV ซึ่งตลาดบ้านเราที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์แบบเติมน้ำมันส่งออกถึง 50%

คิดดูว่าถ้าอนาคตเขาไม่เอารถเติมน้ำมัน เราก็ต้องเปลี่ยนไปทำ EV อยู่ดี นอกจากนี้ภาคเอกชนเองก็มักจะมีแคมเปญออกมาให้เห็น เช่น ต่างประเทศที่เจาะรถยนต์กลุ่ม luxury ก่อน เช่น เทสล่า (Tesla Model S) ก็เริ่มจากโมเดลรถสปอร์ตแล้วค่อยลงมาที่เป็นรถยนต์ธรรมดา ส่วนในไทยตอนนี้ก็มีโมเดลแต่ละคอนโด แต่ละ property ที่มีการลงทุนร่วมกัน”

เราก็ได้แต่หวังว่ากระแสรถยนต์และบริการที่เกี่ยวข้องทั้งรูปแบบเดิมและที่กำลังจะโตขึ้นในอนาคต จะส่งผลให้เกิด start up หน้าใหม่เพิ่มขึ้นอีก และก็ต้องยอมรับว่าการได้มาพูดคุยกับผู้ก่อตั้ง Haupcar ในวันนี้ทำให้เราเข้าใจหลักการของธุรกิจที่มาเสริมหรือเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย หากทุกคนทำตามแนวทางนี้ได้ก็จะช่วยพยุงระบบต่างๆ ให้ดีขึ้นได้ตามลำดับ

รายละเอียดเพิ่มเติม
www.haupcar.com/
facebook.com/haupCAR/

RECOMMENDED CONTENT

1.พฤศจิกายน.2019

ต่อไปนี้หากคุณและเราถูกผรุสวาทด้วยคำประเภทว่า ไอ้สัตว์, ไอ้สัด, ไอ้สัส หรือ ไอส๊าสสสสส ก็อย่าเพิ่งโกรธไป เพราะเราเองนี่แหละที่อาจกำลังกลายเป็นสัตว์ (ป่า) กันอยู่ในทุกๆ วัน! I Gone wild (everyday) คือเอ็กซิบิชั่นที่อยากให้เรากลับไปทบทวนความ ‘ดิบ’ ในตัวเอง ว่าสัตว์ในตัวเราคืออะไร และเรายังเหลือความเป็นมนุษย์กันอยู่มากน้อยแค่ไหน!?