fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#DESIGN — ‘Voice of Coffee’ ร้านกาแฟสร้างไม่เสร็จสุดดิบที่ใส่คอนเซ็ปต์ในทุกระเบียดนิ้ว ณ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น
date : 5.กรกฎาคม.2018 tag :

ถ้าสังเกตกันดีๆ จะเห็นว่า ดู๊ดดอทชอบนำเสนอเรื่องราวของร้านกาแฟในญี่ปุ่นเป็นพิเศษ เราไม่ได้สนใจแต่เรื่องความคราฟท์และใส่ใจของเหล่าบาริสต้าตัวแทนจากดินแดนอาทิตย์อุทัยเพียงอย่างเดียว เราหลงใหลในความน่ารักและเรียบง่ายของเหล่าร้านกาแฟมากมายหลายร้านในประเทศนี้

เพราะนอกจากจะนิยมความน้อยแต่มาก สุดเก๋เท่มินิม่อลแล้ว เรายังพบว่าการจะทำอะไรสักอย่างในงานออกแบบของญี่ปุ่น พวกเขายังใส่ใจในฟังก์ชั่น วัสดุ และความจำเป็น จนรวมกันแล้วลงตัวแบบพอดิบพอดี ง่ายและงาม

ประเทศญี่ปุ่นนั้นน่าเที่ยวทุกเมือง เมืองเล็กเมืองใหญ่ล้วนแล้วแต่หาของดีมาประชันเพื่อดึงนักท่องเที่ยวให้ไปเยี่ยมเยียน …โกเบ ก็เป็นหนึ่งในนั้น จุดเด่นของโกเบคือการเป็นเมืองท่าสำคัญของภาคกลาง เด่นสุดคือหอคอยสีแดงทรงนาฬิกาทรายสูงชะลูดเด่นกว่าใคร และถ้าคุณได้ลองเดินเล่นเย็นใจในย่านเมืองเก่าของโกเบ คุณก็จะพบเข้ากับร้านกาแฟสุดน่ารักที่เราอยากให้คุณมาร์คจุดลงแผนที่ว่าต้องไปตำกันให้ได้!

Voice of Coffee คือร้านกาแฟที่ว่า ร้านกาแฟใต้ตึกที่พักอาศัยที่รายรอบไปด้วยความสงบไม่พลุกพล่านมากนัก ถ้าเผลอเดินผ่านเราก็คงนึกไปว่านี่คือร้านกาแฟที่ยังสร้างไม่เสร็จ! รายรอบด้วยผนังคอนกรีตสุดดิบ เงยหน้าขึ้นไปก็จะพบกับท่อระโยงระยางในโครงสร้างที่เรามั่นใจได้เลยว่า เจ้าของร้านต้องไม่ใช่บาริสต้า แต่คือคนงานที่รอผสมปูนไม่ก็ตอกตะปูเพื่อซ่อมแซมให้ร้านนี้เสร็จสมบูรณ์ จนเรามารู้ว่านี่คือร้านกาแฟ ก็เพราะเครื่องคั่วกาแฟสมัยใหม่ที่ตั้งอยู่หลังร้านนั่นเอง

ความช่างคิดในการออกแบบตกแต่งภายในของร้านกาแฟร้านนี้ ต้องยกเครดิตให้ทีมออกแบบ Yusuke Seki ที่เราขอเกริ่นอย่างคร่าวที่สุดว่า พวกเขาหลงใหลในการออกแบบที่เน้นหนักเรื่องคอนเซ็ปต์ ลงลึกเรื่องวัสดุ แรงบันดาลใจส่วนใหญ่มักมาจากประวัติศาสตร์ ออกมาเป็นการออกแบบแสนมินิม่อล

แนวคิดในการออกแบบสุดเท่นี้ เริ่มตั้งแต่หน้าร้าน ที่ดึงเอาแนวคิดในสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นอย่าง ‘engawa‘ มาใช้ โดยแบ่งส่วนหน้าร้านเสมือนชานบ้านใต้ชายคาตามแบบนิยมกันในสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น ตัดทอนให้น้อยที่สุด และเหลือไว้แต่ประโยชน์ใช้สอย พื้นที่หน้าร้านเลยหลงเหลือแค่ตั่งพอน่ารัก ให้ทุกคนพักผ่อนหย่อนใจ มองบรรยากาศภายนอกอย่างรื่นรมย์ และปล่อยให้ข้างในดำเนินไปอย่างสุนทรี

เราจะเห็นความเชื่อมโยงและต่อเนื่องกันทางโครงสร้างในหลายมิติ ทั้งแผ่นไม้ขนาดใหญ่บนหนังที่เชื่อมโยงหน้าร้านเข้าไปถึงในร้าน หรือแม้แต่โครงสร้างเพดานที่เปิดเผยให้เห็นถึงระบบสาธารณูปโภคที่ถูกวางระบบและจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบ พรางตาด้วยโครงไม้ต่อเนื่องกันตั้งแต่หน้าร้านไปจนสุดหลังร้าน

รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ หลายอย่างล้วนแล้วแต่เป็นส่วนที่ทีมออกแบบ Yusuke Seki ตั้งใจใส่เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นรอยแตกของเค้าน์เตอร์ หรือแม้แต่แผ่นฟอยล์เงินที่ติดอยู่บนผนังที่ทีมออกแบบเล่นสนุกกับเรื่องราวของเวลา ที่เมื่อนานวัน ปฏิกิริยาอ็อกซิไดซ์จะทำให้ฟอล์ยเงินนี้กลายเป็นสีทองสวยงาม ส่วนที่เราชอบเป็นพิเศษคือดูดิสเพลย์เมล็ดกาแฟข้างเสา ที่เข้ามุมอย่างสวยงาม แถมเพิ่มกิมมิคให้สนุกด้วยบานเปิดแบบหักมุมดูไม่ธรรมดาเหมือนตู้เก็บของทั่วไป

จะเห็นได้ว่ารายละเอียดทุกอย่างนั้น ทีมออกแบบบรรจงใส่เข้าไปอย่างพอประมาณ เรียบง่าย เหมือนกำลังอ่านหนังสือสักเล่ม ที่มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ให้เราได้ค้นหา อย่างที่บอกว่า Yusuke Seki สนใจในเรื่องราวประวัติความเป็นมาของสถานที่เป็นพิเศษ อะไรที่น่าคงเอาไว้ก็จะไม่ไปแตะต้อง ตัวอย่างที่ชัดที่สุดก็คือโครงสร้างดั้งเดิม รวมไปถึงร่องรอยป้าย ‘AAA’ ของร้านเสริมสวยเดิมก่อนจะมาเป็นร้านกาแฟนี้ด้วย

เป็นอีกหนึ่งวิธีการนำเรื่องราวความเป็นอดีตมาสวมใส่ในบริบทปัจจุบัน ร้านกาแฟสร้างไม่เสร็จแห่งนี้จึงเผยเรื่องราวก่อนจะมาเป็นโครงสร้างเบ็ดเสร็จ เพื่อเล่าเรื่องราวในกระบวนการผลิตที่พวกเขาสนใจ เช่นกันกับขั้นตอนการทำกาแฟตรงหน้านั่นเอง

Voice of Coffee
3 Chome-1 Sakaemachidōri, Chūō-ku,
Kōbe-shi, Hyōgo-ken 650-0023, Japan
เปิดทุกวัน 10.00–19.00 น.
voiceofcoffee.com

RECOMMENDED CONTENT

14.ธันวาคม.2020

‘School Town King’ แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน เป็นหนังสารคดีที่สร้างจากเรื่องจริงของ ‘บุ๊ค’ เด็กหนุ่มวัย 18 และ ‘นนท์’ วัย 13 ผู้เติบโตมาในชุมชนคลองเตย หรือที่ใครๆ ต่างรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘สลัมคลองเตย’ นอกจากความยากจนที่มาพร้อมกับสถานะทางสังคมที่เลือกไม่ได้แล้ว ทั้งบุ๊คและนนท์ยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับระบบการศึกษา รวมทั้ง หลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นแต่ความสำเร็จเชิงวิชาการก็ยิ่งทำให้เด็กเรียนไม่เก่งอย่างพวกเขาขาดความสนใจในชั้นเรียนลงไปเรื่อยๆ  ระบบการศึกษาที่น่าจะเป็นความหวังและเท่าเทียมกันของเด็กทุกคน กลับยิ่งบีบบังคับและผลักไสให้พวกเขาเป็นแค่ ‘คนนอก’ ของสังคมไปโดยปริยาย