fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#CULTURE — ‘เซนย่า ชไนเดอร์’ ; สตรีทแวร์แนวคิดยั่งยืนที่เฝ้ามองการเติบโตของ Youth Generation ในยูเครน
date : 8.พฤษภาคม.2018 tag :

สำหรับคนทั่วไป ‘ยีนส์’ อาจเป็นของธรรมดาๆ ที่ใครๆ ก็มีได้ แต่ถ้าย้อนกลับไปยุคหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต (Post Soviet – ราวปี 1990s เป็นต้นมา) ยีนส์คือ rare item หาก็ยาก ราคาก็เเพง เป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมฝั่งอเมริกาที่เคยถูกกีดกันในสมัยสงครามเย็น กระทั่งต่อมา ยีนส์ไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพและการปลดแอกทางวัฒนธรรมเท่านั้น ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตยีนส์ ‘Soviet Made’ ที่มีลายเซ็นของตัวเองแบบไม่ต้องง้อยีนส์สัญชาติอเมริกันอีกต่อไปด้วย

เซนย่า ชไนเดอร์ (Ksenia Schnaider) แบรนด์สตรีทแฟชั่น จากเมืองเคียฟ ยูเครน โดย 2 ดีไซเนอร์สามี-ภรรยา Ksenia และ Anton Schnaider ก็ตั้งไข่จากความคลั่งไคล้ในความดิบเซอร์ของยีนส์เหมือนกัน เริ่มจากการที่ทั้งคู่จะไปคุ้ยเสื้อผ้ายีนส์มือสองจากตลาดนัดในเคียฟ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งของมือสองขนาดใหญ่ที่สุดในแถบยุโรปตะวันออก ชาวยูเครนจะรู้กันดีว่าหากมาเยือนแล้วจะต้องได้ ‘ของดี’ ติดไม้ติดมือกลับไปบ้างไม่มากก็น้อย

ยีนส์มือสองที่เข้าตา 2 ดีไซเนอร์ถูกนำมาทำความสะอาดหมดจด แล้วเสกให้กลายเป็นเสื้อผ้า Streetwear ใหม่เอี่ยมในคอลเล็กชั่นชื่อ ‘Demi Denims’ เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา ใครจะนึกล่ะว่าจากเสื้อผ้ายีนส์เก่าๆ กองพะเนินไร้ราคา จะคืนชีพกลับมาเก๋กว่าเดิม แถมเข้าตาบรรดาเซเลบริตี้ตัวแม่ ไม่ว่า Bella Hadid หรือ Dua Lipa ก็ฝากเนื้อฝากตัวเป็นแฟนแบรนด์นี้ไปเป็นที่เรียบร้อย!

เมื่อผ่านคอลเล็กชั่นนั้นไป เซนย่าและแอนทอนมองยีนส์ที่กองพะเนินเทินทึกในออฟฟิศตัวเองอีกครั้งหนึ่ง พลางคิดว่าจะทำยังไงกับมันต่อดี ภายใต้โจทย์ที่พวกเขาอยากให้มัน ‘ไม่สูญเปล่า’ มากที่สุด สุดท้ายยีนส์ที่ขายไม่หมดจากคอลเล็กชั่น Demi Denims จึงถูกรีไซเคิลซ้ำด้วยกระบวนการร้อยแปดอีกครั้งหนึ่ง ออกมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘Denim Fur’ มันคือเฟอร์เทียมจากยีนส์รีไซเคิล ผลผลิตอันพิลึกพิลั่นที่ไม่เคยมีใครกล้า (และบ้า) ทำมาก่อน! 

เซนย่า ชไนเดอร์ เล่าถึงไอเดียหลุดโลกของ Denim Fur ว่าจริงๆ แล้วเฟอร์เป็นหนึ่งไอเท็ม wishlist ของคนยูเครนมากพอๆ กับยีนส์เมื่อตอนโซเวียตล่มสลายใหม่ๆ นั่นแหละ แต่กับประเทศที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีรายได้ไฮโซอะไรมากนัก ก็ใช่ว่าจะซื้อหาเฟอร์จริง-สินค้าแฟชั่นหมวด ‘Luxury’ มาใส่ได้ทุกคน

บวกกับตอนนี้ที่หลายแบรนด์ดังต่างเดินหน้า ‘Fur Free’ หยุดการล่าสัตว์เพื่อสนองอุตสาหกรรมแฟชั่นกันแล้ว ถึง Denim Fur จะเป็นเฟอร์เทียมที่เทียบมูลค่าอะไรไม่ได้เลยกับเฟอร์ขนสัตว์ราคาแพงระยับก็จริง แต่อย่างน้อย มันก็เกิดจากทัศนคติ ‘ยั่งยืน’ มากเท่าที่แบรนด์เล็กๆ แบรนด์หนึ่งในประเทศนอกสายตาอย่างยูเครนจะทำได้ และทำให้สวยงามในแบบของมัน

การเกิดขึ้นของแนวคิดแฟชั่น sustainable ถือเป็นความท้าทายอย่างมากก็ว่าได้ เพราะประเทศที่การเมืองยังไม่นิ่ง แถมเรื่องปากท้องยังเป็นปัญหาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอย่างยูเครน เอาแค่ใครจะลุกขึ้นมาทำแบรนด์แฟชั่นคูลๆ สักแบรนด์ก็ยากแล้ว 2 ดีไซเนอร์ก็เหมือนกับแบรนด์สายสตรีทอีกหลายแบรนด์ที่คุ้ยหาความไม่สมบูรณ์จากสภาพแวดล้อม จากสิ่งที่พวกเขาเห็น จากสังคมที่เป็น มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าแฟชั่น ให้ ‘ลึก’ ลงไปกว่าแฟชั่น

เช่นโปรเจ็กต์สตรีทแวร์ ‘Corruption’ ที่พวกเขาทำขึ้นเพื่อเสียดสีปัญหาคอรัปชั่นในยูเครนพอแสบๆ คันๆ มาแล้ว หรืออย่างคอลเล็กชั่น ‘Gopnik’ สปอร์ตแวร์กลิ่นอาย 80s–90s ที่อินสไปร์จากวัยรุ่นชายขอบในยูเครน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมแบรนด์สายสตรีทในยูเครนถึงได้ใจคนเจนฯ ใหม่เข้าอย่างจัง 

น่าจับตามองว่า Ksenia Schnaider อาจเป็นหนึ่งในคลื่น Youth Generation ลูกใหม่ของหลายๆ ลูกที่กำลังรันแฟชั่นยุคหลังโซเวียตให้เเข็งแรง ผลิบานอีกครั้งก็เป็นได้!

RECOMMENDED CONTENT

2.พฤศจิกายน.2017

STAR WARS: THE LAST JEDI ตัวล่าสุดที่ได้ปล่อยออกมาวันที่ 1 พฤจิกายน กับประโยคที่ตั่งคำถาม 'มันไม่ได้จะเป็นไป ในแบบที่คุณคิด' จาก 'ลุค' ถึง 'เรย์'