fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

‘Blissfully Blind’ : การแสดงเชิงทดลองแนวใหม่ กับโลกมืดบอดอันรายล้อมไปด้วยความสุกใส ที่คุณจะได้มีโอกาสเข้าไปข้างใน
date : 12.กรกฎาคม.2017 tag :

19095279_10155402194526085_7670536323408354263_o

กลุ่มละครร่วมสมัย B Floor ร่วมกับ Bangkok CityCity Gallery ขอเสนอการแสดงรูปแบบ experimental performance ในชื่อ ‘BLISSFULLY BLIND’ ผลงานของ ‘ดุจดาว วัฒนปกรณ์’ ร่วมกับ ‘ZIEGHT’ ทีมออกแบบการแสดงรุ่นใหม่

การแสดงชุดนี้เกิดขึ้นภายใต้ศิลปะการจัดวางแสง โดย ‘มนต์ วัฒนศิริโรจน์’ (ผลงาน light installation ภายในงาน Wonderfruit Festival ทุกปี และ Mystic Valley 2017) ร่วมกับดุจดาวเป็นผู้กำกับการแสดง (เจ้าของ 3 รางวัล IATC Award รางวัลจากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงแห่งประเทศไทย ซึ่งเปรียบได้กับ Tony Awards ของเมืองไทย และยังเป็นนักจิตบำบัดด้วยการเต้นและการเคลื่อนไหวคนแรกและคนเดียวของไทย) ดุจดาวนำความรู้สึกที่เธอได้รับจากการเฝ้ามองปรากฏการณ์ทางสังคมมาสร้างสรรค์เป็นผลงานชิ้นนี้

__________

bblind8671

Q&A with The Director
5 คำถามกับผู้กำกับการแสดง ดุจดาว วัฒนปกรณ์

Q : ความเป็นมาของโปรเจ็กต์ Blissfully Blind
A : ดาวเป็นคนที่สนใจและเรียนมาทางด้านจิตวิทยาและการบำบัด ก็เลยสนใจในเรื่องของกลไกทางจิตวิทยาว่า คนที่อยู่ในสังคมนั้นเราดีลกับสิ่งต่างๆ อย่างไรบ้าง โปรเจ็กต์นี้เกิดจากการที่เราสังเกตสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นไม่ลงรอยกันในประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงเรื่องการเมืองการเปลี่ยนแปลงประเทศ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ามันเป็นความยากลำบากเหลือเกินที่คนในบ้านเราจะคุยกันหรือว่าเปิดรับไอเดียซึ่งกันและกัน

จากการสังเกตประเด็นดังกล่าวเราคิดว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นอย่างนั้นก็เป็นเพราะทุกวันเวลาที่เราใช้ชีวิตไป มีสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกลายเป็นข่าวสารให้คนเราได้รับรู้และพูดถึง ปฏิกิริยาของหลายๆ คนที่เราเห็นก็คือ เหมือนเวลาติดตามข้อมูลข่าวสารก็จะรอรับสารที่เขา ‘โดนใจ’ นั่นคือมีการเลือกที่จะ ‘มองบางอย่าง’ และ  ‘มองไม่เห็นบางอย่าง’ ซึ่งทั้งสองอย่างมันอาจจะเป็นข้อเท็จจริงเหมือนกันก็ได้นะ ในแง่หนึ่งในการเลือกที่จะมองแบบนี้ก็เหมือนกับการ ‘ประโคมไฟ’ ให้ความสำคัญ ทำให้มันดูเหมือนว่ายิ่งใหญ่ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีวิธีสนับสนุนสิ่งที่ตัวเองเชื่อ โดยที่ไม่มีการนำเอาองค์ความรู้ หรือข้อมูลอีกฝั่งหนึ่งมานั่งพิจารณา

หรือไม่ก็ถึงขั้น ‘ปิดไฟ’ บอกว่าสิ่งที่ได้ยินมานั้นเป็นของปลอม เป็นข่าวไม่จริงหรอก อันนั้นไม่มีอยู่จริง ในฐานะคนทำงานทางด้านจิตวิทยาและการบำบัด และในฐานะศิลปินที่ทำงานศิลปะที่เฝ้ามองปรากฏการณ์ดังกล่าว เราก็เลยรู้สึกว่ามันคือความมืดบอด ความที่ตัวเองตั้งใจเพื่อให้ตัวเองบอดไป เพื่อให้ตัวเองยังดำรงชีวิตอยู่ได้

bblind7268

Q : ผลงานชิ้นก่อนหน้านี้ของคุณอย่าง ‘(In)sensitivity’ และ ‘Secret Keeper’ มักจะพูดถึงเรื่องจิตวิทยาของความเป็นปัจเจก แต่ดูเหมือนงานชิ้นนี้จะมีภาพที่ใหญ่กว่านั้น
A : มันก็ขยายมากขึ้นตามมุมมองของตัวเราเองที่โตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นด้วยค่ะ คือในงานชิ้นก่อนๆ มันอาจจะเน้นไปจิตวิทยาของที่หน่วยที่เล็กที่สุดซึ่งเป็น individual  เสียเยอะ ในงานชิ้นใหม่นี้ก็ยังมีอยู่ แต่มันจะขยายไปให้เห็นถึง social psychology หรือจิตวิทยาสังคมมากขึ้น อย่างสมมติว่าคนๆ หนึ่งเลือกที่จะตาบอดกับบางอย่าง ก็อาจจะโอเค แต่เราสนใจว่าอะไรที่ทำให้คนหลายๆ คนเลือกที่จะตาบอดคล้ายๆ แบบนี้กันไปหมด

Q : ฟังดูประเด็นนี้แล้วคล้ายๆ กับเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองที่บ้านเมืองเรากำลังประสบอยู่เลย ถามชัดๆ ว่า Blissfully Blind เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือเปล่า
A : มันก็เป็นเรื่องที่เราอึดอัดอยู่ แต่โดยส่วนตัวดาวไม่ได้เป็นคนที่มีมุมมองทางการเมืองในเชิงอุดมคติขนาดนั้น งานชิ้นนี้ก็เลยไม่ได้จะทำหน้าที่ตัดสินหรือนำเสนอเรื่องความขัดแย้งว่าอะไรถูกหรือผิด เราเพียงแค่นำเสนอโมเดลของสิ่งที่เราสังเกตเห็น ซึ่งมันเกิดขึ้นและเป็นอยู่มานานแล้วและทำให้สังคมเรายังคงดำเนินอยู่แบบนี้ และถ้าถามว่าเราคาดหวังอะไรจากการนำเสนอผลงานในประเด็นนี้ เราไม่แน่ใจหรอกนะว่างานของเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะคนดูอาจจะไม่ชอบและปิดสวิตช์ไฟใส่เราเลยก็ได้ ก็เลยไม่อยากที่จะบอกว่ามันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรในเชิงความคิดหรือรูปธรรม แต่เราอยากจะให้งานนี้ช่วยสร้างประสบการณ์ให้คนเรามี awareness ในเรื่องนี้มากกว่าว่าคุณเลือกที่จะตาบอดหรือเลือกที่จะส่องไฟให้กับอะไร  และการเลือกที่จะทำแบบนั้นมันส่งผลอย่างไรตามมาได้บ้าง

bblind8047

Q : คุณสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ร่วมกับทีมออกแบบ ZIEGHT กลายเป็นงานแสดงที่มีฉากเป็น Light Installation ไอเดียนี้เกิดจากอะไร
A : ดาวมีความสนใจในเรื่อง light installation แล้วก่อนหน้านี้ก็เคยร่วมงานกับทาง ZIEGHT ตอนที่เอา Secret Keeper ไปแสดงในงาน Wonderfruit Festival ตอนที่เทศกาลนี้เพิ่งเริ่มจัดขึ้นเป็นปีแรก พอจะมาทำ Blissfully Blind เราก็เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะทำโปรเจ็กต์นี้ด้วยกัน เพราะมันเป็นประเด็นเรื่องของแสงสว่างกับความมืดอยู่แล้ว ดังนั้น light installation ที่ ZIEGHT จึงเป็นองค์ประกอบหลักที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของการแสดงชุดนี้ก็ว่าได้

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ใครที่เคยดูงานของดาวมาแล้วน่าจะพอทราบว่างานของดาวมักจะเป็นการแสดงในรูปแบบ ‘experiential performance’ ที่มักจะเล่นกับเซนส์ และจำลองประสบการณ์บางอย่างให้กับผู้ชม แต่ปัญหาที่ผ่านมาก็คือเรามักจะจำกัดตัวเองให้แสดงอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็น Theatre หรือโรงละคร ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่มาดูก็มักจะเป็นคนดูละครเวที แต่คราวนี้ด้วยความที่เราไม่ได้ตั้งใจจะให้การแสดงชุดนี้ออกมาเป็นละครที่มี dramatic action ขนาดนั้น และอยากจะเปิดผลงานของเราให้กับกลุ่มผู้ชมอื่นๆ ได้เห็นก็เลยได้คุยกับทาง Bangkok CityCity Gallery ซึ่งเป็นแกลเลอรีแสดงงานศิลปะ ซึ่งเขาก็สนใจและตกลงให้เราทำการแสดงในพื้นที่ สำหรับเรามันถือเป็นเรื่องที่น่าสนุกและท้าทายในการจัดการพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่โรงละครที่เราคุ้นเคย ว่าจะสามารถทำอย่างไรให้คนดูเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับการแสดง และได้รับประสบการณ์ตามประเด็นที่เราอยากจะนำเสนอ

Q : อย่างที่คุณบอกว่าการแสดงชุดนี้ไม่ได้มีความเป็นละครที่มีเรื่องราวหรือ dramatic action แต่เป็น   experiential performance แล้วอะไรที่ทำให้คนควรไปดู หรือคนที่ไปดูจะสามารถ enjoy กับอะไรได้บ้าง
A : enjoy กับ  ‘ประสบการณ์’  ผู้ชมจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ Blissfully Blind ถ้าเขาอยากจะรู้ว่า Blissfully Blind คืออะไรนะคะ การเข้าไปอยู่ท่ามกลางการแสดงชิ้นนี้จะทำให้คุณ blind ไปกับความสวยงามที่ล้อมรอบไปด้วยความสุกใส สว่าง เรืองรอง และ Light Installation ของ ZIEGHT ก็รับรองได้เลยว่าสวยมาก

__________

BLISSFULLY BLIND
จัดแสดงทั้งหมด 14 รอบการแสดง
ทุกวัน (ยกเว้นวันอังคารและวันพุธ) เวลา 19.30 น.
วันที่ 13-30 กรกฎาคม 2560 ณ Bangkok CityCity Gallery
บัตรเข้าชมราคา 700 บาท / นักเรียน-นักศึกษา ราคา 450 บาท
จองบัตรได้ที่ https://facebook.com/Bfloor.theatre.group/

พิเศษ! Light Installation เปิดให้เข้าชมฟรี
เวลา 13.00-17.00 น.
เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 15-16, 22-23, 29-30 กรกฎาคม 2017

RECOMMENDED CONTENT

17.มกราคม.2020

“People on Sunday” (2562) เป็นการตีความ บทสนทนาโต้ตอบ และสาส์นแสดงความนับถือต่อภาพยนตร์บุกเบิกจากประเทศเยอรมันเรื่อง “Menshen Am Sonntag” (2473) หรือ “ผู้คนในวันอาทิตย์” ผลงาน “People on Sunday” (2562) ได้นำภาพยนตร์ต้นฉบับดังกล่าวกลับมาตีความใหม่ผ่านบริบทที่แตกต่างจากเดิม ทั้งยุคสมัย ภูมิประเทศ ตลอดจนสภาพในการทำงาน