fbpx

CONTACT US

#BIGMONEY — 6 วิธีฝึกนิสัยการออม ปูพื้นฐานก่อนลงทุน
date : 23.กุมภาพันธ์.2018 tag :

คุณกำลังประสบปัญหาเงินไม่พอใช้อยู่รึเปล่า? หรือบางครั้งบริหารจัดการเงินแทบตายสุดท้ายเงินใช้ก็พอแค่เดือนชนเดือน แต่เคยได้ลองสำรวจตัวเองหรือไม่ว่า ขั้นตอนการบริหารการเงินของคุณกำลังมีบางอย่างผิดพลาด โดยเฉพาะเรื่องการออมเงิน เนื่องจากการออมถือเป็นพื้นฐานหรือปัจจัยขั้นต้นของการบริหารเงิน โดยเฉพาะการลงทุน ซึ่งปัจจุบันนี้บรรดากูรูเกี่ยวกับการลงทุนทั้งหลาย ก็นำหลักสูตรการออมมาเป็นวิชาประกอบการลงทุนกันแล้ว

จะว่าไป ‘การออม‘ เป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย แต่หลายคนยังทำไม่ได้ หรือไปไม่ถึงเป้าหมายสักที ดังนั้นการออมจึงถือเป็นสิ่งสำคัญและง่ายที่สุดสำหรับผู้ที่ต้องการจะบริหารจัดการเงินให้เพียงพอเพื่ออนาคต วันนี้เรามาเริ่ม 6 วิธีที่จะช่วยฝึกวินัยการออมได้อย่างมีประสิทธิภาพกันเถอะ

01 — ทำบัญชีรายรับ–รายจ่าย
นี่คือสิ่งแรกที่คุณต้องทำหากอยากมีเงินออม เพราะรายรับ ย่อมมาพร้อมกับรายจ่ายอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นบัญชีรายรับรายจ่ายแต่ละเดือน จะช่วยให้คุณรู้ว่า คุณจะต้องใช้จ่ายอะไรบ้าง อะไรเป็นสิ่งจำเป็น หรือสิ่งฟุ่มเฟือย จะทำให้คุณเห็นภาพกว้างๆ ว่าใน 1 เดือนเงินคุณไปอยู่ที่ไหนบ้าง และจะทำให้บริหารจัดการตัดสิ่งที่ฟุ่มเฟือยออกไป

02 — อย่าหมิ่นเงินน้อย
หลายคนมองข้ามความสำคัญของเหรียญบาท แม้ปัจจุบันนี้เงิน 1 บาทแทบจะซื้ออะไรไม่ได้ แต่หากเก็บรวมไว้เป็นจำนวนมากก็สามารถนำไปใช้จ่ายได้เช่นกัน ดังนั้นขั้นตอนง่ายๆ เพียงคุณลองหากระปุกออมสินไว้ตามโต๊ะทำงาน หรือที่ที่คุณสะดวก วันไหนมีเศษเหรียญติดกระเป๋าก็หยอดกระปุกผสมเล็กผสมน้อยไป หากอยากจะเพิ่มระดับความสามารถในการออม ก็ลองเปลี่ยนวิธีเป็นการหยอดกระปุกทุกวัน หรือตั้งใจเก็บเงินเฉพาะแบงก์ 50 บาทเท่านั้น แล้ว 1 ปีผ่านไป ลองมาแคะกระปุกดูคุณอาจจะพบกับผลลัพท์ที่น่าตกใจ

03 – กิน–ใช้แต่พอดี
หยุดพฤติกรรมการซื้อของกินมาตุนเก็บไว้ในตู้เย็น เนื่องจากหลายบ้านจะชอบซื้อของกินมาแช่เก็บไว้แต่ไม่ได้นำออกมากิน และปล่อยทิ้งไว้จนหมดอายุคาตู้เย็น ดังนั้นจึงควรซื้อของกินที่กินแต่พอดีในแต่ละวัน หรือคำนวณดูแล้วว่าตามกำหนดวันหยดอยู่เหล่านี้ เราจะกินทันไม่เหลือทิ้ง ส่วนของใช้ในบ้านก็ลองซื้อของใช้แต่ที่จำเป็นเท่านั้น หรือลองซื้อของช่วงโปรโมชั่นตามร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์ท หรือโปรโมชั่นบัตรเครดิตต่างๆ  ก็ช่วยให้คุณประหยัดเงินในแต่ละงวดไปหลายบาทอยู่เหมือนกัน

04 – ลด–งดของฟุ่มเฟือย
แน่นอนว่า มนุษย์เงินเดือนกับของฟุ่มเฟือยอาจจะหลีกหนีกันไม่พ้น ทั้งกาแฟ บุหรี่ หรือจะไปปาร์ตี้สังสรรค์กับที่ทำงาน ยังไม่รวมเสื้อผ้ารองเท้าตามเทรนด์ ที่ต้องใส่มาอวดกันในที่ทำงาน หรือผ่านโลกโซเชียล ดังนั้น…การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลดใช้ของฟุ่มเฟือยเหล่านี้ จะช่วยให้คุณมีเงินเหลือใช้อย่างไม่น่าเชื่อ

ยกตัวอย่างที่เห็นชัดสุด คือ ‘กาแฟ‘ ถ้ากาแฟที่กินอยู่ทุกวันแก้วละ 50 บาท ทำงานเดือนนึง 20 วัน นั่นหมายความว่าคุณจะเสียเงินค่ากาแฟ 1,000 บาท/เดือน แต่หากคุณลองหากาแฟแก้วละ 30 บาท ก็จะช่วยประหยัดเงินได้ 400 บาท/เดือน เป็นต้น  และถ้าเราลดรายจ่ายของฟุ่มเฟือยอื่นไปอีก จะเหลือค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนอีกเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเลิกกิน หรือกินไม่ได้เลยนะ เพียงแต่ต้องดูสถานการณ์ด้วย เช่น อาจจะไม่จำเป็นต้องกินทุกวัน หรือสลับการกินเป็นราคาสูงบ้างเป็นครั้งคราว

ส่วนสินค้าฟุ่มเฟือยอื่นๆ อย่างบุหรี่ที่ปัจจุบันราคาขึ้นไปเป็นซองละเกือบ 200 บาทแล้ว หากเลิกได้ก็จะดีทั้งสุขภาพกาย สุขภาพเงิน หรือเสื้อผ้ารองเท้า หากลองนำเสื้อผ้าที่อยู่ในตู้นำกลับมาใส่ใหม่ รองเท้าคู่เก่าที่ยังดูดี ลดรอบงานปาร์ตี้กับเพื่อนๆ ลงไปบ้าง ล้วนแต่ส่งผลดีต่อเงินในกระเป๋าทั้งสิ้น นอกจากนี้ หากลองเอาเสื้อผ้าเก่าๆ มามิกซ์แอนด์แมทช์ก็จะทำให้เหมือนได้ใส่เสื้อผ้าใหม่ ไม่เบื่อ แถมไม่เปลืองตังค์ด้วย

05 – งานพิเศษเพิ่มรายได้
หากรายได้หลักของคุณที่มาจากงานประจำ อาจจะทำให้คุณมีเงินใช้แค่เดือนชนเดือน ดังนั้น ‘งานพิเศษ’ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้คุณมีรายรับเพิ่มเข้ามา เพราะปัจจุบันนี้ช่องทางการหาเงินมีมาก ตัวอย่างเช่น การขายของออนไลน์ ที่มีต้นทุนต่ำ แต่คุณต้องมีกฎเหล็กเกี่ยวกับงานพิเศษอยู่ด้วย เช่น งานพิเศษต้องไม่ไปบดบังเวลาของงานประจำ หรือ ห้ามนำรายได้ที่ได้จากงานพิเศษมาใช้สุรุ่ยสุร่าย แต่ต้องใช้เงินส่วนนี้เพื่อเก็บออม หรือลงทุนเท่านั้น ที่สำคัญต้องศึกษาให้ดีก่อนลงทุน หรือเลือกทำธุรกิจที่เราถนัดหรือสนใจจริงๆ

06 – ต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
วิธีการอาจจะเหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มเข้าใจและเริ่มออมเงินมาได้ซักระยะหนึ่ง เพราะนอกจากการเก็บเงินในกระปุกออมสิน หรือ เงินฝากธนาคาร คุณสามารถโยกเงินเก็บที่มีอยู่ไปสู่ผลิตภัณฑ์การเงินอื่นๆ ที่มีอยู่ในท้องตลาด เช่น เงินฝากประจำดอกเบี้ยสูง กองทุนรวมต่างๆ พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน  เป็นต้น หรือถ้ามีทุนมากหน่อย และรับความเสี่ยงได้มาก ก็สามารถไปลงทุนในตลาดหุ้น เช่น การซื้อหุ้นสามัญ ออมหุ้น หรือในตลาดทองคำ ก็มีรูปแบบการออมทองเช่นกัน

—————

นี่เป็นเพียง 6 วิธีเบื้องต้นสำหรับการฝึกนิสัยการออม หากลองนำไปทำตามดู แล้วกลับมาดูอีกครั้งในช่วงครึ่งปีต่อมาก็จะรู้ว่า หลังจากใช้ 6 วิธีนี้แล้ว เรามีเงินเหลือเก็บมากน้อยเพียงใด จากนั้นหากฝึกการออมให้เป็นนิสัยแล้ว ในระยะต่อไปหากพฤติกรรมการใช้เงินเปลี่ยนจึงค่อยเริ่มหาช่องทางต่อยอดการบริหารเงินให้งอกเงยเพิ่มมากขึ้น

RECOMMENDED CONTENT

21.ตุลาคม.2022

เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนชาวไทย ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค จึงนำ “เสียง” หรือความคิดเห็นจากประชาชนภาคธุรกิจ มีส่วนร่วมในการส่งเสียงผ่านการสำรวจของ ‘Business of the People Poll’ ร่วมออกแบบและขับเคลื่อนโดย สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในจัดทำการสำรวจผ่านตัวแทนผู้ประกอบการไทยจำนวน 451 ตัวอย่าง โดยมุ่งเน้นหัวข้อไปที่ ‘ปัจจัย, ความท้าทาย, โอกาส และคำแนะนำ ในการเสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต’ เพื่อที่จะทราบถึงความเข้าใจ ข้อเท็จจริง และแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากผู้ที่มีบทบาทจริงในภาคธุรกิจของประเทศไทย