fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#Distancing Visit – คุย 2 เมตร กับ ‘แปม – ธีรวุฒิ อิทธิวุฒิ’ แห่ง ‘ฟังใจ’ (Fungjai) แพลตฟอร์มที่ยืนหยัดซับพอร์ตศิลปินอินดี้ให้รอดไปด้วยกัน! 
date : 10.เมษายน.2020 tag :

ครั้งที่แล้วเราลงพื้นที่ไปคุยห่างๆ อย่างห่วงๆ กับ Seen Scene Space ถึงผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในฐานะโปรโมเตอร์อีเว้นต์และคอนเสิร์ต แต่อีกหนึ่งวงการที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กันก็คือดนตรีนอกกระแส ที่ต้องตกเป็นผู้ประสบภัยไวรัสแบบตรงๆ ไม่ต้องกลับ! โดยเฉพาะบรรดาศิลปินอินดี้ตัวเล็กๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการถูกเทงานอีเว้นต์ คอนเสิร์ตอันเป็นรายได้หลักไปตามๆ กัน

ไม่กี่วันมานี้ ‘ฟังใจ’ (Fungjai) ผู้ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับดนตรีอินดี้ ผู้จัดอีเว้นต์ และแม็กกาซีนออนไลน์ เพิ่งจัด ‘At Home Festival’ เฟสติวัลมิติใหม่ที่ใช้วิธี Live ผ่าน Facebook Page และ YouTube Channel โดยมีศิลปินอินดี้กว่า 10 ศิลปิน มาเล่นดนตรีให้เรานั่งๆ นอนๆ ฟังกันสดๆ ที่บ้าน ไม่ใช่แค่นั้น มิตรรักแฟนเพลงทางบ้านยังได้ซับพอร์ตศิลปินที่พวกเขารักโดยตรงเพื่อให้ศิลปิน ค่ายเพลง และคนตัวเล็กๆ ในวงการดนตรียังมีกำลังใจทำงานกันต่อไป แม้ในยามวิกฤติ ด้วยทุกการสนับสนุนของพวกเราทุกคน 

เรามาคุยแบบยืนห่าง 2 เมตร กับแปม -ธีรวุฒิ อิทธิวุฒิ’ Head of Event ของฟังใจ พร้อมกับเป็นมือกลองวง temp. ในฐานะที่เขาเป็นทั้งคนบริหารและนักดนตรีผู้ประสบภัยในเวลาเดียวกัน

________________________________________________________________

ไวรัสกระทบต่อแพลนคอนเสิร์ตและอีเว้นต์ของฟังใจในปีนี้อย่างไร เล่าให้เราฟังหน่อย

เรากำลังจะมีอีเว้นต์ใหญ่ของฟังใจในช่วงเดือนมีนาคม ชื่องาน Fungjai Lab 3 วางแผนไว้ว่าจะจัด 3 วันรวด ก็ต้องยกเลิกและเลื่อนทั้งหมดเลย ทั้งที่ทุกอย่างพร้อมจะเริ่มอยู่แล้ว เป็นการตัดสินใจที่กระชั้นมาก แต่คิดถูกแล้วที่ยกเลิกไป ส่วนงาน Fungjai Crossplay ที่แพลนไว้ว่าจะจัดปลายเดือนพฤษภาคมก็ต้องเลื่อนเหมือนกัน ซึ่งทุกงานที่ยกเลิก เรามีการคืนเงินจำนวนเต็ม (Full Refund)ให้กับคนดู มีบ้างที่คนเซ็ง แต่ทำยังไงได้ มันโดนกันไปทั้งวงการ

การยกเลิกอีเว้นต์หนึ่ง ในฐานะผู้จัดต้องเสียอะไรบ้าง

หลักๆ เลยเราสูญเสียโอกาส เรื่องต่อมาคือรายได้ เราเองต้องควักเนื้อในเรื่องของค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้กับซับพลายเออร์ ค่าเช่าสถานที่ ค่าโปรดักชันต่างๆ ที่เตรียมการไว้พร้อมหมดแล้ว แม้แต่ฝั่งออนไลน์เอง พวกอาร์ตเวิร์กที่ใช้ในการโปรโมทแต่ละงานก็ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายไปเหมือนกัน เรื่องงานคอนเสิร์ตเราคงเลื่อนยาวไปจนถึงเดือนตุลาคมเลยครับ เพราะถึงกลางปีก็คงยังทำอะไรไม่ทัน  ถ้าสถานการณ์คลี่คลาย เราหวังว่างาน Maho Rasop Festival (มหรสพ เฟสติวัล) ครั้งที่ 3 ที่เราเป็นหนึ่งในผู้จัดงาน จะเกิดขึ้น

ฟังใจมีวิธีการปรับตัวอย่างไรเมื่อภัยมา

Policy ของออฟฟิศเราต้องปรับหมดเลย เรามีการแยกออกมาเป็นทีมย่อย เอาคนของแต่ละทีมมาสุมหัวกันว่าจะทำยังไง ถ้าสมมติปีนี้มันจบแล้ว ไม่สามารถจัดงานอะไรได้อีกทั้งปี จะทำอะไรกันบ้างที่ยังสร้างรายได้ให้กับบริษัท ต้องยอมรับว่ารายได้เราลดลง เพราะปกติรายได้หลักๆ ของฟังใจมาจากฝั่งอีเว้นต์มากกว่าฝั่งออนไลน์ เราคิดกันแพลตฟอร์มออกมาหลายพาร์ทมากๆ โดยที่ในฝั่งแม็กกาซีนออนไลน์ก็ยังผลิตคอนเท้นต์กันเหมือนเดิม หลังบ้านเราแม้จะ WFH (Work from Home) ทุกแผนกยังทำงานกันหนักมาก

การเป็นแพลตฟอร์มสำหรับดนตรีนอกกระแสอย่างฟังใจ เห็นผลกระทบอะไรบ้างที่เกิดขึ้นกับศิลปินอินดี้เหล่านั้น

ศิลปินอินดี้กระทบมากนะครับ เพราะสิ่งที่เขาต้องการอย่างแรกเลยคือการออกมาเล่นโชว์ให้คนเห็น ให้คนรู้จักเขา พอเกิดเหตุการณ์นี้ เขาไม่สามารถทำได้เลย ผมรู้สึกว่ากระทบไปถึงเรื่องการปล่อยเพลงและการโปรโมทเพลงด้วย การปล่อยเพลงช่วงนี้ สำหรับผม มองว่ามันไม่ได้อะไรกลับมา คือเป็นประโยชน์ต่อคนฟังแหละ แต่คุณค่าของมันหายไปเยอะ เหมือนศิลปินเขาตั้งใจทำ แต่ฟีดแบ็กกลับไม่ดีเท่าที่ควร 

การปล่อยเพลงเป็นเรื่องของกระแส ซึ่งมีผลต่อการไปเล่นสดในภายหลังด้วย พอศิลปินปล่อยเพลงแล้วไม่ได้เล่น กระแสก็อาจจะเงียบไป ทั้งที่มันควรต่อเนื่องกัน เหมือนเราต้องตีเหล็กตอนร้อน แต่อย่างน้อยก็เป็นข้อดีที่นักดนตรีจะได้ซุ่มซ้อมทำเพลงกันให้ได้มากที่สุด เพื่อว่าสถานการณ์ดีขึ้นเมื่อไร จะได้ปล่อยของกันเต็มที่ 

ในฐานะที่คุณเองก็เป็นหนึ่งในศิลปินนอกกระแส การไม่มีงานโชว์เลยในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

ตอนแรกคิดว่านักดนตรีน่าจะโดนผลกระทบเป็นคนสุดท้ายในซีนด้วยซ้ำในตอนแรกที่อีเว้นต์โดนยกเลิกหมด เพราะวงดังๆ ในกระแส เขายังสามารถโชว์ตามร้านเหล้าต่างจังหวัด ยังพอหารายได้จากตรงนั้นได้อยู่ แต่พอร้านเหล้า ผับ บาร์ปิด ก็เลยโดนกันถ้วนหน้ากันทั้งซีนดนตรี 

อย่างวง temp. ของพวกผมถือว่าโชคดีหน่อย เพราะปกติงานไม่ได้เยอะอะไรมากมายอยู่แล้ว (หัวเราะ) เราไม่ได้เป็นวงกระแสหลัก เลยไม่ได้เดือดร้อนมากนัก อีกอย่างคือทุกคนมีงานประจำกันหมด แต่อีกมุมหนึ่ง ผมเองก็เป็นนักดนตรีที่เล่นกลางคืนด้วย ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถหาเงินจากตรงนั้นได้เลย 

อะไรคือไอเดียของ At Home Festival 

Live Music Festival เป็นเรื่องใหม่ที่เราไม่เคยทำมาก่อน มันเกิดจากเราสังเกตพฤติกรรมคนว่าเขาใช้ชีวิตยังไงกันบ้างในช่วงนี้ เราไปเห็นพวกศิลปินไลฟ์กันในชาแนลของตัวเอง เรามองเห็นตรงนี้ คิดว่าน่าจะลองทำเฟสติวัลแบบออนไลน์ดูบ้าง ดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น

เราแค่อยากให้ศิลปินคอนเน็กต์กับแฟนเพลงของเขา เพราะช่วงที่ผ่านมาหลายคนไม่มีงาน ไม่มีรายได้ หลายคนเป็นศิลปินชีพจริงๆ ที่จะมีรายได้จากอีเว้นต์หรือคอนเสิร์ตเท่านั้น จึงชวนศิลปินแบบเอาเท่าที่วงเขาสะดวก ไม่ต้องมาเต็มวงก็ได้ เพราะเข้าใจว่าแต่ละคนอยู่ในช่วง Social Distancing กัน ซึ่งแต่ละคนฟีดแบ็กเราดีมากๆ 

กับคนดูเท่าที่เห็นเหมือนเขาเก็บกด ห่างจากการดูคอนเสิร์ตไปนาน เราชวนเขามานั่งมโนว่ากำลังอยู่ในคอนเสิร์ต มีโต๊ะนั่ง ช่วงเบรคเราก็มีขายของที่ระลึกด้วย อารมณ์เหมือนไปซื้อเสื้อในเฟสติวัล แต่อันนี้ซื้อออนไลน์แทน เออ มันก็จินตนาการกันไปได้เนอะ (หัวเราะ) 

แล้วมันจะซับพอร์ตศิลปินอินดี้ตัวเล็กๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร

ปกติแล้วฟังใจเป็นแพลตฟอร์มที่ซับพอร์ตศิลปินอินดี้ให้ส่งเพลงเข้ามาอัพโหลดเพื่อโปรโมทในเว็บไซต์อยู่แล้ว ถึงตอนนี้ก็ยังส่งกันเข้ามาได้เรื่อยๆ เพราะระบบยังทำงานเหมือนเดิมอยู่ 

เราต่อยอดไอเดียของการซับพอร์ตตรงนั้นมาสู่การจัด At Home Festival คืออยากให้คนดูช่วยศิลปินกลับไปตรงๆ เงินทุกบาท ทุกสตางค์ ที่คนดูส่งมาให้ เราให้ศิลปินทั้งหมดโดยไม่หักเข้าตัวเองเลย ฟังใจแค่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ผมกับทีมงานค่อนข้างพอใจมากเลยนะ ทั้งที่รายได้ไม่ได้กลับมาหาเราก็จริง แต่สิ่งที่เราเห็นคือมีศิลปินหลายวงนำเงินที่ได้จากงานนี้ไปบริจาคต่อ 

อะไรทำให้กล้าลงทุนในขณะที่คนส่วนใหญ่หยุดชะงัก

ผมคิดว่ามันดีกว่าไม่ทำอะไรเลยนะ จริงๆ สิ่งที่พวกเราทำไปก็ไม่ได้ลงทุนเป็นเม็ดเงินกันมาก ไม่ได้เอาเงินแก้ปัญหา สิ่งที่ใช้คือไอเดีย คือมันสมอง เรามีทีมงานกันแค่ไม่กี่คน แต่ทุกคนทำด้วยใจล้วนๆ 

เพราะเราไม่ได้หวังเอากำรี้กำไรจากตรงนี้ ครั้งนี้เราทำเหมือนเป็นพอร์ตไปก่อน ซึ่งก็ได้รับฟีดแบ็กจากสปอนเซอร์เข้ามาเยอะเหมือนกัน ทำให้เรากลับมาปรับจูนกันว่าจะทำยังไงให้ครั้งต่อไปมันดีขึ้น แอบหวังว่าในอนาคตอาจต่อยอดเป็นคอนเสิร์ตออนไลน์จริงๆ และเรายังอยากสนับสนุนศิลปินหน้าใหม่ให้มีพื้นที่ด้วย

แสดงว่าในวิกฤตินี้ยังมีโอกาสเสมอ

มันมีโอกาสนะ สำหรับฟังใจ ถึงเราจะยังอยู่ในช่วงทดลอง ทุกคนต้องลองผิดลองถูกกันไป พยายามสู้เพื่อให้เรายังอยู่ในซีนของดนตรี แผนระยะยาวคือถ้างานที่เราคิดค้นทดลองกันมามันเวิร์ค ก็อาจกลายมาเป็นธุรกิจหลักของเราต่อไปในอนาคต

อยากฝากอะไรถึงเพื่อนร่วม Survive คนอื่นๆ ในช่วงนี้

ฝากให้อดทนกันนะครับ อย่าไปคิดว่าทำไมซวยจังวะ เพราะทุกคนโดนกันหมด ลองเปลี่ยนมุมมองหาโอกาส เหมือนที่พวกเรา-ฟังใจกำลังทำกันอยู่ ต่อให้มีอุปสรรคเราก็ยังไม่ยอมแพ้ เรายังทำงานอยู่ พวกเราต้องไม่ตายในวิกฤตินี้แน่นอนครับ

ข่าวดี! At Home Festival กำลังจะเกิดขึ้นอีกในวันที่ 25 เมษายนนี้ รอติดตามไลน์อัพศิลปินและเป็นกำลังใจให้ชาวฟังใจได้ที่ : https://www.facebook.com/hellofungjai/ 

https://www.youtube.com/user/hellofungjai

https://www.fungjai.com/home

RECOMMENDED CONTENT

10.ตุลาคม.2017

STAR WARS: THE LAST JEDI ตัวอย่างแรก (Official ซับไทย HD) กับคำโปรยของผู้จัดว่า มันไม่ได้จะเป็นไป ในแบบที่คุณคิด #TheLastJedi กับภาคต่อ ของ STAR WARS ที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ 14 ธันวาคมนี้