fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#Visit : “DUCTSTORE the Design Guru” วัฒนธรรมที่แข็งแรงคือรากฐานของผลงานออกแบบที่ชัดเจน
date : 14.ตุลาคม.2014 tag :

สตูดิโอออกแบบหรือ Design House เป็นสิ่งที่ในเมืองไทยกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หลากหลายชื่อที่เราคงเคยได้ยินของสตูดิโอชั้นนำต่างก็สร้างผลงานออกมาให้เห็นไม่ซ้ำกัน หนึ่งในนั้นคือ “DUCTSTORE the design guru” (DSTGR) สตูดิโอที่ผลงานของพวกเขาแสดงออกมาด้วยลายเซ็นอันชัดเจน มีหัวหอกคือ “พี่หมู (นนทวัฒน์ เจริญชาศรี)” ผู้ชายแว่นดำที่บรรดา Influencer ในวงการ Creative Design ทั้งหลายต่างยอมรับ หลายคนอาจจะเคยเห็นหน้าค่าตาของเขามาหลายงาน แต่ไม่เคยได้พูดคุยด้วยกับเขาสักที วันนี้คอลัมน์  Dooddot Visit จะขอเป็นกระบอกเสียงแทนทุกๆคน ถามในคำถามที่หลายคนคงอยากรู้ว่า กว่าจะเป็นสตูดิโอที่ใครเห็นก็จำได้ขนาดนี้ DUCTSTORE มีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง  รวมถึงเรื่องชีวิตไลฟ์สไตล์และเรื่องอื่นๆที่น่ารู้ของผู้ชายคนนี้ ถ้างั้นเพื่อไม่เป็นการเสียเวลา เราไปคุยกับเขากันเลยดีกว่า…

DUCTSTORE เป็นสตูดิโอที่ทำอะไรบ้าง?

ครับจริงๆ DUCTSTORE เรียกว่าทำเกือบทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบครับ เรามีความตั้งใจของเราตั้งแต่แรกเริ่มอยู่แล้วว่า เราไม่อยากมี Office ที่มี Definition ที่มันระบุตายตัวว่าเป็นสถาปัตยกรรม เป็น Graphic Design หรืออะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง เราเป็นนักออกแบบที่ทำงานได้หลากหลาย เพราะทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกันหมด ถ้ามาจำกัดหรือ Block ตัวเองเราว่ามันเเคบเกินไปหน่อย เราอยากทำให้มันเป็น Hybrid อย่างออฟฟิศเรานี่เค้าเรียกว่า Multidisciplinary Design Studio ตอน 4-5 ปีแรกก็ไม่รู้หรอกว่าสไตล์งานที่ทำออกมาเรียกว่าอะไร แต่พอทำไปเรื่อยๆเเนวทางก็เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นการผสมผสานความชอบส่วนตัวที่ต้องการสร้างสมการในงานออกแบบโดยใช้ “Graphic+Architecture” เราเรียกมันว่า  Graphitecture ซึ่งคือกราฟิกสถาปัตยกรรม 3 มิติ

DUCTSTORE เริ่มต้นได้อย่างไร?

ยุคนั้นปี 2540 ถึง 42 เป็นช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นเศรษฐกิจยุคฟองสบู่เเตก ตอนนั้นใครมีงานทำก็ถือว่าสุดยอดแล้วคนตกงานเกินครึ่ง เราเรียนจบใหม่ๆพูดตามตรงก็เคว้งเหมือนกัน ไม่รู้จะทำอะไร พอดีเรามีรุ่นพี่กำลังทำ Magazine หัวใหม่ชื่อ Freeze Magazine (มีพี่ต้อม Blind ชัชวาล ขนขจีเป็น Creative Director) เป็นหนังสือค่อนข้าง Art หน่อย เขาก็ชวนให้ไปทำตำเเหน่ง Graphic Designer  เราก็เลย “เออวะอยากลองดู” ตอนแรกเราคิดว่าเราเจ๋งแล้วนะ แต่พอไปทำงานจริง โห เราแม่งโคตรห่วยเลย พอทำงานเหมือนเราไปเริ่มต้นใหม่ ไอ้สิ่งที่เราคิดทั้งหมด มันต้องเริ่มจัดระบบกันใหม่เลย ไอ้ที่เราทะนงตัวเองว่า เราโอเค เราเก่ง มันไม่จริง การทำงานต้องมีกรอบ ต้องมี Process มันต้องมีการปิด Artwork การตรวจงาน มันเป็นเรื่องอะไรที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลย ซึ่งตอนนั้นมันไม่ใช่ระบบแบบดิจิติลทั้งหมด มันมีเรื่องฟิล์ม มีการแนบไฟล์ คือมันซับซ้อน มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้ ทำอยู่ประมาณสัก 3 เดือนหนังสือก็ปิดตัวลง แล้วก็มีคนสนใจให้ไปเป็น Creative Director ของหนังสือชื่อ How to magazine เป็นหนังสือเกี่ยวกับ Lifestyle/Design ไปทำอยู่ประมาณ 3 เล่มนั้นก็ต้องปิดอีก คือทำเล่มไหนเจ๊งหมด หลังจากนั้นก็เป็น Freelance ที่โน้นที่นี่ แล้วก็ได้ไปทำกับ Magazine อีกหัว ตอนนั้นถือว่าเราทำเงินได้เยอะเลยนะ คือเราสามารถจ้าง Graphic Designer มาช่วยเราทำงานที่บ้านได้อีกหนึ่งคน แล้วเราก็รับงานเพิ่มได้อีก คือเหมือนเปิดเป็น Studio เล็กๆในบ้านตัวเอง ชีวิตมันก็ดีนะ

จนถึงจุดผกผันคือปี 2001ผมไปเถียงเจ้านาย  คือจ้านายให้ทำงานชิ้นหนึ่ง เเล้วความคิดเห็นไม่ตรงกัน เราก็ไปเถียงเขา วันรุ่งขึ้นโดนไล่ออกเลย ตอนนั้นมันรู้สึกเหมือนกับตกตึกเลย เราก็มีภาระ เราจ้างน้องมาทำงานแล้ว อีกคนเป็นเด็กฝึกงานมาทำงานวันแรกวันเดียว ก็โดนไล่ออกพร้อมกันเลย มันทำให้รู้สึกเหมือนหลังชนฝา เราก็คิดว่าจะทำอะไรดีวะ แต่คิดว่าเราคงเป็นลูกน้องใครไม่ได้แล้วล่ะ ด้วยบุคลิกและวิธีคิดด้วยเราคิดว่าเดี๋ยวมันคงต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้อีกแน่นอน ก็เลยตัดสินใจทำเองเลย ตอนนั้นมีเงินเริ่มต้นแค่ 50,000 บาท มีคอมอยู่ 2 เครื่อง มี Printer มี Scanner มีทุกอย่างพร้อม หลังจากตัดสินใจแล้ว อย่างแรกเลยคือเราต้องยกหูโทรศัพท์โทรหาทุกคนที่รู้จักว่า “ผมมี Office ตัวเองแล้วนะ” เป็น Office ชื่อ  DUCTSTORE the design guru คือจริงๆเคยคิดจะทำออฟฟิศอยู่เเล้ว เลยมีชื่อที่ตั้งเอาไว้ก่อน พอถึงเวลามันก็ได้ใช้เลย ตอนนั้นมีงานอะไรก็ทำหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นปกซีดี Magazine /Poster หรือแม้แต่ Interior Design คือช่วงแรกเป็นช่วงของการสร้าง Portfolio ล้วนๆ คือเรามีเพื่อนเยอะ คนจะรู้จักเราในแง่ที่ว่าเราเป็นคนที่มีแนวทางงานที่ชัดเจน เพื่อนพี่น้องที่ครุอาร์ตที่จุฬาหรือที่สถาปัตรังสิตเวลาหางานสนุกๆงานเปรี้ยวๆอะไรอย่างงี้ เขาจะนึกถึงเราก่อนเลย อีกอย่างช่วงนั้น วงการเพลงมันเป็นช่วงที่มีพวกค่ายอินดี้เยอะ เพื่อนๆพี่ๆทำวงกันเยอะไปหมด ไม่ว่าจะเป็น “โยคี เพลย์บอย” “2 Days Ago Kids” “Friday” จะเป็นเพื่อนๆ พี่ๆ น้องกันทั้งนั้น มันเลยค่อนข้างจะเป็นงานที่ช่วยกันมากกว่า เรามีความรู้สึกว่า ถ้าอะไรที่ทำด้วยความเต็มใจ งานมันมักจะออกมาดีมากๆ เพราะมันไม่มีห่วงเรื่องผลประโยขน์ ไม่มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง มันเป็นการทำด้วยใจล้วนๆ ในอีกแง่หนึ่งมันทำให้งานของเราออกมาชัดเจนด้วย หลังจากช่วงนั้นก็ทำให้ DUCTSTORE เริ่มออกมาเป็นรูปเป็นร่าง จริงๆจังเหมือนกันครับ

null

null

null

null

ตอนนั้น DUCTSTORE ถือเป็นบริษัทแรกๆเลยรึเปล่า ที่รันโดยตัวดีไซน์เนอร์เอง?

ไม่หรอกครับ จริงๆมันก็เริ่มมีบริษัทออกแบบเยอะขึ้นมากกว่าเเต่ก่อน เราว่าของเราคงเพราะว่ามันมาถูกเวลาพอดี ในยุคนั้นพี่ทอม วรุตม์ ปันยารชุน Typotype (WAWO ในปัจจุบัน ) เป็นกลุ่มนักออกแบบ Graphic ที่งานเท่ห์สุดๆ พี่ทอมเป็นคนทำปกให้ Bakery Music พี่ทอมเป็น Inspiration ให้กับเราเลย คือแกทำปกซีดีให้กับวงดนตรีเจ๋งๆบ้านเรา ซึ่งเราเห็นงานแล้วก็ “เห้ย Art Direction แบบนี้แกคิดได้ยังไงวะ อยากคิดงานได้อย่างแกจัง!?” อยากทำ Layout ให้ออกมาแบบเปรี้ยวๆบ้าง ก็เลยไปเรียนรู้จากแก ขอไปช่วยเป็นลูกน้องแกอีกทีหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นพี่ทอมก็มีผู้ช่วยอย่าง พี่ Kelvin Wong (K Kelvin Studio ในปัจจุบัน) พี่จี๊ด พิชิต วีรังคบุตร ( Design Director ของ TCDC ในปัจจุบัน ) ที่เป็นรุ่นพี่ผมร่วมอยู่ในทีมด้วย การเจอคนเก่งๆมันก็เหมือนเราได้ซึมซับวิชาความรู้ไปในตัว  ตอนนั้นเป็นยุคที่คนใหม่ๆกำลังเริ่มต้นหลังจากการล้มของบริษัทใหญ่ๆ มันเลยเป็นช่วงที่บ้านเราเกิดอะไรกันใหม่ๆเยอะมาก ก็จะเห็นหนังสือ “a day”  เห็น “Fat Radio” ค่ายเพลงค่ายอินดี้ต่างๆ รวมถึงมีบริษัทออกแบบมากมาย ตอนนั้นเราอายุ 27 จังหวะมันมาพอดีตอนถูกไล่ออก เราก็คิดว่าเห้ยน่าทำบ้างว่ะ เพราะว่าอีก 10 ปีข้างหน้าเราจะเป็นอย่างไร ตอนนั้นงานของ DUCTSTORE มันอยู่ในกลุ่มงานของวัยรุ่น สิ่งที่ทำให้ชื่อเรามาแรงตอนนั้น เพราะฟังแล้วมันน่าหมั่นไส้ด้วยล่ะ“The Design Guru” คำว่า Guru มันคือ “ผู้มีความรู้” ช่วงแรกมันก็มีคนที่คิดว่า “เห้ย มึงเจ๋งจริงเหรอ”“มึงขี้โม้รึเปล่า” ซึ่งเราก็ไม่เป็นไรเราก็ทำงานไปเรื่อยๆ ไม่ได้สนใจ ของแบบนี้มันต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ผลงานของเรา

null

null

ตอนนั้นคิดไหมว่าอนาคตของที่นี่จะเป็นอย่างไร?

ไม่รู้เลยไม่รู้เรื่องอะไรเลยครับ มันเหมือนแบบคุณไม่ทำคุณก็อดตาย คุณไม่ทำก็ไม่มีเงินใช้จ่าย เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของสัญชาตญาณการเอาตัวรอดล้วนๆเลยอันนี้เราเชื่อว่าใช้ได้กับเราทุกครั้งเลยนะ คือเวลาเจอเรื่องแย่ๆ มันจะเป็นช่วงที่เราเกิด “ปัญญา” มากที่สุด มันเป็นเเรงเสริมลบที่ผลักดันตัวเราให้ก้าวไปข้างหน้า มันก็เหมือนสปริงที่ถูกกดต่ำสุดมันก็จะเด้งได้สูงสุด

สำหรับเด็กจบใหม่ที่อยากจะเปิด House ของตัวเอง?

เป็นเรื่องที่ดีนะครับ แต่ว่าตัวจริงก็จะอยู่ไปเรื่อยๆคนที่หมดแรงก็จะหายไป ออกแบบมันไม่ใช่เรื่องยากครับ แต่ทำ Business ที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบมันคืออีกเรื่องหนึ่ง คือคุณต้องเข้าใจ Process ของธุรกิจงานออกแบบ มันมีเรื่องของการบริหาร การไว้เนื้อเชื่อใจ การเงิน Cash Flow ทั้งหมดมันเป็นศาสตร์การบริหารองค์กร บริหารทีมงานของคุณ ที่มันเป็นคนละเรื่องกับศาสตร์งานออกแบบเลย แล้วนักออกแบบจะยืนอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ต่อไปได้อย่างไร? ง่ายๆเลยตอนนี้ ผมขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ช่วงนี้ร้านกาแฟเต็มไปหมด แล้วในอนาคตร้านกาแฟที่ไม่ใช่ตัวจริงมันก็จะล้มหายตายจากไป มันเป็นลักษณะเดียวกัน เรื่องแบบนี้มันเป็นการคัดเลือกตามธรรมชาติอยู่แล้ว ผู้อยู่รอดคือผู้สามารถยืนระยะได้ยาว ทำออฟฟิศแรกๆ การเกิดใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การที่จะทำอย่างไรให้คงอยู่นั้นเป็นเรื่องยากกว่า

วิธีการบริหารของ DUCTSTORE คือ?

นี่คือสิ่งที่มีค่าที่สุดในองค์กรครับ“ทรัพยากรมนุษย์” มันคือหัวใจหลักเลย โดยเฉพาะสายงานออกแบบยิ่งสำคัญ สำหรับ DUCTSTORE the design guru ก็ตั้งมาตั้งแต่ปี 2001 ปีนี้ก็เป็นปีที่ 14 เกือบ 15 ปีแล้ว คนที่อยู่กับเรามันก็เลยมีหลาย Generation มาก เพราะฉะนั้นโจทย์ของเราคือ จะทำอย่างไรให้ไม่มี Generation Gap เกิดขึ้น ต้องสร้างคนขึ้นมา ต้องสร้างทีมขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดแนวความคิดของเราและสามารถส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อๆไปได้ด้วย ถ้าอย่างพวก Group Head คนพวกนี้จะรู้ใจเพราะอยู่ด้วยกันมานาน มีความเข้าใจในกระบวนการ วิธีคิดในเรื่องแนวทางของเราค่อนข้างชัดเจน เวลาบรีฟเราก็จะบรีฟผ่านคนเหล่านี้ จากนั้น เขาก็จะเอาไปคุยงานกันในทีม แล้วก็ช่วงนี้ก็จะมีน้องๆฝึกงานค่อนข้างเยอะ ซึ่ง Intern พวกนี้เป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะจะเป็นตัวที่มาเติมเต็ม ถ้าปีไหนเราขาดคน เราสามารถเรียก Intern ที่รู้จักนิสัยใจคอกันแล้วมาติดทีมได้ มันเหมือนกับทำทีม Football เลยครับ แต่ก่อนไม่ค่อยดูบอลเลยนะ เฉยๆกับฟุตบอล แต่เรารู้สึกว่าเราชอบวิธีการทำทีม เราชอบดูการทำงานของโค้ชการวางตัวผู้เล่น เรารู้สึกว่าคนพวกนี้เค้ามีบารมี บารมีในความหมายของเราคือมันไม่ใช่เผด็จการ แต่มันมีความเข้าใจอะ เข้าใจแบบมองภาพรวมออกว่าในศึกครั้งนี้จะส่งใครลงไปทำ มันเหมือนเป็นกลยุทธ์ของเค้า ซึ่งเราสามารถศึกษาได้ แล้วมันทำให้เรารู้สึกว่ามันก็ไม่ต่างจากการทำบริษัทออกแบบ เราก็เหมือนโค้ช เราไม่ได้มีหน้าที่ลงเตะทุกนัดนะ แต่เรามีหน้าที่คอยวางคน ว่า ในหนึ่งโจทย์ทุกคนทำทุกคนเลยก็ได้หรือในบางโจทย์อาจทำสองทีม หรือบางส่วนอาจทำสามทีม บางโจทย์อาจจะให้ทำระหว่างทีม Graphic กับทีม Interior Architecture มันปรับเปลี่ยนลื่นไหลกันได้หมด ทีมต้องคุยกันว่า เห้ย มึงควรจะทำอันนี้อันนี้ รุ่นพี่ต้องช่วยรุ่นน้อง Intern ก็เหมือน Rookie นักเตะหน้าใหม่ มันไม่มีทีมไหนที่อยู่ได้โดยนักเตะแก่ๆอย่างเดียวหรอกครับ ทุกทีมมันมีการเปลี่ยนผ่าน ถึงแม้คนเก่ามันก็มีออกไปเรื่อยๆ บ้าง แต่พอมีคนมาเติมใหม่ ถ้าตัวโครงสร้าง Structure  มันยังแข็งแรงอยู่ ทุกอย่างก็ไม่ได้สูญหายไปไหน

การจะเป็นหนึ่งในผู้เล่นของทีม DUCTSTORE มีเกณฑ์อะไรไหม?

ส่วนใหญ่ DUCTSTORE เริ่มต้นจากคนใกล้ชิดครับ  เริ่มต้นจากการเป็นพี่ๆน้องๆกัน จากคนที่เข้ามาฝึกงาน เรามีความรู้สึกในเรื่องของ Relationship ประมาณหนึ่ง มันเป็นเรื่องของความเชื่อใจ เป็นเรื่องของความนับถือกันและกันเราเลือกคนที่เรารู้สึก Happy เราอยากทำงานด้วย พยายามเลือกคนจาก Attitude เเละ Passion เป็นหลัก ฝีมือเเละ Style มันสามารถฝึกกันได้ แต่เรื่องทัศนคติแนวคิดและอุปนิสัยใจคอของพวกนี้มันเปลี่ยนกันยาก บางคนที่ Walk-In แบบไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลยก็มีบ้างเวลาส่งพอร์ทมามันบอกอะไรไม่ได้ทั้งหมดหรอก บางคนงานดีงานสวย เเต่ถึงเวลาทำงานอาจจะทำงานด้วยยาก บางทีงานเฉยๆแต่พอมาทำงานจริงมันถึกกว่าใครเพื่อนก็มี เวลามีคนมาสมัครงานมันมีไม่กี่คำถามนะที่เราถามเค้า หนึ่งคือ บ้านเค้าทำอะไร พ่อแม่เป็นใคร อยู่ที่ไหน มีแฟนรึเปล่า ฟังเพลงอะไร ดีไซน์เนอร์ที่ชอบ คือคนที่เรารู้สึกว่าคนที่อยู่ด้วยกันมันจะต้องมีความคล้ายคลึงอะไรบางอย่าง เช่นชอบฟังเพลงเหมือนกัน ชอบรองเท้าเหมือนกัน ชอบแต่งตัวเหมือนกัน พ่อแม่เป็นครูอาจารย์เหมือนกัน (ยิ้ม) เราว่ามันมีผลนะ เรื่องที่คนที่นี่บ้ารองเท้า ชอบแต่งตัว เราว่ามันเป็นเรื่องเบสิคของนักออกแบบ คนเราอะยิ่งอยากทำงานออกมาดี ก็ยิ่งอยากเท่ไปด้วยกันกับงาน พวกเรื่องแบบนี้มันไปด้วยกัน มันคือการเสพย์เพื่อสร้าง คนเราถ้าไม่มี  Input จะมี Output ได้ยังไง มีบางคนเข้ามาช่วงแรกไม่เคยซื้อเลยอยู่ด้วยกันไปสักพักหลังๆก็ซื้อแหลก มันเหมือนต่างคนต่างก็ Educate กันและกัน ไม่ใช่อุปทานหมู่นะ เรามองว่ามันเป็นคำว่า Culture มากกว่า โดยรวมทุกคนในออฟฟิศมีความชอบคล้ายๆกันต่างกันที่รายละเอียด ชีวิตส่วนตัวก็มี แต่ขีวิตทำงานมันคือส่วนใหญ่ของชีวิตอ่ะ  ที่นี่ไม่มีใครเกลียดใคร ไม่มีการเมืองในออฟฟิศ เราทุกคนเป็นพี่เป็นเพื่อนเป็นพี่น้องกัน บางที่เข้าไปทำงาน ไปถึงแล้วเก่งไปก็โดนเกลียด โดนหมั่นไส้อิจฉา หรือต่อให้ไม่เก่งก็โดนเกลียดอยู่ดี (หัวเราะ) DUCTSTORE ของเราค่อนข้างมีวัฒนธรรมองค์กรที่ชัดเจนพอสมควรครับ

null

ผลงานการออกแบบของ DUCTSTORE the design guru : Untitled House

null

ผลงานการออกแบบของ DUCTSTORE the Design Guru : ร้าน UPPERGROUND By CARNIVAL @ Central World

null

ผลงานการออกแบบของ DUCTSTORE the Design Guru : TMB Capital Markets

null

ผลงานการออกแบบของ DUCTSTORE the Design Guru : ธนาคารทหารไทย (TMB) สาขา Central Rama 9

 null

ผลงานการออกแบบของ DUCTSTORE the design guru : Zine Tokyo “GRAPHITECTURE”

 null

 ผลงานการออกแบบของ DUCTSTORE the design guru

นี่คือสิ่งที่ทำให้ทุกวันนี้ DUCTSTORE มีแนวทางที่ชัดเจน?

สำคัญเลยครับ แต่ละที่ลองได้เลยสังเกตว่าจะเค้ามีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรงของเค้านะ วัฒนธรรมองค์กรของ DUCTSTORE ก็เกิดจากทุกคนที่อยู่ในออฟฟิศนั่นเเหละร่วมกันสร้างขึ้นมา เมื่อทุกคนที่อยู่มีความเข้าใจใน Direction ของ  Office เเละอินไปกับมัน มันก็จะเเสดงออกมาอย่างเป็นธรรมชาติไม่เสเเสร้งหรือต้องพยายาม ผลงานที่ออกมาก็จะเป็นทิศทางเดียวกันที่ชัดเจน อีกอย่างที่เราตั้งใจคือ ทำออฟฟิศให้มันเป็นพื้นที่ที่มันสร้าง Inspiration ให้กับทีมงาน พยายามเลือกงานออกแบบที่มันเป็นของดีไซน์เนอร์ระดับโลก ที่เป็นของจริงๆมาตั้งไว้เป็นเฟอร์นิเจอร์ ให้ทีมเราได้ใช้ได้สัมผัสว่ามันเป็นยังไง มีไดเมนชั่นเป็นแบบไหน วัสดุยังไง อย่างโคมไฟปืน AK47 ของ Phillip Starck “Guns-Table Gun” (ดีไซน์เนอร์ชาวฝรั่งเศสชื่อดังคนหนึ่งของโลก) เราชอบรูปแบบที่มันคอนทราสอะ หรืออย่างผนังที่เห็นว่าเป็นออริกามิ เป็นผนังที่ Folding คือเราพยายามจะพูดเรื่องสองมิติและสามมิติ มันคือเรื่องของ Graphitecture ของเรา มันคือลายเซ็นของเรา เเละการที่ได้อยู่กับงานพวกนี้ สเปซเเบบนี้มันทำให้ทุกวันในการทำงานมันโอเคขึ้นจริงๆนะ

แนวคิดแบบ “ก็ฉันเป็น Designer อะ” แล้วคอมเพลนลูกค้าตลอดเวลา?

เราว่าแบบนั้นมันเป็นเรื่องง่ายอะ มันเป็นเรื่องง่ายมากเลยนะที่เราจะบ่น งานทุกงานมันต้องมีปัญหาอยู่แล้วแหละ ไอ้การบ่นหรือว่าเรื่องของความหงุดหงิดทุกคนมันมีอยู่แล้ว ในกรณีที่ลูกค้าคุยไม่รู้เรื่องจริงๆ ก็ต้องยอมรับนะว่ามันต้องมีบ้าง… รัก โลภ โกรธ หลง อารมณ์เสีย มีทุกคน แต่เราว่าถ้าเป็น Professional จะไม่ชอบใจอย่างไรมันก็ต้องเก็บไว้ สำคัญคืองานมันต้องจบให้ได้

ด้วยความที่ DUCTSTORE อยู่มานานแล้วพอสมควร วงการออกแบบในทุกวันนี้เทียบกับสมัยก่อนมีความแตกต่างกันเยอะไหม?

มีความต่างกันมากครับ เราว่ายุคนี้มันเป็นยุครุ่งเรืองเลยล่ะ เพราะทุกอย่างมันถูกขับเคลื่อนด้วย Creative ตอนนี้นักออกแบบมันกลายเป็นอาชีพที่อยู่บนยอดของอุตสาหกรรมแล้วไม่ว่าคิดจะทำอะไรก็ต้องเริ่มต้นที่งานออกแบบก่อนเลย เมื่อก่อน พอ Designer มีน้อยตลาดมันก็ไม่กว้างคนที่เข้าใจงานออกแบบมันเลยเฉพาะกลุ่มมาก นักออกแบบก็แค่…คนคนนึง สมัยนี้ Designer มันเยอะ ทุกคนให้การยอมรับ เดี๋ยวนี้คนไทยตื่นตัวกับเรื่องพวกนี้มากขึ้นกว่าเดิม พอเป็นระบบดิจิตอล แค่มีคอมพิวเตอร์ ใครๆก็เป็นนักออกแบบได้ เเต่จะดีหรือเปล่านี่ไม่เเน่ใจ สุดท้ายพอทุกคนตกอยู่ในกระแสข้อมูลเดียวกัน ผลก็คืองานและแนวทางมันก็เลยออกมาคล้ายๆกัน การที่คุณจะโดดเด่นออกมาได้ คุณจำเป็นที่จะต้องมี Style ที่ชัดเจนมากๆพอสมควร และไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามล่ะ… ที่สำคัญที่สุดคือมันต้องมี Passion  มันต้องมีความอยากกระหายที่จะทำจริงๆ แล้วมันจะทะลุออกมาได้

อีกอย่างปัจจุบันนี้การเข้าถึงอุปกรณ์เครื่องมือมันง่ายขึ้นเยอะ เมื่อก่อนการทำ Studio มันมีค่าใช้จ่ายแพงมาก ซื้อคอมเครื่องหนึ่งเป็นแสน ตอนเริ่มต้นของเราตอนนั้นเป็น Power Macintosh 7500 ราคา 127,000บาท ได้ Ram 16 MB ฮาร์ดดิสก์ 1 GB ซึ่งถือว่าหรูแล้วนะ ปริ้นเตอร์เครื่องละ 15,000 บาท สแกนเนอร์ 30,000 บาท ต้องซื้อ Ram เพิ่มเพื่อให้ประมวลผลเร็วขึ้น รวมเบ็ดเสร็จแล้วเกือบ 200,000 กว่าบาท สมัยนี้ 200,000 กว่า คุณได้คอมใช้ดีๆเลยประมาณ 3 เครื่อง และโลกอินเตอร์เน็ตสมัยนี้ทำให้รู้สึกว่าปัจจุบันมันมีข้อมูลเต็มไปหมดเลยต่างจากยุคก่อนที่มันหายาก จะหาความรู้จากเลคเชอร์ดีๆกว่าจะมาทีก็โครตนานเลย ผิดกับตอนนี้มองไปทางไหนก็เจอแต่งานสัมมนา งาน Talk ดีๆ จนบางทีของดีมันเยอะซะจนทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่า “โอเค เดี๋ยวก็มีมาใหม่ ไม่ต้องรีบ” ซึ่งพอเป็นแบบนี้แล้วมันกลับกลายเป็นว่าคนรุ่นใหม่มันโคตร Slow เลยเหมือนกันนะ ดูขยันกันน้อยลงมาก เราขอยกตัวอย่างงานธีสิสนักศึกษาจบใหม่ บางงานเราไปดูแล้วรู้สึกว่า มันทำ 2 อาทิตย์ก็เสร็จอะ ใช้เวลานานกันเกินไปรึเปล่า ยิ่งยุคสมัยที่เทคโนโลยีมันรองรับงานมันต้องเต็มกว่านี้ สมัยก่อนไม่มีคอมพิวเตอร์ เป็นงานที่ทำด้วยระบบ manual ล้วนๆ ทำให้ต้องพยายามมากกว่าหลายเท่า เพราะมันไม่มีอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่ดีพอ เดี๋ยวนี้อยากรู้อะไร google มีหมดแล้ว ครบทุกอย่าง เมื่อก่อนต้องไปซื้อหนังสือ ต้องไปคุยกับคนโน้น คนนี้ ทั้งหมดมันเลยทำให้งานแต่ละคนที่ทำงานออกมาในสมัยก่อนดูบ้าพลังมาก

null

null

null

อีก 5 ปี 10 ปี อยากเห็นอะไรในวงการนี้ของบ้านเรา?

อีก 5 ปี 10 ปี ข้างหน้าเหรอ อยากเห็น Design Community ที่ชัดเจนครับ ที่เป็นความร่วมมือ ที่เป็นเพื่อนเป็นพี่น้อง แบบไม่มีอีโก้ต่อกัน มันเหมือนต่างประเทศเขาจะมีเขตดีไซน์ District ที่มันชัดเจน เป็นย่านของนักออกแบบ ของครีเอทีฟ ของดีไซน์เนอร์มารวมตัวกัน รวมตัวกันแบบหลวมๆ ไม่ใช่รวมตัวกันอยู่แล้วเกลียดกันอ่ะ รวมตัวกันแบบเฮ้ย ว่างๆนังกินกาแฟนกัน มาพูดคุยเเลกเปลี่ยนความคิดเเละซัพพอร์ทกันอะไรอย่างนี้ ประเทศเรามันขาดพื้นที่ที่มันเป็นแบบ ครีเอทีฟสเปช ต้องพยายามอ่ะครับ… อืม เราว่ายากอ่ะ เพราะว่าประเทศเราไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ประเทศเราให้ความสำคัญกับเรื่องการเมืองอะไรกัน ที่เรามองว่ามันไร้สาระอ่ะ คือกรุงเทพจริงๆมันมีความน่าสนใจนะ ความน่าสนใจของกรุงเทพคือมันมีความหลากหลาย เเต่คนจัดการมันใช้งบประมาณห่วยอ่ะ ไม่โฟกัสในเรื่องการพัฒนาเมืองที่ทำให้คนอยู่ได้จริงๆเเบบมีความสุข เอาเวลาไปทำเรื่องอะไรที่รู้สึกว่าไร้สาระมากๆ เคยเห็นโครงการป้ายอัจฉริยะอะไรนั่นไหม คือเราโครตเกลียดอะไรแบบนี้เลยนะ มันหลอกกันอะ หรือว่าแบบสโลแกน เช่นเมืองหนังสือโลก ทุกชีวิตเราดูเเล คือเราว่าไม่ต้องเสียเวลาไปทำอะไรแบบนั้นหรอก คือต้องหันมาพัฒนาพื้นที่สาธารณะร่วมกัน พื้นที่ที่มันสร้างสรรค์ ลองคิดดูประเทศเราไม่ค่อยมีตรงนี้เลยนะ เหมือนเด็กอยากเล่นสเก็ตอยากขี่จักรยาน มาขี่มาเล่นในบ้านเมืองเราอาจโดนรถชนตายกันหมด แต่ในเอกชนเค้าก็ดูมีวิสัยทัศน์กันมากกว่า เค้าก็คงอยากจะทำอยู่ ก็ได้คาดหวังว่า วันนึงผู้มีอำนาจในประเทศเราคงมีจะเข้าใจเเละเห็นคุณค่าของความคิดสร้างสรรค์กันมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นี้

แล้วนอกจากเรื่องงานตอนนี้มีให้ความสำคัญกับเรื่องไหนเป็นพิเศษไหม?

ก็มีเรื่องเลี้ยงลูกครับ ตอนนี้พึ่งมีลูกแฝดครับ ก็อายุได้ 1ขวบ อันนี้มันก็เปลี่ยนชีวิตเราไปพอสมควรเลยคือต้องอยู่ดูทั้งคืน เหมือนเป็นยามล่ะครับ (หัวเราะ) ได้นอนตอน 6โมงเช้ามีพี่เลี้ยงมาช่วยดู ตื่นบ่ายโมงก็เข้ามาออฟฟิศ มาเจอน้องๆบ่ายสองโมงเค้าก็จะกลับมาจากกินข้าวกันพอดีครับ ถ้าถามว่าตอนนี้อินกับอะไรอยู่… คงเป็น “สถาปัตยกรรม” ครับ

ถ้าในโลกนี้มีรางวัลดีเด่น 1 รางวัล จะให้รางวัลอะไรกับ DUCTSTORE?

ให้รางวัลตัวเองนี่… พูดจริงๆนะ พูดยากว่ะ (หัวเราะ) คือการให้รางวัลมันต้องให้คนอื่นมาให้เราสิ คือจู่ๆจะมานั่งให้รางวัลตัวเองเราไม่รู้หรอก ไม่รู้จริงๆ (หัวเราะ)

งั้นถามใหม่ ภูมิใจอะไรใน DUCTSTORE มากที่สุด?

ความภูมิใจเหรอ พูดยากเหมือนกัน คงภูมิใจในความเป็นบริษัทที่มีแนวคิดชัดเจน ยืดหยุ่น และคนที่ทำงานกับเราเป็นคนที่มีคุณค่าละกันครับ  ถ้าเทียบกับหนังหรือการ์ตูนเราคิดว่า DUCTSTORE คงเป็นตัวละครลับที่โผล่มาชกเปรี้ยง แล้วหายไปเลย คือมันเหมือนเราไม่ได้อยู่ในลีกไหนเลย ตั้งแต่เราตั้งบริษัทมา เราเป็น Off-League ดีไซน์เนอร์ตลอด เราไม่เคยมีรูปแบบที่ตายตัว คือคุณอาจจะเข้าใจเราว่าเป็นกราฟิคดีไซน์เนอร์ เป็นครีเอทีฟ เป็นอินทีเรียดีไซน์เนอร์ เป็นสถาปนิก หรือจะเข้าใจเราว่าเป็นอะไรก็ตามเเต่ มันก็แล้วแต่คุณเลย  เเต่เราเข้าใจตัวเรา คือเราเป็นคนไม่ค่อยชอบบอกใครว่าทำอะไรอยู่ ถ้าใครอยากรู้เดี๋ยวเค้าจะเข้ามาทำความรู้จักเราเอง มันเหมือนยิ่งสงสัยก็ยิ่งน่าค้นหา การที่เค้าไม่รู้จักเรา มันทำให้เราพรางตัวได้เหมือนกันนะ เรากลับคิดว่าไม่รู้จักอะยิ่งดี ชอบให้คน Surprise งานที่เราทำเป็นตัวที่พูดเเทนเราเอง

สุดท้ายนี้อยากฝากอะไรถึงบริษัทยุคใหม่หรือนักศึกษา Design รวมถึงทุกคนที่อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวงการครีเอทีฟนี้ ?

เมื่อไม่นานมานี้ เราได้ไปเป็นประธานเปิดงาน Exhibition ของ เด็กม.รังสิตมา เราก็พูดเหมือนเล่าประสบการณ์นะ ว่าเราทำอะไร ยังไงบ้าง คือสิ่งที่พี่อยากจะบอกเค้าก็คือ คุณต้องเชื่อในสัญชาตญาณตัวเอง เชื่อตัวเองเพราะว่าไม่ว่าคุณจะทำอะไร มันก็เกิดจะตัวคุณเองทั้งนั้นแหละ และถ้าคุณมี Passion มันก็จะไปต่อได้เรื่อยๆ แต่ถ้าวันไหนคุณหมดไฟ คุณขี้เกียจ ผลมันก็จะส่งผลมากับคุณเอง แล้วก็การออกแบบมันเป็นเรื่องง่าย แต่การที่จะได้เงินจากการออกแบบมันเป็นเรื่องยาก อันนี้คือสิ่งที่คุณต้องเข้าใจและต้อง Balance มันให้ดี เราคิดเสมอว่าถ้าอยากเป็นนักออกแบบที่ดี เราต้องมีความอดทน เราคิดว่ามันไม่เคยมีอะไรในโลกนี้ที่ได้มาง่ายๆ เราต้องฝ่าฟัน เเล้ววันนึงจะเป็นวันของเรา

null

null

Interview: Norrarit Homrungsarid
Writer: Pakkawat Tanghom
Photographer: Pakkawat Tanghom

RECOMMENDED CONTENT

11.มีนาคม.2021

ถือเป็นศิลปินหญิงแห่งยุคที่มาแรง และน่าจับตามองมากที่สุดอีกคน สำหรับศิลปินหญิงเดี่ยวมากความสามารถอย่าง “BOWKYLION” (โบกี้ไลอ้อน) หรือ “โบกี้ - พิชญ์สินี วีระสุทธิมาศ” สังกัดค่ายเพลง What The Duck (วอท เดอะ ดัก) ที่ประสบความสำเร็จสุด ๆ ในปีที่ผ่านมา