fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#VISIT- Business Art 101 : วิชาศิลปะบนเตาโตเกียวของ Tokyo Hot ร้านโตเกียวสุดจัดจ้านในย่านเจริญกรุง 
date : 30.กรกฎาคม.2019 tag :

โตเอ๋ย โตเกียว ทำไมถึง Hot ? 

หลังจากเราไปเยือน Tokyo Hot เมื่อตอนที่เปิดร้านได้แค่ 2 อาทิตย์เท่านั้น ปรากฏว่า คนเยอะมากกก ทำให้เราได้แต่ทำใจเงียบๆ คนเดียวว่า โอเค ร้านเพิ่งเปิดก็งี้แหละ 

แล้วเราก็ขอกลับมาแก้มือใหม่ กลับมาเป็นครั้งที่ 2 หลังจากนั้นอีก 2 เดือน ด้วยความคาดหวังว่าจะได้นั่งกินโตเกียวสบายๆ แล้วล่ะคราวนี้ แต่!!! ก็ต้องเบรคเอี๊ยดหน้าร้าน เพราะคนยังเยอะมากกกกกกกกกกก (ใส่ ก.ไก่ ได้อีกตามชอบ) เยอะกว่าเดิมอีก! 

สุดท้ายเราหาทางคุยแกมเซ้าซี้เร้าหรือ กับเจ้าของร้านที่งานยุ่งมือเป็นระวิงอยู่หน้าเตาโตเกียวจนได้ เขาสารภาพกับเราว่า ก็ยังตั้งตัวไม่ทันเหมือนกันกับการมาถึงของลูกค้าจำนวนมากมายขนาดนี้ ส่วนใหญ่ก็ตามมาจากการรีวิวในโซเชียลฯ ที่ไวกว่าความเร็วแสง ทำให้พวกเขาต้องทำโตเกียวให้ไวยิ่งกว่าแสงด้วยเช่นกัน

ได้ความมาว่าเจ้าของร้านคือ คุณนะ กับคุณเจ-น้องชายของเขา และคุณจืด-เพื่อนรุ่นพี่  คุณนะและคุณจืด ทั้ง 2 คนเรียนสายวิจิตรศิลป์มา พอเรียนจบก็แยกย้ายกันไปทำงานของตัวเองในแวดวงศิลปะ โดยมีครั้งหนึ่งเคยทำโปรเจ็กต์ชื่อว่า แสงนวลเเลป (Sangnual lap) เป็นการเปลี่ยนสเปซในย่านคลองถมให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ซึ่งสเปซที่ว่านั้นเป็นร้านขายหลอดไฟของคุณพ่อของคุณนะเอง ถ้าหากใครติดตามงานศิลปะก็น่าจะผ่านหูผ่านตาอยู่บ้าง 

แต่เมื่อพูดถึงรายได้ของศิลปินฟรีแลนซ์ มันอาจยังไม่มากพอที่จะเลี้ยงชีพเท่าไรนัก ทำให้พวกเขาต้องมาจับเข่าคุยกันใหม่ถึงสิ่งที่แต่ละคนสนใจ อะไรที่ทำแล้วชอบด้วยและมีรายได้ด้วย นี่คือจุดเริ่มต้นของโมเดลร้านโตเกียวที่คนต่อคิวแน่นที่สุดบนถนนเจริญกรุง มาพร้อมกับความจริงอันน่าตกใจ (ตกใจทำไม?) ว่าไม่มีใครมีพื้นฐานเรื่องการทำธุรกิจมาก่อนเลย แต่นี่คือวิชาที่พวกเขาจะมาศึกษาพร้อมกันที่หน้าเตาแห่งนี้นี่เอง เอง เอง #เสียงเอคโค่

______________________________

บทที่ 1 : สร้างคาแร็กเตอร์

น่ารัก เฟรนด์ลี่ เผ็ดร้อน รุนแรว๊ง! 

เริ่มแรกพวกเขานึกถึง ทาโก้ (Tacos) เพราะเป็นอะไรที่ชอบกินอยู่แล้ว เลยอยากทำทาโก้ที่อร่อย กินง่าย คิดว่ารสชาติแบบที่คนไทยน่าจะชอบ ทาโก้ อาหารเล่นสไตล์เม็กซิกัน หน้าตาคล้ายโตเกียวบ้านเรา ต่างกันตรงวัตถุดิบ เช่น แป้ง กับไส้ และรูปแบบการห่อ แต่เหมือนกันตรงที่ว่ามันเป็นอาหารกินเล่นๆ คุณนะกับคุณจืดรู้สึกว่าคาร์แร็กเตอร์ของทาโก้มีความเฟรนด์ลี่ เปิดรับไส้แบบไหนก็ได้  แป้งของมันห่อไส้อะไรได้อีกหลายอย่าง พวกเขาจึงทดลองคิดค้นไส้โตเกียวกันอยู่นาน แต่โชคดีว่าตัวคุณจืดเองเป็นคนชอบทำอาหาร และเคยเปิดร้านขายอาหารมาก่อน เลยเหมือนเป็นพรรสวรรค์ที่ทำให้เขาชอบชิมรสชาติอาหารใหม่ๆ คิดค้นวัตถุดิบต่างๆ ลองโน่นลองนี่ตลอดเวลา

ปรับแก้รสชาติไปเรื่อยๆ จนออกมาเป็นโตเกียวหลากหลายไส้ไม่เหมือนที่ไหน อย่างโตเกียวทาโก้ ที่รสชาติเหมือนทาโก้เป๊ะๆ มีความเผ็ด เปรี้ยว เค็ม มัน ฉ่ำๆ มีกลิ่นเครื่องเทศ จะต่างกันก็แค่แป้งห่อที่เขาใช้แป้งแบบโตเกียว อันนี้ตอนสั่งไป ลองสั่งเล่นๆ แต่พอกินแล้วถือว่ารสชาติเซอร์ไพรส์มาก ส่วนที่ไม่เคยกินที่ไหนเลยก็เช่น ไส้ครีมไข่เค็ม ที่แปะไข่เค็มจริงๆ ลงไปในไส้ครีมเจ้มจ้นไม่หวานมาก รวมกับไข่เค็มมันๆ แล้วอร่อยดี 

อีกอย่างคือไก่ย่างบาร์บีคิวซอสหมาล่า เผ็ดซ่าในชิ้นเดียว (เพิ่มชีสได้ด้วย) กับอีกไส้คือโตเกียวกะเพราหมูสับไข่เจียว รสชาติเป็นมิตรกับเรามากๆ เชื่อว่าไม่มีขายที่ไหน ไม่ว่าในไทยหรือที่โตเกียวเองก็เถอะ ยังไม่หมดแค่นั้น ได้ยินว่าในอนาคตจะมีไส้พัฒนามาเพิ่มด้วย 

  

ความเรียบง่ายแต่ผ่านการคิดมากเหล่านี้ ไม่ใช่แค่อาหาร แต่ถูกส่งต่อมาถึงตัวร้าน คุณเจ-น้องชายของคุณนะผู้ซึ่งก็เรียนจบศิลปะมาเหมือนกัน ตอนแรกเขาทำหน้าที่ดูภาพรวมของร้าน แต่ตอนนี้มาเป็นคนช่วยทำโตเกียวเองแล้ว เนื่องจากคนไม่พอจริงๆ เขาคือคนออกแบบตัวการ์ตูนโลโก้น้องโตเกียวดุ๊กดิ๊กที่มักจะขี่ ’มอไซโผล่มาพร้อมกับผองเพื่อนไส้ต่างๆ ของเขา ความโซคิ้ว (So Cute) เหล่านี้นี่แหละที่ทำให้เราจำ Tokyo Hot  ได้ก่อนที่จะมีโอกาสได้มากินซะอีก

เมื่อคาแร็กเตอร์ของอาหารเป็นมิตรมาพร้อมกับคาแร็กเตอร์น่าเอ็นดูของร้าน นี่จึงเป็นส่วนผสมที่ดี

__________________________

บทที่ 2 : หาทำเล 

เจริญกรุงเป็นย่านชิคๆ

ร้าน Tokyo Hot คือห้องหนึ่งของตึกแถวหน้าแคบ แคบจนแทบจะต้องตะแคงตัวเดินเข้าไปโดยเฉพาะเวลามีคนออกันอยู่หน้าเตาเยอะๆ ภายในร้านแทบจะไม่มีการตกแต่งอะไรเลยนอกจากโต๊ะเก้าอี้ไม่กี่ตัว หรือจะเรียกให้ถูกก็คือม้านั่งง่ายๆ กับโต๊ะเล็กๆ พอหย่อนก้นได้ 

ส่วนเหตุผลที่ทั้ง 3 คนเลือกมาเปิดร้านตรงนี้ เพราะคุณนะและคุณจืดรู้จักกับศิลปินท่านหนึ่งผู้เป็นเจ้าของตึก ซึ่งเขาก็ชอบในไอเดียของธุรกิจโตเกียว และอยากให้ใช้เป็นพื้นที่ครีเอทีฟของคนที่อยากทำอะไรใหม่ๆ แตกต่างอยู่แล้ว 

ในย่านเจริญกรุงเกือบถึงตลาดน้อย ซึ่งเป็นย่านร่วมสมัยของชุมชนเก่า กับธุรกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็นที่พัก ร้านอาหาร บาร์ คาเฟ่ และบรรดานักท่องคาเฟ่ที่แห่แหนกันมา 

การมาของ Tokyo Hot เป็นความแปลกใหม่ที่ยังไม่เคยมีอยู่เหมือนกัน ทำให้ย่านนี้ดูเป็นมิตร เซ็กซี่น่าหยิกขึ้นกว่าเดิม

________________________________________

บทที่ 3 : เรียนรู้ความกดดัน

นั่นแหละคือความกดดันที่ฉันต้องทนต้องเจอ!

อย่างที่บอก พวกเขา 3 คน เป็นคนไม่เคยทำธุรกิจอะไรมาก่อนเลย นอกจากคุณจืดที่พอมีประสบการณ์การทำอาหารญี่ปุ่นขายมาบ้าง เจ้าของร้านบอกว่าการที่คนมากันเยอะขนาดนี้ถือว่าเหนือความคาดหมายมาก แต่มันก็มาพร้อมกับความกดดันมหาศาลที่ร้านยังจัดการระบบต่างๆ ได้ไม่ดีพอ ทั้งเรื่องเวลา และการรองรับลูกค้าจำนวนมากที่เข้ามาสั่งพร้อมๆ กัน มันเป็นอะไรที่ควบคุมยาก ไหนจะผลิตวัตถุดิบเองทั้งหมดหลังบ้าน แล้วเอามาทำหน้าเตา ยิ่งเมนูเยอะ รายละเอียดยิ่งเยอะ ถึงจะสต็อคของกันไว้ครั้งละไม่น้อย แต่บางทีก็ยังไม่พอ คนจะมากินแล้วของหมด ต้องกลับบ้านมือเปล่าก็มี 

ไหนจะคุณภาพของโตเกียวที่แม้เป็นอาหารทำมือ แต่ก็ควรจะต้องอร่อยเท่ากันทุกอันและทุกวัน ตามความคาดหวังของคนที่มารอกินอีก สิ่งสำคัญมากคือโตเกียวเป็นอาหารที่ต้องกินตอนยังร้อนๆ ทำเดี๋ยวนั้น กินเดี๋ยวนั้น จึงยืนยันว่าไม่มีนโยบายรับออร์เดอร์แบบ Delivery ไม่ว่าใครจะส่งพี่วินมายืนสั่งยังไงก็เถอะ เพราะโตเกียวอาจจะกร่อย เหี่ยว และไม่อร่อยอย่างที่ควรจะเป็น 

พวกเขาก็ยังคงพยายามสร้างร้านโตเกียวต่อไปเเบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความฝันของแต่ละคนว่ายังอยากทำงานศิลปะกันอยู่ หากมีโอกาสสักวันหนึ่ง แม้ว่าตอนนี้จะต้องเรียนรู้วิชาศิลปะประยุกต์ไปพร้อมกับวิชาธุรกิจ ที่พวกเขาไม่ได้คาดคิดมาก่อนก็ตาม  

สู้ต่อไปทาเคชิ!

Fun Fact :  ร้านปิดวันพฤหัสฯ และวันอาทิตย์ ถ้ามาช่วงวันจันทร์ถึงวันพุธคนจะซาหน่อย /จบ.

Tokyo Hot ซอยเจริญกรุง 24 เดินเข้าซอยไปนิดเดียว ไม่มีที่จอดรถจ้ะ

ร้านเปิดเวลา : 13:00 – 20:00 น.

โทร. 081-583-0408

https://www.facebook.com/tokyohotbkk/

RECOMMENDED CONTENT

14.ธันวาคม.2020

‘School Town King’ แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน เป็นหนังสารคดีที่สร้างจากเรื่องจริงของ ‘บุ๊ค’ เด็กหนุ่มวัย 18 และ ‘นนท์’ วัย 13 ผู้เติบโตมาในชุมชนคลองเตย หรือที่ใครๆ ต่างรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘สลัมคลองเตย’ นอกจากความยากจนที่มาพร้อมกับสถานะทางสังคมที่เลือกไม่ได้แล้ว ทั้งบุ๊คและนนท์ยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับระบบการศึกษา รวมทั้ง หลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นแต่ความสำเร็จเชิงวิชาการก็ยิ่งทำให้เด็กเรียนไม่เก่งอย่างพวกเขาขาดความสนใจในชั้นเรียนลงไปเรื่อยๆ  ระบบการศึกษาที่น่าจะเป็นความหวังและเท่าเทียมกันของเด็กทุกคน กลับยิ่งบีบบังคับและผลักไสให้พวกเขาเป็นแค่ ‘คนนอก’ ของสังคมไปโดยปริยาย