fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

รวบรวมเรื่องราวเบื้องหลังปกอัลบั้มร็อคสุดคลาสสิคที่คุณอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน!
date : 9.ธันวาคม.2014 tag :

การจะเป็นอัลบั้มที่ดีหรือที่ตราตรึงอยู่ในคนฟังได้ตลอดกาลนั้น นอกจากจะมีเพลงที่ดีแล้ว สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องมีตามมาคือหน้าปกอัลบั้มที่ดูยังไงก็ Iconic ลองสังเกตดูได้ อัลบั้มไหนที่ขึ้นหิ้งไม่เคยมีปกอัลบั้มแย่สักราย (หรืออาจจะมีแหละ แต่พอเพลงดียังไงคนฟังก็มองว่าดี) วันนี้เราจะมาไล่ดูกันว่า แต่ละปกอัลบั้มร็อคสุดคลาสสิคที่คอเพลงร็อคชื่นชอบกัน เบื้องหลังจะมีเรื่องราวอะไรกันบ้าง ขอแง้มว่าบางอันถึงขั้นไปถึงลัทธิซาตานอะไรกันเลยทีเดียว จะมีเรื่องไหนน่าสนใจขนาดเก็บเอาไปโม้ให้เพื่อนฟังบ้าง เราไปดูกันเลยดีกว่า…

null

Bob Dylan “Freewheelin” (1963)

อะไรมันจะ Simple ได้ขนาดนี้ เทียบกับอัลบั้มอื่นๆในยุคเดียวกันแล้ว ปกนี้ล้ำเจ้าอื่นไปสมควร ในสมัยนั้นการเป็นวงดนตรี ถ้าคุณไม่ยืนถ่ายแบบเรียงหน้ากระดานพร้อมจัดแสงแบบสตูดิโอโต้งๆ ก็ต้องโดดมาเป็นกราฟฟิกไซเคเดลิคหลอนๆเท่านั้น เรื่องราวของปกอัลบั้มนี้ ช่างภาพ Don Hunstein เล่าว่า ตอนนั้น Dylan อายุ 21 แฟนสาวของเขาอายุ 19 ท่ามกลางถนนที่มีหิมะเป็นรองพื้น “ผมไม่ได้ตั้งใจจะไปถ่ายปกอัลบั้มอะไรทั้งนั้น เท่าที่จำได้ผมพกฟิล์มสีไปม้วนเดียว แล้วรูปแต่ละรูปก็ออกมาไม่ได้ดีเท่าไร แต่มีรูปนี้ล่ะที่เวิร์ค” นี่ล่ะนะมนต์ของความรัก เพราะตอนนั้น Dylan กำลังอินเลิฟกับ Suze Rotolo หัวปรักหัวปรำ มีนักวิจารณ์บางคนนิยามได้อย่างสมบูรณ์แบบว่า ปกอัลบั้มนี้เป็นเหตุผลให้ผู้ชายชอบเดินล้วงกระเป๋า แล้วหวังว่าผู้หญิงจะเดินคล้องแขนเหมือนกับ Bob Dylan …เออ พอย้อนมองดูตัวเองแล้ว ถ้าจะจริงเหมือนกัน 🙂

null

The Beatles “Rubber Soul” (1965)

สำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวง 4 เต่าทอง จากวงป็อปหนุ่มหน้าใสจากเกาะอังกฤษ เข้าสู่วงโคจรไซเคเดลิคกันแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งนอกจากเพลงในอัลบั้มจะเป็นการเข้าสู่ยุคใหม่ของพวกเขา (ความสดของการทำอัลบั้มนี้ เผลอๆหลายคนยกให้มันเป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดของ The Beatles) ไอ้การวางรูปแบบเอียงๆอันนี้ ที่มามีอยู่ว่า ช่างภาพ Robert Freeman โชว์ฟิล์มสไลด์ของเขาด้วยการฉายโปรเจคเตอร์ ลงบนแผ่นปกอัลบั้มที่ทำขึ้นมา แต่ดันวางพลาดเอนหลังไปนิดทำให้รูปฉายออกมาเอียง Paul McCartney ก็ร้องออกมาว่า “เห้ยๆ นี่ล่ะๆ มันเหมือนว่า Rubber So-o-oulll เอียงๆดี นี่ล่ะ นี่ล่ะ ทำงี้ได้ไหมๆ!?” ในเวลาต่อมา George Harrison กล่าวเสริมว่า “มันเป็นอย่างนั้นล่ะ… นี่เป็นช่วงท่ีเราทิ้งลุคติ๋มของพวกเราไป แล้วเริ่มก้าวสู่การเป็นไอ้พวกเมาพี้กัญชากันอย่างเต็มรูปแบบ” ผลออกมาเป็นอัลบั้มหน้าเบี้ยวกันทั้งสี่คนแบบนี้

เกร็ดน่ารู้: อักษรย้อยชื่ออัลบั้มแบบไซเคเดลิคเมื่อกลับหัวส่องกระจก จะอ่านว่า “Road Abbey” โอ้พระเจ้าจอร์จมันยอดมาก!

null

The Velvet Underground “The Velvet Underground & Nico” (1967)

อัลบั้มแรกของวงร็อคที่ทั้ง Punk ทั้ง Art ทั้งเท่ไปด้วยในเวลาเดียวกัน อย่างที่ทราบกันดีว่า Lou Reed และคณะผองเพื่อนคือผลผลิตชิ้นงามจาก Warhol Factory ฉะนั้นแล้ว คนออกแบบอัลบั้มจะเป็นใครที่ไหนไปไม่ได้นอกจากมิสเตอร์ Andy Warhol ศิลปิน Pop Art ผู้โด่งดัง รูปกล้วยรูปนี้เป็นแม่พิมพ์ทำจาก Silkscreen เสร็จแล้วตามคำบอกบนหน้าปก “peel slowly and see” ที่เชิญชวนให้ปอกกล้วยออกมา ด้านในจะเป็นเนื้อสีชมพู (แปลว่าไรลองคิดกันเอาเอง) ซึ่งการผลิตของ Warhol Factory ในยุคนั้นเป็นแบบ Manual เป็นสติกเกอร์แปะแบบแฮนด์เมดโคตรคราฟท์ เมื่อค่ายเพลง Demand ให้ผลิตมากขึ้นในเวลาต่อมา ปกกล้วยนี้จึงลดขั้นตอนเหลือแค่รูปกล้วยสองมิติทิ้งให้คนสงสัยเท่านั้น (นั่นไงอะไรที่มัน Mass มันมักจะแย่ลงจริงๆ) ซึ่งถ้าตอนนี้คุณไปเจอหรือค้นพบว่าที่บ้านมีแผ่นเสียงปกแบบปอกกล้วยได้ ยินดีด้วยครับ นั่นแปลว่าคุณคือเศรษฐีข้ามคืนเข้าแล้ว เพราะปก Originial ตอนนี้ขายกันราคาแพงลิบลิ่วเลยทีเดียว

null

The Beatles “Abbey Road” (1969)

นี่คือปกอัลบั้มที่ถูกกล่าวขานว่า อมตะที่สุดตลอดกาล ปกเดินข้ามถนนของอัลบั้ม Abbey Road เกิดขึ้นจากภาพสเก็ตช์แบบไวๆของ Paul McCartney จากที่ตอนแรกพวกเขากะจะใช้ชื่ออัลบั้มนี้ว่า Everest และยกกองไปถ่ายกันถึงตีนเขาหิมาลัยอะไรก็ว่ากัน แต่สุดท้ายด้วยความที่อัลบั้มยืดเยื้อ ความสัมพันธ์ในวงเริ่มมึนงงถึงขีดสุด เพื่อจบอย่างรวดเร็วก็เลยออกมาถ่ายกันตรงหน้าสตูดิโอ Abbey Road และอัลบั้มก็ใช้ชื่อเดียวกันกับสตูดิโอมันไปซะเลย ตำนานเบื้องหลังของอัลบั้มนี้มีอยู่มากมาย ส่วนมากจะเกี่ยวกับแนวคิด Paul is Dead กระแสที่ว่า Paul ตายไปแล้ว จนถึงทุกวันนี้ก็มีหลายคนเชื่อว่า Paul ที่เดินโหยงเหยงทำเพลงอยู่ไม่ใช่ตัวจริง ทั้งการแต่งตัวของทั้งสี่คนในหน้าปก ที่ถูกตีความเชิงสัญลักษณ์กันว่า เริ่มตั้งแต่ George Harrison ในชุดยีนส์คนเดียวเป็นเหมือนคนขุดหลุมฝังศพ และ Paul ในชุดสูทไม่ใส่รองเท้าสื่อถึงคนตายแล้ว ความเชื่อที่เวลาลงโรงหรือขึ้นสวรรค์ไม่จำเป็นต้องมีรองเท้า Ringo Starr ในชุดสูทที่ดูเหมือนสัปเหร่อ และ John Lennon ในชุดขาวทั้งตัวที่เดินนำทางคือเทวดา ทั้งๆที่จริงๆแล้ว Paul ใส่รองเท้าแตะอยู่ 2 Shot แต่ตัดสินใจถอดออก หรือจะเป็นทะเบียนรถ 28IF ที่ตีความกันว่าถ้า Paul ยังมีชีวิตอยู่จะอายุครบ 28 พอดี ต่างๆนาๆก็คิดกันไปได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ท่ามกลางความไม่ลงรอยกันของวง แต่ผลงานสุดท้ายนี้คืออัลบั้มที่เป็น Masterpiece ที่สุดชุดหนึ่งของ 4 เต่าทองที่ไม่มีใครกล้าเถียงแน่นอน

null

Black Sabbath “Paranoid” (1970)

จุดกำเนิดของดนตรีเมทัลที่ใครหลายคนยกให้เป็นพระเจ้าของพวกเขา Paranoid คือ อัลบั้มที่สองของวงร็อคเกาะอังกฤษ Black Sabbth ที่ทำให้วงเพี๊ยนๆแต่ฝีมือระดับพระกาฬวงนี้กระโดดขึ้นมายืนเป็นวงร็อคระดับโลก (อ่ะ ตอนนั้นระดับอเมริกา-ยุโรปก็ได้) หลายคนที่คุ้นเคยกับปกอัลบั้มนี้คงสงสัยมาตลอดว่า แล้วพี่คนนี้แกมายืนแกว่งดาบอะไรคนเดียวในป่าตอนดึกๆ ที่มาก็คือตอนแรกพวกเขากะจะใช้ชื่ออัลบั้มว่า War Pig ตามหนึ่งใน Track Masterpiece ของอัลบั้มนี้ ทางค่ายเพลงก็จัดการเสร็จสรรพออกมาเป็นคนแต่งตัว ที่ Ozzy Osbourne ให้ความเห็นว่า มันจะเหมือนหมูก็ไม่เชิง หรือมันจะอวกาศก็ไม่ใช่ มายืนออกรบถือดาบโล่อยู่ ทางวงเห็นแล้วออกปากคำเดียวเลยคือไม่พอใจมาก แต่ก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เพราะขั้นตอนได้ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว สุดท้ายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะเลยลองเปลี่ยนชื่อเป็น Paranoid ซึ่งทางมือเบส Geezer Butler กล่าวเชิงขำๆว่า “จากที่มันไม่ค่อยรู้เรื่องอยู่แล้ว พอเปลี่ยนชื่ออัลบั้มแล้วใช้รูปเดิม มันกลายเป็นยิ่งไม่รู้เรื่องเข้าไปอีก”

null

The Who “Who’s Next” (1971)

มองครั้งแรก นี่ก็เป็นปกที่เท่ดี มีศิลปินวงร็อค 4 คนยืนแบบเท่ๆใน Landscape หินสีเทา พร้อมแท่งหินขนาดยักษ์รอการตีความจากคนดู วางทิ้งไว้สักวันนึง กลับมาตั้งใจมองไปอีกรอบ เริ่มสังเกตว่า เอ้ะทำไมท่าแอ็คของพวกเขาคล้ายๆกันเหมือนคาดเข็มขัดกันอยู่ โอเค พอมองรอบที่สามเท่านั้นล่ะ ถึงเก็ตว่า เห้ย พี่ๆแกเพิ่งฉี่รดต้นเสาเสร็จ! เบื้องหลังของปกนี้คือ แท่งหินที่ว่านี้มีอยู่จริงๆไม่ต้องเซตอัพ ที่ Easington Colliery ในอังกฤษ แล้วไอเดียการ Shooting ครั้งนี้ก็ไม่ได้มีสัญญะอะไรซับซ้อน ตามชื่ออัลบั้มคือ Who’s Next ใครจะเป็นคนต่อไปที่ได้ปล่อยของ (หรือฉี่นั่นล่ะ!) ตามคำบอกเล่าของช่างภาพเล่าว่า ในวันนั้นไม่ใช่ว่าใครทุกคนจะปล่อยของได้จริงๆ ทั้งวงเลยทำเป็นยืนเหมือนเสร็จภารกิจ เสร็จแล้วจึงค่อยนำน้ำมา Post-Process กันอีกที ต้องขอบคุณว่าถ้าไม่ใช่ปกนี้ พวกเขามี Draft สำรองอีกปก เป็นรูป Keith Moon มือกลองของวงใส่วิกผมในชุดชั้นในผู้หญิงสีดำ ในมือถือแซ่พร้อมหวด ว่า Who’s Next ใครจะโดนโหดรายต่อไป …ดีแล้วล่ะ ไม่งั้นนี่จะเป็นอีกอัลบั้มที่มีปกโคตรมั่วของวงการเพลงร็อคแน่ๆ

null

Pink Floyd “Dark Side of The Moon” (1973)

ฟังดูอาจเป็นเรื่องตลก ที่วงร็อคโปรเกรซีฟระดับตำนานมีวลีเด็ดคือ “We Don’t Need No Education” แต่ปกอัลบั้มที่ขายดีที่สุดและเป็นที่พูดถึงที่สุดของพวกเขาได้ไอเดียมาจาก ภาพประกอบในหนังสือเรียนเด็กประถม! Storm Thorgerson ศิลปินนักออกแบบคู่บุญของวง Pink Floyd ผู้อยู่เบื้องหลังปกอัลบั้มเจ๋งๆของวงแทบทั้งหมด เล่าว่า ผมไม่ได้มีไอเดียมาจากเพลงในอัลบั้มเลย เพราะในขณะทำเพลงกัน พวกเขาทั้งวงไม่ค่อยให้ใครเข้าไปยุ่งกับกระบวนการนี้ ไอเดียของปริซึ่มสุดแสนจะ Minimal และ Iconic จึงเกิดมาจากการตีความจากการ Live Performance ของ Pink Floyd ที่เต็มไปด้วยการแสดงแสงสีไฟมากมาย ในมุมมองของดีไซน์เนอร์ล้วนๆ เบื้องหลังความ Simple ของอัลบั้มนี้คือ วันที่ตัดสินใจทั้งวงรวมตัวกันลงมาจากห้องอัดมายืนเลือกกันอยู่ไม่ถึง 5 นาที จากแบบ Draft ที่ทำออกมาทั้งหมด 7 ชิ้น ทั้งวงตัดสินใจเลยว่ามันต้องเป็นหน้าปกนี้เท่านั้น เพราะในเวลานั้น 4 หนุ่ม Pink Floyd เบื่อหน่ายการเป็นปกอัลบั้มที่ต้องเป็นภาพถ่าย หรือการเป็นวงดนตรียืนเรียงกันเหลือเกิน ปก Dark Side of The Moon มันต้องเป็นแค่กราฟฟิกน้อยชิ้นและมีแบ็คกราวน์เป็นสีดำล้วนนี้เท่านั้น อืม ออกมาเป็นปกที่มองทีไรก็ต้องยกนิ้วให้ อัลบั้มที่มีดีทั้งเพลงทั้ง Artwork และการันตีด้วยยอดขายบน Billboard ยาวนานที่สุดในโลก นี่ล่ะครับ MASTERPIECE!

null

The Eagles “Hotel California” (1979)

อัลบั้มร็อคของ American Rock Band ที่ชาวอเมริกันภาคภูมิใจ ร้อยทั้งร้อยทุกคนต้องเคยฟังโซโล่กีตาร์สองตัวในเพลงชื่อเดียวกันกับอัลบั้ม ซึ่งเห็นหน้าปกเป็นภาพถ่ายช่วงอาทิตย์ตกสวยๆแบบนี้ สุดท้ายก็มีทฤษฎีความคิดเพี๊ยนๆเกิดขึ้นเช่นกัน (คนเรานี่ก็ช่างคิดกันจัง) หลังจากที่มีคนมือดีไปกรอฟังเพลง Hotel California แบบย้อนหลังแล้วค้นพบว่ามีสารลึกลับเกี่ยวกับซาตานปนอยู่ ภาพหน้าปกจึงถูกตีความว่านี่เป็นอาคารที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับคฤหาสน์ของ Anton Lavey เจ้าของลัทธิซาตานยุคใหม่ที่โด่งดังในเวลานั้น แล้วถ้าสังเกตให้ดีที่หน้าต่างจะพบกับปีศาจมีเขายืนอยู่ เห้ย! มันอาจจะเป็นเงาของ Maid ในโรงแรมก็ได้ล่ะม้างงง ท่ามกลางแนวคิดพิศดารทั้งปวง Don Henley มือกลองของ The Eagles ก็ออกมากล่าวว่า “มันไม่เกี่ยวอะไรทั้งนั้น นี่คือภาพของโรงแรมแห่งหนึ่งใน California เราตัดสินใจใช้มันเป็นปก ด้วยคอนเซปต์อัลบั้มนี้เราคือความเป็นเมือง ต่างจากอัลบั้ม Desperado คือความเป็นยุคคาวบอย” เป็นอันจบข่าวครับ

null

Nirvana “Nevermind” (1991)

เด็กใต้น้ำ แบงค์เกี่ยวไว้กับเบ็ด และ จู๋! สามคำนี้ใครได้ยินก็ต้องนึกถึงอัลบั้ม Breakthrough สู่ความสำเร็จของวงร็อคอัลเทอร์เนทีฟ “Nirvana” แรงบันดาลใจมาจาก Kurt Cobain ดูรายการทีวีเกี่ยวกับการคลอดทารกใต้น้ำ แล้วเกิดไอเดียเป็นภาพถ่ายเด็กว่ายน้ำขึ้น โอเค ก็ไปเฟ้นหาเด็กเบบี๋ในสระว่ายน้ำสำหรับทารก หลังจาก Shooting เสร็จเรียบร้อย ดีไซน์เนอร์ Robert Fisher เล่าว่าเขาได้โชว์รูปเบบี๋ว่ายน้ำให้กับวงดู พวกเขาชอบมากแต่รู้สึกเหมือนกันว่ามันยังไม่สุด พวกเรานั่งคิดกันอยู่นานว่ามันยังขาดอะไรอีก จน Kurt พูดเชิงขำๆว่ามันน่าจะมีเบ็ดตกปลาใส่เข้ามา แล้วก็เอาธนบัตรใส่เข้าไป ผลออกมาเป็นปกอัลบั้มตัวแทนจากยุค 90’s ที่โคตรจะคลาสสิคตลอดกาล  ทั้งๆที่ตอนแรกทางค่ายเพลงขอเซ็นเซอร์จู๋เด็กออก แต่ Kurt Cobain ก็ตอกกลับไปว่า “ถ้าใครเห็นไอ้จู๋เด็กนี่แล้วเกิดอารมณ์หรือคิดว่ามันอุบาทว์ นั่นก็แปลว่าไอ้หมอนั่นมันโรคจิตแล้วล่ะ!” ขอบคุณครับ Kurt

null

Radiohead “OK Computer” (1997)

ปกอัลบั้มสุดคลาสสิคของเจเนอเรชั่นเรา OK Computer ที่ดูแล้วเหมือนจะรู้เรื่องแต่ไม่รู้เรื่องในเวลาเดียวกัน เป็นผลงานการ Collage ตัดปะภาพด้วยคอมพิวเตอร์โดย Thom Yorke ทำเองกับมือ ซึ่งเป็นการหยิบเอาภาพสเก็ตช์ และภาพ Drawing ของ Stanley Donwood ผู้ออกแบบปกอื่นๆอย่าง Kid A และ The Bends มายำรวมกัน เขาให้ความหมายเกี่ยวกับปกนี้ในเชิงเสียดสีระบบบริโภคนิยมว่า “บางคนขายบางอย่างในสิ่งที่เขาเองก็ไม่ต้องการ ในขณะที่บางคนก็พยายามเป็นเพื่อนกับใครสักคนเพราะเพื่อจะขายบางอย่างให้ มันทั้งเศร้าและตลกในเวลาเดียวกัน” แถมยังกล่าวเสริมว่า “ภาพของปกอัลบั้มนี้อธิบายสิ่งที่ผมไม่ได้พูดออกมาในเพลงทั้งหมดของอัลบั้ม” ช่างลึกลับล้ำลึกสมกับเป็น Radiohead เสียจริงๆ

เกร็ดน่ารู้: ตอนพวกเขาออกทัวร์คอนเสิร์ต มีเด็กญี่ปุ่นคนหนึ่งตะโกนขึ้นมาลั่นร้านแผ่นเสียงว่า “OK COMPUTER!!!” แล้วทั้งร้านกว่า 500 คนก็ตะโกนกล่าวพร้อมๆกัน Thom Yorke ได้ยินแล้วชอบมาก แอบอัดเสียงกลับมาฟังแล้วฟังอีก จึงอดไม่ได้เอาเป็นชื่ออัลบั้มซะเลย

null

The Red Hot Chili Peppers “Californication” (1999)

เรานี่โคตรชอบเลยอะไรที่มันดูเรียบง่าย แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด จริงอยู่ที่มองในแง่ Artistic หรือศิลปะ งานชุด Californication อาจจะไม่ใช่ Masterpiece ของ RHCP ที่ครองใจนักวิจารณ์แน่นอน (ในมุมของนักวิจารณ์และคอเพลงคงต้องยกให้เป็น Blood Sugar Sex Magik หรืออัลบั้มแรกๆของพวกเขากับการเป็นวงร็อคฟังก์ที่โคตรโหด) แต่ใครจะว่าไงก็ช่างเถอะเพราะเจ้าตัว มือเบส Flea ก็กล่าวว่านี่เป็นงานที่เขาคิดว่าสมบูรณ์ที่สุดสำหรับวง และเถียงไม่ได้ว่า Californication คืออัลบั้มที่มีเพลงฮิตอัดแน่น และทำให้พวกเขากระโดดไปยืนอยู่ในระดับ Worldwide แบบชัดเจน เบื้องหลังปกอัลบั้มนี้ไม่มีใครทราบว่าคนออกแบบคิดอะไรอยู่ (อ่าว แล้วจะมาพูดทำไมเนี่ย!) แต่ถ้าจำไม่ผิดนี่น่าจะเป็นสระว่ายน้ำในบ้านของมือเบส Flea มองแว่บแรกนี่คือรูปถ่ายสระว่ายน้ำที่สวยดี แต่พอตั้งใจมองปึ้บ อ่าวเห้ย ท้องฟ้ามันมาอยู่ในสระ แล้วท้องน้ำมันไปอยู่บนฟ้านี่หว่า “Mindfuck” สุดท้ายผลลัพธ์ปกอัลบั้มนี้ จะด้วยเก้าอี้ จะด้วยสระน้ำ หรือด้วยอะไรก็แล้วแต่ ดูยังไงมันก็โคตรจะ California เลย

null

Arctic Monkeys “Whatever People Say I Am, That’s What I’m Not” (2006)

Debut อัลบั้มชื่อยาวเหยียดนี้ ทำให้ 4 หนุ่มเมืองเชฟฟิลด์กลายเป็นวงร็อคระดับโลกในช่วงพริบตา ครองตำแหน่งอัลบั้มที่มีการซื้อขายไวที่สุดบนเกาะอังกฤษ ย้อนกลับมามองทีไรคิดถึง mySpace ทุกที (คิดถึงทำไมเห็นเขาว่าจะกลับมาแล้วนี่) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เคยสงสัยกันไหมว่า แล้วพี่คนนี้มานั่งโช็คบุหรี่ใส่หน้าคนฟังเพลงทำไม เรื่องราวก็มาแบบง่ายๆทุนต่ำๆตามประสาวงร็อคอินดี้ ชายคนนี้คือหนึ่งในเพื่อนมั่วซั่วของวง (ไปสืบมาเขาคือนักร้องนำวงร็อคโคตรอินดี้เข้าไปอีก “The Violet May”) หลังจากที่ทางวงให้เงินเขาไปไม่ถึง 100 ให้เขาพาตัวเอง พาญาติพาเพื่อนพี่น้องไปเที่ยวกลางคืนมาทั้งคืน เช้ามืดก็มาจับถ่ายรูปในผับ (อังกฤษจริงๆ) ได้หน้ามึนเมากันแบบไม่ต้องบิวต์ และแน่นอนว่า ต้องมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า “ปกอัลบั้มนี้จะทำให้คนรู้สึกการสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติ” ผู้จัดการวงตอบกลับแบบตรงๆว่า “ก็ถ้าคุณเห็นรูปผู้ชายคนนี้ แล้วรู้สึกว่าสูบบุหรี่เป็นเรื่องที่ดี ก็เชิญเถอะ!”

Writer: Pakkawat Tanghom

RECOMMENDED CONTENT

12.กันยายน.2022

“TIME TO AWAKEN YOUR ZIMBE SPIRIT” ถึงเวลาเดินทางให้สุด ไม่หยุดไปต่อ เรื่องราวการปลุกจิตวิญญาณของนักเดินทางอย่าง ZIMBE (จิมเบ) พร้อมกับเพื่อนผู้สร้างตำนานการเดินทางร่วมกันอย่าง อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม ที่ครั้งนี้กลับมาในฐานะ Seiko brand friend คนแรกของปี 2022 และมาพร้อมเรื่องราวจากการกลับมาออกเดินทางอีกครั้ง หลังจากที่โลกหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง มาดูกันว่าในครั้งนี้ นักเดินทางผู้สร้างตำนานจะพาพวกเราไปเจอกับอะไรบ้าง?