หอศิลปวิทยนิทรรศน์ขอเชิญชม Dusadee + Dusit + Lovers + Dead Ones จัดโดย ดุษฎี ฮันตระกูล นิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่เป็นทั้งบันทึกความทรงจำและภาพสะท้อนความสัมพันธ์ที่ศิลปินมีกับเพื่อนศิลปินและบุคคลอันเป็นที่รัก ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และที่อำลาจากโลกนี้ไปแล้ว ผลงานขนาดย่อมที่ทำด้วยสื่อที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเซรามิก ภาพวาดด้วยดินสอ งานสิ่งพิมพ์ ภาพเขียน หินบะซอลต์ เงินธนบัตร แหวนทองและพลอย ทั้งของศิลปินเองและที่ขอแลกเปลี่ยนมา จะมาร่วมกันเล่าเรื่องราวที่เผยให้เห็นตัวตนและหนทางการทำงานศิลปะของศิลปินผู้นี้
ถ้อยแถลงศิลปิน
“ผมเริ่มแลกงานศิลปะและแรงงานกับเพื่อนศิลปินมาตั้งแต่ต้นปี 2554 นิทรรศการส่วนหนึ่งคือเรื่องนี้ ซึ่งการแลกเปลี่ยนนี้เองที่ทำให้ผมจำชีวิตรอบๆ ตัวผมได้ ทั้งนี้ยังมีเรื่องเฉพาะพื้นที่ ความจริงทางวัตถุ ความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายของคนและรูปทรง เศรษฐกิจ เทคโนโลยีในการสร้างงาน ประวัติศาสตร์ และพันธะอื่นๆ อีกส่วนหนึ่งผมได้เชิญคุณดุสิต ฮันตระกูล ซึ่งเป็นทั้งอาและคนทำงานศิลปะคนแรกที่ผมรู้จัก ให้เข้ามาร่วมงานนิทรรศการด้วย ในนิทรรศการ Dusadee + Dusit + Lovers + Dead Ones ผมยังมีการจัดแสดงภาพวาดความฝันถึงน้องชายที่เสียชีวิตไปแล้ว งานที่ทำด้วยดิน และงานสิ่งพิมพ์” ดุษฏี ฮันตระกูล
“การทำงานกับดินอ่อนๆ ในมือ มันตื่นเต้น ทำๆ ไป รูปทรงมันเถลไถลออกนอกความคิด ไม่ว่าจะเคร่งครัดกับความตั้งใจเพียงไร ก็ฝืนไม่อยู่ ในที่สุด… ไม่เคยได้สาระอะไรมากไปกว่าบทสนทนากัน ระหว่างฉันกับเธอ ดินกับคน ธาตุหนึ่งกับอีกธาตุหนึ่ง ไม่มีลัทธิ ไม่มีหลักการ ไม่ต้องขึ้นต้นหรือลงท้าย” ดุสิต ฮันตระกูล
ศิลปินที่มีผลงานร่วมแสดง เช่น นิธิ ฮันตระกูล, ประทีป สุธาทองไทย, ธิติบดี รุ่งธีรวัฒนานนท์, ไมเคิล เชาวนาศัย, ลี อนันตวัฒน์, Alicia McCarthy, Anne Walsh, Ariane Vielmetter, Craig Nagasawa, Ehren Tool, Katherine Sherwood, Liz Keegan, Nancy White,Adam Machacek, Richard Shaw, Robert Smithson และ Sahar Khoury
Dusadee + Dusit + Lovers + Dead Ones
ดุษฎี + ดุสิต + คนรัก + คนตาย
ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แสดงงาน 16 กุมภาพันธ์ – 9 เมษายน 2559
Facebook: https://www.facebook.com/theartcenterchula/
RECOMMENDED CONTENT
เป็นครั้งแรกที่บริษัทผู้สร้างตัวอักษรที่เก่าแก่ที่สุดอย่าง Monotype ได้ทำการออกแบบตกแต่งตัวชุดอักษรที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลกอย่าง Helvetica หลังจากที่พยายามปลุกปล้ำกันอยู่นานกว่าสองปีเพื่อที่จะปรับปรุงชุดตัวอักษรที่เป็นเอกลักษณ์ตามแบบ swizz font