จาก 1-10 คุณให้คะแนนความเจ็บปวดอยู่ที่เท่าไร?
เคยโดนถามคำถามนี้บ้างมั้ย เราเชื่อใครที่เคยผ่านการเจ็บป่วยร่างกายในระดับหนึ่ง คงต้องเคยโดนหมอหรือคนรอบข้างถามซ้ำๆ คาดคั้นให้เราบอกเลเวลของความไม่สบายออกมาเป็นตัวเลขให้ได้ ทั้งที่เราเองก็ไม่รู้จริงๆ ว่าไอ้ความเจ็บป่วยของเรามัน’เวลไหนกันแน่ เอาเถอะ ตอบไปให้จบๆ 7, 8, 9, …
ในเมื่อความรู้สึกเจ็บปวดไม่ว่าทางกายหรือใจคือนามธรรมของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน ความเจ็บระดับ 10 ของเราอาจเท่ากับ 5 ของคนอื่น เราจะบรรยายมันออกมายังไงให้คนอื่นเข้าใจ?
“เราเอาทฤษฎีหนึ่งของคาร์ล มาร์กซ (Karl Marx) ที่บอกว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งถ้าถูกผลิตซ้ำ คุณค่าของมันจะลดลง’ มาสนับสนุนเรื่องของเรา ถ้าสามารถเล่าเรื่องบางเรื่องซ้ำๆ ได้ คุณค่าความเจ็บปวดก็จะอาจลดลง ไม่ได้หมายความว่าความเจ็บปวดของเราไม่มีค่านะ แต่เราจะรู้สึกถึงการมีอยู่ของมันลดน้อยลง”
เรามองขนตางอนๆ ของสาวลูกครึ่งอังกฤษวัย 22 ขณะเธอกำลังวิเคราะห์ความเจ็บปวดของตัวเอง
ชีวิตของเธอก็คงเหมือนเด็กสาววัยรุ่นคนอื่นๆ ที่น่าจะเต็มไปด้วยความสดใสและความหวังของวันพรุ่งนี้ แต่โชคร้าย ใครบางคนกลับริบมันไปจากเธอโดยไม่ได้ขออนุญาต
สิ่งที่เธอทำได้คือยอมรับและก้มหน้าก้มตาอยู่กับความเจ็บปวดของตัวเองมานานหลายต่อหลายปีไม่ให้ใครรับรู้ แม้การเอ่ยเป็นคำพูดก็ยังยากเกินไป…
‘Post rape; The power of the muted voice’ นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในชีวิตของ เดมี่ จิราพร มอร์ (Demi Jeeraporn Moore) รวบรวมความรู้สึกของบรรดา ‘เหยื่อ’ ซึ่งเคยผ่านประสบการณ์การถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ ประสบการณ์ที่ไม่มีใครอยากเจอ เมื่อมันเกิด ผลกระทบที่ตามมาหลังจากนั้นกลับกลายเป็นความเงียบที่คุกรุ่นรุนแรง รอการระเบิดออกมา
เดมี่ มอร์ เรียนจบวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นิทรรรศการ Post Rape เซ็ตนี้เป็นโปรเจ็กต์ธีสิสที่เธอทำก่อนเรียนจบด้านกราฟิกดีไซน์และการออกแบบสื่อ
แต่การเล่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เธอจึงเลือกใช้ไฟน์อาร์ตในการเล่าเเทน เพราะต้องใช้เวลาในการสื่อสารและรับรู้มากกว่า พรสวรรค์ที่เราเห็นในตัวเธออย่างหนึ่งคือการเป็นนักเล่าเรื่องและนักเรียบเรียงที่ดีมากคนหนึ่ง
เดมี่บอกกับเราว่า ถ้าตัดเรื่องความเจ็บปวดออกไป เธอสนุกกับโปรเจ็กต์นี้มาก และมักจะได้ Input ใหม่ๆ ระหว่างทำงาน เพราะเป็นเรื่องของตัวเอง เธออยากทำให้มันออกมาสมบูรณ์ที่สุด
เหตุการณ์เกิดขึ้นและผ่านมานานหลายปี ทำไมอยู่ๆ ถึงลุกขึ้นมาเล่าเรื่องตัวเองทั้งที่ไม่เคยพูดเลย?
ก่อนหน้านี้เราไม่เคยคิดอยากเล่าเรื่องของตัวเองเลย ช่วงเเรกที่เริ่มเล่าก็ไม่ค่อยดีเท่าไร เราเป็นแพนิค (Panic Attack) เวลาพูดถึงเรื่องนั้นจะร้องไห้ ตัวสั่น เครียด มันเกิดจากความทรมานของเรา เราอยากหยุดเป็นแบบนี้
เราเลยเอาทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ (Karl Marx) มาคิดต่อ มันทำให้เรากล้าเผชิญหน้ากับปัญหาของตัวเองแบบ Functional มากขึ้น เช่น 1.ปัญหาเราเกิดจากอะไร 2.เราจะแก้มันยังไง แบบนั้นเลย
ยากมั้ยกับการที่จะต้องยอมรับว่าตัวเองมีปัญหา?
ในวันแย่ๆ เราถามตัวเองตลอดว่า ‘Why can’t I be normal?’ สงสัยว่าอะไรที่มันผิดปกติในตัวเรา
เราแพนิคโดยไม่เข้าใจด้วยซำ้ว่ามันเกิดจากอะไร จนวันหนึ่งบังเอิญเดินไปเจอ ‘เขา’ คนที่ทำให้เกิดเรื่องทั้งหมด เขาเดินเข้ามาหาเราแล้วบอกว่า ‘ตอนนั้น… ขอโทษนะ…’
มันเหมือนอาการทั้งหมดกลับมาตอกย้ำเราปังเดียว เราพัง ร้องไห้ หลังจากนั้นมันทำให้เราเข้าใจเลยว่าอาการทั้งหมดนี้มาจากไอ้เหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็น 10 ปีนั่นเอง
ในเมื่อเราเองก็ไม่ชอบอาการแพนิคต่อหน้าคนอื่น แล้วเราก็จัดการมันไม่ค่อยได้ด้วย แต่เราอยากจัดการมันได้ ถ้าจะแลกด้วยการที่ต้องเล่าเรื่องๆ หนึ่งออกไป แล้วทำให้เรากลายเป็นคนใหม่แบบที่เราอยากเป็น เราโอเคนะ
เคยมีความรู้สึกมั้ยว่าทำไมเรื่องแบบนี้ต้องเกิดขึ้นกับเรา?
ไม่นะ คิดว่าเป็นเหมือนอีเว้นต์หนึ่งในชีวิตมากกว่า โอเค เราอาจโชคร้ายที่เจอก็จริง แต่ทำไมเราแค่ใช้ชีวิตต่อไปเป็นปกติไม่ได้วะ แค่ตื่นเช้า ไปทำงาน กลับบ้าน นอน ทำไมเราต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ ทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากนั่งแพนิคกับตัวเอง
อะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้?
เริ่มมาจากเรามีเวลาหนึ่งปีครึ่งสำหรับการทำธีสิส อยากทำหัวข้ออะไรที่ในหนึ่งปีนั้นเราจะไม่มีทางเบื่อมันเลย แล้วเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่เรารู้สึกที่สุดในชีวิต
ช่วงแรกที่ทำงานก็ทรมานอยู่เหมือนกัน แต่เพื่อที่จะผ่านมันไปได้ เราคิดว่าอาจต้องยอมทรมานไปก่อน แล้วจะเข้มแข็งขึ้น เหมือนเป็นการบังคับตัวเองให้ผ่านไปให้ได้
ข้อดีคือพอกลายมาเป็นงาน มันบังคับให้เราต้องเล่าซ้ำ เรากลับรู้สึกดีขึ้นเรื่อยๆ พอผ่านการเล่าครั้งแรกมาได้ มันก็ไม่ได้ยากเท่าไรแล้ว
In a world of pain : วัตถุดิบของความเจ็บปวด
ผ้าผืนสีแดงผืนยาวห้อยระโยงอยู่บนผนังด้านหนึ่งของแกลเกลอรี่ ศิลปินขอให้เหยื่อที่เธอไปคุยด้วยช่วยส่งเศษผ้าของเขามาให้เธอ พอได้เศษผ้า เธอนำมันมาผ่านผ่านเทคนิคไซยาโนไทป์ (Cyanotype) หรือการพิมพ์สีด้วยแสง ซึ่งเธอได้ไอเดียนี้มาจาก Ink Blot Test เครื่องมือที่จิตแพทย์ใช้หมึกสีในการทดสอบรูปภาพที่ผู้ป่วยมองเห็น แล้วมีช้อยส์ให้ผู้ป่วยเลือกว่ามองเห็นรูปอะไร เธอคิดว่าวิธีนี้โบราณ ไม่ตอบสิ่งที่คนอยากจะพูด เธอเลยให้พวกเขาวาดรูปแทน โดยไม่ได้ต้องการจะวิเคราะห์อะไร แค่อยากให้วาดสิ่งที่คิดออกมา
รูปที่ได้เมื่อนำมาผ่านกระบวนการพิมพ์ด้วยเเสงลงบนผ้า จากนั้นก็ซักอีกที ปรากฏว่ารูปที่พิมพ์ลงไปบนผ้าหลุดหายไป ตอนแรกเธอกังวลว่าแบบนี้งานที่ทำมาทั้งหมดจะเท่ากับ 0 หรือเปล่า แต่ไม่เลย ทั้งหมดซึมลงในเส้นด้ายไปแล้ว
ศิลปินบอกว่า ผ้าที่ซัก ไม่ได้ซักด้วยน้ำยาธรรมดา แต่ซักด้วย Anti-depressant หรือยาแก้โรคซึมเศร้า… เหมือนกับความทรงจำที่มันได้ซึมลงไปในตัวเหยื่อหลังนั้น แม้จะพยายามลบก็อาจไม่มีวันออกไม่หมด ทำได้แค่เหลือรอยจางๆ ไว้
นี่จึงเป็นผ้าที่ถูกถักทอขึ้นจากความเจ็บปวดของเหยื่อเข้าไว้ด้วยกัน
ศิลปินสร้าง Method Book ขึ้นมาเล่มหนึ่ง ในนั้นมีหน้ากระดาษเปล่าว่างๆ สำหรับเขียนเล่าเรื่องลงไป โดยไม่จำเป็นต้องเล่าเหตุการณ์ทั้งหมด เขียนแค่ความรู้สึก หรือสิ่งที่คิดหลังจากนั้น
เธอต้องการ Material หลายอย่างจากเหยื่อที่เธอไปคุยด้วย ทั้งผ้า รูปวาด เรื่องราว และสุดท้ายคือขอบันทึกเสียง ซึ่งมันค่อนข้างเยอะไปสำหรับคนๆ หนึ่งจะให้ Material พวกนี้ทั้งหมด เธอเลยเปลี่ยนเป็นว่า งั้นใครสบายใจจะให้อะไร ก็เอาแค่นั้น วัตถุดิบที่ได้ของแต่ละคนจึงครบถ้วนบ้าง ขาดบ้าง บางคนไม่อยากเล่า อยากวาดรูป บางคนอยู่ไกล ขออัดเสียงส่งไฟล์มาให้แทน
เสียงเป็นเรื่องน่าสนใจอีกอย่าง เพราะเวลาคนเราเล่าเรื่องปกติกเช่นแนะนำตัว เป็นใคร ทำงานอะไร เส้นเสียงจะปกติ แต่พอพูดถึงเหตุการณ์ที่เลวร้าย เส้นเสียงจะเปลี่ยนไปทันที เสียงจะเบาลง ช้าลง ไม่หนักแน่น ตะกุกตะกัก แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่ปลอดภัยขณะพูดถึงสิ่งนั้น เธอเอาเสียงของแต่ละคนมาเข้าโปรเเกรมมาวิเคราะห์เส้นเสียงเวิร์กกับมันต่อจนออกมาเป็นงาน
“People writing songs that voices never share
No one dared Disturb the sound of silence… “
Sound of Silence : เสียงของความเงียบ
ไฟนีออนสีแดงมัวๆ ภายในแกลเลอรี่ ทำให้เราต้องหยีตาอ่านข้อความบนผนังที่เรียบเรียงจากคำบอกเล่าของเหยื่อแต่ละคนที่ศิลปินไปสัมภาษณ์ด้วยตัวเอง บางคนเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดอย่างละเอียด บางหน้ากระดาษเป็นบันทึกของผู้เป็นแม่ที่ลูกตัวเองถูกคุกคาม บางคนสรุปความรู้สึกเหลือประโยคเดียวที่อ่านแล้วเงียบงัน แต่เป็นความเงียบงันแสนเจ็บปวด
ทำยังไงให้คนยอมเล่าเรื่องส่วนตัวมากๆ ทั้งหมดนี้ออกมา?
ทุกรอบที่เราไปสัมภาษณ์ เราไม่เคยบอกเลยว่าเราจะมาทำงาน พยายามทำให้เหมือนเป็นการชวนเพื่อนคุยมากกว่า เราเองก็เล่าเหตุการณ์ที่ตัวเองเจอแบบละเอียดมากๆ ให้เขาฟัง เพื่อให้เขารู้สึกว่า การพูดออกมาก็ไม่ได้แย่นี่นะ เราพบว่าคนส่วนใหญ่อยากเล่า แต่มันเรียบเรียงยากสำหรับเขา เขาแค่ไม่รู้จะเริ่มยังไง
เรื่องเล่าของคนอื่นส่งผลต่อคุณยังไงบ้าง?
ถ้าไม่มีเรื่องของคนอื่น มันก็จะมีแต่เราคนเดียว ความเจ็บปวดของเราคนเดียว เหมือนตะโกนกับตัวเอง ซึ่งไม่มีผลต่อใครเลย พอเป็นคนหลายๆ คน เป็นหลายๆ เสียง เสียงก็ดังขึ้น พูดอะไรได้เยอะขึ้น มันทำให้รู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว ยังมีคนอีกเยอะที่เจอเหตุการณ์คล้ายกับเรานะ
มันทำให้รูสึกดีขึ้นมั้ย?
มันทำให้เรามีโซลูชั่นที่หลากหลายขึ้น เช่นถ้าเราผ่านเรื่องนี้มาได้ เราจะรู้วิธีจัดการกับมันเเล้ว อีกคนผ่านอีกเรื่องมา พอเราไปเจอเขา เขาก็สามารถแชร์ให้เราฟังว่า เออ เรื่องนี้มันจัดการแบบนี้ได้นะ เรารู้สึกครบถ้วนมากขึ้น
เคยมั้ยที่รู้สึกยอมแพ้ระหว่างทาง?
มีบ้างตอนเริ่มทำโปรเจ็กต์แรกๆ เรายังไม่เก่งเรื่องการเล่าเรื่อง แต่ไม่เคยคิดจะเลิกทำเลยนะ เพราะตั้งใจมากๆ ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะทำเรื่องนี้ ในเมื่อเป็นเรื่องส่วนตัว จึงรู้สึกว่าถ้าล้มเหลวกับมัน มันเหมือนเราล้มเหลวกับความรู้สึกตัวเองด้วย
คิดว่าอะไรทำให้ผ่านมันมาได้?
สาเหตุหนึ่งคงเพราะเราทำให้เป็นงาน ถ้ามันไม่เป็นงาน เราจะไม่กระตือรือร้นที่จะเล่าขนาดนี้ เราต้องผลักตัวเองให้ทำไปเรื่อยๆ หยุดไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเราจะทรมานมากระหว่างกระบวนการของมัน ซึ่งก็ถือว่าเข้มเข็งขึ้นมาก หลังจากปฏิเสธที่จะพูดถึงมาหลายปี เราดีขึ้นภายในปีครึ่งที่ทำโปรเจ็กต์นี้เลย
คนรอบข้างที่ไม่เคยรู้เรื่องนี้เลย เขาว่ายังไงบ้าง?
คนที่ไม่เคยรู้เลยเขาก็ตกใจ แต่คนที่เป็นห่วงมากที่สุดตั้งแต่เริ่มทำโปรเจ็กต์นี้คือแม่ ก่อนหน้านั้น แม่เขาชอบเอาเรื่องคนๆ นั้นมาเล่า ประมาณว่าบังเอิญเจอกัน เหมือนทุกวันนี้เขาก็ยังอยู่ในเชียงใหม่ และทุกรอบที่เจอ ด้วยความเป็นแม่ เขาก็จะเล่าด้วยความโกรธ แล้วเราก็จะแสดงออกด้วยวิธีที่แย่กว่าคือจะโกรธมาก ‘ไม่ได้อยากรู้ ไม่ต้องเล่า’ แบบนั้นเลย
จำได้ว่าตอนเราบอกเขาว่าจะทำงานเรื่องนี้ เขาเงียบไปเลย ถามว่าเราโอเคจริงเหรอ แล้วเขาก็ร้องไห้ บอกกับเราว่า ‘I’m so pround of you.’ ช่วงที่ทำงานนี้ แม่จะโทรหาบ่อยมากกก ‘ยูอยู่ไหน ทำอะไร โอเครึเปล่า’ (หัวเราะ)
อยากให้งานของคุณพูดอะไรกับคนอื่น?
เราแค่คิดจะ Be Honest กับตัวเองเท่านั้น ไม่เคยคิดจะเป็นเสียงของใครเลย มันเริ่มมาจากเราที่แท้จริง อาจฟังแล้วเห็นแก่ตัวนะ แต่เป็นเรื่องจริงที่แค่อยากรักษาตัวเองให้ดีขึ้น ผลพลอยได้ที่ได้กลับมามากกว่าการเยียวยาตัวเองคือ เราสามารถรับรู้เรื่องของคนอื่นด้วย ดีใจที่ทุกคนพร้อมจะมีส่วนร่วมกับมัน เราขอบคุณทุกคนที่ทำให้เรื่องนี้ไม่ได้มีแค่เราคนเดียว
จะบอกอะไรกับคนที่เคยเจอเหตุการณ์แบนี้ แต่เขายังไม่เข้มเเข็งพอเหมือนกับคุณ?
เข้าใจนะว่าบางคนอาจไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นปัญหา ซึ่งก็ไม่เป็นไรถ้าเขายังใช้ชีวิตต่อไปได้ แต่ถ้าเมื่อไรรู้สึกว่าเป็นปัญหา อาจต้องจัดการกับตัวเองก่อน
สำหรับเรา เราใช้ชีวิตกับการคิดว่า ‘What the worse that could happen?’ มาตลอด ถ้าตัดสินใจกับเรื่องบางเรื่องไปแล้วว่าจะทำ ว่าจะพูดมันออกมา ว่าเราจะเป็นคนใหม่ มันจะแย่สักแค่ไหนกันเชียว ถ้ามันแย่จริงๆ ก็แค่หยุดแล้วเริ่มใหม่ได้นี่ ยังไงมันก็คือชีวิตเรา
ถ้าให้คะแนนตัวเอง ความเจ็บปวดจะเหลือเท่าไรแล้วในวันนี้?
เราว่าความเจ็บปวดมันไม่หายไปหรอก ยิ่งเราปฏิเสธมัน มันยิ่งแข็งแรงขึ้น แค่ยอมรับว่าสิ่งนั้นเคยเกิดขึ้นจริง และมันก็ผ่านไปแล้ว เราทำอะไรกับมันไม่ได้ ที่เหลือคือเราจะทำยังไงต่อจากนี้
เหตุผลที่คนเป็นศิลปินมักเลือกเอาเรื่องความเจ็บปวดของตัวเองมาทำงาน เพราะเป็นวิธีเดียวที่เขาจะรับมือกับมันได้ คือการเอาความเจ็บปวดมาสร้างเป็นสิ่งสวยงาม จริงๆ แล้วอะไรที่แย่ๆ ในชีวิต มันก็สวยงามนะ เราเลยขอตอบว่าไม่ได้เจ็บปวดน้อยลงหรอก แต่เราเปลี่ยนมันให้สวยงาม และอยู่กับมันต่อไปได้
นิทรรศการ Post rape; The power of the muted voice
โดย Demi Jeeraporn Moore
จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – 18 สิงหาคม 2562
สามารถเข้าชมนิทรรศการได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.30-19.00 น.
(ยกเว้นวันจันทร์) ** นิทรรศการเข้าชมฟรี
https://www.facebook.com/Kinjaicontemporary/
RECOMMENDED CONTENT
Midea Group จับมือกับ “บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ” ผู้กำกับมากฝีมือจากภาพยนตร์เรื่องฉลาดเกมส์โกง และ เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน กรุงเทพฯ สร้างสรรค์ผลงานโฆษณา จากเรื่องจริงสร้างแรงบันดาลใจให้ลุกขึ้นสู้เพื่อความฝันของนางแบบสาวชาวบราซิล Paola Antonini ที่ประสบอุบัติเหตุต้องใส่ขาเทียม