fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#MUSICVIDEO — เมื่อ Beyoncé และ Jay–Z (aka The Carters) บุกพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ เพื่อท้าทายประวัติศาสตร์ศิลปะแบบตะวันตกในมิวสิควิดีโอเพลง APESHIT
date : 18.มิถุนายน.2018 tag :

ทุกวันนี้ศิลปะในการผลิตมิวสิควิดีโอนั้นถือว่าก้าวหน้าไปอย่างมาก ทั้งในเรื่องเทคนิคและวิธีการเล่า ที่ศิลปินไม่น้อยให้ความสำคัญกับมันไม่แพ้ตัวเพลงที่พวกเขาทำ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดและเพิ่งผ่านกระแสนี้ไปหมาดๆ ก็คือกระแสมิวสิควิดีโอเพลง This Is America ของ Childish Gambino ที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์มากมาย อย่างที่เห็นกันแบบง่ายที่สุด คือการที่มิวสิควิดีโอเพลงนี้ ประชดประชันประเด็นของกฏหมายครอบครองอาวุธปืนในอเมริกา และไม่ต่างอะไรกับการส่งสารทางการเมืองและสังคม

ตัวอย่างที่ชัดเจนยิ่งกว่านั้น คือในขณะที่ศิลปินผิวขาวจากฝั่งตะวันตกมักผลิตมิวสิควิดีโอที่ไม่ค่อยมีประเด็นทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก อาทิ หมวดชีวิตมหาวิทยาลัย ความรักในวัยรุ่นอะไรทำนองนั้น แต่ศิลปินผิวขาวระดับไอค่อนก็มักเลือกเอาประเด็นหนักๆ มาแตกยอดให้กลายเป็นเพลงป็อบจ๋า ไม่ว่าจะเป็น Fight Song หรือ Firework ที่สนับสนุนให้ทุกคนเห็นคุณค่าในตัวเอง และกล้าที่จะยืนหยัดกับกระแสสังคม ส่วนศิลปินผิวสี โดยเฉพาะสายฮิปฮอปหรืออาร์แอนด์บี ก็มักที่จะทำเอ็มวีสะท้อนสังคมมากกว่า ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าตัวเพลงที่สะท้อนสังคมอยู่แล้วด้วยนั่นเอง

ล่าสุด ศิลปินผิวสีคู่สามีภรรยาระดับไอค่อนอย่าง Beyoncé และ Jay–Z ก็ได้ปล่อยมิวสิควิดีโอเพลงแรกภายใต้ชื่อโปรเจ็กต์เฉพาะกิจนี้ว่า The Carters ซึ่งเป็นการร่วมงานกันครั้งแรกของทั้งคู่ กับอัลบั้มชื่อ Everything Is Love ส่วนเพลงแรกสุดที่ปล่อยนี้ก็คือเพลง APESHIT ความยาวทั้งสิ้น 6 นาทีกับอีก 5 วินาที

ซึ่งถ้าดูแบบคร่าวๆ ไม่คิดอะไรเลย มิวสิควิดีโอนี้ก็คือให้ทั้ง Bey และ Jay ได้ยึดครองพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ใจกลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้จัดแสดง performance art จำนวนมากต่อหน้าผลงานศิลปะระดับตำนานที่อยู่ภายใน

คำถามคือ จุดมุ่งหมายของมิวสิควิดีโอนี้คืออะไรกันแน่

สื่อหลายสำนักวิเคราะห์ตรงกันว่า มันคือการท้าทายประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างประชดประชัน เพราะผลงานศิลปะในลูฟว์นั้นเต็มไปด้วยผลงานจากศิลปินผิวขาว (แม้แต่แบบที่อยู่ในภาพก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนผิวขาว) ในขณะที่การเข้าไป takeover ลูฟว์ในครั้งนี้ของทั้งสอง ก็เปรียบได้กับการไปยืนเย้ยหยันอย่างท้าทายว่า ฉันนี่แหละผลงานศิลปะ และฉันนี่แหละคนดำ!

มิวสิควิดีโอชิ้นนี้กำกับโดย Ricky Saiz ซึ่งเคยร่วมงานกับ Beyoncé มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่แน่นอนล่ะว่าเจ้าของไอเดียหลักของการมิวสิควิดีโอชิ้นนี้ก็ต้องเป็นตัว Bey และ Jay เป็นแน่แท้

ถ้าได้ลองฟังเพลงและแกะเนื้อร้องดีๆ จะพบว่าทั้งคู่สอดแทรกประเด็นเอาไว้ค่อนข้างละเอียด แต่ก็ไม่ลืมที่จะพูดถึงการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์แบบสุดโต่งของทั้งคู่ ทั้งเรื่องการกลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วยิ่งกว่ารถหรูแลมโบกินี่ หรือเรื่องที่ Beyoncé ซื้อเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว เป็นของขวัญให้แก่ Jay–Z เมื่อวันพ่อปี 2012 เป็นต้น คล้ายจะเป็นการโชว์พาวเวอร์ว่า คนผิวสีก็สร้างประวัติศาสตร์ได้เช่นกัน

มาที่ตัวมิวสิควิดีโอ ก่อนหน้านี้มีการปล่อยปกอัลบั้ม Everything Is Love ออกมา ซึ่งเป็นภาพปกที่ข้างหลังคือผลงานที่ไม่มีใครไม่รู้จักอย่าง ‘Mona Lisa’ ของ Leonardo Da Vinci ซึ่งตั้งอยู่ในห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สิ่งที่เราสงสัยมากก็คือว่า ทางลูฟว์จะว่าอย่างไร เพราะมิวสิควิดีโอนี้ตั้งใจวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์ศิลปะในยุค Neo-Classic อยากชัดแจ้งและชัดเจน

ภาพเปิดที่การสาดแสดลงบนห้องโถงนโปเลียน ซึ่งหลายคนตีความว่ามันคือการนำไปสู่ประเด็นการล่าอาณานิคม การค้าทาส และการกดขี่คนผิวสีในตะวันตก หลังจากนั้นภาพก็ตัดไปที่ Beyoncé และ Jay–Z ที่ยืนอยู่ในชุดเรียบหรูดูแพง หน้าภาพวาดโมนาลิซ่า ในช่วงเวลาที่ไม่มีผู้เข้าชม และตัดสลับไปมาระหว่างรายละเอียดในภาพวาด กับ performance ที่เกิดขึ้นต่อหน้าภาพวาดและผลงานศิลปะชิ้นสำคัญๆ ระดับมาสเตอร์พีซต่างๆ อาทิ

Winged Victory of Samothrace — หรือที่หลายคนเรียกชื่อเล่นมันว่า Nike คือประติมากรรมจากยุค Hellenistic ที่ทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะในสงครามทางเรือ เมื่อ Bey และ Jay มายืนเบื้องหน้าประติมากรรมนี้ พร้อมมุมกล้องที่เหมือนทั้งคู่กำลังบังคับให้เหล่าแดนเซอร์ผิวสีเคลื่อนไหวอย่างพร้อมเพรียงกัน ก็สื่อถึงพลังอำนาจในแบบที่ Beyoncé มีในยุคปัจจุบันแล้ว

• The Coronation of Napoleon — ภาพวาดขนาดใหญ่ยักษ์ ที่ Jacques-Louis David หยิบยกเอาช่วงเวลาที่จักรพรรดินโปเลียนที่หนึ่งสถาปนาจักรพรรดินี Joséphine โดยการพระราชทานมงกุฏแทนพระสันตปาปา มาไว้ในภาพ ขณะที่ Beyoncé และแดนเซอร์ในชุดแนบเนื้อผิวสีนู้ด ต่างเต้นรำอยู่เบื้องหน้า หลายสื่อวิเคราะห์ว่า Beyoncé อาจกำลังต้องการสื่อว่าตัวเองก็เปรียบได้กับคนที่ได้อำนาจบางอย่างมาใช้ในชีวิตเหมือนกัน

Venus De Milo — รูปปั้นนางวีนัส ผลงานชิ้นสำคัญในห้องประติมากรรมจากยุคกรีก–โรมัน ถูกเลียนแบบวิธีการโพสโดย Beyoncé ซึ่งสวมใส่ชุดแนบเนื้อสีนู้ด เพื่อสื่อว่าตัวเธอเองก็เปรียบได้กับเทพีแห่งความงามและชัยชนะอย่างวีนัส แต่เพียงแค่เธอเป็นคนผิวสีเท่านั้น

• Portrait of a Black Woman (Negress) — ความน่าสนใจของภาพนี้ก็คือว่า มันคือภาพวาดภาพเดียวจากยุค 1800 ที่เลือกวาดผู้หญิงผิวสีที่ไม่ใช่ทาส หากแต่เป็นการวาดหญิงผิวสีเพื่อแสดงถึงความงดงามในแบบที่ศิลปินในยุคนั้นนิยมทำ (ตัวอย่างเช่น ภาพโมนาลิซ่า) การปรากฏของภาพวาดนี้ รวมถึงการที่มีนักแสดงแสดงเป็นแบบเพื่อเปรียบเทียบกับภาพหญิงสาวผิวขาวในอาภรณ์ผ้าผืนเดียวเช่นกัน สื่อว่า The Carters ต้องการที่จะให้คนผิวสี ได้รับความสำคัญเทียบเท่ากับคนผิวขาวนั่นเอง

• The Intervention of the Sabine Women — ถือเป็นอีกหนึ่งภาพที่ปรากฏในเอ็มวีนี้ โดยเป็นการพูดถึงการที่เพศหญิงถูกกดขี่จากเพศชาย ไม่ใช่เฉพาะกับหญิงผิวสีเท่านั้น โดยในคัทถัดมา คือการที่ Beyoncé แร็ปว่า ‘get off my dick’ นั่นเอง

ถ้าจะให้สรุปแบบโดยรวมที่ง่ายที่สุดในความคิดของเราก็คือ มิวสิควิดีโอนี้สร้างขึ้นเพียงเพื่อจะบอกกับทุกคนว่า The Carters ไม่ได้อยากให้ประวัติศาสตร์ทั้งศิลปะและด้านอื่นๆ คือประวัติศาสตร์ของคนผิวขาวแต่เพียงอย่างเดียว และพวกเขาก็ทำให้เราเห็นแล้วว่า ในประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันนั้น คนผิวสีได้มีอิทธิพลกับสังคม การเมือง วัฒนธรรม รวมไปถึงประวัติศาสตร์มากเพียงใด

RECOMMENDED CONTENT

2.มีนาคม.2020

ปล่อยเพลงใหม่ให้แฟน ๆ ได้ฟังเป็นที่เรียบร้อย สำหรับวงดนตรีดูโอ้อินดี้ดรีมป็อปอย่าง “LANDOKMAI” (ลานดอกไม้) ประกอบด้วย “อูปิม - ลานดอกไม้ ศรีป่าซาง” (ร้องนำ) และ “แอนท์ – มนัสนันท์ กิ่งเกษม” (กีตาร์, คอรัส)สองสาวศิลปินน้องใหม่ล่าสุดจากค่ายเพลง What The Duck