fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#MOVIEGUIDE — 7 ภาพยนตร์ที่พิสูจน์อิทธิพลของ Cannes ต่อวงการหนังโลก
date : 3.พฤษภาคม.2018 tag :

แค่ได้ยินชื่อเทศกาลหนังเมืองคานส์เราก็รู้สึกว่ามันเจ๋งแม้จะไม่รู้อย่างละเอียดว่าคานส์ทำอะไร แต่ต้องบอกว่าคานส์ไม่ได้มีดีแค่ชื่อ เพราะกว่า 70 ปีที่ผ่านมานั้น Cannes เปรียบเสมือนพี่คนโตของเทศกาลหนังนอกกระแสที่ไม่ว่าจะทำอะไร น้องๆ ก็ดูจะได้รับอิทธิพลไปหมด ซึ่งไม่เพียงแค่ในวงการหนังอินดี้ ภาพยนตร์กระแสหลักเองก็ดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลจากหนังคานส์ไปไม่น้อย ครั้งนี้เราจึงจะพอไปดู 7 ภาพยนตร์ที่พิสูจน์ว่าหนังจาก Cannes ได้สั่นสะเทือนวงการภาพยนตร์ทั่วโลกอย่างไรบ้าง

7-cannes-movies-1

The Umbrellas of Cherbourg (1964)

The Umbrellas Of Cherbourg ถือว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์แนวมิวสิคัลต้นตำหรับ ที่ยังคงสร้างอิทธิพลมากมายให้กับผู้กำกับในยุคปัจจุบันรวมไปถึง Damien Chazelle ผู้กำกับ La La Land ด้วย หลายคนบอกว่าเทคนิคการถ่ายทอดเรื่องราวของ Cherbourg นั้น ยังคงไม่มีใครสามารถเทียบเคียงได้ ไม่ว่าจะเป็นบทภาพยนต์ที่ไม่มีการพูด แต่ใช้การร้องตลอดทั้งเรื่องแทน รวมไปถึงการเลือกใช้สีสันสดใสที่ตรงข้ามอย่างสุดขั้วกับเรื่องราวดราม่าที่ตัวละครเผชิญ ความแตกต่างนี่เองที่ทำให้ Cherbourg กลายเป็นประสบการณ์ใหม่ของภาพยนตร์ ทำให้เทคนิคการใช้สีสันอันสดใสเป็นแนวทางใหม่ของการถ่ายทอดเรื่องราวที่แสนเจ็บปวดและทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดตลอดกาล

7-cannes-movies-2

Taxi Driver (1976)

Taxi Driver คือภาพยนตร์ที่ทำให้ชื่อของ Martin Scorsese กลายเป็นที่รู้จัก เราคงต้องบอกว่า Cannes นี่แหละคือคนที่ปั้น Scorsese มากับมือ Taxi Driver พาเราไปรู้จักสังคมนิวยอร์กยามค่ำคืนในยุค 70s ผ่านสายตาของ Travis Bickle อดีตทหารหนุ่มจากสงครามเวียดนามที่มาเป็นคนขับแท็กซี่กะดึก Taxi Driver ได้เปิดโลกเทคนิคการถ่ายทอดแนว POV ที่ทำให้คนดูรู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในความคิดของตัวละคร ที่ผู้กำกับหลายคนในปัจจุบันได้รับอิทธิพลไปตามๆ กัน ไม่เพียงแค่วิธีการถ่ายทอดที่แตกต่าง แต่บทภาพยนต์ของ Scorsese นั้นก็ถือว่าเป็นระดับตำนานจน Taxi Driver ถูกกล่าวขานว่าเป็นหนังที่นิยาม ‘ความแตกแยกจากสังคม’ ของคนยุคนั้นได้ดีที่สุด

7-cannes-movies-3

Apocalypse Now (1979)

แน่นอนว่าหนังสงครามที่คานส์เลือกมาน่าจะไปไกลกว่าฉากสู้หรือเอฟเฟ็กต์ระเบิดอย่างแน่นอน ซึ่ง Apocalypse Now คือหนังสงครามที่เลือกจะเล่าถึงเรื่องราวของ ‘ผลกระทบ’ จากสงครามของพันเอกวอลเทอร์ อี เคริซ ที่กลายเป็นบุคคลวิกลจริตและละทิ้งหน้าที่ไประหว่างปฏิบัติการ แม้จะไม่ได้ถ่ายทอดเหตุการณ์สงครามตรงๆ แต่ประเด็นที่ Francis Ford Coppola หยิบมาเล่านั้นเหมือนกับตอกย้ำความโหดร้ายของภาวะสงคราม ที่แม้เหตุการณ์จะจบไปนานแค่ไหนก็ตาม แต่เรื่องราวความโหดร้ายของสงครามยังหลอกหลอนและอยู่ในใจของใครหลายคน นอกจากประเด็นสุดสะเทือนใจ อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ Apocalypse Now กลายเป็นตำนานคือทุนสร้างที่บานปลายไปถึง 31.5 ล้านเหรียญ จากที่ต้องใช้เพียงแค่ 13 ล้านเหรีญแทน แต่รางวัลที่ได้หลังจากฉายก็ถือว่าคุ้มค่า

Title: ALL THAT JAZZ ¥ Pers: VEREEN, BEN / SCHEIDER, ROY ¥ Year: 1979 ¥ Dir: FOSSE, BOB ¥ Ref: ALL013BH ¥ Credit: [ 20TH CENTURY FOX/COLUMBIA / THE KOBAL COLLECTION ]

All That Jazz (1980)

All That Jazz คือภาพยนต์กึ่งชีวประวัติของ Bob Fosse ตัวผู้กำกับ ที่ถ่ายทอดช่วงเวลาที่บ้าคลั่งที่สุดในชีวิตของเขาผ่านตัวละคร Joe Gideon ผู้กำกับและนักออกแบบท่าเต้น ที่ใช้ชีวิตได้อย่างสุดโต่งไม่ว่าจะเรื่องผู้หญิง เหล้า บุหรี่ ไปจนถึงยาเสพติด ซึ่งความสุดโต่งของตัวละครนั้นยังถูกถ่ายทอดออกมาทางเทคนิคการถ่ายทำและการตัดต่อที่เสมือนการเข้าไป ‘สำรวจจิตใจ’ ของตัวละคร Joe Gideon ซึ่งเทคนิคการตัดต่อที่ประหลาดนี้ทำให้คนดูรู้สึกเหมือนดูเรื่องราวกึ่งฝันกึ่งจริง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของตัว Bob Fosse ที่หลงใหลในการสร้างวิธีการเล่าแนวทดลองสุด แม้เรื่องราวของ All That Jazz ที่บ้าคลั่งและเหนือจินตนาการไปบ้างแต่ก็ถือว่าเป็นหนังที่ดูง่ายที่สุดแล้วของ Bob Fosse อาจเพราะหนังเรื่องนี้เป็นการตกตะกอนทางความคิดของตัวผู้กำกับเองด้วย หลายคนจึงให้ All That Jazz เป็นภาพยนต์ที่ดีที่สุดของ Bob Fosse ที่คงไม่มีใครสามารถเลียนแบบได้นอกจากคุณจะได้ใช้ชีวิตแบบ Bob Fosse

7-cannes-movies-5

The Piano (1993)

แค่ขึ้นชื่อว่าเป็นผลงานที่ทำให้ Jane Campion เป็นผู้กำกับหญิงคนแรกที่คว้ารางวัลกำกับภาพยนตร์จากคานส์ได้ ก็มากพอที่จะทำ The Piano กลายเป็นตำนานที่เราควรพูดถึงแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นชื่อของ Jane Campion ก็เป็นที่รู้จักในสายหนังเทศกาลรวมถึงสไตล์หนังของเธอที่มีความแม่นยำในภาษาหนังและตัวละครที่เผยด้านมืดของมนุษย์ ซึ่งเรื่องราวของ The Piano ได้พูดถึงความต้องการพื้นฐานที่สุดของมนุษย์อย่างความต้องการทางเพศ Jane Campion ต้องการนำเสนอความเป็นมนุษย์ที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งใดๆ ผ่านบรรยากาศสุดโรมานซ์ในยุควิคเตอเรีย หัวใจหลักของ The Piano คือบทประพันธ์ที่ราวกับบทกลอน ซึ่งพาเธอคว้ารางวัลบทภาพยนต์จากแทบทุกเวทีงานรางวัล ภาพยนต์ The Piano ทำให้คนทั้งโลกรู้จักบรรยากาศแบบหม่นๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของหนังออสเตรเลียและความเฉียบขาดของ Jane Campion ที่ถ่ายทอดด้านมืดของมนุษย์ผ่านเนื้อหาที่งดงามราวกับบทกวี

7-cannes-movies-6

Pulp Fiction (1994)

ถ้าให้พูดถึงภาพยนตร์แนะนำตลอดกาล ชื่อของ Pulp Fiction โดย Quentin Tarantino คงไม่หลุดไปจาก Top 5 แน่นอน ซึ่ง Pulp Fiction ก็เป็นหนึ่งในหนังที่เด็กฟิล์มทุกคนต้องดู เพราะนี่คือต้นตำหรับของการเล่าเรื่องที่ไม่เรียงลำดับ 1 2 3 หลักๆ ภาพยนตร์พูดถึงเรื่องราวของคู่หูมือปืน วินเซนต์ เวก้า และจูลส์ วินฟิลด์ ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล เมีย วอลเลซ ภรรยาของเจ้านาย ซึ่งพวกเขาได้เจอกับสารพัดเหตุการณ์วุ่นวายกลายเป็นจลาจลขนาดย่อม ซึ่งสิ่งที่ทำให้ Pulp Fiction กลายเป็นหนังชั้นครู คือบทภาพยนตร์ที่สามารถเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดได้อย่างแนบเนียนจนเราไม่รู้เลยว่าลำดับเหตุการณ์ที่แท้จริงของเรื่องนี้เป็นอย่างไรจนกว่าจะดูจบ  ซึ่งแม้ว่าวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้จะเริ่มเห็นได้เยอะแล้วในปัจจุบัน แต่ความเนี้ยบของบทใน Pulp Fiction ก็ยังหาภาพยนตร์ที่จะมาเทียบเคียงได้ยากอยู่ดี

7-cannes-movies-7

Taste of Cherry (1997)

เป็นอีกครั้งที่คานส์ได้พิสูจน์ความนานาชาติของตัวเทศกาลด้วยการมอบรางวัลให้กับ Abbas Kiarostami ผู้กำกับชาวตะวันออกกลาง ผู้ทำให้ Taste of Cherry เป็นภาพยนตร์สัญชาติ Iranian เรื่องแรกที่คว้ารางวัล Palme d’Or จากคานส์มาได้ Taste of Cherry คือภาพยนตร์แนว minimalist ขนานแท้ เพราะทั้งเรื่องเป็นเพียงเหตุการณ์ของชายหนุ่มนาม Badii ที่ขับรถไปเรื่อยๆ เพื่อตามหาคนที่สามารถจะจัดการงานศพให้หลังจากที่เขาฆ่าตัวตาย ซึ่งระหว่างทางที่เขาขับรถพาคนเหล่านั้นไปดูสถานที่ฟังศพ Badii สามารถสร้างบทสทนาที่ล้ำลึกกับตัวละครอื่นๆ ไปถึงประเด็นของการมีชีวิตอยู่ได้ Taste of Cherry คือหนังที่เลือกใช้ Road Trip และเทคนิค Long Shot ได้อย่างคุ้มค่าตรงไปตรงมา ในขณะเดียวกันบทสนทนาของตัวละครก็ลึกซึ้งไปถึงความหมายอันซับซ้อนของชีวิตได้ นี่แหละตัวอย่างที่ทำให้เราเข้าใจว่าน้อยแต่มากเป็นอย่างไร

RECOMMENDED CONTENT

31.สิงหาคม.2017

ผ่านไปแล้วหมาดๆ กับรอบ Wolrd Premeire ใน section 'Venice Days' ของเทศกาล Venice Film Festival กับภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของผู้กำกับ เป็นเอก รัตนเรือง – 'Samui Song – ไม่มีสมุยสำหรับเธอ' หลังจากห่างหายงานกำกับภาพยนตร์ไปอย่างยาวนาน