fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

‘Life is Strange’ เกม Choices Matter ที่ตั้งคำถามว่าเราจะเดินต่อไปยังไง หากวันพรุ่งนี้ที่มีภัยพิบัติรออยู่
date : 1.พฤษภาคม.2020 tag :

หลังจากผู้เขียนอยู่บ้าน Work from Home หนึ่งเดือนกว่าๆ ก็มีเวลาได้เล่นเกมจริงจังซะที (เห้ย! เดี๋ยว…) กับเกมแนวแอดเวนเจอร์ Choices and Consequence หรือ Choices Matter ชื่อว่า ‘Life is Strange’ จากผู้สร้าง DONTNOD Entertainment ภายใต้การเผยแพร่โดย Square Enix ที่ออกภาคเเรกมาตั้งแปี 2015 โน่น และยังติดหนึ่งในลิสต์เกม Interactive ที่ดีที่สุดเกมหนึ่งด้วย จนตอนนี้มีภาคแยก ภาค 2 อะไรต่อมิอะไรตามมาแล้ว ซึ่งชาวบ้านเขาก็คงเล่นกันไปหลายปีแสงแล้วด้วย แต่ยังไงเราก็ดีใจที่ได้รู้จักมัน และอยากมาเล่าให้ฟัง เผื่อใครจะอินเหมือนกัน 🙂  

Life is Strange เล่าเรื่องเด็กสาววัย 18 Maxine Caulfield หรือ Max ที่เพิ่งย้ายจาก Seattle กลับมาที่เมือง Arcadia Bay ในรัฐ Oregon บ้านเกิด เพื่อใช้ชีวิตมัธยมปลาย ในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ เธอได้ค้นพบเงื่อนงำหลายอย่าง ตั้งแต่ความไม่ชอบมาพากลของเหตุการณ์ฆาตกรรมในห้องน้ำหญิงที่โรงเรียน หรือการที่เด็กสาวคนหนึ่งหายตัวไปจากเมืองอย่างลึกลับ ระหว่างนั้น Max เรียนรู้ว่าเธอมีความสามารถพิเศษในหยั่งรู้อนาคต พร้อมกับเดินทางข้ามเวลาเพื่อไปแก้ไขเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตได้  ความสามารถประหลาดในตัว Max นี่แหละที่ทำให้เหตุการณ์ในชีวิตของเธอ รวมถึงคนรอบข้างไม่เหมือนเดิม เมื่ออยู่ๆ เธอก็กลายเป็นคนกุมชะตากรรมของเมืองทั้งเมืองแห่งนี้ ให้อยู่อย่างมีความสุขต่อไป หรือโดนภัยพิบัติโจมตีให้หายไปตลอดกาล  

อาจฟังดูเหมือนเป็นเกมทริลเลอร์แฟนตาซี ไขปริศนา หรือแอดเวนเจอร์เอาชีวิตรอดแบบเดือดดาล แต่จริงๆ แล้ว Life is Strange ไปไกลกว่านั้น และยังลึกกว่านั้นมาก มันเซอร์ไพรส์เราตั้งแต่การเล่าเรื่องด้วยมู้ดและโทนแสนธรรมดา ราบเรียบ ไปพร้อมกับซีนสวยงามของเมืองเงียบๆ ในชนบท ไม่ได้มีบรรยากาศอึมครึมทึมเทาเหมือนเกมแนว Post Apocalypse ไม่มีซอมบี้หรือความแฟนตาซีใดๆ แต่ในความราบเรียบกลับแฝงอันตรายเหมือนคลื่นลูกเล็กๆ ที่ค่อยๆ ก่อตัวเป็นคลื่นลูกใหญ่ในตอนท้าย

ที่บอกว่าลึก เพราะ Life is Strange เล่าเรื่องด้วยจังหวะเงียบๆ แต่เพียบด้วยประเด็นสังคม ไม่ว่าจะเป็น ปัญหายาเสพติด โรคซึมเศร้า การถูกบุลลี่ในวัยรุ่น ความแปลกแยกจากสังคม เพศ การฆ่าตัวตาย ไปจนถึงความรุนแรงในครอบครัว ในโรงเรียน และในชุมชน มันเป็นเกมก็จริง แต่ Life is Strange ให้ความรู้สึกคล้ายๆ กับกำลังดูซีรีส์ Teen – Drama / Coming-of-age อินดี้ (มากๆ) ชั้นดีเรื่องหนึ่งเลยแหละ แถมมีออริจินัลซาวนด์แทร็กเป็นเพลงอินดี้จากศิลปินอย่าง Angus & Julia Stone, José González, Mogwai, Lua และเพลงโคตรดีงามอื่นๆ อีกมากมาย ที่เล่นๆ ไปแล้วแบบ เปิด Shazam หาชื่อเพลงเเป๊บบบ เข้ากับบบรรยากาศของเกมมาก 

เกมดำเนินเรื่องไปโดยมีช้อยส์ให้ผู้เล่นเลือกในทุกภารกิจ ประหนึ่งว่าเรากำลังตัดสินใจในชีวิตจริงตั้งแต่ต้นจนจบเกม ถึงแม้ว่าถ้าเลือกแล้วไม่พอใจ ก็สามารถให้ตัวนางเอกอย่าง Max ใช้พลังพิเศษย้อนเวลากลับไปเลือกใหม่ได้ เพื่อเปลี่ยนเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเลือกช้อยส์ไหน มันก็ส่งผลต่อเหตุการณ์อื่นๆ ในแง่ใดแง่หนึ่งทั้งนั้นเหมือนโลกคู่ขนาน ตามประเด็นของเกมที่โฟกัสเหตุการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากอดีต และจะส่งผลต่อไปในอนาคต นำไปสู่บทสรุปที่แตกต่างกันออกไป

มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยอมรับว่าเกม Life is Strange ช่วย ‘เยียวยา’ จิตใจพวกเขาได้อย่างเหลือเชื่อ หลายคนบอกว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า บางคนเคยคิดฆ่าตัวตาย หลายคนตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับตัวละครในเกม เท่าที่อ่านมา การเล่นเกมนี้มันช่วยให้พวกเขารู้สึกว่า :

1.เหมือนเป็นคนที่ออกมายืนมามองเหตุการณ์ต่างๆ ในฐานะคนนอก ทำให้ได้เห็นภาพในมุมมองใหม่ๆ ในมุมมองที่กว้างขึ้นอย่างที่ไม่เคยเห็น 

2. เรียนรู้ว่าเราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างในชีวิตได้ 

3. ความเป็นความตายของคนในเกมที่เราต้องเลือก เช่น มีซีนหนึ่งที่ต้องพูดเกลี้ยกล่อมเพื่อนที่กำลังจะฆ่าตัวตายให้เปลี่ยนใจ กับอีกซีนที่ต้องเลือกว่าจะถอดหรือไม่ถอดสายน้ำเกลือเพื่อนที่กำลังอยู่ในโคม่า เหตุการณ์ในเกมเหล่านี้ แม้จะท้าทายและบีบคั้นความรู้สึก แต่มันทำให้คนที่ซึมเศร้า อยากตาย กลับมาเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ 

4. เรียนรู้ผลของการตัดสินใจ ถึงผลที่ตามมาจะไม่ทำให้ชีวิตมีความสุข หลายคนบอกว่า ถ้ามีพลังพิเศษ สามารถย้อนเวลาได้อย่าง Max นางเอกของเรื่อง พวกเขาก็คงไม่กลับไปเปลี่ยนแปลงอะไรหรอก แต่เลือกที่จะยอมรับสิ่งที่ตัวเองเลือกมากกว่า 

5.และสุดท้าย แม้ว่ามันจะเศร้า มันจะไม่โอเคบ้าง ก็ไม่เป็นไร ชีวิตก็แบบนี้ 

โดยรวมแล้ว Life is Strange เป็นเกมที่ค่อนข้างมีความ Emotional สูง เเถมยังสนุกกับการเล่นกับ Emotional ของเราอีก ไม่ใช่ในแง่ของความโหด เลือดสาดกระเด็น กลัว กดดัน เครียดสุดขีด หรืออะไรแบบนั้น แต่เป็นอะไรบางอย่างที่อาจต้องใช้ประสบการณ์อยู่หน่อยๆ ไปจนถึงในแง่ของการท้าทายศีลธรรม หรือ Moral ในตัวเอง ที่แอบแฝงมาในรูปแบบของช้อยส์ธรรมดาๆ ที่เราต้องเลือก

เพราะชีวิตจริงๆ เราต่างดำเนินไปแบบนี้ โดยที่เราไม่อาจรู้ได้ชัดว่าสิ่งที่เลือกจะนำไปสู่อะไร เป็นทางเลือกที่ถูกต้องหรือผิดพลาดกันแน่ จะมีสักกี่คนโชคดีพอที่จะโอกาสกลับไปแก้ไขมันอีกครั้งเหมือนอย่างในเกมกันล่ะ คำถามคือเรายังจะเดินต่อไปมั้ย ถ้าหากรู้ว่าวันพรุ่งนี้มีภัยพิบัติรออยู่… 

สัญลักษณ์ในเกมที่แอบเข้ามาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ อันหนึ่งคือผีเสื้อสีฟ้าบินไปมาในที่ๆ ไม่น่าจะมีผีเสื้อ เหมือนเป็น Magic บางอย่าง เราแอบคิดเอาเองว่า นอกจากมันน่าจะสื่อถึงอิสรภาพและการเติบโตของตัวละครใน Life is Strange แล้ว มันอาจจะเตือนเราถึง Butterfly Effect หรือการกระทำใดๆ ของวันนี้ที่แม้ดูจะเป็นเรื่องเล็กน้อยเท่าผีเสื้อ ก็อาจส่งผลกระทบอันใหญ่หลวงกลายเป็นพายุลูกใหญ่ ทำลายเราย่อยยับในวันพรุ่งนี้ได้เสมอ

RECOMMENDED CONTENT

17.มกราคม.2020

“People on Sunday” (2562) เป็นการตีความ บทสนทนาโต้ตอบ และสาส์นแสดงความนับถือต่อภาพยนตร์บุกเบิกจากประเทศเยอรมันเรื่อง “Menshen Am Sonntag” (2473) หรือ “ผู้คนในวันอาทิตย์” ผลงาน “People on Sunday” (2562) ได้นำภาพยนตร์ต้นฉบับดังกล่าวกลับมาตีความใหม่ผ่านบริบทที่แตกต่างจากเดิม ทั้งยุคสมัย ภูมิประเทศ ตลอดจนสภาพในการทำงาน