นับตั้งแต่แคธริน บิเกโลว์ (Kathryn Bigelow) คว้าตุ๊กตาทองจาก The Hurt Locker เมื่อปี 2010 ในฐานะผู้กำกับฯ หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ออสการ์ ก็ยังไม่เคยมีผู้กำกับฯ หญิงคนไหนเข้าชิงรางวัลสาขานี้อีกเลยยย…(ลากเสียวยาว) จนกระทั้งปีนี้ที่เกรต้า เกอร์วิก ผู้กำกับฯ หญิงหนึ่งเดียวได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมกับเขาเสียที
ว่าแต่ เกรต้า เกอร์วิก นี่ใคร (วะ)?!
ชื่อของ ‘เกรต้า เกอร์วิก (Greta Gerwig)’ อาจไม่ค่อยจะคุ้นหูคนดูหนังเท่าไรนัก เธอคนนี้คือดาราหน้าเป็น คาแร็กเตอร์ชัด ผู้โลดแล่นอยู่ในหนังนอกกระแสมากว่า 10 ปี เป็นนักแสดง และคนเบื้องหลังที่ทำงานเขียนบทให้กับหนังหลายเรื่อง จนบางคนเรียกเธอว่า ‘Queen of Indy Screen’
จากนักแสดงที่อาศัยครูพักลักจำ เรียนรู้งานในกองถ่ายด้วยตัวเอง ‘Lady Bird’ คือการโชว์ฝีมือกำกับและเขียนบทครั้งแรก ที่ทำให้เธอคว้ารางวัล Best Motion Picture ลูกโลกทองคำ และ Best Screenplay จาก Independence Spirit Award ครั้งล่าสุด และเป็นหนัง Coming-of-age อบอุ่นหัวใจที่ได้รับเสียงวิจารณ์ดีที่สุดเรื่องหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว
หากย้อนไปดูงานเก่าๆ ของเกรต้า เกอร์วิกที่ผ่านมา ก็จะพบว่า ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ Lady Bird สยายปีกอย่างสวยงาม…
เป็น… ตัวเอง
เมื่อไรก็ตามที่มีคนถามเกรต้า เกอร์วิกว่าเธอเขียนบท Lady Bird ขึ้นมาจากชีวิตของตัวเองหรือเปล่า เธอมักจะตอบอย่างไวว่า “อ่อ ไม่ใช่หรอกค่ะ เพราะฉันไม่เคยให้คนเรียกฉันด้วยชื่ออื่น ฉันไม่เคยย้อมผมแดง ไม่เคย… ฯลฯ” และถึงแม้เธอจะบอกว่าตัวเองเป็นเด็กเรียบร้อย ไม่ใช่เด็กแสบจอมขบถอย่างนั้นซะหน่อย! แต่…
เราก็ยังไม่เชื่ออยู่ดี! ว่า Lady Bird ไม่ได้มาจากอิทธิพลวัยเด็กของผู้กำกับฯ สาวคนนี้ เพราะเกอร์วิกเองก็เกิดและโตในซาคราเมนโต้ เป็นนักเรียนในโรงเรียนคาธอลิกแสนเคร่ง จนกระทั่งย้ายไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยในนิวยอร์ก ไหนจะเพลงจากศิลปินที่เธอคลั่งไคล้สุดๆ สมัยเป็นวัยรุ่น อย่าง Alanis Morrissette, Dave Matthew Band และ Justin Timberlake ซึ่งเพลงของพวกเขาได้กลายมาเป็นซาวนด์แทร็กให้กับหนังเรื่องนี้ แล้วไหนจะการโตมากับชมรมละครเวที แถมยังมีหนัง Coming-of-age ยุค 80s ของ John Huge อย่าง Sixteen Candles (1984) The Breakfast Club (1985) และหนังวัยรุ่นสุดไอคอนิกในยุค 90s อย่าง Clueless เป็นหนังในดวงใจอีกแหน่ะ!
เกอร์วิกยอมรับตัวละครทุกตัวที่เคยแสดงและเขียนบท มักมีเศษเสี้ยวใดเศษเสี้ยวหนึ่งของเธอเสมอ จริงอยู่ที่ Lady Bird ไม่ใช่เธอ แล้วเธอก็ไม่ใช่ Lady Bird แต่เธอได้สร้างโมเดลของเด็กสาววัยรุ่นหัวเลี้ยวหัวต่อ ให้มีความคิดฝัน มองโลก และแสดงออกในแบบที่ครั้งหนึ่งเธออยากจะเป็น แต่ไม่สามารถเป็นได้ แล้วให้นักแสดงที่เข้าใจมันอย่างเซียร์ชา โรแนน (Saoirse Ronan) ใส่ชีวิตให้ Lady Bird มีตัวตนขึ้นมาจริงๆ
ความแตกต่างของหนังวัยรุ่นแบบเกรต้า เกอร์วิกคือ เธอทำให้มันไม่เพียงเป็นหนังที่ทั้งจักรวาลหมุนรอบตัวเด็กสาววัยรุ่น 1 คน แต่สามารถทำให้แต่ละตัวละครมีมิติ มีเรื่องราว มีเส้นทางโคจรเป็นของตัวเอง
เป็น… จดหมายรักจากซาคราเมนโตถึงนิวยอร์ก
ผู้กำกับฯ Woody Allen เคยบอกถึงเหตุผลหนึ่งที่เขาทำหนังระดับมาสเตอร์พีซเรื่อง Manhattan ตอนปี 1979 ขึ้นมา เพราะอยากทริบิวต์ความรักทั้งหมดที่มีให้กับแมนฮัตตัน แล้วถ้านั่นคือเมืองประจำตัวของลุงวู้ดดี้ อัลเลน เขาละก็ ; ‘Sacramento’ และ ‘New York’ ก็น่าจะเป็นเมืองสุดรักของผู้กำกับฯ เกรต้า เกอร์วิกเหมือนกัน
เมื่อครั้งที่เกอร์วิกแสดงนำและชิมลางเขียนบทร่วมกับผู้กำกับฯ โนอาห์ บาว์มแบ็ก (Noah Baumbach) ในหนัง Frances Ha (2013) และ Mistress America (2015) พวกเขาได้สร้างตัวละครหญิงทั้ง 2 คนให้ล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนของผู้หญิงชนชั้นกลางที่มีภาพลักษณ์แบบ ‘Girl-about-town’ หรือสาวสวยชิกเก๋ โดยมีความเป็นคนเมืองใหญ่เป็นตัวกำหนดวิถีชีวิต วิธีคิดไปพร้อมกับดิ้นรนไล่ลาความฝันและการมีตัวตนในมหานครนิวยอร์ก
แต่พอมาถึง Lady Bird งานกำกับฯ และเขียนบทเองเพียวๆ ชิ้นแรกของเกอร์วิก กลับทำให้เรารู้ว่าแท้จริงแล้ว เมืองหลวงอันเนิบช้าของรัฐแคลิฟอร์เนียชื่อว่า ‘ซาคราเมนโต’ ที่เธอเกิดและเติบโตนี้ต่างหาก คือเมืองแห่งความทรงจำซึ่งเธอได้หอบมันมาใส่ไว้ในหนังเรื่องแรกของตัวเองราวกับเป็นจดหมายรักถึงบ้านเกิด แม้ว่าหนังจะเล่าผ่านมุมมอง ‘ทั้งรักทั้งชัง’ ของเด็กสาวผู้พยายามโบยบินหนีจากเมืองที่เธอใช้คำว่า ‘ล้าหลัง’ นี้ก็ตาม
หากย้อนกลับไปดู เกอร์วิกได้ใส่ซีนของเมืองซาคราเมนโต้ไว้ตั้งแต่ Frances Ha แล้ว หรือเเม้แต่คำพูดประชดประชันที่ว่า “ใครที่บอกว่าแคลิฟอร์เนียนั้นสุขนิยม เขาคนนั้นต้องไม่เคยใช้เวลาวันคริสต์มาสในซาคราเมนโต้” บทเปิดของ Lady Bird นั้นก็มาจาก Joan Dion นักเขียนชั้นครูซึ่งเกรต้า เกอร์วิกรัก และยังเป็นชาวซาคราเมนโต้ – บ้านเดียวกันด้วย!
ทั้ง Frances, Lady Bird และเกรต้า เกอร์วิก ต่างมีจุดร่วมเหมือนกันตรงภาพฝันสวยๆ ในฝั่ง East Coast ขณะเดียวกันเลือดซาคราเมนโต้ก็ยังไหลเวียนอยู่ในตัวไม่เคยจาง เราจึงเห็นการทริบิวต์ต่อเมืองทั้ง 2 ที่ต่างกันราวกลางวันกับกลางคืนนี้ซ่อนอยู่เรื่อยๆ ในงานของเธอ
เป็น… นักวิจัยความสัมพันธ์
ความสัมพันธ์ในหนังแบบเกอร์วิกๆ มักยุ่งเหยิง เต็มไปด้วยเรื่องปวดหัว แก้ไม่ตก แต่ไอ้ความวายป่วงทั้งปวงในความสัมพันธ์ของบรรดาตัวละครนี่แหละกลับเป็นวัตถุดิบชั้นดีให้เธอนำไปใช้ทั้งการเขียนบท การแสดง และการกำกับ ซึ่งจะว่าไปเธอเองก็ฝึกวิทยายุทธ์มาช้านานแล้ว จากการเป็นนักแสดงบทเล็กๆ ในละครซิทคอม (sit-com) รวมถึงการเป็นเจ้าแม่หนังอินดี้สายมัมเบิลคอร์* (Mumblecore) ซึ่งหนังสายนี้มักเน้นพูดถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนยุ่งเหยิงของมนุษย์อยู่แล้ว จึงไม่ใช่ของยากอะไรแถมเป็นงานถนัดเสียด้วยซ้ำ ถ้าจะให้เธอสำรวจทุกแง่ทุกมุมของความสัมพันธ์ดุเดือดปานพายุดีเปรสชั่นระหว่างแม่กับลูกในหนังเรื่องแรกของตัวเอง
หนึ่งใน Reference ที่เกอร์วิกใช้ศึกษาก็คือหนังดราม่าเรื่อง Fish Tank (Andrea Arnold, 2009) ที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาว ที่ถึงแม้จะดูแสนเปราะบาง แต่เกอร์วิกบอกว่า นี่แหละคือความสัมพันธ์ในแบบที่เธอสนใจใคร่รู้ เพราะมันลึกซึ้งงดงามในความรู้สึกของเธอที่สุดแล้ว
เป็น… ‘ผู้หญิง’
ตั้งแต่ไหนแต่ไร ‘ผู้หญิง’ มักเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในงานของเกอร์วิกเสมอ ไม่ว่างานแสดงหรือเขียนบท ซึ่งครั้งหนึ่งเกรต้า เกอร์วิกเคยให้สัมภาษณ์กับ Financial Times ว่า “I’m interested in young women. I’m interested in middle-aged women, I’m interested in women, period. Maybe not forever, but for now.”
หนึ่งคาแร็กเตอร์ที่ตอกย้ำความคิดนี้ก็เห็นจะเป็น Abbie ช่างภาพสาวผมแดงจาก 20th Century Women (Mike Mille, 2016) ที่เกอร์วิกต้องรับบทเป็นหญิงวัยกลางคนผู้มีปัญหาซึมเศร้าและสับสนในชีวิต ซึ่งอาจเรียกได้ว่าการแสดงครั้งนั้นเป็นการแสดงที่ทรงพลังที่สุดชิ้นหนึ่งของเกอร์วิก เพราะเธอทำให้มันเป็นตัวละครที่กลมกล่อม มีความเป็น ‘มนุษย์’ มีมิติ มีความดีงาม บกพร่อง และเว้าแหว่งในคนๆ เดียวได้อย่างน่าอัศจรรย์
จาก Frances Ha ถึง Lady Bird เกรต้า เกอร์วิกได้สร้างนิยามของตัวละคร ‘ผู้หญิง’ ในรูปแบบใหม่ ด้วยมุมมองที่แตกต่าง จับต้องได้ และสื่อสารกับคนดูอย่างตรงไปตรงมา
หนังเล็กๆ ของเกรต้า เกอร์วิกอาจไปไม่ถึงฝันบนเวทีออสการ์ แล้วมันก็คงไม่ถึงกับสร้างปรากฏการณ์อะไรให้กับอุตสาหกรรมหนังมากมายนัก น่าสนใจมากกว่าว่า ความชัดเจนในแนวทางของคนทำหนังซึ่งเป็นผู้หญิง และเล่าเรื่องของผู้หญิงได้อย่างร่วมสมัยนี้ อาจจุดไฟ บันดาลใจ ให้กับใครหลายคน (รวมทั้งเรา) ต่อไปได้บ้าง
* มัมเบิลคอร์ (Mumblecore) : แขนงย่อยของหนังนอกกระแส ที่มีลักษณะเฉพาะเด่นๆ คือเป็นหนังที่เน้นสุนทรียภาพในการเล่าเรื่อง การแสดงของนักแดง สีหน้าท่าทาง และ/หรือบทพูด มากกว่าเน้นความหวือหวาโปรดักชั่นอลังการ โดยมากมักเป็นหนังงบน้อย ไม่ใช้ดาราใหญ่ (บางทีก็ทำเองเล่นเอง) และเข้าถึงคนดูเฉพาะกลุ่ม (เรียกว่าหนังไม่แมสก็ได้) ซึ่งนักทำหนังที่เป็นตัวเทพๆ ของสายนี้ก็เช่น พี่น้อง Jay และ Mark Duplass (Safety Not Guaranteed, 2012), Lyn Shelton (Your Sister’s Sister, 2011) และ Andrew Bujalski (Hannah Takes the Stairs, 2007) ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เจ้าพ่อแห่งหนังมัมเบิลคอร์’ ที่เกรต้า เกอร์วิกก็เคยร่วมงานด้วยนั่นเอง
RECOMMENDED CONTENT
ผลงานของ อาจารย์ Osamu Tezuka 'Astro Boy'