fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

“Candide Bookshop” พูดคุยกับร้านหนังสือก็องดิด พื้นที่เพื่อคนรักการอ่านที่ไม่เหมือนใคร
date : 29.มกราคม.2014 tag :

ภาพร้านหนังสือใต้ต้นไม่ใหญ่ที่เราเห็นคนโพสต์หรือแชร์กันช่วงนี้ คือร้านหนังสือตรงท่าเรือคลองสานชื่อว่า Candide (ก็องดิด) ถ้าใครเป็นหนอนหนังสือคงทราบกันดีว่าก่อนหน้านี้ก็องดิดเปิดอยู่ตรงถนนตะนาว ย่านพระนคร เราเองก็ได้รู้จักกับร้านหนังสือนี้จากบทเรียนสมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ต้องมาซื้อหนังสือปรัชญาที่นี่ (ที่อื่นหาซื้อยากมาก) แล้วอยู่ดีๆก็ปิดเงียบหายไป… จนโผล่มาอีกทีก็เป็นร้านสวยอย่างที่คนพูดถึงกันตอนนี้แล้ว เลยคิดว่าคงเป็นโอกาสดีที่เราจะเข้าไปพูดคุยกับร้านนี้ พอไปถึงภาพแรกที่เห็นก็คือ พี่แป๊ดพี่สาวใจดีเจ้าของร้านกำลังวุ่นอยู่กับงานในร้านไม่มีหยุด เป็นโอกาสให้เราได้เดินดูหนังสือ ซึมซับบรรยากาศอันเงียบสงบของร้านสักพักแล้วจึงได้พูดคุยกัน

ก่อนอื่นเลย เชื่อว่าคำถามนี้ทุกคนคงอยากรู้เป็นคำถามยอดฮิตแน่ๆ คำถามแรกของบทสนทนาของเราก็คือ ชื่อร้าน Candide ก็องดิด แปลว่าอะไร… พี่แป๊ดเล่าว่า “ก็องดิดมันเป็นชื่อหนังสือค่ะ” (ว่าแล้วก็หันไปหยิบหนังสือเล่มดังกล่าวมา) เป็นหนังสือปรัชญนิยายของ Voltaire (นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18) ตัวเอกชื่อเดียวกันกับชื่อหนังสือ ก็องดิดเป็นคนที่ผ่านอุปสรรคในชีวิตมามากมายและประโยคสุดท้ายของเรื่องกล่าวว่า “ท่านกล่าวได้ดีแท้  ทว่าเราควรทำสวนของเรา” ความหมายคือ สุดท้ายเขาจะยังเชื่อมันในตัวเอง ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าชีวิตจะยากลำบากแค่ไหน เขาก็จะทำในสิ่งที่เขาทำอยู่ต่อไป ซึ่งนี่ล่ะถือเป็นสิ่งที่พี่แป๊ดตั้งให้เป็นคติประจำของร้านนี้เลย…

ย้อนไปตอนแรกเริ่มพี่แป๊ดเล่าว่า ตอนนั้นมีเพื่อนเปิดร้านหนังสือ แล้วประสบปัญหาทางการเงินพอดี กลายว่าจะต้องปิดร้านแบบจำยอม ก็เลยขอให้พี่แป๊ดช่วยซื้อต่อเอาไว้ “ส่วนตัวพี่เป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก รักการอ่านมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วพี่เองอยู่ในวงการนี้มาตลอด ตั้งแต่เรียนจบ (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ก็เป็นกองบรรณาธิการ แล้วก็มาเป็นบก.สำนักพิมพ์ มาเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ คือเราอยากรู้ให้หมดเลยว่าหนังสือเล่มนึงมันเดินทางอย่างไรบ้าง อ่านแล้ว เขียนแล้ว ก็เหลือเป็นคนขายนี่ล่ะ  ตอนนั้นพี่ก็เลยตัดสินใจขอทำร้านต่อ ตอนนั้นยังเป็นร้านเล็กๆเราคิดว่าเราพอทำคนเดียวได้… ผ่านไปสองปีก็รู้สึกว่าเราเองเริ่มไม่ไหวล่ะ เพราะทำสำนักพิมพ์อยู่ด้วย เลยตัดสินใจพักร้านก็องดิดไว้ชั่วคราวก่อนดีกว่า” ถ้าจากที่ฟังดูก็คงเป็นช่วงนั้นล่ะ ที่เวลาเราไปเดินหาร้านทีไรไม่เคยเจอซักที พี่แป๊ดเล่าต่ออีกว่า “จนมาวันนึงคุณดวงฤทธิ์ บุนนาค (สถาปนิกคนสำคัญของเมืองไทย) ซึ่งเป็นลูกค้าเก่าติดต่อกันบ่อยๆ มีโปรเจคต์ใหม่ที่จะเปลี่ยนโกดังร้างๆเป็นสเปซที่ชื่อว่า “The Jam Factory” ที่นอกจากจะทำเป็นออฟฟิศสตูดิโอ แกลอรี่ ร้านเฟอร์นิเจอร์ ร้านอาหารแล้ว เขาอยากให้มีร้านหนังสือก็องดิดรวมอยู่ในนั้นด้วย พี่ก็สนใจตอบตกลง สุดท้ายก็ออกมาเป็นแบบนี้… ออกมาสวยเลย (ยิ้ม)” แน่นอนว่านอกจากความสวยงาม การออกแบบที่โดดเด่นแล้ว ตัวเนื้อของร้านก็องดิดเองต้องมีสิ่งที่ตอบโจทย์นักอ่านทั้งหลายอยู่แน่ๆ อยากฟังจากปากพี่แป๊ดว่าที่นี่มีอะไรที่ที่อื่นไม่มี “สิ่งที่ร้านอื่นไม่มี… พี่ว่าเอาเป็นจุดเด่นดีกว่า (ยิ้ม) สำหรับพี่จุดเด่นของก็องดิดคือการเลือกหนังสือและการพบปะกันของคนในร้านนะพี่ว่า บางทีลูกค้ามาตามหาหนังสือที่เคยเห็นในร้านเก่า พี่ก็ไปไล่หาให้ในลังที่ยังไม่ได้จัดจนเจอ หรือภาพคนซื้อกับเจ้าของร้านนั่งคุยแลกเปลี่ยนกัน พี่ได้เพื่อนเพิ่มเยอะมาก มีลูกค้าทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ อย่างกิจกรรมในร้านพี่ก็เชิญคนมาเสวนากันตลอด… พี่ว่าอันนี้ร้านหนังสือใหญ่ๆไม่มี ส่วนเรื่องวิธีการเลือกหนังสือก็พื้้นฐานมาจากรสนิยมพี่เอง พอดีพี่เป็นคนชอบอ่านวรรณกรรมไทย วรรณกรรมแปล และพวกหนังสือทฤษฎีสังคม หนังสือส่วนใหญ่ในร้านหลักๆก็เลยเป็นสามประเภทนี้ แล้วบางเล่มถ้าลูกค้ามาถามหาก็จะไปหามาวางขายเพิ่ม คือมันจะรวมๆกันไปค่ะ… คนส่วนใหญ่จะไม่เคยเห็นหนังสือในร้านมาก่อนเลย พี่ว่านี่ล่ะเป็นจุดเด่นของร้านนะ” ฟังเสร็จลองหันไปดูรอบๆก็จริงเหมือนกัน หนังสือแบบนี้จะได้เห็นก็ต่อเมื่อบู๊ตออกร้านในงานหนังสือเท่านั้น น่าสงสัยว่าทำไมร้านอื่นๆถึงไม่ค่อยมีหนังสือทฤษฎีแนวคิดปรัชญาแบบนี้บ้างนะ “หลังๆมานี้ก็มีร้านขายหนังสืออิสระที่มีคาแรคเตอร์ของตัวเองเกิดขึ้นเรื่อยๆ อย่าง “Bookmoby” หรือไม่ก็ “ร้านหนังสือเดินทาง” (เจ้านั้นอยู่มานานเหมือนกัน) พี่ว่าการขายหนังสือพวกนี้ล่ะสำคัญ มันแสดงถึงรสนิยมการอ่านอันหลากหลาย แล้วพี่ไม่เชื่อเลยว่าขายไม่ได้ พวกหนังสือแนวคิดหนักๆร้านพี่ก็ยังขายได้อยู่เรื่อยๆนะ มันสำคัญเพราะไม่งั้นคนจะมีแต่หนังสือ Best Seller ให้เลือกซื้อ… เราผู้เป็นร้านหนังสืออิสระต้องเป็นทางเลือกให้กับคนอ่าน”

…ฟังดูแล้วการอ่านหนังสือดูจะเป็นสิ่งสำคัญต่อสังคมอย่างแท้จริง ทำให้เราอยากรู้ต่อไปอีกว่าแล้วสังคมล่ะปฏิบัติต่อหนังสือกลับมาอย่างไร เราถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเรา “เรื่องที่หนังสือบางเล่มโดนปิดกั้น มันขึ้นอยู่กับสภาพสังคมด้วยล่ะ มันเป็นเรื่องปกติสามัญสำหรับนักเขียนอยู่แล้วที่ต้องต่อสู้กับภาวะการบีบอัดของสังคม มันเป็นสิ่งที่มีมาตลอด หรืออย่างคำพูดติดปากที่ว่า คนไทยอ่านหนังสือปีละหกบรรทัด หรือคนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือกัน พี่รู้สึกว่ามันเป็นคำพูดที่ใจแคบจังเลย มองมุมไหนนะถึงพูดว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือ เพราะมองมุมพี่พี่ขายหนังสือพี่ว่ามีคนมาซื้อหนังสือกันตลอดนะ (หัวเราะ) แล้วเคยมีคนไปตามหาต้นตอของมันอย่างจริงจังก็ไม่มีใครรู้นะว่าคำพูดนี้มาจากไหน ซึ่งบ้านเราจะมีเยอะ อะไรที่ฟังตามกันมาลอยๆ หาไม่เจอแต่เชื่อตามๆกัน กลายเป็นคำพูดติดปาก สุดท้ายเชื่อกันเป็นตุเป็นตะ …เพราะฉะนั้นสุดท้ายการเติบโตของการอ่านในสังคมเรา มันอยู่ที่ว่าเรามองแบบไหน เราเลือกมองว่าหนังสือแบบไหนถึงจะเรียกว่าเป็นการอ่าน ส่วนตัวพี่พี่ว่ามันคือการอ่านหมดเลยนะ อย่างน้อยมันทำให้เด็กรักการอ่านและนำไปสู่การพยายามหาอ่านอย่างอื่นต่อ ในที่นี้่รวมถึงการอ่าน Blog Facebook Twitter ด้วย พวกนี้มันคือการอ่านที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในทางกลับกันเป็นพื้นที่ที่ช่วยสร้างนักเขียนเหมือนกัน” คุยกันจนถึงตรงนี้ก็สัมผัสได้เลยว่าพี่แป๊ดมีความหลังรักในการอ่านที่เข้มข้นจริงๆ ทีนี้เสน่ห์ของการอ่านหนังสือในความคิดของเธอคืออะไรกัน “พี่ว่าสื่อแต่ละรูปแบบมันมีเสน่ห์ในตัวมันเองอยู่แล้ว ช่วงนึงพี่ชอบดูหนังมาก มี Passion ไปกับการดูหนัง ดูละคร ฟังเพลง ดูศิลปะ รับสารหมดทุกรูปแบบเลย… แล้วพอผ่านไปมันก็เริ่มลดลงไปทีละอย่าง หลังๆมานี้มันเริ่มค้นพบตัวเองว่าสิ่งที่มันไม่เคยหายไปจากเราเลยคือการอ่านหนังสือ มันกลายเป็นความชอบสูงสุดไปแล้ว” แล้วมันแตกต่างกันเยอะไหมในแต่ละอย่าง เพราะอย่างเราเองเป็นคนชอบดูหนังมากกว่า “หนังก็มีส่วนที่หนังสือไม่มี และหนังสือก็มีในส่วนที่หนังไม่มี ถ้าง่ายๆเลยคือหนังสือเราพาไปไหนด้วยก็ได้ มันตอบคำถามเราได้ตลอดเวลา… แต่หนังต้องมีเครื่องฉาย ในขณะเดียวกันหนังมันมีสีสัน มีบทพูดไดอาล็อก มันลุกขึ้นมาตอบโต้กับเรา สำหรับพี่พี่ชอบหนังสือเพราะว่าหนังสือต้องการความนิ่งมากกว่า พี่ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดิจิตอลยังไงก็ให้ไม่ได้ หนังสือมันหยุดโลก… เวลาอ่านหนังสือเล่มที่ชอบมากๆ มันสามารถหยุดทุกอย่างได้เลยนะ เราจะจมอยู่กับมันได้เลย พี่ว่าข้อนี้พี่หาที่ไหนไม่ได้นอกจากหนังสือ… แต่สุดท้ายมันก็แล้วแต่ความรักความชอบแต่ละคนนะ แค่ของพี่พี่ว่าหนังสือหยุดโลกพี่ได้” ส่วนตัวเราเองพอได้ยินแล้วก็เชื่อเหมือนกันว่าการที่คนได้พบกับหนังสือ ภาพยนตร์ หรืองานศิล์ปจะรูปแบบไหนก็แล้วแต่ มันสามารถเปลี่ยนชีวิตคนๆนึงไปได้เลยจริงๆ แล้วทีนี้การมาถึงของเทคโนโลยี e-Book มันเกิดผลอะไรกับหนังสือบ้าง ในมุมมองของพี่แป๊ดแชร์ให้เราฟังว่า “พี่ว่ายังไงก็สู้หนังสือไม่ได้ e-Book ดีในแง่เป็นทางเลือก แค่โหลดก็อ่านได้แล้ว นี่พี่พูดในมุมคนที่อ่าน e-Book เหมือนกันนะ พี่คิดว่ามันเพิ่มโอกาสในการอ่านให้กับคน อันนี้เป็นเรื่องดี แต่ยังไงก็ตามเชื่อว่าหนังสือคงไม่หายไปจากโลกแน่นอน… (ยิ้ม) แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอีกสิบยี่สิบปีข้างหน้าจะหายรึเปล่า อาจจะกลายเป็นวัตถุหายากก็ได้ (หัวเราะ)”

หลังจากที่เปิดร้านใหม่คนให้ความสนใจเยอะขึ้นมาก ในมุมของเจ้าของร้านเองมีภาพในอนาคตที่อยากให้ร้านหนังสือก็องดิดออกมาเป็นร้านหนังสือแบบไหนกัน  ถ้าอย่างที่เห็นชัดๆเลยคือตอนนี้ร้านก็ออกมาในรูปแบบของร้านกาแฟบวกกับร้านหนังสือแล้ว ส่วนตัวแล้วรู้สึกอย่างไร “อืม… คนเยอะกว่าเก่ามาก เพราะตอนนี้ชื่อร้านหนังสือก็องดิดเริ่มเปลี่ยนไปในแง่เป็นเหมือนสถานที่ท่องเที่ยวไปด้วยในตัว (หัวเราะ) พี่เห็นคนมาถ่ายรูป มา Check-In กัน ก็คิดว่าก็ดีเหมือนกันมีร้านหนังสือที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว คนแวะเวียนมาก็อาจจะได้หนังสือติดไม้ติดมือกลับไปอ่านบ้าง ซึ่งถ้าในมุมของความเป็นเจ้าของร้านหนังสือ พี่รู้สึกพี่ไม่มีเวลาให้เลย หนังสือในร้านตอนนี้เหลือน้อยมากแล้ว ไม่ได้สั่งหนังสือใหม่ๆ จนหลังๆต้อง Balance ตัวเองกลับมาเพราะกลัวจะหนักไปทางร้านกาแฟเกินไป ยังดีที่ลูกค้าตอนนี้เขามาเขาก็ยังมาเดินดูหนังสือกันบ้าง… ถ้าไม่งั้นพี่คงรู้สึกแย่กับตัวเองเหมือนกัน” แสดงว่าการย้ายสถานที่มีผลทั้งกับตัวร้านและตัวพี่แป๊ดเองด้วย “ตอนนี้พี่เริ่มผูกพันกับคลองสานนะ จนอยากเขียนหนังสือเกี่ยวกับย่านนี้เลย (ยิ้ม) ย่านนี้น่ารักน่าอยู่ พอมาอยู่แล้วสึกเลยว่าเดี๋ยวนี้คนฝั่งธนมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น… ส่วนเรื่องร้านก็คงต้องทำตามภาพที่ตั้งไว้คือ อยากให้ก็องดิดออกมาเป็นร้านหนังสือที่ ใครมาก็บอกว่าร้านนี้หนังสือดี มีหนังสือหายาก มีหนังสือเจ๋งๆไม่เคยเห็นที่ไหนเยอะเลย อยากให้ร้านนี้มันกลายเป็นตำนานไปเลย” ฟังคำพูดนี้แล้วทำให้รู้สึกมีแรงบันดาลใจขึ้นมาทันที ได้ลองหันกลับไปมองสิ่งที่เราตั้งใจทำอยู่เหมือนกันว่าไปถึงไหนแล้วนะ…

เราจากกันด้วยคำถามสุดท้ายอยากให้พูดถึงประเทศไทยของเรา เพราะเชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่มักเกิดกับนักอ่านคือเมื่อท่องอยู่ในโลกหนังสือที่มาจากตะวันตกและวัฒนธรรมอื่นๆแล้ว พอกลับมามองโลกความจริงตรงหน้าในเมืองไทยของเรา พี่แป๊ดเกิดความรู้สึกอย่างไรบ้าง “พี่ไม่เคยรู้สึกว่าตะวันตกดีกว่าไทยเลย… พี่ไม่เคยหมดหวังต่อสังคมนะ พี่รู้สึกว่าแต่ละสังคมมันมีพัฒนาการของมัน จะตะวันตกหรือประเทศอื่น เค้าก็เคยผ่านยุคมืดมาเหมือนกัน เพียงแต่เค้าอาจจะสว่างก่อนเรา สิ่งที่ตอนนี้เราทำได้คือการหาหนทางเล็กๆที่เราทำได้ของเราไป สำหรับของพี่ก็คือทำร้านหนังสือ ภาพสังคมที่เกิดขึ้นมันอาจจะมีเจ็บปวดบ้างในบางครั้ง แต่เราก็รู้สึกว่าเราได้ทำอะไรบ้างแล้ว พี่เชื่อในคำว่า “Suffering Bring Wisdom” คือเราต้องผ่านความทุกข์ ความผิดหวัง ความเจ็บปวดเราถึงจะเข้าใจอะไรหลายๆอย่าง…” จบคำตอบนี้ของเจ้าของร้าน ทำให้เราย้อนคิดถึงคติประจำที่หยิบมาจากตัวละครก็องดิดมาใช้ตั้งชื่อร้าน… การตั้งใจทำในสิ่งที่ทำอยู่อย่างไม่เกรงกลัวต่ออุปสรรคใดๆที่ผ่านเข้ามา และทำมันอย่างตั้งใจและด้วยความรัก เป็นสิ่งที่ร้านหนังสือร้านนี้ทำให้เราเห็นแล้วจริงๆ

Writer: Pakkawat Tanghom
Photographer: Pakkawat Tanghom

RECOMMENDED CONTENT

24.มกราคม.2022

เป็นโจทย์ที่เรียกได้ว่าท้าทายสำหรับวงการเอเจนซีโฆษณาเลยทีเดียว เมื่อผู้นำดิจิทัลไลฟ์สไตล์และลอยัลตี้แพลตฟอร์ม ภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล “The 1 (เดอะ วัน)” ต้องการสื่อสารไปยังสมาชิกบัตร The 1 กว่า 19 ล้านคน เพื่อย้ำเตือนสิทธิ์ที่สมาชิกทุกคนพึงได้รับบนแอปพลิเคชั่น The 1 ผ่านผลงานโฆษณาชิ้นแรกครั้งแรกในรอบปี