หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน ภูมิใจนำเสนอนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในประเทศไทยของ “กรกฤต อรุณานนท์ชัย” ศิลปินรุ่นใหม่แห่งยุคดิจิตอลที่กำลังมาแรงในมหานครนิวยอร์ก โดยได้นำผลงาน อันโด่งดังที่ได้จัดแสดงในระดับโลกมานำเสนอภายใต้นิทรรศการ “2012-2555,2556,2557” ผลงานวิดีโอไตรภาค ที่สร้างสรรค์ขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2555-2557 กับการสะท้อนมุมมองที่มีต่อคำว่า “ศิลปะ” และการบอกเล่าเรื่องราว ของศิลปินที่ใช้ตัวเองเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน โดยเฉพาะการนำเสนอ “พื้นที่ตรงกลาง” ระหว่างวัฒนธรรมสองขั้วจากสองซีกโลกที่ศิลปินได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ ท่ามกลางยุคโลกาภิวัฒน์ ที่เชื่อมโยงโลกทั้งใบเข้าไว้ด้วยกันผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
โดย หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน ได้สร้างสรรค์กิจกรรมเสวนาพิเศษ หรือ Artist Talk ขึ้น เพื่อให้ผู้ชมได้พบปะ และแลกเปลี่ยนมุมมองกับศิลปินอย่างใกล้ชิด รวมถึงพูดคุยถึงรายละเอียดและที่มาของผลงาน ก่อนที่ผู้ชมจะได้เข้าไปค้นหาคำตอบด้วยการคิดพิจารณาไตร่ตรองถึงความหมายอันลึกซึ้ง เฉียบแหลม และแยบยลที่ศิลปิน ได้แฝงเอาไว้ในผลงานวิดีโอแต่ละภาคภายในห้องจัดแสดงนิทรรศการ
เริ่มจาก ผลงาน “2012-2555” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ศิลปินกำลังศึกษาในระดับปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยจุดตั้งต้นทางความคิดเกี่ยวกับงานศิลปะที่เปลี่ยนแปลงไป โดยศิลปินเห็นว่า “วัตถุดิบของศิลปินอาจไม่ใช่ตัวงานศิลปะ หากแต่เป็นตัวศิลปินเอง” ผนวกกับความคิดถึงบ้านที่ประเทศไทยและความห่วงใยในอาการป่วยของคุณตา ได้กลายเป็นตัวจุดประกายให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้ประเทศไทยเป็นพื้นเรื่องหลัก เพื่อเป็นดั่งความทรงจำ ทางศิลปะสุดท้ายก่อนที่จะถือกำเนิดใหม่ในฐานะนักศิลปะอีกคนหนึ่ง โดยผลงานชิ้นนี้ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของศิลปินผ่านคาแรคเตอร์หลักอย่าง “จิตรกรผ้ายีนส์” ซึ่งเป็นตัวแทนและสัญลักษณ์ของงานที่ศิลปินชื่นชอบและได้ลงมือทำ ในอดีต และการใช้พื้นที่ต่างๆ ที่ศิลปินมีความผูกพัน ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานวิดีโอที่สะท้อนถึง“ความผันเปลี่ยน ในชีวิต” ของศิลปินอย่างแยบยล อาทิ สนามหญ้าในบ้านที่กำลังจะกลายเป็นบ้านพักคนชราของคุณตาและคุณยาย ซึ่งการได้ย้อนดูเรื่องราวเหล่านี้ เปรียบได้กับการมองภาพในอดีต ขณะจิตสุดท้ายของมนุษย์ที่กำลังจะดับไป
ผลงานชิ้นที่ 2 ภายใต้ชื่อ “2556” ศิลปินได้เปรียบเปรยเหมือนกับการสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ (Identity) ภายในพื้นที่ตรงกลางก่อนการเกิดใหม่ (Rebirth) ซึ่งในช่วงต้นของผลงานวิดีโอชิ้นนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากการเดินทางของศิลปินไปสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมกับศิลปินอีก 65 คน ณ เมืองแห่งหนึ่งที่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตให้ใช้อย่างจำกัด คล้ายกับว่าศิลปินได้ตัดขาดจากโลกภายนอกเสมือนอยู่ในโลกหลังความตายที่ไม่สามารถกลับมายังโลกมนุษย์ได้ จากนั้นได้ตัดสลับมายังโลกปัจจุบันที่ “ดิจิตอล” เข้ามามีอิทธิพลอันทรงพลัง โดยเฉพาะคลิปวิดีโอการแสดง บอดี้ เพนท์ติ้ง ของ ดวงใจ จันทร์สระน้อย ในรายการไทยแลนด์ ก็อตทาเล้นท์ ซึ่งเป็นคลิปอื้อฉาวที่ต่อมาได้นำไปสู่การสนทนาระหว่าง อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ กับพิธีกรชื่อดังในประเด็นความหมายของศิลปะที่ดีหรือไม่ดี ถูกต้อง และไม่ถูกต้อง ซึ่งเหตุการณ์นี้เองได้ดึงให้ศิลปินเข้ามาสนใจในการหาพื้นที่ตรงกลางระหว่างสิ่งสองขั้วที่แตกต่างบนพื้นฐานของคำว่า “ศิลปะ”
ส่วนผลงานชิ้นที่ 3 อย่าง “2557 (Painting with history in a room filled with men funny names 2)” เป็นการเดินเรื่องต่อเนื่องจากวิดีโอในภาคที่ 2 จากการตีความนิยามศิลปะของ บอดี้ เพนท์ติ้ง มาสู่เรื่องราวของ “วัดร่องขุน” โดยได้หยิบยกเนื้อหาของสิ่งสองขั้วที่แตกต่างกันมาทำลายกรอบการแบ่งแยก จนได้เป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึง “ความเหมือนในความแตกต่าง” บนพื้นที่ของศิลปะอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะนิยามที่แท้จริงของศิลปะและความหมายของคำว่า “ศิลปะที่ดี” และ “ศิลปะที่ไม่ดี” ซึ่งศิลปินได้นำเสนอออกมาในรูปแบบ Road Trip Movie หรือการเดินทางระหว่างเขาและพี่ชายฝาแฝดอย่าง คุณกรพัฒน์ เพื่อไปสู่เส้นทางระหว่างวัฒนธรรมป๊อบปูล่าร์และจิตวิญญาณ โดยใช้การไปเที่ยววัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย เป็นตัวเดินเรื่อง พร้อมบทสุดท้ายที่จุดประกายความสงสัยด้วยการตั้งคำถามว่า “หากพุทธศาสนาเปรียบเป็นจิตใต้สำนึกของเมืองไทยและอุตสาหกรรมทางเพศเปรียบเหมือนกับจิตไร้สำนึก หากจะนำเอาสำนึกทั้งสองส่วนมาเจอกันโดยใช้ผลงานจิตรกรรมเป็นพื้นที่ตรงกลางจะได้หรือไม่”
นิทรรศการวิดีโอและศิลปะจัดวาง “2012-2555,2556,2557” เปิดให้เข้าชมทุกวันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 10 กันยายน 2559 เวลา 9.00 – 20.00 น. ณ หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ โทร. 02-612-6741 อีเมล์ artcenter@jimthompsonhouse.com เฟซบุ๊ก The Jim Thompson Art Center และเวปไซต์ www.jimthompsonartcenter.org
RECOMMENDED CONTENT
หลังจากคว้ารางวัลกรังปรีซ์ สาขาเพลงประกอบโฆษณายอดเยี่ยมจากเวทีคานส์ ไลอ้อน 2017 อาดิดาส ออริจินอลส์ยังคงพัฒนาผลงานสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง