ในยุคที่ทุกอย่างขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วด้วยกระแสแห่ง Digital และโลกที่มีระบบ Internet หลากหลายศาสตร์และแขนงต่างก็มีการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่เกิดขึ้นมากมาย ที่เห็นชัดที่สุดคือโลกของศิลปะและเสียงดนตรี ในยุคสมัยนี้มีศิลปินนอกกระแสทำผลงานออกมาให้เห็นกันนับไม่ถ้วน ผ่านช่องทาง Social Network ที่รองรับ เอาที่เห็นได้ชัดก็คือโพสต์ลง Youtube หรือเก่าหน่อยก็ mySpace และหนึ่งในวงดนตรีที่เกิดขึ้นในยุคดังกล่าวและตอนนี้กำลังเติบโตขึ้นมาเป็นที่จับตามองจากนักฟังเพลงทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ในบ้านเราก็คือ “Yellow Fang” วงดนตรีร็อคสามสาวที่มีฝีไม้ลายมือการแต่งเพลงและการเล่นดนตรีที่ชัดเจนและเป็นเอกลักษณ์ เรานัดคุยกับพวกเธอที่ร้าน Smitheries ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนทำจิวเวอรี่ของพิม (มือเบสของวง) เมื่อทั้งสามคนเดินทางมาถึงพร้อมกันแล้ว เราก็ไม่รอที่จะเริ่มพูดคุยกันเลย
YellowFang เกิดขึ้นได้ยังไง ?
แป๋ง ก็เป็นเพื่อนๆที่อยากเล่นดนตรีกันนี่แหละคะ อยากฟังเพลง อยากเล่นดนตรี อยากมีวง ตอนแรกก็สร้างวงขึ้นมาแบบที่เหมือนไม่มีวงอะ คือมี myspace แต่ไม่มีเพลง มันเป็นยุคที่เรียนมหาลัยแล้วมีวงดนตรี ก็จะมีวงประจำรุ่นเล่นกันในคณะอะไรอย่างนี้ แล้วเราเรียนศิลปกรรมรุ่นเรามีผู้หญิงเยอะ ก็เอางี้แล้วกัน แกเล่นเบสแล้วกัน แกตีกลองแล้วกัน ซึ่งจริงๆเพื่อนเราอะเล่นไม่เป็นเลย ก็มี ปุ๋ย(เบสคนก่อน) แล้วก็เพื่อนอีกคนนึงชื่อ วี ตีกลอง 2 คนนี้ก็ไปลงเรียนเพื่อมาทำวงกัน แล้วเค้าออกไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนนั้นน้องแพรยังอยู่มัธยมอยู่เลย
แล้วแพรเข้ามาได้ยังไง ?
แพร : เรามีวงอยู่แล้วตอนมัธยม แล้วก็เข้ามหาลัยมาเป็นรุ่นน้องพี่แป๋ง ก็มีวงที่มหาลัย เป็นวงเล่นกันในรุ่นตัวเองก่อน แล้วพี่ชายเราก็แนะนำให้รู้จักพี่แป๋ง แล้วก็ไปเล่นวงเดียวกับพี่แป๋ง
แป๋ง : ตอนนั้นมีงานที่ต้องเล่นแล้ว แต่ไม่มีมือกลองเพราะมือกลองคนเก่าเค้าไปจีน จริงๆพิมเค้าก็ตีกลองได้ด้วยล่ะ แต่ตอนนั้นพิมเองก็ไปจีน คือเพื่อนที่ตีกลองได้ไปจีนทั้ง 2 คนเลย ก็มีคนแนะนำว่าน้องพี่กุ๋ย (วง Samurai Loud) อยากตีกลอง ก็คือน้องแพร เราเลยโทรหาพี่กุ๋ยว่าให้น้องแพรมาเล่นที่งานนะ คือตอนนั้นไม่ได้กะชวนน้องแพรเข้าวง คือลองมาซ้อมกันดู เพราะไม่มีกลองจริงๆ สุดท้ายมันก็เริ่มจากงานนั้นแหละ (หัวเราะ)
ชื่อ Yellow Fang มาจากไหน ?
แป๋ง : มันก็เป็นเหมือนเรื่องโจ๊กอะค่ะ แบบถ่ายรูปกันกับเพื่อนแล้วออกมาเขี้ยวเหลือง คือมันไม่ได้ตั้งใจจะใช้จนถึงวันนี้อะค่ะ แต่มันก็ไม่เคยได้คิดชื่ออื่น ก็เลยใช้ชื่อนี้ยาวมาเลย
แพร : ทุกคนเวลาถามความหมาย พอเราบอกไป เค้าก็จะงงๆกันแบบนี้ล่ะค่ะ (หัวเราะ)
ตอนแรกๆเล่นเพลงอะไรกัน ?
แป๋ง : ก็แรกๆเราจะ Cover เพลงกันเยอะ ถ้าเพลงแรกๆเลยที่ลองทำวงกันก็จะมีของ Beck เพลง New Pollution เพลงมันเป็นลูปอะค่ะ ก็เล่นวนไปเรื่อยๆ แล้วก็มีพวก New Order, White Stripes, The Unicorns ก็แนวๆนั้นค่ะ ที่มันเป็นคอร์ดเดินไปเรื่อยๆ
ทำไมอัลบั้มนี้ถึงใช้ชื่ออัลบั้มว่า The Greatest ?
แพร : The Greatest เพราะว่า…
แป๋ง : เหมือนประชดมากกว่าค่ะ (หัวเราะกันสามคน)
แพร : The Greastest มันเหมือนเป็นการรวมเพลงของเราจริงๆ ตั้งแต่ออก ep แผ่นแรก ปี 2008 ขายงานแฟต แล้วก็ออกมาบ้างเรื่อยๆ จนรู้สึกว่า เวลาเราไปเล่นตามงานอะค่ะ มันก็จะเป็นเซตนี้ล่ะที่เราเล่น ไหนๆเราก็เล่นมาเรื่อยๆเป็นเพลงๆเดียวกันอยู่แล้ว ก็รวบรวมอัดใส่ให้มันรวมเป็นผลงานจริงๆซะที ซึ่งมันก็มีทั้งเพลงเก่าเพลงใหม่รวมหมดเลย มันก็เลยเหมือนกับเป็นรวมฮิตของเราเองนี่ล่ะ
การทำงานตั้งแต่ ep มาจนถึงตอนนี้ กระบวนการต่างกันเยอะไหม ?
แพร : ตอนแรกมันก็เหมือนทำกันให้ง่ายที่สุด ก็มีทำกับคนรู้จักหลายคนเลย อย่าง ep แรกให้โทนี่ ผี ช่วยมิกซ์ แล้วก็มีให้ต้าร์ พาราด็อกซ์ช่วยมิกซ์ คือทุกคนที่รู้จักช่วยหยิบยื่นกันสุดๆ แล้วก็มาได้เจอพี่เท็ดดี้วงฟลัวร์เข้ามาช่วย ในเรื่องขั้นตอนการอัดแล้วก็เรียบเรียงเสียง หลังจากนั้นก็มีลองส่งไปให้คนอื่นมิกซ์อีกทั้งอย่างเช่น เจ มณฑล , Scott Moffatt โดยสรุปแล้วทั้งอัลบั้มก็มีช่วยๆกันหลายคนเหมือนกัน
แป๋ง : รวมถึงเพลงเก่าๆที่เราเคยอัดกันเสร็จแล้ว บางทีก็เอามามิกซ์ใหม่ ตัดใหม่นิดหน่อย อัดคอรัสเพิ่ม อะไรแบบนั้นน่ะค่ะ ก็เหมือนทำใหม่กันหมดเลย
แพร : พอมิกซ์เสร็จแล้ว เราก็ค้นหาซาวด์ว่าเราอยากได้แบบไหน อย่างพี่แป๋งเค้าชอบวง Deerhunter อารมณ์ประมาณนี้ เราก็ติดต่อคนที่อเมริกาที่เค้าทำอยู่ก็ส่งไปให้ Master ที่นู่นเลย
แป๋ง : มันก็สนุกๆค่ะ เดี๋ยวนี้ Internet มัน Transfer ไฟล์กันแค่ครึ่งชั่วโมงก็ถึงกันแล้ว เดี๋ยวนี้ทุกอย่างมันเป็นดิจิตอลหมดอะไรๆก็ง่ายขึ้น
ส่วนใหญ่ใครเป็นคนแต่งเพลง ?
แพร : พี่แป๋งจะเป็นคนเริ่ม จะเป็นคนเริ่มไอเดียเพลงๆนั้นมา แล้วเราก็มาแตกในห้องซ้อม
แป๋ง : ค่ะ ตอนแรกก็อาจจะมีคอร์ด หรืออาจจะมีเมโลดี้ฮัมๆคร่าวๆ แล้วก็มาซ้อมกัน มาต่อๆปะๆกันไป ได้ท่อนนั้นท่อนนี้เพิ่ม
ศิลปินคนไหนที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเราสามคน ?
แป๋ง : อืม ถ้าชอบๆของเรา… ถ้าที่เป็นอิทธิพลทางเล่นดนตรีนะ ที่ฟังๆก็จะมี New Order, The Velvet Underground ถ้าเพลงสมัยใหม่ก็มีฟังบ้างแต่ไม่เท่าเมื่อก่อน คือเพลงใหม่มันไม่เหมือนเพลงเก่านะ มันแปลกเหมือนกัน เพลงเก่ากลับไปฟังอีกรอบมันก็ยังฟังได้อยู่ จนถึงสมัยนี้เวลาผ่านไปเราก็ยังไม่ค่อยฟังเพลงใหม่เท่าไรนะ รู้สึกเหมือนมันเพราะวัยอะ เมื่อก่อนเราฟังเพลง เรานั่ง Dig ได้เรื่อยๆ ลิงค์ไปเพลงนั้นเพลงนี้ แต่เดี๋ยวนี้มันจะฟังวนเพลงเดิมๆแล้ว เหมือนขี้เกียจ ก็จะพูดถึงศิลปินที่ยังฟังอยู่เรื่อยๆก็มีนี่ล่ะค่ะ The Velvet Underground ส่วนวงไทยที่ฟังตั้งแต่เด็กก็มี โยคี เพลย์บอย Death of a Salesman
แพร : เราจะเป็นสาย Pop Dance อะไรแบบนี้มากกว่า ตั้งแต่เด็กก็คือเราจะชอบ Spice Girls มาก แล้วตอนเข้ามาเรียนมหาลัย ก็จะชอบพวก Radiohead มาก มาถึงตอนนี้ก็จะชอบอย่าง Tame Impara แล้วก็มี MIA อะไรแบบนี้ แต่คือจะชอบ Spice Girls มาก เรียกว่าถ้าได้ดูคอนเสิร์ตเค้าก็ตายได้เลย
พิม : ของพิมเหรอ… โห มันก็ยากนะ เพราะคนเรามีฮีโร่ได้หลายคนอะเนอะ ก็เอาเป็นที่ชอบๆช่วงนี้ละกัน ถ้าเป็นช่วงนี้ชอบ พิมก็จะเพิ่งมาค้นพบความสุดยอดของ Led Zepplin แล้วก็มี Gil Scott Heron ที่ฟังแล้ว Groove มันดี มันเท่ หรือพวกเพลงประกอบของ Ocean Eleven อันนั้นจะเท่มากๆ คือจริงๆไม่เคยเล่นเบสเลย เมื่อก่อนฟังก็ไม่ได้สนใจเบสเลย แล้วคลื่นความถี่ของเบสมันจะต่ำมาก พอมาตั้งใจฟังดู ก็รู้สึกว่าอันนี้มันดีนะ อย่าง Led Zepplin ก็ชอบเบสมาก John Paul Jones เล่นได้มันส์มาก
ประสบการณ์เล่นท่ีไหนที่ประทับใจ ?
แพร : ส่วนใหญ่ก็จะชอบที่เวลาคนสนุกมาก ถึงแม้ที่จะใหญ่หรืออะไรก็ตามแต่ถ้าคนดูไม่สนุก มันก็ไม่สนุก อย่างตอนไปงาน Stonefree คนมันส์มาก สนุกมาก มาล้อมวง เต้นกัน ร้องกันเสียงดัง คือเอาจริงๆ เพลงเรามันก็ไม่ใช่เพลงเต้นกันขนาดนั้นอะ ส่วนใหญ่เวลาเราเล่นที่กรุงเทพคนก็จะนั่งดูกัน แต่ไม่รู้สิ เวลาเราไปเล่นกันที่อื่นหรือต่างจังหวัด ทำไมมันมีความมันส์มากขึ้นกว่าเดิม แบบมันส์จนกรี๊ดอะ ร้องกัน เต้นกัน
แล้วเคยเจอประสบการณ์ที่คนฟังไม่ Enjoy กับเราไหม?
แพร : มีครั้งนึงเราเคยเล่นแบบไม่มีคนดูเลย ซักคนเดียว แบบศูนย์คนอะ ที่สัตหีบ เราเล่นวงแรก แบบขนาดเพื่อนที่มาด้วยกันมันยังเดินมาไม่ถึง ยังอยู่ลานจอดรถกันอยู่เลย ก็ไม่มีใคร เราก็เล่นของเราไป ถ้าจำไม่ผิดนั่นเป็นงานใหญ่งานแรกๆของพวกเราเลยนะ
แป๋ง : หรือแบบเคยเล่นๆอยู่ มีเขียนโน๊ตขึ้นมาว่าก็ยังมีเลย
แพร : แบบ “ร้องให้มันรู้เรื่องหน่อยได้ไหม” “ไม่เกรงใจเจ้าของร้านเลยเหรอ” “เล่นเพลงที่รู้จักบ้างได้ไหม” “ร้องภาษาอะไร” ซึ่งจริงๆเราก็ร้องเพลงไทยของเรานี่ล่ะค่ะ แต่ก็ไม่เป็นไรเค้าคงไม่ใช่คนที่จะชอบเพลงแบบของเรา ตอนเราได้โน๊ตมากันเราก็ขำนะ ก็เล่นต่อไป
แป๋ง : อืม ยังกลับมาคิดเลยทำไมวันนั้นไม่ตะโกนกลับไป “เห้ย ใครวะ” (หัวเราะกันหมด) ก็มีครั้งนั้นล่ะที่ชัดมากๆ เรารู้สึกตั้งแต่ขึ้นเวทีกันแล้ว พอเห็นหน้าคนที่ดูเรารู้อยู่แล้วล่ะว่าวันนี้มันแปลกๆ (หัวเราะ)
แพร : ก็คือถ้าคนไม่สนุก คนเค้าก็จะนิ่งๆ จะไม่มีการ เอาอีก เอาอีก ก็จะจบไป แต่ถ้ามันสนุกคนก็จะมี Encore แบบเอาอีก เอาอีก ไปเรื่อยๆ
ความสำคัญของการขอ Encore ?
แป๋ง : สำคัญนะ ก็เวลาดูคอนเสิร์ตศิลปินใหญ่ๆบางที เราดูเราก็รู้เลยว่า เนี่ยเดี๋ยวต้องมีแน่นอน แบบเห้ย เพลงที่อยากฟัง เพลงที่ดังมากๆ ทำไมมันไม่เล่นวะ นั่นล่ะ เดี๋ยวต้องเล่นตอน Encore ชัวร์ ซึ่งจริงๆเราว่า มันก็เป็นการสร้าง Sequence ที่คนดูมันก็รู้สึกร่วมดีนะ แบบพอจบไป ขึ้นมาใหม่เป็นช่วง Encore คนดูมันก็เหมือนได้มูดอะไรที่สนุกขึ้น บางคนลงไปแปปนึง บางลงไปสิบนาทีสิบห้านาทีแล้วขึ้นมาใหม่ก็มี
พิม : แต่มันก็มีหลายกรณีนะ บางทีเราอยากเล่นให้ แต่ก็อาจจะมีเกรงใจ Organizer อะไรแบบนั้น เพราะเวลาไม่พอแล้ว ก็ต้องยอมเลิกจริงๆ บางทีเล่นๆไปโดนตัดเพลงเลยก็มี
แป๋ง : ใช่ๆ จริงๆ เรื่องเวลา ถ้าเทียบกับที่ญี่ปุ่นเค้าให้ความสำคัญกันมากเลยนะ คือมีเวลาให้ศิลปินเซตซาวด์กันนานจริงจังเลย แล้วคนบ้านเค้าจะตรงเวลากันมาก บ้านเราก็ต้องเรียนรู้กันอะค่ะ ว่าจะทำไงให้ตรงเวลากันและกันมากขึ้น ทั้งผู้จัดเองก็ต้องให้เวลากับศิลปินท่ีมันเหมาะสมด้วย
ไปเล่น Summer Sonic ได้ไง ?
แพร : ก็มีคุณ Jiro Endo(Lighting Designer ชาวญี่ปุ่น) เค้าบอกเราว่าที่งาน Summer Sonic (เทศกาลดนตรีที่ญี่ปุ่น) จะมีเวทีที่เปิดให้วงจากประเทศต่างๆมาเล่น แล้วญี่ปุ่นเค้าอยากชวนประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น ก็แนะนำเราไป แต่ครั้งแรก (ปี 2012) เราก็ออกตังค์ค่าตั๋วไปเองเลย เพราะว่าเราอยากไปเล่นจริงๆ ซึ่งพอไปเล่นแล้วเสียงตอบรับดีมาก เค้าฟังเราไม่รู้เรื่องหรอก แต่เค้าเปิดใจรับฟัง พอไปรอบสอง (ปี 2013) เริ่มมีใส่เสื้อเรามาฟัง เริ่มมีร้องตาม เริ่มมีเอาขนมมาให้ เราว่าที่สำคัญคือเค้าเปิดใจเรื่องการซื้อแผ่นด้วย ที่นู่นเค้ายังซื้อแผ่นซีดีกันอยู่เป็นเรื่องปกติ
แป๋ง : ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เค้าบริโภคกันมันส์มาก คือเค้าเหมือนมี Culture ทางเรื่องดนตรีที่ชัดมากๆอะ อย่างร้านแผ่นเสียง ร้านกีตาร์ ร้านมือสอง ยังมีให้เห็นกันทั่วเต็มไปหมดเลย บางร้านมีเพลงนอกกระแสจากทั่วโลกเลย อย่างแผ่นของ Yellow Fang ตอนนี้ก็ยังมีขายที่นั่น ถ้าเป็นเรื่องดนตรีคนเค้าใช้จ่ายกันแบบถึงมากๆ
ยุคนี้ที่ทุกคนสามารถทำเพลงได้ ยุคอินดี้เฟื่องฟู สำหรับ Yellow Fang คิดว่ามันยากหรือมันง่าย ?
แพร : อยู่เนี่ย ต้องถามก่อน ว่าอยู่แบบเอาเงินกับมันรึเปล่า ถ้าเอาเงินกับมันอะ เราว่าอย่า อย่าหวังที่จะเอาเงินกับมัน เพราะว่า คงไม่ได้ล่ะ คงไปสู้กับค่ายใหญ่ๆเค้าไม่ได้หรอก ประเทศเราหาตังค์กับอะไรแบบนี้ยาก ถ้าทำสนุกทำได้ ซึ่งอย่างเรา เราก็ถือว่าเป็นการทำสนุก
พิม : มันเหมือนเป็น Culture ของเราด้วย มันเปลี่ยนยาก มันต้องใช้เวลาอีก… เป็นหลายปีหลายสิบปีอะ เพราะกว่าญี่ปุ่นเค้าจะมาพัฒนาเป็นจุดนี้ เค้าต้องผ่านอะไรต่อมิอะไรของเค้ามาแล้ว จนเค้าถึงจุดที่สามารถ Appreciate งานอะไรเหล่านี้ได้เต็มที่
แป๋ง : จริงๆเราว่าคำว่า Indy มันก็บอกอยู่แล้ว มันไม่มีอะไรตายตัว เงินมันก็คงไม่ได้มาสม่ำเสมอ ถามว่าเรามีรายได้จากการทำวงมั้ย มันก็มีนะ มันก็มีงานเข้ามาเรื่อยๆ แต่ถ้าให้เรามาแบบทุกเดือนต้องทำเป้าได้เท่านั้นเท่านี้ อันนั้นน่าจะไม่ได้ คนที่ทำเพลงแล้วเรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินอินดี้ เค้ารู้อยู่แล้วล่ะว่าเค้าทำเพื่ออะไร มันคงไม่ใช่ทำเพื่อเงินแน่ๆอะ แต่ไม่ได้เทียบกับวงอินดี้ประสบความสำเร็จนะ นั่นก็มีเหมือนกัน เราว่ามันเป็นไปได้ เพราะเราเชื่อว่าในโลกนี้มีศิลปินอินดี้ ที่ไม่ต้องแบ่งตังค์ให้ใคร แล้วก็โคตรรวยเลย ซึ่งมันทำให้ความคิดทางดนตรีเค้าน่าจะมีความอิสระแบบ เกินร้อย อะ เค้าก็ยินดีที่จะทำมันมากขึ้น ง่ายๆก็อย่าง Radiohead เค้าก็เริ่มจากทำเพลงกันเอง เป็นนอกกระแสนะ แต่กรณีนั้นเราว่ามันพิเศษจริงๆ มันยากมากนะที่วงๆหนึ่งจะรวมคนที่เป็นสุดยอดคนได้ขนาดน้ี แบบเวลาผ่านไปขนาดไหนก็ยังเล่นด้วยกันอยู่ เราว่าแบบนั้นอะ ยอมรับเลยว่าเค้าเก่งกันจริงๆ
แล้ว 6 ปีที่ผ่านมาของ Yellow Fang ที่เราได้เติบโต มีอะไรที่เรายังอยากเพิ่มให้กับวงไหม ?
แป๋ง : หมายถึงพัฒนาอะเหรอคะ จริงๆเราอยากมี Instrument อื่นๆเพิ่มเข้ามาบ้าง แล้วก็เรื่องจำนวนเพลง… คือเพลงที่เรามีเนี่ย ถ้าพูดในฐานะคนทำเพลง วงเรามีเพลงน้อยมาก เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ ก็อยากทำเพลงมากกว่านี้ รู้สึกว่าตัวเองน่าจะ Invent อะไรมากกว่านี้ คือตอนนี้สิ่งที่ทำอยู่อะ โอเคเราแฮปปี้กับมัน แต่ว่าเราไม่ได้แบบ… เหมือนคนวาดรูปอะ การที่เค้ามีรูปสวยรูปนึง เค้าคงมีสเก็ตช์เป็นร้อยอันได้ ซึ่งเราตอนนี้ก็ไม่ได้มีสเก็ตช์เยอะเท่าไร เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นไปได้นะ เราก็อยากทำแบบนั้น อยากขยันมากกว่านี้ อยากมีเวลาทำอะไรเยอะๆ แบบมีหลายๆเพลงแล้วก็ค่อยมาคัดเลือกเหลือเพลงน้อยๆอีกที เราว่ามันน่าจะสนุกขึ้นแล้วได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น เหมือนเห็นอะไรในตัวเองมากขึ้น ตอนนี้มันเหมือนชั้นนั่งคิด ชั้นตีคอร์ด ชั้นชอบละ เราว่ามันง่ายไปหน่อย
แพร : ของแพรคงเป็นด้านการจัดการวงค่ะ แบบ Management การบัญชี หรืออะไรทุกอย่างที่มันควรจะเป๊ะๆอะ คือตอนนี้เราสามคนก็เป็นคนปล่อยปะละเลยประมาณนึง ก็คือเข้าใจล่ะตอนนี้เหมือนดูแลกันเอง ทำกันเอง บางทีเอาซีดีไปขายไม่ได้ตังค์ก็มีเลย (หัวเราะ) คือมันขี้เกียจนะเรื่องไรแบบนี้ มานั่งทวงตังค์ มานั่งทำบัญชีกัน แต่ว่าสุดท้ายมันก็ต้องทำ ถ้าเป็นไปได้ คิดว่าพอวงโตขึ้นคงต้องหาคนมาทำหน้าที่ตรงนี้เลย
พิม : ของเราก็คงเป็นเรื่องการ Delivery ของวง คือเหมือนบางทีมันก็ยังเขินอายอยู่ ยังไม่ปล่อยวางบางอย่าง
แป๋ง : อืมใช่ เหมือนมันยังมีกำแพงบางอย่างระหว่างเรา กับคนที่มาดู
พิม : ใช่ๆ แบบไม่อายในขณะเล่นเพลง แบบปล่อยไหลบ้าง มีความกล้าหาญในการ Improvised บ้าง คือแบบเล่นลืมตัว เล่นลืมอีโก้อะ แบบเล่นจนหน้ามันเป็นออทิสติกอะไรแบบนั้น (หัวเราะ) อยากอินจนให้หน้ามันไปอะ อยากมีความกล้ามากกว่านี้
มีแผนมั้ยว่าเราอยากจะขายฐานแฟนเพลงให้มันกว้างขึ้น ?
แป๋ง : อาจจะไม่ใช่แผนนะคะ แต่ว่าคงเป็นเรื่องของวิธีหรือสื่ออะไรใหม่ๆมั้ง ที่เป็นอยู่ตอนนี้เราว่ามันก็เป็น Demand ที่วงเราได้รับด้วย แบบคนก็รู้จักเราในกลุ่มประมาณนี้ เมื่อก่อนก็เล่นแค่ Moose หรือก็เคยมี Cosmic แค่นี้ มันเหมือนรู้สึกกับตัวเองว่าแล้วไม่มีที่อื่นแล้วเหรอ (หัวเราะ) คือถ้ามันมีที่ที่เราสามารถไปเล่นแล้ว ได้เจอคนใหม่ๆคงจะน่าสนใจดี ไปในจังหวัดต่างๆที่ไม่เคยไป เราก็อยากไป มันไม่ต้องเจอคนเยอะแยะหรอก เพราะถามว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็มีคนรู้จักเราเยอะพอสมควรแล้ว แต่อยากลองไปเจอกลุ่มคนที่ไม่เคยเจอบ้าง คือเราทำเพลงออกมา เรายินดีที่จะให้คนฟังเพลงเยอะอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากให้คนได้ยินเรามากกว่านี้ เราก็ต้องผลักดันกันแน่นอนล่ะค่ะ
แต่คือจะไม่มาทำร้ายการทำเพลงของเรา ?
แป๋ง : คงไม่อะคะ ก็คงเป็นเรื่องวิธีการ Approach คนฟัง เรื่องการทำเพลงของเรา มันฟรีอยู่แล้ว เราไม่มีใครมาบังคับอยู่แล้วตั้งแต่แรก ไม่มีค่าย มีโจทย์มาบอกว่าเราต้องออกเพลงภายในเดือนนี้ ทำเพลง 10 เพลง ทำกี่อัลบั้มภายในกี่ปี อยู่ค่ายมันจะชัดเจนเลย ต้องออกอัลบั้ม 2 ปีครั้ง เซ็นสัญญาห้าปีต้องมี 3 ชุด อะไรแบบนี้ มันก็คือสัญญา แต่เราไม่มีตรงนั้น มันก็มีข้อดีข้อเสีย ก็คือเราก็จะไม่มี Complement อะไรเลย เสร็จเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น แล้วก็อาจจะเหลวไหลบ้าง
นอกจากเล่นดนตรีแล้ว ทุกคนทำอะไรกันอีกบ้าง ?
แพร : เราทำกากเพชร ของเราก็จะรับงาน ทำแบบเหมา ทำให้ห้างบ้าง ทำวันเกิดเด็กบ้าง แล้วก็มีร้องเพลงโฆษณาบ้าง เจลี่ บิวตี้ “บิวตี้ทุกที่ บิวตี้ทุกเวลา” (หัวเราะ) ส่วนพี่แป๋งเค้าก็มีงานประจำอยู่ แล้วก็มี Side Project ด้วยค่ะ ทำคอนเสิร์ตชื่อ Have You Heard
แป๋ง : ค่ะ ของเรานอกจากทำงานประจำแล้ว ก็จะมีทำคอนเสิร์ตด้วย ชื่อ Have You Heard เราจะพยายามเอาศิลปินที่น่าสนใจทั้งในประเทศและนอกเข้ามาเล่นให้คนฟังกัน ปีหน้าก็อยากทำอันนี้จริงจังด้วยค่ะ
พิม : ของพิมก็มีก็ที่นี่ล่ะค่ะ (หัวเราะ) พิมทำโรงเรียนสอนทำ Jewelry เหมือนทำ Workshop กัน ชื่อ “Smitheries” อยู่ซอยทองหล่อ
สุดท้ายนี้แฟนๆจะได้ฟังอัลบั้มต่อไปเมื่อไร ?
แพร : อ๋อ อย่าถามเลยค่ะ (หัวเราะ) พูดตรงๆว่ายังไม่ได้เริ่มเลย เราไม่ค่อยอยากบอกว่าเมื่อไร เพราะว่าบอกไปแล้ว เราไม่อยากจะให้รอกัน ก็ดูสิเนี่ยกว่าจะได้อัลบั้มแรกออกมา นี้ก็กี่ปีเข้าไปล่ะ
พิม : ก็รวมๆแล้วเกือบ 8 ปีเลย
แป๋ง : อัลบั้มใหม่นี่ยังก่อนค่ะ ตอนนี้คงต้องขอเคลียร์สมองก่อน เพราะว่าถ้าจะทำ เราอยากทำจริงๆ แบบตั้งใจให้มันเสร็จจริงๆ อยากมีเวลาให้มัน ไม่อยากมา On On Off Off หรือต้องมารีบกัน ก็คิดว่า ถ้าจะทำ มันต้องทำให้มันเต็มที่ไปเลยค่ะ
ตารางแสดง Yellow Fang ในปี 2014
สามารถติดตามข่าสารของ Yellow Fang ได้ที่ https://www.facebook.com/yellowfangloveyou?fref=ts
Writer: Pakkawat Tanghom
Photographer: Pakkawat Tanghom
RECOMMENDED CONTENT
“เครื่องดื่มตราช้าง” ดึงตัวเจ้าพ่อเพลงรัก ‘บอย โกสิยพงษ์’ และนักร้องสุดอบอุ่น ‘นภ พรชำนิ’ มาร่วมแต่งเนื้อร้องและทำนองเพลงเชียร์นักเตะทีมชาติไทยครั้งแรก ในโปรเจ็กต์สุดพิเศษภายใต้แคมเปญ #เล่นไม่เลิก ส่งเพลง “ช้างศึก เล่นไม่เลิก” แทนพลังเชียร์ของแฟนบอลไทยทุกคน