fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#Movieguide – 5 ตัวละครชายจากหนัง 5 เรื่องที่เป็นผลกระทบร้ายกาจ จากค่านิยม ‘ความเป็นชายเป็นพิษ’ Toxic Masculinity
date : 11.มีนาคม.2020 tag :

จากกระเเสของหนัง Hollywood ในช่วงปีที่แล้วที่อยู่ๆ ก็พร้อมใจกันทำหนังเกี่ยวกับผู้ชาย โดยมีตัวละครชายเป็นตัวเล่าเรื่อง ทั้ง Joker, Marriage Story, The Irishman และ Ford V Ferrari ซึ่งบรรดาตัวละครชายเหล่านั้นสะท้อนค่านิยมของคำว่า ‘ลูกผู้ชาย’ (Machismo) ในรูปแบบและเลเวลที่แตกต่างกันออกไป เช่น การเป็นชายแท้ ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นลูกชายที่ดี เป็นพ่อที่ดี สามีที่ดี เป็นช้างเท้าหน้าให้ลูกเมีย ฯลฯ เหมือนกับค่านิยม American Dream ตามภาพโฆษณาในยุค 60s ที่สร้างค่านิมของครอบครัวสมบูรณ์แบบไว้ว่าต้องประกอบด้วย พ่อและสามีที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แม่และเมียแสนดีคอยดูแแลความเรียบร้อยในบ้าน ลูกสาว-ลูกชายสุดน่ารัก หมา 1 ตัว บ้านสวยๆ 1 หลัง รถยนต์ 1 คัน อะไรแบบนั้น

เมื่อสังคมกำหนดไว้ว่าลูกผู้ชายแท้ต้องดำเนินชีวิตตามแบบแผนนี้ ความพยายามของการเป็น ‘ผู้ชายที่สมบูรณ์’ จึงสร้างความคาดหวังในระดับที่ต่างกันออกไปในสังคมทุกวัฒนธรรม ทุกยุคทุกสมัย ผลที่ตามมาก็คือ ผู้ชายเองต้องแบบรับภาระของความสมบูรณ์แบบเอาไว้มากมาย จนมันอาจสร้างความกดดัน บาดแผล พัฒนาจนกลายเป็นบุคลิกที่แข็งกร้าว ร้ายกว่านั้นคือการคุกคามทางเพศ (ทั้งเพศตรงข้ามอย่างเพศหญิงและเพศทางเลือก) หรือการแสดงออกรุนแรงต่อผู้ที่ (ตัวเองคิดว่า) ด้อยกว่าเพื่อปกปิดความเปราะบางภายในตัวเอง ที่เรียกว่า ‘Toxic Masculinity’ หรือ ผลร้ายจากค่านิยมความเป็นชายนั่นเอง ซึ่งมันไม่เพียงกัดกินตัวพวกเขาเหล่านั้น แต่คนรอบข้างของพวกเขาก็ได้รับผลกระทบอันเจ็บปวดจากค่านิยมความเป็นชายที่บิดเบี้ยวนี้ไม่แพ้กัน

 Joker (2019, Todd Phillips)

ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือการที่ผู้กำกับฯ Todd Phillips นำตัวละคร Joker จอมวายร้ายแห่งเมืองก็อตแธม คู่ปรับของ Batman มาตีความใหม่ให้มีชีวิตขึ้นมาในร่างของ อาเธอร์ เฟล็ก (Joaquin Phoenix) ผู้ชายฐานะยากจน แถมยังไม่ปกติทั้งทางร่างกายและทางจิต ทำให้เขาเป็นตัวแทนของคนชายขอบในสังคมช่วงปลายปี 70s ซึ่งคาดหวัง ‘ความเป็นชาย’ มากกว่าที่เขาเป็น โดยหนังได้เปรียบเทียบความเป็นชายที่สมบูรณ์ผ่าน โทมัส เวย์น มหาเศรษฐีว่าที่นายกเทศมนตรีเมืองก็อตแธม รวมถึงผู้ชายที่ทำงานกับเขาใน Wall Street ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวแทนของชนชั้นสูงในสังคม ขณะที่ผู้ชายอย่างอาเธอร์ เฟล็ก แค่พยายามดิ้นรนจะมีชีวิตปกติที่สุดบนความไม่ปกติท่ีว่ามา เช่น ทำอาชีพสุจริต เลี้ยงดูแม่ที่ป่วย มีครอบครัวอย่างเช่นคนอื่นๆ แต่สำหรับการเป็นคนชายขอบจิตใจป่วยไข้ เขากลับถูกสังคมทอดทิ้ง แถมยังโดนขยี้ซ้ำจนไม่เหลือชิ้นดีจากบรรดาคนเหล่านั้น จนเขาก้าวข้ามความเป็นมนุษย์ที่รู้จักผิดชอบชั่วดี กลายเป็นวายร้าย Joker ที่บ้าคลั่งในเมืองสิ้นหวังแห่งนั้นไปตลอดกาล

Wildlife (2018, Paul Dano)

หนังเรื่องแรกของนักแสดงหนุ่มน่ามึนพอล ดาโน่ พูดถึงครอบครัวอเมริกันฐานะธรรดาๆ ครอบครัวหนึ่งในยุค 60s โดยมี เจอร์รี่ (Jake Gyllenhaal) ผู้เป็นพ่อที่อยู่ดีๆ ก็โดนไล่ออกจากงาน ทำให้คนเป็นเมียต้องออกไปทำงานนอกบ้านแทนในระหว่างที่ครอบครัวไม่มีรายได้ จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดไฟป่ารุนแรงแถบชายแดนสหรัฐฯ เจอร์รี่ ตัดสินใจไปเป็นอาสาสมัครดับไฟป่าไกลแสนไกลและกินเวลายาวนาน ทิ้งให้เมียกับลูกชายดำเนินชีวิตตามลำพัง ฟังดูอาจเป็นความผิดของผู้เป็นพ่อและสามี ซึ่งตามค่านิยมแล้ว ควรทำหน้าที่ดูแลครอบครัวให้มีชีวิตดีๆ ถึงแม้ว่าผู้ชายธรรมดาอย่างเขาพยายามทำหน้านั้นอย่างสุดความสามารถของเขา แต่ก็ดูจะไม่เพียงพอ ทั้งสำหรับฐานะ สถานะทางสังคม และความคาดหวังของการเป็นครอบครัวสมบูรณ์แบบในยุค 1960s ที่แค่ผู้ชายปราศจากความทะเยอะทะยานหรือเป้าหมายในชีวิตก็เป็นเรื่องผิดแล้ว การหนีไปดับไฟป่าจึงอาจทำให้เจอร์รี่รู้สึกว่าได้ทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ แม้ไฟที่แท้จริง คือไฟที่กำลังมอดไหม้ครอบครัวของเขาอยู่ก็ตาม 

 Honey Boy (2019, Alma Har’el)

หนังเกี่ยวกับพ่อของไชอา ลาบัฟ เขียนบทโดยไชอา ลาบัฟ โดยมีไชอา ลาบัฟ แสดงเป็นพ่อของไชอา ลาบัฟ ฟังแล้วดูงงๆ หน่อย เหตุผลที่ไชอา ลาบัฟ เขียนบทหนังเรื่องนี้ก็เพราะเขาต้องการ ‘บำบัด’ ความรู้สึกตัวเองที่มีต่อพ่อผ่านเด็กชายชื่อ โอทิส (Noah Jupe, Lucas Hedges) ให้ตัวแทนของเขานั่นเอง 

ตอนเด็กๆ เขาอยู่กับพ่อแค่คนเดียว ส่วนแม่แยกทาง พ่อเป็นไอ้ขี้เหล้า หยาบคาย เพิ่งออกจากคุก และตกงาน ไชอาโตมากับพ่อแบบนั้น ผู้ทำหน้าที่พ่อได้อย่างบกพร่อง เขารักพ่อ เพราะพ่อคือเพื่อนคนเดียวของเขา แต่พ่อก็คือศัตรูคนเดียวของเขาเช่นกัน จนกระทั่งวันหนึ่งไชอาโตเป็นวัยรุ่น เขาต้องเข้ารับการรักษาทางจิตเนื่องจากมีอาการก้าวร้าว ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าตัวเองป่วยเป็น PTSD หรือโรคที่เกิดจากการที่จิตใจได้รับความกระทบกระเทือนจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็กระหว่างเขากับพ่อ หนังเรื่องนี้จึงเป็นการตั้งคำถามถึงการทำหน้าของผู้ชายที่เป็น ‘พ่อ’ พ่อแบบไหนถึงเรียกว่าพ่อที่ดี แล้วถ้าพ่อไม่ดีพอ เราจะให้อภัยเขาได้ไหม ในเมื่อพ่อเองก็เป็นแค่ผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งที่เจ็บปวดได้ ร้องไห้เป็น และย่อมมีบาดแผลของชีวิตที่ผิดพลาดได้เหมือนกัน 

Boy Erased (2018, Joel Edgerton) 

สร้างจากบันทึกของ Garrard Conley ผู้เติบโตมาในครอบครัวคริสเตียนอนุรักษ์นิยม เล่าถึงช่วงเวลาแสนเจ็บปวดที่เขาต้องใช้ชีวิตวัย 18 อยู่ในสถานบำบัด Christian anti-gay Conversion Camp ซึ่งคนที่ส่งเขาไปไม่ใช่ใคร แต่เป็นพ่อแม่ของเขาเอง เพื่อหวังว่าการบำบัดด้วยความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาจะทำให้เขา ‘หาย’ จากการเป็นเกย์ ที่นั่นเขาต้องได้รับการรีเซ็ตระบบใหม่ทั้งหมดว่าการเป็น ‘ผู้ชายแท้ = เป็นคนดี’

จาเร็ด (Lucas Hedges) ลูกชายคนเดียวของบ้านผู้ไม่เคยออกนอกลู่นอกทางเลย ถูกบำบัดตั้งแต่ขั้นเบาๆ อย่างการเล่นกีฬาแบบผู้ชายๆ เข้ากลุ่มพูดสารภาพบาปของการเป็นคนรักเพศเดียวกัน จนถึงขั้นถูกใช้ความรุนแรงทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามว่าการรักเพศเดียวกันของจาเร็ดเป็นความผิดปกติ หรือว่าแท้จริงแล้วโรค Homophobia (ความกลัวและเหยียดคนรักเพศเดียวกัน) ต่างหากที่ทำให้จิตใจของมนุษย์ผิดปกติยิ่งกว่ากันแน่

 Sex Education (2019, Ben Taylor)

ครูใหญ่ไมเคิล กรอฟฟ์ (Alistair Petrie) แห่งโรงเรียนมัวร์เดลในซีรีส์จาก Netflix เรื่อง Sex Education  เป็นอีกหนึ่งตัวละครผู้เป็นตัวแทนของ Toxic Masculinity ที่เอ็กซ์ตรีมที่สุดคนหนึ่ง ถึงแม้จะแสดงออกให้เหมือนตัวร้ายในการ์ตูน เล่นใหญ่ๆ ต๊องๆ ดูแล้วฮา แต่จริงๆ แล้วเขาคือผู้ชายอนุรักษ์นิยมสุดจัดคนหนึ่ง ที่ถ้าหากมองย้อนกลับไปดู จะพบว่าเขามีเป็นชีวิตที่ตึงเป๊ะ และใช้อำนาจของความเป็นชายกดทับคนอื่นๆ รอบข้างอยู่เสมอ ไม่ว่าจะวิธีที่เขาปกครองครอบครัวแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ทั้งกับเมีย และโดยเฉพาะกับลูกชายอย่าง อดัม กรอฟฟ์ ที่ Toxic Masculinity จากพ่อทำให้เขาบุลลี่คนอื่นๆ ที่ด้อยกว่าเป็นทอดๆ ต่อไปอีก ยังลามไปถึงวิธีการที่ไมเคิล กรอฟฟ์ ปกครองโรงเรียนมัธยมมัวร์เดลอย่างตาแก่หัวดื้อ ไม่ก้าวทันโลก แถมยังมีอคติต่อใครก็ตามที่คิดก้าวหน้าไปกว่าเขาหนึ่งก้าวด้วยซึ่งภายหลัง ไอ้นิสัยร้ายๆ ของครูใหญ่กรอฟฟ์นี่แหละที่รีเวิร์สกลับโดยตรงต่อครอบครัวของเขาให้เกิดความพังพินาศที่ขำไม่ออกตามมา 

RECOMMENDED CONTENT

6.กุมภาพันธ์.2023

ภายในงานสุดเอ็กซ์คลูซีฟซึ่งจัดขึ้นที่กลาสเฮาส์ (Glass House) ในมหานครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อูโบลท์ (Hublot) และ ทาคาชิ มุราคามิ (Takashi Murakami) ได้ประกาศโปรเจกต์สร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมกันเป็นครั้งที่ 4 ด้วยการเปิดตัวผลงานศิลปะดิจิทัล NFT ใหม่ 13 ชิ้น พร้อมด้วยนาฬิกาที่โดดเด่นไม่ซ้ำใคร 13 เรือน