fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#VISIT – เรนาโต ดาโกสติน ช่างภาพและนักเดินทางผู้เล่าเรื่องความงามของความเงียบด้วยกล้องฟิล์ม
date : 30.พฤศจิกายน.2018 tag :

ฤดูร้อน 3 ปีที่แล้ว เรนาโต ดาโกสติน (Renato D’agostin) ช่างภาพชาวอิตาเลียน ตัดสินใจออกเดินทางจากนิวยอร์กข้ามรัฐไปยังลอสแอนเจลิส จากฝั่งตะวันออกไปยังตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ไม่ได้ไปด้วยเครื่องบิน ไม่ใช่รถบ้าน แต่ด้วยรถมอเตอร์ไซค์ BMW ปี 1983 คู่ใจ แล้วใช้เวลาร่วมกับมันนานถึง 2 เดือน ระยะทางกว่า 7,439 ไมล์ อยู่บนถนน 5 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อทำความรู้จักอเมริกาเป็นครั้งแรกด้วยสายตาและกล้องฟิล์ม โดยอาศัยล้างฟิล์มในอ่างล้างหน้าของโรงแรมที่เขาหยุดพักระหว่างทาง 

ทริป Coast to Coast อาจไม่ใช่หลักไมล์ใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยทำ แต่การข้ามอเมริกาด้วยรถมอเตอร์ไซค์ และกลับมาพร้อมกับ Photobook ภาพถ่ายอเมริกาในมุมที่ต่างออกไป ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องใช้พลังมหาศาลบวกความบ้าดีเดือดอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

ด้วยอายุงานเกิน 10 ปี ดาโกสตินเป็นเจ้าของหนังสือภาพถ่ายมากมายหลายเล่ม เดินทางมาแล้วหลายประเทศ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือเขาเป็นช่างภาพในยุคสมัยใหม่ที่ยังคงซื่อสัตย์ต่อกล้องฟิล์ม หลงใหลงานคราฟต์ในห้องมืดและกระดาษ Contact Sheet โดยมีเพียง 3 สิ่งที่มองหาอยู่เสมอ นั่นคือ Universality, Infinity และ Silence 

รู้สึกยังไงกับการข้ามน้ำข้ามทะเลมาโชว์ครั้งแรกที่เมืองไทย

ผมเคยเดินทางไปโชว์งานในหลายประเทศ นิวยอร์ก อิตาลี ญี่ปุ่น แต่การมาถึงประเทศไทยเป็นครั้งแรกในชีวิต มันไม่เหมือนที่ไหนเลย ด้วยบรรยากาศของวัฒนธรรมที่มันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับผมที่อยู่อิตาลีและนิวยอร์กมาตลอด ความรู้สึกมันก็เลยต่างกันไปด้วย มีความรู้สึกลุ้นนิดหนึ่ง ว่าคนที่อยู่กันคนละฟากทวีปเขาจะรู้สึกยังไงกับงานของเรา

ความรู้สึกของการทำ Exhibition กับการทำ Photobook มีความแตกต่างกันในแง่ไหนบ้าง

Exhibition คุณสามารถเปลี่ยนอะไรก็ได้ จะคิดโจทย์ก่อนแล้วค่อยลงมือทำงาน หรือจะทำงานไปก่อนแล้วค่อยรวบรวมมาโชว์ก็ได้ แต่สำหรับหนังสือคุณเปลี่ยนอะไรไม่ได้ พิมพ์เสร็จแล้วคือจบ ผมชอบหนังสือตอนที่เห็นมันออกมาเป็นรูปเล่ม แม้มันจะไม่ได้เพอร์เฟ็กต์และผิดพลาดบ้างก็ตาม

คุณมองหาอะไรเวลาถ่ายภาพแต่ละครั้ง

การถ่ายรูปของผมมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าผมเดินทางไปที่ไหน แต่เป็นตาของผมที่มองสิ่งๆ นั้นมากกว่า พูดง่ายๆ ก็คือผมมีรูปแบบการตีความทุกๆ อย่างในหัว ไม่ว่าตัวผมจะอยู่ที่ไหน หรือถ่ายอะไรก็ตาม

ผมทำงานจากโจทย์ของตัวเอง มองภาพกว้างๆ ของสิ่งที่เห็น วิถีชีวิตธรรมดาๆ ของมนุษย์ ธรรมชาติ หรือเมือง จนมันเกิดบทสนาทนาระหว่างตัวผมกับสิ่งนั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องมองหาความ ‘ว้าว’ ความตื่นเต้น หวือหวาอะไร

สามารถให้คำจำกัดงานของคุณว่าอะไร Abstract หรือ Conceptual 

จริงๆ แล้วผมเองก็จัดหมวดหมู่งานตัวเองไม่ได้เหมือนกัน เพราะบางครั้งมันเหมือนเป็นทุกอย่างรวมกัน ผมมักจะลดทอนองค์ประกอบในภาพให้เหลือเพียงข้อความหรือความคิดหลักๆ ซึ่งมันอาจเรียกได้ว่าเป็นนามธรรมในบางภาพ เพราะมีแค่เส้นสายของสถาปัตยกรรม เส้นของแสงและเงาเท่านั้น

ทำไมคุณถึงหลงใหลการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม และกระบวนการทำงานแบบ Old School นัก

เชื่อไหมว่าผมไม่เคยมีกล้องดิจิตอลเลยสักตัวในชีวิต ถ้าไม่นับไอโฟน (หัวเราะ) แต่ผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับกล้องดิจิตอลหรอกนะ เพื่อนผมหลายคนที่เป็นช่างภาพก็ถ่ายกล้องดิจิตอล ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าคนจะเป็นช่างภาพที่เจ๋งได้ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ ไม่ว่าดิจิตอลหรือแอนะล็อก ตราบใดที่ภาพถ่ายที่ออกมาตอบโจทย์ของคนถ่ายได้ ใครทำงานกับอุปกรณ์แบบไหนแล้วมีความสุข แค่นั้นก็พอแล้ว  

ส่วนตัวผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้ผมชอบฟิล์มคือ ‘แสง’ แสงที่มาตกกระทบกับตาตอนที่กดชัตเตอร์ แสงตอนที่กำลังล้างฟิล์มอยู่ในห้องมืด จนกระทั่งออกมาเป็นกระดาษ มันมีการใช้แสงอยู่ในทุกกระบวนการ อาจจะมองว่าผมเป็นพวกแอนะล็อกนิยมนะ แต่ไม่รู้สิ ผมรู้สึกเคารพ Raw Materials  ต่างๆ พวกนี้ เหมือนผมกำลังทำงานแฮนด์เมด ค่อยๆ Shape แสงขึ้นมาด้วยตัวเอง ซึ่งผมว่าสิ่งนี้นี่แหละที่ทำให้ผมยังเป็นช่างภาพอยู่จนถึงทุกวันนี้

แล้วทำไมภาพถ่ายของคุณถึงต้องเป็น Black & White เสมอ

ภาพขาว-ดำมีองค์ประกอบของแสง รวมไปถึงอารมณ์บางอย่างที่ภาพสีทำไม่ได้ สังเกตว่าเวลาคุณมองภาพถ่ายขาว-ดำ คุณจะรู้สึกว่าสิ่งรอบตัวหยุดนิ่ง มันจะฉุดคุณออกจากทุกสิ่งที่วุ่นวายรอบข้างแล้วไปโฟกัสนิ่งอยู่ที่ภาพ ผมก็เคยทำงานกับภาพสีอยู่สักพักเหมือนกัน แต่ก็ยังรู้สึกว่าภาพขาว-ดำเหมือนเป็น ‘ภาษา’ ของผมที่ใช้สื่อสารกับตัวเองและคนดูได้ดีมากกว่า

โจทย์ที่คุณตั้งไว้เวลาออกเดินทางในแต่ละครั้งคืออะไร

ส่วนใหญ่ผมจะคิดจากการทำหนังสือภาพ ผมหลงใหลในการทำหนังสือ Art & Photography มาก สำหรับผมการเดินทางไปสักที่หมายถึง ผมต้องถ่ายทอดความคิดของตัวเองออกมา ขณะเดียวกันก็ต้อง Reflect สถานที่นั้นๆ ด้วย

โตเกียวเป็นที่ๆ แรกที่ผมลองออกเดินทางข้ามมาอีกซีกโลก เพราะอยากรู้ว่าผมจะเจออะไรให้ถ่ายบ้าง ผมรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนเเปลกหน้าที่นั่น ภาษาที่คุณฟังไม่รู้เรื่องเอาซะเลย กลับมาคราวนั้นผมก็เลยคิดจะเดินทางแบบนั้นอีก บางทีเหตุผลมันก็มีแค่ว่าผมได้ท้าทายตัวเองในการทำงาน แค่นั้นจริงๆ   

เล่าถึงทริป Coast to Coast ที่คุณเดินทางข้ามรัฐให้ฟังหน่อยว่าอะไรทำให้ช่างภาพอย่างคุณต้องทรหดขนาดนั้น

มันเริ่มมาจากความคิดที่ว่าผมย้ายจากอิตาลีมาอยู่นิวยอร์ก 13 ปี แต่ไม่เคยเห็นอเมริกาจริงๆ เลย ตอนนั้นเป็นการตัดสินใจที่เร็วมาก ผมมีรถมอร์เตอร์ไซค์คันหนึ่ง ก็เลยคิดว่างั้นข้ามไปลอส แอนเจอลิส ถามตัวเองว่าเคยมีช่างภาพคนไหนเคยทำแบบนี้ไหม คำตอบคือมี (หัวเราะ) และมีเยอะด้วย หนึ่งในตำนานก็ โรเบิร์ต แฟรงก์ (Robert Frank)** คนหนึ่งล่ะ

คือโรดทริป Coast to Coast มันออกจะเป็นการเดินทางที่จะว่ากันตรงๆ ก็มีความคลิเช่ (Cliché) เหมือนเป็นธรรมเนียมของช่างภาพอเมริกันอยู่ แต่ผมบอกตัวเองว่าช่างมัน ผมจะทำในแบบของผมนี่แหละ อยากเปิดประสบการณ์อะไรใหม่ๆ อยากให้ความหมายของการเดินทาง Coast to Coast มันออกมาแตกต่างกับที่คนอื่นเคยทำไว้

เป็นเหตุผลเดียวกับการที่คุณเลือกขี่มอเตอร์ไซค์ไปแทนที่จะขับรถยนต์เหมือนคนอื่นๆ เขาด้วยหรือเปล่า

ปกติผมขี่มอเตอร์ไซค์อยู่แล้ว อีกอย่างคือผมไม่อยากขับรถ เวลาขับรถเราได้แต่มองวิวผ่านกระจก จะถ่ายรูปทีก็ต้องคอยเปิดกระจก แต่พออยู่บนมอเตอร์ไซค์ เราได้เห็นวิวโล่งๆ ด้วยตาตัวเอง ได้สัมผัสความร้อน ความหนาว ได้กลิ่นไอแดด ได้ยินเสียงโลกรอบๆ ตัว ประสาทสัมผัสทั้งหมดเดินทางไปพร้อมกับเรา อารมณ์มันต่างกันนะผมว่า หลายๆ ครั้งระหว่างทางมักจะเกิดคำถามกับตัวเอง เกิดความกลัว ความไม่แน่ใจ การขี่มอเตอร์ไซค์มันเหมือนได้ท้าทายลิมิตของตัวเองว่าจะไปต่อหรือถอยดีกว่า

แล้วอยากทำแบบนั้นอีก…

โอโห อเมริกามันใหญ่มากนะ สำหรับอเมริกาตอนนี้คงยังก่อน (หัวเราะ) แต่ถ้าให้ทำอีกครั้งในชีวิต คงไปแถบอเมริกาใต้มั้ง

กับงานที่ออกมาครั้งนั้น คุณพอใจกับมันมั้ย

อืม ไม่เคยมีใครเคยถามผมแบบนี้เหมือนกันนะ ผมเลยไม่แน่ใจว่าจะใช้คำว่า ‘พอใจ’ ดีมั้ย ผมแค่พยายามทำออกมาให้ดีที่สุด ใส่เต็มทุกงาน แล้วเวลาจะพิสูจน์ตัวงานเอง ว่าที่ผ่านมาผมทำดีแล้วหรือยัง ยังมีอะไรที่ต้องปรับต้องแก้อีกบ้าง และคราวหน้าจะทำยังไงให้ดีขึ้นไปอีกในโปรเจ็กต์ต่อๆ ไป

ในอายุงานอันยาวนานของคุณ จากจุดเริ่มต้นการเป็นช่างภาพจนถึงตอนนี้ มีมุมมองอะไรที่ยังเหมือนเดิม และมีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง

ตอนเริ่มต้น มันเหมือนคุณไม่รู้อะไรเลย แค่ทำมันไปตามสัญชาติญาณล้วนๆ พอยิ่งทำไปเรื่อยๆ ยิ่งรู้จักสิ่งที่คุณทำมากขึ้น ยิ่งมั่นใจในทางของตัวเอง ผมว่าตัวเองผ่านจุดพีค และจุดเปลี่ยนในอาชีพช่างภาพมาแล้ว โดยเฉพาะ 3 ปีหลังมานี้ มันทำให้ผมค่อยๆ กลับมากลั่นกรองสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเจอตลอดชีวิตการเป็นช่างภาพอีกครั้งหนึ่ง

มีศิลปินหลายๆ คน พอเจอคอมฟอร์ตโซนในงานของตัวเองแล้วมักจะติดอยู่ในนั้น ไม่ไปต่อ ผมไม่อยากเป็นอย่างนั้น พยายามออกจากคอมฟอร์ตโซน กล้าเสี่ยง ท้าทายตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่หยุด ซึ่งราล์ฟ กิบสัน (Ralph Gibson) มาสเตอร์ของช่างภาพ และเป็นอาจารย์ในการทำงานของผมคนหนึ่งก็ทำอย่างนั้นมาตลอดเหมือนกัน

ได้ยินว่าคนรักของคุณ – Vittoria Gerardi – ก็เป็นช่างภาพด้วยเหมือนกัน คุณ 2 คนแชร์ไอเดียหรือซับพอร์ตกันยังไงบ้าง

Vittoria เป็นช่างภาพ Conceptual ที่มีความสามารถมากคนหนึ่ง เวลาเห็นงานของเธอ มันทำให้ผมมีไอเดียใหม่ๆ เช่นเดียวกับงานของผมที่ทำให้เธออยากถ่ายรูปด้วยเหมือนกัน เราทำโฟโต้บุ๊ก ทำโชว์ด้วยกัน เราคุยกันทุกเรื่อง ด้วยความที่เธออายุยังน้อย จึงมองโลกด้วยความสดใส ซึ่งดีต่องานและดีต่อใจของเราทั้ง 2 คนมาก

คุณเคยบอกว่า ‘เพลง’ เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของคุณเสมอ ถ้าจะมีสักเพลงสำหรับการที่คุณเดินทางมาทำงานที่ประเทศไทยตอนนี้ คุณนึกถึงเพลงไหน

ผมจะมีเพลงของคอมโพเซอร์ (Composer) คนหนึ่งชื่อ อาร์โว พาร์ท (Arvo Pärt) ที่จะชอบเปิดฟังตอนทำงาน ผมว่าผมฟังมาเกิน 10 ปีได้นะ เหมือนเป็นซาวนด์แทร็กชีวิตผมเลย เพลงบรรเลงมันมีองค์ประกอบที่นินิมอลมาก ไม่ว่าคุณจะอยู่ในอารมณ์ไหน เข้ากับทุกสถานการณ์จริงๆ ทำให้รู้สึกสบายใจ เบา มีสมาธิ สุดท้ายแล้วไม่ว่าสิ่งรอบตัวจะวุ่นวายเสียงดังมากแค่ไหน ผมรู้สึกเหมือนกลับสู่แก่นสาร นั่นคือ ‘ความเงียบ’

ความเงียบมีความสำคัญกับผมมาก ผมว่ามันเป็นส่วนสำคัญของมนุษย์ ในภาพถ่าของผม มักจะมีระยะห่างนิดหนึ่งระหว่างตัวผมกับสิ่งต่างๆ รอบตัวเสมอ เพราะผมมองอะไรเหมือนกำลังดูหนัง จะไม่เอาความรู้สึกตัวเองเข้าไปใส่ แต่เฝ้าดูอย่างที่มันเป็น  

ถ้าให้นึกถึงเพลง อาจไม่มี สำหรับกรุงเทพฯ เวลานี้ ผมอยากให้มันเป็นความเงียบเชียบมากกว่า…

นิทรรศการ Metropolis by Renato D’Agostin

จัดแสดงตั้งแต่วันนี้  – 10 ธันวาคม 2561

ที่ Leica Gallery Bangkok ศูนย์การค้าเกสร วิลเลจ (BTS ชิดลม)

ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น.

โทร. 02-656-1102


**โรเบิร์ต แฟรงก์ ช่างภาพและนักทำสารคดีชาวอเมริกัน-สวิสฯ ผู้ออกเดินทางข้ามสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1955 โดยใช้เดินทางร่วม 9 เดือน ระยะทาง กว่า 10,000 ไมล์ และถ่ายภาพขาว-ดำ ด้วยกล้องฟิล์มไปตลอดทาง

โฟโต้บุ๊กชื่อ The Americans ที่แสดงความจริงอย่างตรงไปตรงมาของเขากลายเป็นงานมาสเตอร์พีซที่มีอิทธิพลต่อสังคมอเมริกันในยุค Beat Generation เป็นอย่างมาก เขาและงานของเขายังเป็นตำนานที่ยังมีลมหายใจอยู่จนถึงทุกวันนี้

WRITER : WEDNESDAY

RECOMMENDED CONTENT

15.ธันวาคม.2017