fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#VISIT — คุยกับ Natalia Ludmila กับคำถามถึง ผู้คน / สงคราม / แสงสว่าง ในดินแดนใหม่
date : 26.กันยายน.2017 tag :

วันที่ตื่นขึ้นมาพร้อมกับข่าวการพบร่างเด็กชาวชาวซีเรียเกยตื้นอยู่บนชายหาดตุรกี เนื่องจากจมน้ำเสียชีวิตขณะอพยพหนีภัยสงครามจากซีเรีย แม้จะอยู่ไกลถึงไทยแลนด์ เราก็ยังจำความรู้สึกหดหู่นั้นได้ดี

และเป็นความจริงอันน่าตกใจที่ว่าปี 2015 คือปีที่ยอดผู้อพยพ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของความรุนแรงในประเทศ หรือปัญหาปากท้อง พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

เรากลับมาที่ Cho Why อีกครั้ง เพื่อพบกับ Natalia Ludmila ศิลปินหนึ่งในลิสต์ 200 Top Expressions of Mexican Art ผู้ทำงานศิลปะเชิงสังคมมาอย่างยาวนาน ก่อนหน้าจะมาปักหลักที่กรุงเทพฯ เธอเดินทางไปเจอผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ เพื่อเฝ้ามองและตั้งคำถามถึงความเป็นไปของสถานการณ์ผู้อพยพทั่วโลก รวมถึงในเม็กซิโก บ้านเกิดของเธอเอง

งานของ Natalia เคยจัดแสดงมาแล้วในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งบราซิล เม็กซิโก สเปน ออสเตรเลีย รวมถึงในเอเชียอย่างสิงค์โปร์ ลายเส้นและสีน้ำโทนขาว-ดำเป็นเอกลักษณ์ดูเรียบง่าย แต่ Massage เชือดเฉือนของเธอเป็นที่ฮือฮาต่อผู้ชมทุกครั้งไม่ว่าไปร่อนลงจอดในประเทศไหน

และนี่เป็นครั้งแรกที่เราจะได้เห็นผลงานของเธอในประเทศไทย…

ทำไมถึงเลือกโชว์ครั้งแรกในประเทศไทยที่ Cho Why?
อย่างแรก ฉันชอบย่านนี้ แล้วฉันก็ถูกใจสเปซสีขาวของ Cho Why มากๆ ด้วย รู้สึกว่ามันไปทางเดียวกันกับงานของฉัน ก่อนย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ คุณรู้ไหมว่ามีศิลปินหลายคนอยากมาแสดงงานที่ประเทศไทยสักครั้ง เพราะคนไทยให้ความสนใจกับงานศิลปะขึ้นจากเมื่อก่อนมาก พวกเขาก็เหมือนอย่างคุณ อยากรู้ อยากพูดคุย อยากแลกเปลี่ยนความคิดกับศิลปิน อยากมีส่วนร่วมกับงานศิลปะ พอได้มาอยู่และทำงานจริงๆ ฉันสนุกกับ Art Scene ที่นี่มาก

ความหมายของ Drawn Lines คืออะไร?
มันแปลได้หลายอย่าง ในที่นี้ อย่างแรกมันสื่อโดยตรงถึงวิธีการทำงานของฉัน นั่นคือการวาดเส้นด้วยดินสอ และใช้สีน้ำ ลงบนกระดาษแฮนด์เมดแบบโบราณที่ทำขึ้นโดยช่างทำกระดาษชาวอินเดีย ความหมายอีกอย่างหนึ่งของ Drawn Lines คือ เส้นทางการอพยพของผู้คนจากทวีปอเมริกากลางสู่สหรัฐอเมริกา

ทำไมคุณเลือกใช้แต่โทนสีขาว-ดำเป็นหลัก?
เมื่อก่อน ตอนวาดรูปแรกๆ ก็เคยใช้สีสันสดใสนะ อย่างงานชุด Writtenspoken นั่นก็ใช้สีสันดูหวานพาสเทล แต่ถ้าอ่านดีๆ เมสเสจที่อยู่ในนั้นอาจทำให้คุณสะอึกได้เลย (หัวเราะ) พอค่อยๆ วาดมาเรื่อยๆ ฉันรู้สึกว่าความขัดแย้งของสีขาว-ดำแบบนี้นี่แหละคือตัวฉัน และมันเข้ากับธีมของเรื่องที่ฉันต้องการพูดถึงมากที่สุด เป็นเหตุผลว่าทำไมงานชุดนี้จึงดูเศร้าๆ หน่อย

เกิดอะไรขึ้นกับผู้อพยพในภาพเหล่านี้?
ฉันโฟกัสไปที่การอพยพย้ายถิ่นฐานจากอเมริกากลางไปยังอเมริกาเหนือ บางคนเลือกใช้วิธีเดินเท้า บ้างใช้รถไฟ ไม่ใช่แค่ ‘นั่ง’ รถไฟนะ แต่เป็นการ ‘เกาะ’ หรือห้อยโหนไปบนหลังคามากกว่า เหมือนที่คุณอาจเคยเห็นภาพเหล่านั้นในอินเดียนั่นล่ะ คือพวกเขาทำยังไงก็ได้เพื่อให้โดยสารข้ามเขตแดนไป

อีกชุดหนึ่ง ฉันเลือกใช้กระดาษรีไซเคิลเหลือใช้ที่ขาดบ้าง แหว่งวิ่นบ้าง วาดภาพจากรูปถ่ายเด็กๆ ผู้อพยพจากหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งแอฟริกัน ซีเรียน ละตินอเมริกัน พวกเขาต้องอพยพ โดยตัวเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม ทำไมต้องย้ายบ้าน ทำไมต้องเดินทาง พวกเขาอาจต้องพรากกับครอบครัว ต้องไม่ได้เรียนหนังสือ มันเป็นสีหน้าของคำถาม ความสับสน และมีความกลัวอยู่ในนั้น

ส่วนอีกชุด เป็นภาพวาดของผู้อพยพที่เดินทางโดยเรือ คุณคงเคยได้ยินว่ามีเด็กน้อยชาวซีเรียจมน้ำเสียชีวิตขณะเดินทาง ตอนเห็นข่าว มันทำให้ฉันเกิดความรู้สึกทั้งโมโห ทั้งหดหู่ ฉันคิดว่ามันคงจะเป็นทริปที่ยาวนาน อันตราย และโหดร้ายสุดๆ

อะไรคือสาเหตุให้พวกเขาต้องอพยพ?
จริงๆ แล้ว สถานการณ์ผู้อพยพในแต่ละประเทศอาจมีเหตุผลต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความอดอยาก หรือสงครามและความรุนแรงภายในประเทศ ซึ่งอย่างหลังมันมากกว่าการหางาน หาเงิน แต่มันคือการหาที่ปลอดภัยพอที่จะมีชีวิตอยู่ ส่วนในอเมริกากลาง คนข้ามแดนไปยังสหรัฐฯ หลักๆ เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจ พวกเขาอยากได้งานที่ค่าจ้างสูงกว่า หวังว่าจะได้เจอโอกาส เจอชีวิตที่ดีกว่าในปลายทาง

ในฐานะผู้เฝ้ามองความเป็นไปในประเทศบ้านเกิดอย่างเม็กซิโก ถ้าหากแผนการสร้างกำแพงกั้นพรมแดนเม็กซิโกกับสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์สำเร็จ คุณว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง
คุณอาจคิดว่าเป็น 2 ประเทศที่ต่างกันสุดขั้ว แต่จริงๆ แล้วผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่บริเวณชายแดนติดกันนั้นไม่ได้มีความต่างกันมากนัก พวกเขาติดต่อค้าขายกัน เป็นเพื่อนบ้านกัน คนไม่น้อยข้ามไปทำงานฝั่งสหรัฐฯ ตกเย็นกลับบ้านฝั่งเม็กซิโก ชีวิตตรงนั้นมันก็ปกติเหมือนคนทั่วไปนั่นแหละ

การสร้างกำแพงไม่ได้จะกระทบแค่กับเม็กซิโก แต่ประเทศในแถบละตินอเมริกาทั้งหมดก็โดนด้วย ในงาน Video Art ของฉันจะแสดงให้เห็นเส้นทางพรมแดนตะวันออกถึงตะวันตกระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐฯ ซึ่งกินพื้นที่ที่ยาวมาก แล้วมันไม่ได้เป็นเขตเมืองทั้งหมด เรามีพรมแดนธรรมชาติเป็นภูเขาและแม่น้ำอยู่แล้ว บางแห่งเป็นป่า ถ้าหากกำแพงมาจริง สัตว์ป่าเอย ธรรมชาติเอย จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

คุณไม่คิดหรือว่ากำแพงนี้อาจช่วยแก้ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายได้จริง?
ฉันคิดว่ามันจะทำให้แย่ลงไปอีกน่ะสิ เพราะถ้าคนจะข้ามมา ยังไงเขาต้องหาทางมาจนได้ ด้วยหนทางที่อาจอันตรายกว่า และเสี่ยงขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ ทางแก้จึงไม่น่าใช่การสร้างกำแพงขึ้นมากั้น แต่คววรไปแก้ที่มาตรการการจัดการไม่ใช่เหรอ เราเคยมีกำแพงเบอร์ลิน ที่สุดท้ายแล้วจะเป็นเครื่องยืนยันว่าพวกเขาคิดผิด และเราควรเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น

มันทำให้เรานึกถึงภาพวาดอันลือลั่น ‘Self Portrait Between the Borderline of Mexico and the United States’ ของฟรีดา คาห์โล (Frida Kahlo) ผลงานของเธอเป็นแรงบันดาลใจต่องานชุดนี้ของคุณบ้างหรือเปล่า
แน่นอน ฟรีดาไม่เพียงเป็นศิลปินแห่งยุค แต่เธอยังเป็นตัวแทนของผู้หญิง ความแข็งแกร่ง ความขบถ ทุกอย่างที่เป็นเธอมันให้แรงบันดาลใจได้เสมออยู่แล้ว แต่ถ้าในแง่ของวิธีคิด ฉันชอบ Ai Weiwei ศิลปินร่วมสมัยชาวจีน ผู้ซึ่งมีบทบาทในฐานะนักเคลื่อนไหว ฉันชื่นชมที่เขาหยิบเรื่องในสังคมมาพูดได้อย่างหาญกล้าและแตกต่าง

นั่นทำให้งานของคุณเองมีเสียงประท้วงเล็กๆ อยู่ในนั้นด้วย?
จริงเหรอ (หัวเราะ) ฉันไม่ได้คิดว่าตัวเองประท้วงหรืออะไรแบบนั้นหรอก แค่จะบอกว่า ‘เฮ้ ตอนนี้มันเป็นแบบนี้นะ สนใจกันหน่อย (โว้ย!)’ ฉันไม่ตัดสินว่าอะไรถูก อะไรผิด แค่ชี้ให้เห็นว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นเท่านั้น นั่นคืองานที่ศิลปินอย่างฉันพอจะทำได้

ปัญหาการอพยพในทวีปอเมริกาอาจดูไกลตัวสำหรับคนไทย ทำไมคุณคิดว่าเราจำเป็นต้องตระหนักสิ่งนี้?
ฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสากลที่ทุกคนรับรู้มาตลอดอยู่แล้ว แม้แต่ประเทศไทยเองก็มีปัญหาผู้อพยพที่คาราคาซังมานานไม่ใช่เหรอ ต่อให้คุณไม่ได้สนใจอะไรเลย คุณก็น่าจะพอได้ยินข่าวบ้างละ มันเป็นเรื่องใหญ่ที่ค่อนข้างอ่อนไหวและซับซ้อน ซึ่งหลายประเทศต้องร่วมมือกัน มันอาจไกลตัวก็จริงนะ ถ้างานของฉันจะดึงคุณเข้ามาสู่ประเด็นได้ แม้ไม่เข้าใจทั้งหมด แค่รับรู้ ฉันว่านี่แหละ ศิลปะทำหน้าที่ของมันโดยสมบูรณ์แล้ว

__________

Drawn Lines
โดย Natalia Ludmila

จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – 30 กันยายน 2560
เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป
Cho Why ซอยนานา (วงเวียน 22) MRT สถานีหัวลำโพง

สามารถเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
โดยการนัดหมายเท่านั้นที่ chowhybkk@gmail.com
หรือ contact@natalialudmila.net

และเร็วๆ นี้เตรียมพบกับนิทรรศการ Goethe Pop-up Art Space
ในวันที่ 1-14 ตุลาคมนี้
ติดตามรายละเอียดได้ทาง : Event Page

RECOMMENDED CONTENT

29.พฤษภาคม.2020

ในช่วงเวลาที่การแข่งขันกีฬาอาชีพหลายรายการกำลังเริ่มกลับมาแข่งขันตามปกติ ไนกี้ตระหนักดีถึงความรู้สึกของแฟนกีฬา ความตื่นเต้นจากเกมการแข่งขันที่พลิกผันในเสี้ยววินาที พลังของแฟนกีฬาที่กำลังค่อยๆ ตื่นขึ้นอีกครั้ง และแน่นอนที่สุดคือความรู้สึกสนุกสนานที่แฟนๆ กีฬามีร่วมกัน