fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

Music Side B : แผ่นที่ 2 “Intro 2000” โหมโรงก่อนยุคอินดี้รุ่งเรือง
date : 1.พฤษภาคม.2014 tag :

ปี 1999 ผู้คนตื่นกลัวกับเหตุการณ์ Y2K เกิดความหวาดหวั่นในความไม่แน่ไม่นอนของเทคโนโลยี บ้างเผลอคิดไปว่าโลกคงกาลล่มสลายเป็นแน่ และถึงแม้นาฬิกาจะย่างเข้า ปี 2000 แล้วอะไรๆต่างๆที่คาดคิดเอาไว้ ไม่ได้เลวร้ายนัก แต่ในความคิดของผมนั้น ปี 2000 เป็นปีที่อะไรหลายๆอย่างเปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว

หากยังจำยุคสมัยของเพลงอัลเทอร์เนทีฟที่ค่อยๆจางหายไปสู่ยุคของเพลงป๊อปอีกครั้งได้ ปี 2000 นี่แหละที่ถือเป็นการเปิดฉากเพลงไทยที่เรียกว่า “ยุคอินดี้” ขึ้นมา เด็กแนว, นิตยสารอะเดย์, คลื่นแฟตเรดิโอ, Fat Festival รวมถึงเพลงเจ๋งๆ ที่ศิลปินค่ายน้อยใหญ่ทยอยทำออกมา เหมือนกับอัดอั้นมาจากการซบเซาไปพักใหญ่ของวงการเพลงหลังยุคอัลเทอร์เนทีฟ เลยนึกถึงอัลบั้มๆ นึงที่ออกมาราวๆ ปลายปี 1999

“Intro 2000” เป็นโปรเจคต์อัลบั้มที่รวบรวมเพลงของศิลปินที่กำลังจะมีผลงานกับค่าย Genie Records นัยยะนึงก็คล้ายๆกับเป็นการโยนหินถามทางให้คนฟังได้รู้จักทั้ง 10 วงก่อนออกอัลบั้มเต็ม ชอบไม่ชอบยังไงก็คงเป็นไปตามกลไกของการตลาดกันอีกที และหากจะลองไล่ไปทีละแทร็คทีละศิลปินก็คงรู้ว่า ผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว วงไหนยังอยู่ในกระแสธารของวงการเพลงไทย วงไหนที่ถูกกลืนหายไปกับวันเวลา

Paradox และ Saturday Seiko เป็นสองวงที่เรียกว่า ขวัญใจเด็กแนว ในยุคที่อินดี้รุ่งเรือง มีงานเทศกาลดนตรีที่ไหน ก็ต้องมีชื่อของสองวงนี้อย่างแน่นอน Saturday Seiko นำเสนอเพลงแรกของวงอย่าง “ดั่งดาว” ออกมาได้อย่างน่าจำ (เวอร์ชั่นในอัลบั้มเต็มยังเพราะสู้เวอร์ชั่นนี้ไม่ได้เลยครับ) ส่วน Paradox นั้นเป็นวงที่ผมต้องยกให้กับความสุดพลังของการทำเพลงตั้งแต่สมัยอัลบั้มแรก Lunatic Planet ที่ออกกับค่าย อีสเทิร์นสกาย เรคคอร์ด มาจนถึงเพลง “ท่ามกลาง”ในอัลบั้มนี้ ที่สำคัญที่สุด ทุกวันนี้วงนี้ยังแรงดีไม่มีตกอยู่เลย (รถไฟขบวนแห่งความฝัน เป็นซิงเกิ้ลในอัลบั้มใหม่ ที่เพิ่งปล่อยออกมาให้เราฟังเมื่อไม่นานมานี้เอง) พลพล กับการเปิดตัวครั้งแรกกับเพลงโฟล์คร็อคอย่าง “ต้องมีสักวัน” ซึ่งผมเองก็คิดไม่ถึงเหมือนกันว่า ทุกวันนี้พลพลจะเป็นศิลปินที่ยังมีผลงานต่อเนื่อง มีอัลบั้มมากกว่าสิบอัลบั้ม โดยการขยับขยายเพลงของตัวเองให้เป็นแมสมากขึ้น ขายได้ดี แต่ยังคงจุดเด่นในเรื่องน้ำเสียง ที่ทุ้มลึกและดูอบอุ่นเอาไว้อย่างไม่บิดพริ้ว

เอกมัย สามมือกีตาร์ฝีมือดีกับเพลงบรรเลงชื่อเดียวกับอัลบั้ม Intro 2000 ที่ใช้เปิดอัลบั้มให้ทุกคนให้ฟัง เสียงกีตาร์ที่บรรเลงหนักเบาสลับกันไปราวกับจะเป็นการบอกเล่าว่าสิ่งที่จะพบในปี 2000 นั้นมันช่างดุดันหวานเศร้าปะปนกันไป, เรย์ หนุ่มเสียงเท่ กับเพลงป๊อบร็อคอย่าง “หนทาง”, Big Apple สมาชิกเก่าสามคนจากวง EVE พร้อมด้วยนักร้องนำคนใหม่ กับเพลง “เจ็บไปรักไป” ซึ่งน่าเสียดายที่สามวงนี้ออกอัลบั้มมาคนละชุดแล้วก็หายไป หลายคนขยับขยายไปทำงานเบื้องหลัง หลายคนเก็บสิ่งเหล่านี้เอาไว้เป็นอดีตที่น่าจดจำ

Super Glue และ Venus เป็นสองวงที่ผมชอบที่สุดเป็นการส่วนตัวในบรรดา 10 วง, Super Glue เปิดตัววงด้วยเพลง Pop Disco อย่าง “Super Star” ออกมาอย่างเท่ พอๆกับ Venus ที่ส่งเพลง “เหมือนยังมีเธอ” เพลงป๊อบละมุนที่ใช้ปิดอัลบั้ม Intro 2000 ได้อย่างสวยงาม Noir เป็นวงรองสุดท้ายที่จะพูดถึง วงเดียวที่ไม่มีนักร้องนำ แต่กลับใช้บริการเสียงร็อคอันบาดลึกจากพลพลในเพลง “เข็ด” (อ่านไม่ผิดหรอกครับ พลพลไม่ได้ร้องแต่เพลงป๊อบอบอุ่นเป็นอย่างเดียว) สุดท้ายวงนี้ไม่มีผลงานออกมาสู่สายตาประชาชน เหลือแค่ ดนัย ธงสินธุศักดิ์ ที่ยังทำงานเบื้องหลังในฐานะ producer ให้กับศิลปินในค่ายอย่าง Sweet Mullet, Retrospect, Klear, The Mousses ฯลฯ และปิดท้ายกับ วง EYE วงดนตรีป๊อบที่มากับเพลงใสๆ อย่าง ”วันนี้ดีจัง” ที่มีประโยคชวนยิ้มอย่าง “สวยเอยดอกรักบานอยู่ในใจ ให้เธอเก็บไว้แทนถ้อยคำ คนเหงาเค้าฝากไว้ ถ้าใครถาม” แปลกดี คือความคิดแรกหลังจากฟังจบ ซึ่งสุดท้าย EYE ก็เป็นอีกวงที่ต้องหอบไมค์ กีตาร์ เบส กลองกลับบ้านไป โดยไม่มีอัลบั้มเต็มเหมือนอย่าง 8 วงก่อนหน้า แต่หลายปีต่อมาใครจะไปคาดคิดว่านักร้องนำกับมือกีตาร์อย่าง วิรัช เอื้อบุญศิริ และต่อพงศ์ จันทร์บุบผา หรือ บอลและเมื่อย จะทำเพลง “ทุกอย่าง” ออกมาให้ทุกคนได้ฟัง และมันก็ดังทันทีที่ปล่อยเพลงนี้ออกมาครั้งแรก และอย่างที่รู้ๆกัน ว่าสองหนุ่มที่เรียกตัวเองว่า Scrubb นี้ เป็นวงที่ยังออกอัลบั้มอย่างต่อเนื่อง และก็ประสบความสำเร็จในระดับที่มักจะได้รับเลือก ให้เล่นเป็นวงปิดให้กับเทศกาลดนตรีหลายๆ งานอยู่เสมอ (อัลบั้มล่าสุด Clean เพิ่งวางแผงไปไม่นาน)

นั่นแหละครับ ไม่มีใครรู้หรอกว่า การที่เราทำเพลงออกมาเพลงหนึ่ง หรืออัลบั้มหนึ่งนั้นจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราไปมากมายแค่ไหน บางครั้งอาจไม่ใช่จังหวะของเรา บางครั้งยังไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสมของชีวิต อินโทรไว้อย่างนึง อาจจะจบอีกอย่างหนึ่งก็เป็นไปได้,ใครจะรู้ สิ่งหนึ่งที่พบจากอัลบั้มนี้ก็คือ ไม่ว่าเพลงที่ทำออกมานั้นจะประสบความสำเร็จในแง่การตลาดหรือไม่ แต่ท้ายที่สุดแล้วเราได้ทำมันออกมาอย่างเต็มที่ในแง่มุมของศิลปะแล้วล่ะก็ มันก็น่าภูมิใจอยู่ไม่น้อย เชื่อสิ อย่างน้อยยังมีคนจดจำเพลงเหล่านั้นได้อยู่ ผมล่ะหนึ่งคนนั้นที่ว่านั้น ขอให้มีความสุขกับเสียงเพลงต่อไปเรื่อยๆครับ

[vsw id=”fEaYELRa4l8″ source=”youtube” width=”650″ height=”430″ autoplay=”no”]

Writer: Daosook Panyawan