fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#MOVIEGUIDE – ชวนดูหนัง ‘Columbus’ แด่ทุกความทรงจำที่ยังไม่ถูกทำลาย
date : 12.กุมภาพันธ์.2019 tag :

เราสร้างสิ่งก่อสร้างใดๆ ขึ้นมาจากความทรงจำ ขณะเดียวกันสิ่งนั้นก็ก่อสร้างความทรงจำให้เราต่อไปด้วยเหมือนกัน 

Columbus ผลงานหนังยาวเรื่องแรกเมื่อปี 2017 ของผู้กำกับฯ ชาวเกาหลีใต้-อเมริกัน โคโกนาดะ (Kogonada) ก็มีจุดเริ่มต้นขึ้นจากความทรงจำที่เขาได้ไปเห็นแล้วหลงใหลในสถาปัตยกรรมโมเดิร์นนิสม์ (Modernism) ณ เมืองโคลัมบัส รัฐอินดิแอนา สหรัฐฯ เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นนครเมกกะของสถาปัตยกรรมอันรุ่มรวยช่วงกลางศตวรรษที่ 20 (1940s ถึงประมาณปลาย 1980s)โดยมีอาคารที่มีชื่อเสียงเป็นไอคอนิกของเมือง เช่น โรงพยาบาลจิตเวช Quinco Mental Health Centre, โบสถ์ North Christian Church, ห้องสมุด Cleo Rogers Memorial รวมถึงธนาคารที่สร้างแบบโมเดิร์นแห่งแรกของอเมริกา Irwin Union Bank

                                  

เมือง Columbus ไม่เพียงทำให้โคโกนาดะบันดาลใจในการทำหนังที่มีแบ็กกราวนด์เป็นงานสถาปัตย์ แต่ยังเป็นจุดกำเนิดของตัวละครอย่าง Jin (John Cho) หนุ่มใหญ่เกาหลีใต้ที่จำเป็นต้องกลับมายังโคลัมบัสกระทันหันเนื่องจากพ่อของเขาผู้เป็นอาจารย์ด้านสถาปัตย์ล้มป่วยอาการโคม่า ทำให้เขาบังเอิญได้พบกับ Casey (Haley Lu Richardson) บรรณารักษ์สาวเนิร์ด ผู้ชื่นชอบสิ่งก่อสร้างในเมืองแห่งนี้เข้าเส้น 

ทั้งคู่ทำความรู้จักกันท่ามกลางฉากหลังอันเงียบเชียบของหนัง ซึ่งก็เงียบเชียบพอๆ กับบรรดาตึกโมเดิร์นที่เป็นเสมือนอนุสรณ์สถานของความรุ่งเรืองทางสถาปัตยกรรมในอดีต  

ตัวละคร 2 คน คนหนึ่งเป็นหนุ่มใหญ่ที่กำลังติดขัดกับวิกฤตกลางคน กับคนหนึ่งเป็นเด็กสาวที่กำลังก้าวพ้นวัยด้วยปัจจัยครอบครัวที่ไม่ค่อยจะสมบูรณ์นัก ทำให้ต้องดิ้นรนเพื่อมีชีวิตรอดไปวันๆ แม้ความฝันที่จะได้ใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ ก็ยังเป็นสิ่งที่ยากเกินไปจนมันได้แต่ถูกแขวนลอยไว้อย่างนั้น

คน 2 วัยซึ่งพบกันโดยบังเอิญ และต่างมีบาดแผลจากการบีบคั้นของความฝันกับความจริง จึงต้องทำหน้าที่เยียวยาซึ่งกันและกัน

อิทธิพลของสถาปัตยกรรมในเมืองโคลัมบัสส่งผลต่อตัวละครทั้ง 2 โดยเฉพาะเด็กสาวอย่าง Casey ที่รู้สึกต่อตึกรามเหล่านั้นราวกับเป็นจิตวิญญาณส่วนหนึ่งของเธอ ไม่ว่าสุข เศร้า เหงา หรือเคว้งคว้าง เธอจะรู้สึกเหมือนได้รับการปลอบโยนจากมันอย่างประหลาด 

ในหนังสือ ‘Build, Memory’ ของ James Polshek สถาปนิกผู้ออกแบบโรงพยาบาลจิตเวช Quinco Mental Health Centre เองก็เคยอุปมาโรงพยาบาลแห่งนี้ซึ่งมีรูปแบบอาคารเหมือนกับสะพานเชื่อมระหว่าง 2 ฝั่งคูน้ำเล็กๆ ว่า ‘Bridge to Mental Healthเพราะเขาเชื่อในศาสตร์ศิลปะบำบัด และสถาปัตยกรรมก็เป็นงานศิลปะที่เขาเชื่อว่ามันสามารถเยียวยาบาดแผลในใจของคนบางคนได้ (“Architecture has the power to heal.” – James Polshek)  

สถาปัตยกรรมใน Columbus ไม่เพียงทำหน้าที่เป็นนักบำบัดจำเป็น แต่ยังเหมือนบันทึกของสิ่งที่เคยเกิดขึ้นตรงนั้นด้วย

ซึ่งก็อาจจะคล้ายกันกับความทรงจำ เราอาจเชปมันขึ้นมาในแบบใดก็ได้แล้วจดจำมันแบบนั้น มันอาจถูกทำลายลงด้วยปัจจัยตามกาลเวลา หรืออาจตั้งตระหง่าน คงอยู่ตลอดไป…  

Columbus จะเข้าฉายในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2562 นี้ ณ Bangkok Screening Room เช็ครอบและสำรองที่นั่งได้ที่ : bkksr.com/movies

WRITER : WEDNESDAY

RECOMMENDED CONTENT

10.เมษายน.2019

ถ้าใครมาญี่ปุ่นแล้วอยากพักใจกลางเมือง ราคาไม่แพง เทปนี้เราพานอนโรงแรมแคปซูลสุดเท่ ว่านอนอย่างไร อยู่กันอย่างไร ห้องน้ำเข้าแบบไหน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับ Tokyo Marathon ในวันรุ่งขึ้น Dooddot x Running Insider x Runner's journey