fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#CULTURE – Mental Health is not Fashion, But Sure Matter in Fashion
date : 3.ตุลาคม.2019 tag :

Gucci S/S 20 (Credit Photo :  Eva Al Desnudo)

‘Mental Health is not Fashion’

คือข้อความที่นางแบบสาว Ayesha Tan-Jones (AKA : Yaya Bones) เขียนไว้บนมือทั้ง 2 ข้าง เพื่อประท้วง Gucci บนรันเวย์ของ Gucci เอง ที่โชว์คอลเล็กชั่น S/S 20 ใน Milan Fashion Week ที่ผ่านมา

ข้อความในมือของเธอเขียนว่า ‘สุขภาพจิต… ไม่ใช่เรื่องแฟชั่น’ ขณะที่เธอเลื่อนออกมาตามรันเวย์ที่ออกแบบให้เหมือนสายพาน ในชุดที่อินสไปร์มาจาก ‘สเตรท แจ็กเก็ต’ (Straitjacket) หรือชุดสีขาวล้วนทำจากผ้าดิบมีเข็มขัดรัดมือรัดแขนสำหรับให้ผู้ปวยจิตเวชในโรงพยาบาลสวมใส่เพื่อป้องกันการทำร้ายตัวเองและผู้อื่น เรียกความสนใจของคนดูให้หยุดอยู่ที่เธอ โดยที่คนดูเองก็ไม่แน่ใจว่านี่คือส่วนหนึ่งของโชว์หรือเปล่า 

แต่ปรากฏว่านั่นไม่ใช่โชว์ ไม่ได้เตี๊ยมกันมาก่อน Yaya Bones เขียนถึงการประท้วงที่เกิดขึ้นในอินสตาแกรมของตัวเองว่า ในฐานะศิลปินและนางแบบผู้เคยมีประสบการณ์ทนทุกข์ทรมานจากการป่วยไข้ทางใจ มันช่างเจ็บปวดที่เห็นแฟชั่นเฮ้าส์อย่าง Gucci เอามโนภาพของความป่วยมาเเปลเป็นเเฟชั่นโชว์เรียกเสียงฮือฮาแบบนี้  

หลังจากนั้นไม่นาน Gucci ออกสเตทเม้นต์ตามมาในเชิงเล่าถึงไอเดียเบื้องหลังของโชว์นี้ที่มาจากผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ อเลสซานโดร มิเคเล่ (Alessandro Michele) ซึ่งต้องการจะสื่อถึง Staitjacket ว่าสำหรับเขา มันคือ ‘ยูนิฟอร์ม’ ที่กักขังตัวตนที่แท้จริงของผู้คน เป็นเครื่องแบบที่ผู้สวมใส่ถูกกำหนดให้เป็นไปโดยใครก็ตามที่มีอำนาจ เขาออกแบบคอลเล็กชั่นที่เห็นนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้ความเป็นแฟชั่นอยู่เหนือกรอบหรือกฎเกณฑ์พวกนั้น

 ดูเหมือนว่าเขาต้องการจะพูดถึงมันในแง่ของสัญลักษณ์มากกว่าเจตนาในทางลบ และเซ็ต Staitjacket นี้จะไม่มีวางขายจริง มันเป็นเพียงแค่คอนเซ็ปต์ของมิเคเล่ในโชว์ครั้งนี้เท่านั้น 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเด็นสุขภาพจิตถูกหยิบยกมาเป็นแฟชั่น ดีไซเนอร์ Kerby Jean-Raymond แห่งแบรนด์ Pyer Moss เคยพูดถึงโรคซึมเศร้าในเวอร์ชั่นที่ฮาร์ดคอกว่านี้มาก ในคอลเล็กชั่นนั้นของเขา นอกจากจะมีชุดขาวล้วนเหมือนชุดผู้ป่วย ยังมีหมวกที่แปะชื่อยาจิตเวชไว้หลายชนิด เช่น Prozac, Xanax และ Zoloft แล้วก็ยังมีเสื้อที่เขียนข้อความว่า Suffer No More และ Side Effects May Include อีก

ในโชว์ Fall 2016 ของ Pyer Moss ครั้งนั้นไม่มีใครลุกขึ้นมาประท้วง กลับกัน โชว์ของเขากลับถูกพูดถึงในแง่ของความกล้าแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา 

Pyer Moss Fall 2016

ซึ่งตัวดีไซเนอร์ Jean-Raymond ก็ได้ออกมาบอกเหตุผลของการทำคอลเล็กชั่น ‘สุขภาพจิต’ นี้ว่า เขาแค่อยากเล่าถึงความทรมานจากโรคซึมเศร้าที่ตัวเขาเองต้องเผชิญมานาน และเขากำลังดีลกับมันด้วยการทำงานแฟชั่นก็เท่านั้นเอง 

สุขภาพจิตไม่ใช่แฟชั่น หนำซ้ำยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเวลาจะหยิบยกมาพูดถึง แต่หากดูดีๆ มันสำคัญในโลกแฟชั่นเสมอมา 

เมื่อปีที่แล้ว สื่ออย่าง The Business of Fashion เปิดเผยว่านักศึกษาแฟชั่นเสี่ยงต่อภาวะความเครียดและซึมเศร้ามากแค่ไหน รวมถึงอีกหลายสื่อที่เปิดเผยเบื้องหลังอันไม่สวยงามของวงการแฟชั่น หลังนักเรียนแฟชั่นจากสถาบันดังฆ่าตัวตายในเดือนมีนาคม 2018 หรือย้อนกลับไปเมื่อปี 2010 ดีไซเนอร์ Kade Spade ก็ฆ่าตัวตายด้วยวัย 55 จากการต่อสู้กับโรคซึมเศร้ามายาวนานหลายปี 

อุตสาหกรรมแฟชั่นอุดมไปด้วยความเครียด และปัญหาสุขภาพจิตของคนที่ทำงานกับมันควรถูกพูดถึง การพูดถึงมันในรูปแบบของแฟชั่นอย่างที่แบรนด์ Pyer Moss หรือดีไซน์อีกหลายคนลุกขึ้นมาทำ แม้จะยาก แต่พวกเขาต่างหวังว่ามันอาจนำไปสู่ความเข้าใจ ความตระหนักของสังคม และเป้าหมายสำคัญสุดคือทำเพื่อใครก็ตามที่ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยทางใจ การพูดถึงมันอาจเป็นการเยียวยารักษาได้ทางหนึ่งเหมือนกัน

Pyer Moss Fall 2016

การประท้วงแบบไร้เสียงแต่สนั่นหวั่นไหวของ Yaya Bones ในโชว์ Gucci Orgasmique นี้ ย่อมมีทั้งฝั่งคนที่ลุกขึ้นมาปรบมือในความกล้าหาญชาญชัยของเธอ กับอีกฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการประท้วงบนรันเวย์ ในเมื่อเธอกำลังทำหน้าที่ให้กับแบรนด์อยู่ และสุดท้ายก็ได้รับค่าจ้างจากแบรนด์ที่เธอประท้วงอยู่ดี 

Yaya Bones จึงประกาศภายหลังชัดๆ ว่า เงินที่ได้จากการเดินให้กับ Gucci ครั้งนี้เธอจะเอาไปสมทบทุนให้กับองค์กรด้านสุขภาพจิต ซึ่งก็มีนางแบบอีกหลายคนที่เดินในโชว์นี้ร่วมบริจาคค่าตัวให้การกุศลด้วยกันกับเธอ 

ส่วนเรามองว่านี่คือการตั้งคำถามและตอบคำถามอย่างอารยะที่สุดครั้งหนึ่งในโลกแฟชั่น เมื่อต่างคนต่างได้ทำหน้าที่ส่ง ‘สาร’ ของตัวเอง ถือว่าเป็นหมุดสำคัญที่ทำให้คนกลับมาสนใจเรื่องของจิตใจ ตัวตน และความเป็นมนุษย์ ด้วยแฟชั่นอีกครั้งหนึ่ง

ถ้าถามว่า Mental Health เป็นเรื่องของแฟชั่นหรือไม่ ในเมื่อแฟชั่นคือแขนงหนึ่งของงานศิลปะ มันก็ไม่ควรจะมีกรอบมาจำกัดเรื่องราวที่ให้ศิลปินหรือดีไซเนอร์หยิบมาเล่า แฟชั่นสามารถเป็นการเมือง เป็นเรื่องของมนุษย์ เป็นเรื่องอะไรก็ได้ ถ้าจะช่วยให้คนกลับบ้านไปคิดต่อและเกิดการตกตะกอนร่วมกัน  

นั่นยิ่งทำให้ศิลปะได้ทำหน้าที่ของมันโดยสมบูรณ์ขึ้นไปอีก