fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#VISIT – GOOD GIRL GONE WILD : คุยกับ ‘Kanith’ ถึงที่มาของการเติบโตอย่างสดใสสมวัย ฉลาด เกรี้ยวกราด และกวนประสาทเป็นที่สุด!
date : 25.มกราคม.2019 tag :

มานั่งนึกย้อนดู บางทีคำถามคลาสสิกที่ผู้ใหญ่ชอบถามเด็กว่า ‘โตขึ้นอยากเป็นอะไร’ ก็เป็นภาระให้เด็กอย่างเราและอีกหลายๆ คนเหมือนกัน ถ้าหากในหัวสมองเล็กๆ ตอนนั้นไม่ได้อยากแม้แต่จะเป็นอะไรเหมือนที่ใครๆ อยากให้เป็น ไม่ว่าหมอ ครู พยาบาล ตำรวจ ทหาร หรืออะไรก็ตามแต่

พอโตมาถึงได้เริ่มเข้าใจว่าบางทีผู้ใหญ่อาจไม่กล้าบอกเราตรงๆ แต่ส่งสัญญาณเป็นนัยๆ ว่าป่านี้มันช่าง Wild และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างเราจำเป็นต้องเป็นใครสักคนให้ได้ในสังคมเพื่อความอยู่รอด ไม่อย่างนั้นแกก็ตายไปซะ! ตายทั้งในแง่จิตวิญญาณ การมีพื้นที่ สิทธิ ความเท่าเทียม และอาจจะตายในความหมายที่แปลว่าตายจริงๆ ด้วยก็ได้

———————————————————————————

เรา – ตอนนี้อยากกวนตีนเรื่องอะไรมากที่สุดเหรอ ฮ่าๆ

เธอ – จะดีอ่อ ไม่มีคำตอบไหนที่ตอบแล้วไม่ติดคุกเลยนะ ฮ่าๆ

นั่นคือคำตอบของ Kanith – กนิษฐรินทร์ ไทยเเหลมทอง นักวาดภาพประกอบสาวหมวยตาชั้นเดียว ที่ทำให้เราไม่กล้าถามต่อ ได้แต่มองหน้ากัน ทำตาปริบๆ แล้วหัวเราะแหะๆ 

ศิลปินสาวลูกครึ่งไทย-จีน เจ้าของผลงานสุดเกรี้ยวกราด ผู้ที่กำลังนั่งคุยกับเราอยู่เวลานี้ เธอโตมากับของ 3 อย่างได้แก่ ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม การแสดงความเห็น และอินเตอร์เน็ต ช่างดูเป็นส่วนผสมที่ไม่ปกติซะเหลือเกินหากเทียบกับแบบแผนของสัมคม แต่คำถามคือ แล้วแบบไหนล่ะถึงจะเรียกว่าปกติ สิ่งที่เรียกว่าปกตินี่มันถูกต้องหรือเปล่า

แล้วถ้าการโตมาของคนๆ หนึ่งจะไม่ถูกหลักอนามัยของใครๆ จะเรียกว่าการเติบโตที่สมบูรณ์และสามารถทำให้โลกนี้เป็น ‘The Better Place’ ได้หรือไม่

อาจดูเหมือนคนขี้สงสัย แต่ในเมื่อผู้ใหญ่ให้เกียรติยกตำแหน่ง ‘We are the world, we are the children…‘ ให้พวกเราขนาดนี้แล้ว นี่จึงเป็นภารกิจยิ่งใหญ่ที่ Kanith และเราจำเป็นต้องค้นหาคำตอบไปด้วยกัน

My religion : คอมพิวเตอร์ 

เราเป็นเด็กยุค Window 98 โตมาในยุคที่เปิดคอมฯ แล้วต้องรอนานๆ เป็นเด็กผู้หญิงคนเดียวที่นั่งเล่นเคาน์เตอร์สไตร์กในร้านเกมได้เป็นวันๆ การเติบโตของเราแบ่งเป็น 3 ส่วน โตในบ้านส่วนหนึ่ง โตนอกบ้านส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งโตในอินเตอร์เน็ต เราเกิดในยุคที่อินเตอร์เน็ตเป็นทุกอย่าง ก่อนหน้านั้นเราเชื่อพ่อแม่ โตมาหน่อยเชื่อเพื่อน พอเจออินเตอร์ เรายิ่งแบ่งตัวเองออกไปอีก

Tradition

เด็กรุ่นเราจะเหมือนโดนใส่ความคิดว่าเรียนศิลปะต้องเรียน ม.รัฐฯ มาตลอด แต่เรากลับเลือก ม.เอกชน เพราะในยุคของเรา ศิลปะหรือศิลปิน มักจะเป็นการยึดโยงกับศาสนาและความเชื่อซะมาก ซึ่งเราไม่อิน เราอยากเรียนในที่ๆ มันไม่มี Tradition มาจำกัดขนาดนั้น เราเลยเลือกเรียน Motion Graphic จากนั้นก็เรียนต่อวิจิตรศิลป์ พอจบมาก็ทำโมชั่น ภาพเคลื่อนไหว แอนิเมชั่น การกลับมาวาดรูปต้องปรับตัวเยอะเหมือนกัน เพราะวิธีคิดมันไม่เหมือนกันเลย เรามองศิลปะเหมือนคนนอกมองเข้าไป ไม่เหมือนเด็กที่เรียนมา การเรียนโมชั่นกลับทำให้ค้นพบและเข้าใจเซ้นส์อะไรบางอย่างในศิลปะกว้างขึ้น

‘โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า’

เราเป็นผู้หญิงที่โตมาในบ้านคนจีน และคิดว่าตัวเองบกพร่องทางการแสดงออกทางอารมณ์บางอย่าง เราไม่สามารถแสดงออกว่าโกรธ งี่เง่า หรือก้าวร้าวได้ ทั้งที่กูโกรธมาก คือมึงต้องเป็นเด็กฉลาด เป็นเด็กผู้หญิงแสนดีเท่านั้น ซึ่งเราก็คล้อยตาม พอโตมาถึงรู้ว่าคนที่โตมาแบบนั้นเขาไม่สามารถแสดงความรู้สึกได้เลยในหลายๆ เรื่อง โชคดีหน่อยเราโตมาในครอบครัวใหญ่ก็จริง แต่ในหน่วยย่อยของบ้านเราค่อนข้างมีอิสระอยู่ และอาจจะเป็นเพราะตอนเด็กๆ เราเรียนเก่งด้วย นั่นเป็นข้อดีที่ทำให้เขาไม่กล้าบังคับเรา ทั้งที่เราเป็นเด็กดื้อแบบบอกให้ไปซ้ายจะไปขวา

ถึงอย่างนั้นก็เป็นเด็กเรียนดีที่ครูเกลียด เพราะเราขี้สงสัย ชอบถาม แต่ราไม่ใช่คนหยาบคาย เลยจะเรียกว่าก้าวร้าว ไม่เคารพผู้ใหญ่มันก็ไม่ใช่ 

GONE WILD

เราว่าแต่ละคนมีการดีลกับสถานการณ์ไม่เหมือนกัน บางคนร้องไห้ บางคนบ่น บางคนนอยด์ ส่วนเราดีลกับมันด้วยความเกรี้ยวกราด แต่เป็นความเกรี้ยวกราดที่ไม่ได้จะทำร้ายใคร เพราะมีความตลก มีอารมณ์ขันอยู่ในนั้น

จริงๆ เราไม่ได้ตั้งใจกวนตีน เราแค่ขี้สงสัย แล้วความสงสัยก็ทำให้เกิดคำถาม พอไม่ได้คำตอบที่เคลียร์หรือตรงประเด็นมากพอ มันก็ทำให้เกิดคำถามต่อๆ ไป ไม่สิ้นสุดสักที มันเลยอาจดูเป็นความกวนตีน การกวนตีนของเราเป็นการสื่อสารหรือการแสดงออกอย่างหนึ่งที่บางทีคำพูดทำไม่ได้ก็เท่านั้นเอง

Not anti-social but not into any f**cking club!

เวลามีคนถามว่าทำไมงานเราถึงดูเกรี้ยวกราด ทำไมมันไม่ใสๆ อ่อนโยนเลย เราบอกว่าเราไม่ได้เป็นคนโลกสวยอยู่แล้ว ตอนเด็กๆ เคยโดนครูจับส่งไปหาหมอ เพราะลุกขึ้นยืนกลางห้องแล้วบอก ‘หนูว่าครูพูดไม่ถูกนะ’ เราแค่อยากให้เขาอธิบายเหตุผลเท่านั้นเอง หมอบอกว่ามีแนวโน้มว่าจะเป็นเด็กต่อต้านสังคม คำถามของเราคือ ‘แล้วสังคมไหนวะ’ เราอาจจะต่อต้านสังคมนี้ แต่อยู่กับอีกสังคมหนึ่งได้ สังคมไทยเป็นแบบไหนกันเหรอ ร่วมสมัย ย้อนแย้ง หรือล้าสมัย อะไรกันแน่ มันพูดยากนะเว้ย

แต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้รู้สึกว่าสังคมมันไม่ดี หรือต้องต่อต้านหรืออะไร เราแค่รู้สึกไม่ไว้ใจมากกว่า แค่มี Trust Issue บางอย่างกับมันเท่านั้น

ศิลปินส่วนใหญ่เล่าเรื่องของตัวเองก่อน พอโตขึ้นมันก็ค่อยๆ ขยายไปสู่เรื่องใหญ่ขึ้น สำหรับเราว่าตัวเองพูดเรื่องตัวเองกับสังคมปนไปด้วยกัน เช่น เรื่องเพศสภาพ การแสดงออก เรื่องสถาบันครอบครัว เพราะเรารู้สึกว่าภาพลักษณ์สถาบันครอบครัว พ่อแม่ หรือครูมันไม่ได้ขลังเหมือนเมื่อก่อนแล้ว การมีอินเตอร์เน็ตทำให้เด็กรับข้อมูลจากทุกที่ ทำให้รู้ว่าบางทีข้อมูลที่พ่อแม่หรือครูที่โรงเรียนพูด มันก็ไม่ได้ถูกต้องอย่างนั้นเสมอไป

ไอคอน

เราค่อนข้างสนใจเรื่อง Gender ถึงเราโตมาในครอบครัวที่ไม่ได้บังคับให้เราต้องเป็นผู้หญิงเรียบร้อย เป็นแม่บ้านเเม่เรือน หรือค่านิยมอะไรแบบนั้น แต่เราจะเห็นจากสังคมข้างนอก เราเองไม่เคยนอกลู่นอกทาง แค่รู้สึกว่าตัวไม่ได้ลงรูปแบบไหนเลยของลูกสาวบ้านคนจีน เป็นคนชายขอบ เมื่อก่อนมันยังไม่มีเควียร์ (Queer) ไม่มีคาร่า เดเลวีญ (Cara Delevingne) ไม่มีไอคอน ไอคอนตอนนั้นที่เป็นแบบอย่างที่ดีคือนางเอกละครหลังข่าว นึกออกไหม ไม่มีใครเลยที่บอกเราว่า เห้ย เป็นผู้หญิงแบบนี้ก็ได้เหรอ แบบนี้ก็เรียกว่าปกติได้นะ

อำนาจเดียวที่เรามีกันตั้งแต่เกิดคือ Gender มันมีผลมากๆ ต่อการเติบโตของคน มันหมายถึงอำนาจที่จะส่งเราไปอยู่ตรงไหนของสังคมเลยทีเดียว เช่น โรงเรียนชายล้วน หรือโรงเรียนหญิงล้วน 

ทีม #NoPassion

เราว่าเด็กรุ่นเราถูกหลอกมาตลอดว่าชีวิตว่าต้องมีเป้าหมาย สำหรับเราสิ่งมีชีวิตบางทีเป้าหมายต้องการแค่ความอยู่รอดแค่นั้นก็ได้มั้ยวะ หรือแค่อยากมีอาชีพ อยากมีครอบครัว หรือบางคนแค่อยากมีแฟนหล่อนี่เป็นเป้าหมายไม่ได้เหรอ เราทั้งถูกบังคับกันมา แล้วเราก็ไปบังคับเด็กรุ่นหลังมันต่อไปอีก ก่อนหน้านั้นเราเลี้ยงเด็กให้อยู่แต่ในบ้าน ไม่ให้มันคิดเอง แต่พอถึงเวลาต้องเข้ามหาวิทยาลัยตอนอายุ 19 กลับบังคับให้มันตอบให้ได้เดี๋ยวนั้นว่าอยากเป็นอะไร อยากทำอะไรไปอีกตลอด 50 ปีข้างหน้า เห้ย มันเป็นการตัดสินใจที่มีผลไปทั้งชีวิตสำหรับบางคนเลยนะ

ด้วยความเป็นอุตสาหกรรมหรือบริษัท มันกำหนดให้เราต้องรู้ ต้องมีบทบาทอะไรสักอย่างให้ได้ในสังคม ซึ่งใครฟิตหน่อยก็โชคดีไป ใครไม่ฟิตก็จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวปัญหา เป็นคนไม่มีแพชชั่น โดนปั๊มบนหน้าผากว่าเป็น Loser

เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวัน… ไหน ?

ที่แน่ๆ ทุกคนต้องดูแลตัวเองมากขึ้น มันเป็นสังคมที่เด็กก็ไม่สามารถพึ่งพาผู้ใหญ่ได้ มันไม่ง่ายเลย แต่ก็ไม่ใช่ความผิดพวกคุณทั้งหมดซะทีเดียวหรอก อย่าโทษตัวเอง ใครทำอะไรไหวก็ทำ ทำในหน่วยย่อยๆ ของตัวเองไป บางทีคุณอาจจะทำในเรื่องที่คนอื่นทำไม่ได้ก็ได้ ที่สำคัญคือต้องเข้มแข็งไว้มากๆ

จริงๆ เราค่อนข้าง Respect เด็กรุ่นใหม่เลยแหละ เขาโตมากับข้อมูลข่าวสาร สมองต้องกรองข่าวหนักมาตั้งแต่เด็ก จนบางทีเขาอาจจะดูเหมือนดื้อกว่าเด็กรุ่นก่อนบ้าง แต่ทำไงได้ ป่ามันโหดร้ายขึ้น สัตว์ป่าก็ต้องแข็งแกร่งขึ้นด้วย

How to be the happiest loser on earth.

อยากจะบอกว่าอย่าใจร้อน ไม่ต้องรีบหรอก เราว่าทุกคนมีคอมมอนเซ้นส์ที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เหมือนเราชอบใครยังรู้ ชอบกินอะไรยังรู้ ทำไมจะไม่รู้ว่าอยากทำอะไรในชีวิต เราแค่ถูกทำให้ไม่รู้ ไม่เข้าใจตัวเอง เพราะสิ่งที่มาครอบเรามันไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ถูกออกแบบมา เหมือนพิมพ์ที่คุณต้องลงรูปใดรูปหนึ่งเท่านั้น ถ้าใครที่ไม่ลงในทรงที่ถูกกำหนดมา ก็จะกลายเป็นความผิดพลาดของสังคมไป ซึ่งเราว่ามันไม่แฟร์เลย

บางทีระหว่างทางเราไม่รู้หรอก จนโตขึ้น ถูก Shape จนเป็นเราแล้วมองกลับมา วันนั้นแหละมันถึงจะเกิดการตกตะกอน เกิดคำถามว่าทำไมถึงเราถึงเป็นแบบนั้น อะไรทำให้เราเป็นแบบนี้กันวะ… 

นิทรรศการ Offed Duty เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Galleries’ Night BKK 2019 

Duet Exhibition โดย Kanith และ Xia Zhang

จัดแสดงระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 18 มีนาคม 2562

ที่ Bridge Art Space ปากซอยเจริญกรุง 51 ถนนเจริญกรุง (BTS สะพานตากสิน)

Facebook : https://www.facebook.com/events/2283693788623903/


WRITER : WEDNESDAY

RECOMMENDED CONTENT

14.มิถุนายน.2019

ทรู ดิจิทัล พาร์ค เปิดบ้านให้เราเข้าไปเยี่ยมชม Work Space ที่เชื่อในแนวคิด Open Innovation ซึ่งสนับสนุนการทำงานในโลกยุคใหม่ที่ไม่ต้องมีออฟฟิศประจำ แต่ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างอิสระใน Sharing Space ที่มีหลากหลายองค์กรอยู่ร่วมกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดบทสนทนา เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ๆ ช่วยสร้างคอมมิวนิตี้ของคนทำงานเข้าด้วยกัน