fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#DESIGN — Yagicho-Honten ร้านขายวัตถุดิบและอาหารแห้ง กับการบูรณะสาขานิฮงบาฌิ ให้โมเดิร์นอย่างเคร่งขรึมสมกับการเป็นร้านเก่าแก่อายุกว่า 280 ปี
date : 2.มีนาคม.2018 tag :

Yagicho คือชื่อของร้านค้าขายอาหารและวัตถุดิบแบบแห้ง สำหรับให้เหล่าพ่อครัวแม่ครัว รวมถึงแม่บ้านพ่อบ้านได้เลือกซื้อหาเพื่อตระเตรียมเป็นซุป Dashi เพื่อใช้ประกอบอาหารประเภทต่างๆ ต่อไป ซึ่งจะว่าไปแล้ววัตถุดิบต่างๆ เหล่านี้ ก็ไม่ต่างกับเครื่องเทศ ที่ทำให้วัฒนธรรมอาหารของญี่ปุ่นนั้นหลากหลาย และมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไปตามเมืองและภูมิภาค

ด้วยอายุกว่า 280 ปีของร้าน Yagicho ทำให้มีสาขามากมายทั่วประเทศญี่ปุ่น รวมถึงสาขา Nihonbashi นี้ ที่ได้รับการรีโนเวตใหม่โดยทีมสถาปนิกจาก Schemata Architects ที่นอกจากจะปรับปรุงหน้าตาของร้านแบบดั้งเดิมเสียใหม่ให้ดูโมเดิร์นขึ้นแล้ว ยังทาสีตึกใหม่ให้สวยเด่นจนกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญประจำย่านอีกด้วย

สินค้าขึ้นชื่อของร้าน Yagicho ก็มีตั้งแต่ katsuobushi (ปลาแห้งแบบที่เราชอบเห็นใช้โรยหน้าทาโกะยากิ) konbu (สาหร่ายทะเลสีน้ำตาลคมบุ) shitake (เห็ดชิตะเกะ) รวมถึงสินค้าอื่นๆ ถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบ โดยยังคงกลิ่นอายของร้านดั้งเดิมเอาไว้บางส่วน หากแต่เปลี่ยนและปรับเอาวัสดุโมเดิร์นใหม่ๆ มาใช้

ตัวร้านออกแบบโดยเลือกเอาสเน่ห์ของวัสดุต่างๆ มาใช้ อาทิ โครงสร้างหลักของร้านที่ใช้ความดิบของปูนเปลือยมาเป็นหลัก ชั้นวางของและกระบะใส่วัตถุดิบเลือกใช้ไม้เนื้อแดงอย่างดี ที่ดูโมเดิร์นและมินิมัลในความเรียบง่าย และคงเสน่ห์ของความเป็นร้านค้าดั้งเดิมเอาไว้

ตรงกลางร้านคือเค้าท์เตอร์สำหรับบรรจุหีบห่อ ที่ตกแต่งด้วยแผ่นโลหะทองแดง และท่อทองแดงที่เป็นทั้งท่อน้ำสำหรับอ่างล่างมือ และท่อสายไฟสำหรับโคมไฟ ซึ่งพื้นที่ส่วนนี้จะเปรียบได้กับครัวกลาง เพื่อให้พนักงานร้านสามารถแนะนำลูกค้า ถึงการตระเตรียมวัตถุดิบเพื่อทำซุปดะชิ และมีลิ้นชักเก็บเงิน ซึ่งทำให้ร้านไม่ต้องมีเค้าท์เตอร์แคชเชียร์ โดยทีมสถาปนิกตั้งใจลดช่องว่างระหว่างพนักงานกับลูกค้า เมื่อลูกค้าเข้ามาที่ร้าน จึงได้กลิ่นอายการบริการของร้านแบบเดิม แทนที่จะเป็นแบบสมัยใหม่ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่น่ารักดีทีเดียว

อีกหนึ่งความน่ารักของร้านนี้ก็คือ ในเวลากลางวันที่คนเดินผ่านไปมาตลอดเวลานั้น ตัวร้านจะเปิดผนังทุกด้านเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้ามาซื้อสินค้าได้ไม่ว่าจะทิศทางไหนก็ตาม ได้อารมณ์เหมือนร้านค้าหัวมุมในตลาด ที่ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน ก็เข้าถึงสินค้าได้อย่างถ้วนทั่วกัน

นี่แหละความญี่ปุ่นในงานออกแบบ ที่ถ้าลองลงรายละเอียดไปอีกนิด เราจะพบกับความใส่ใจจำนวนมาก ที่ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์ผู้คน แต่ยังรักษาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมเอาไว้ได้อย่างแนบเนียนอีกด้วย

RECOMMENDED CONTENT

14.มิถุนายน.2019

ทรู ดิจิทัล พาร์ค เปิดบ้านให้เราเข้าไปเยี่ยมชม Work Space ที่เชื่อในแนวคิด Open Innovation ซึ่งสนับสนุนการทำงานในโลกยุคใหม่ที่ไม่ต้องมีออฟฟิศประจำ แต่ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างอิสระใน Sharing Space ที่มีหลากหลายองค์กรอยู่ร่วมกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดบทสนทนา เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ๆ ช่วยสร้างคอมมิวนิตี้ของคนทำงานเข้าด้วยกัน