fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

ทำไม “Daft Punk” ถึงต้องใส่หมวก? พบกับเรื่องราวความเป็นมาของวงดนตรี ดูโอ้อิเล็กทรอนิคส์ชื่อก้องโลกที่มีภาพลักษณ์เป็นหุ่นยนต์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร
date : 29.ตุลาคม.2013 tag :

หลังจากที่เพิ่งมีข่าวออกมากันใหญ่โตในโลกอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับเรื่องภาพหลุด… (เดี๋ยวนี้พอพูดคำว่าภาพหลุดแล้วเสียวหลังวาบเลย) ของสองหนุ่ม “Daft Punk” คู่หูดูโอ้อิเล็กทรอนิคส์จากแดนน้ำหอมฝรั่งเศสแห่งทศวรรษนี้ เจ้าของเพลงดังมากมาย อย่างตอนนี้ไปที่ไหนก็ได้ยินคือเพลง “Get Lucky” เพลงป๊อปกลิ่นอายยุค Disco feat. กันกับอีกหนึ่งเจ้าพ่อวงการเพลงยุคใหม่ “Pharrell William” เลยแทบไม่ต้องสืบว่าจะดังพลุแตกขนาดไหน ส่วนถ้าใครที่เป็นคอเพลงสากลคงทราบกันอยู่แล้วว่า Daft Punk เขามีผลงานดังๆออกมาสองอัลบั้มแล้ว Daft Punk เป็นวงที่ทำเพลงอิเล็กทรอนิ… กลับมาเข้าประเด็นกันก่อนดีกว่า ถึงตรงไหนแล้วนะ?… ก็จากข่าวที่มีภาพหลุดตอนพวกเขาถอดหน้ากากออกมา ทำให้เราอยากรู้เลยว่าทำไมสองหนุ่มนี้เขาถึงต้องใส่หน้ากากกันด้วย?

พอลองหาข้อมูลใน Internet ดูก็พบว่า จริงๆแล้วไอ้การเห็นใบหน้าแท้ๆของ Daft Punk ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือสิทธิพิเศษอะไรเลย แถมมันเป็นเรื่องที่ง่ายมากด้วยเพียงแค่คุณ Search ชื่อจริงของพวกเขา “Thomas Bangalter และ “Guy Manuel” กดไปแค่ผลลัพธ์หน้าแรกก็เจอแล้ว คงต้องอุทานออกมาว่า “ดีใจจัง! ค้นแล้วเจอเลย” (ตามสไตล์ Google) ซึ่งภาพส่วนใหญ่จะเป็นตอนสมัยหนุ่มๆ (ตอนหนุ่มๆของทั้งคู่นี่บอกได้คำเดียวเลยว่าเท่และหล่อมากจริงๆ) ก็เลยได้ความว่าสมัยเริ่มเป็นดีเจเปิดแผ่นใหม่ๆ ดูโอ้คู่นี้เขาไม่ได้ใส่หน้ากากแบบทุกวันนี้พวกเขาเป็นดีเจคู่หูเปิดเพลง House อยู่ตามผับในประเทศฝรั่งเศส ส่วนที่มาของชื่อวง Daft Punk มาจากตอนแรกที่พวกเขาร่วมทำเพลงกันกับเพื่อนสมัยเรียนออกมาและโดนนักเขียนในนิตยสาร Melody Maker ของอังกฤษด่าว่าเป็น “A Daft Punky Thrash” ความหมายคือ “มันเป็นงานเพลงที่มั่วซั่วโหลยโท่ยและไม่ต่างจากขยะชัดๆ” อืม… เห็นอย่างนี้คงต้องขอบคุณนักวิจารณ์คนนั้นจริงๆ เพราะเขาแท้ๆถึงได้ชื่อวงที่ติดหูและเอกลักษณ์ขนาดนี้ ชื่อ “Daft Punk” มาพร้อมกับอัลบั้มแจ้งเกิดชื่อว่า “Homework” (1997) ซึ่งตอนนั้นในแวดวงอิเล็กทรอนิกส์ถือว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามองมากๆ พอเริ่มเป็นที่รู้้จักทั้งสองเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองก็เกิดความคิดที่อยากใส่หน้ากากขึ้นมาเพราะเหตุผลคืออยากทำเพลงออกมาให้แฟนเพลงฟังอย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับว่าตัวศิลปินจะมีชีวิตส่วนตัวอย่างไร พูดง่ายๆคืออยากให้คนฟังมองแค่ผลงานเพลงล้วนๆแยกกันคนละเรื่องกับชีวิตนอกวงการ พอมาอัลบั้มสองปึ้บ “Discovery” (2001) นี่ก็ได้รับความนิยมในแวดวงกว้างขึ้นอีก ตั้งแต่อัลบั้มนี้พวกเขาเริ่มปรากฎตัวพร้อมหมวกอันเป็นเอกลักษณ์อย่างชัดเจน แถมยังมีการ์ตูนญี่ปุ่นชื่อเรื่องว่า “Interstella 5555” เรื่องราวผจญภัยในอวกาศ ทำออกมาเป็นหนังเพลงไม่มีบทพูดแทน Music Video ทั้งอัลบั้ม ทำให้ภาพลักษณ์ของ Daft Punk ที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันคือวงดนตรีที่ไม่เปิดเผยหน้าตาให้เห็น แล้วยิ่งยุคนั้นโลก Internet ยังไม่กว้างขวางแบบทุกวันนี้ ใบหน้าที่แท้จริงของพวกเขาเลยกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนอยากเห็นเหมือนเป็นตำนานไปเลย…

ในแง่ของ Daft Punk มีคนตั้งข้อสงสัยกันว่า บางทีการมีตัวตนสมมุติสร้างขึ้นมาอีกตัวนึงมันอาจจะเป็นเรื่องที่มีประโยชน์กับศิลปินก็ได้ เพราะส่วนใหญ่ภาพลักษณ์ที่สร้างขึ้นมามันยิ่งทำให้ศิลปินดูน่าค้นหามากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Pop Icon อย่าง “David Bowie” ก็เคยปรากฎตัวบนเวทีใช้อีกชื่อว่า “Ziggy Stardust” แต่งหน้าขาว (ปกอัลบั้มสายฟ้าคาดหน้าที่เป็นเอกลักษณ์) หรือวงอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเก๋าจากเยอรมันอย่าง “Kraftwerk” ก็ปรากฎตัวในคราบคอนเซ็ปต์หุ่นชุดแดงผูกไทด์ดำทั้งวงเช่นกัน  ถ้าถามว่าการใส่หน้ากากของศิลปินนักดนตรีนี่เป็นเรื่องแปลกไหม? สิ่งที่เรียกว่าศิลปินสองบุคลิก (Alter Ego) มีมานานแล้ว คงต้องย้อนไปตั้งแต่ในยุค 70’s กับกลุ่มศิลปินในอเมริกาที่ทำเพลงแนว “Avant-Garde” (ศิลปะหัวก้าวหน้า) หรือดนตรีแนวทดลองชื่อวงว่า “The Residents” ภาพลักษณ์ของพวกเขาคือเป็นวงดนตรีที่มีลูกตาแทนหัวคน นั่นถือเป็นแก๊งค์บุกเบิกเลยก็ว่าได้… หลังจากนั้นก็มีนักดนตรีที่ไม่เปิดเผยหน้าตาทยอยตามกันมาในแต่ละยุคอีกมาก อย่างรายนี้โด่งดังมากๆในยุค 80’s 90’s (ถ้าใครรู้จักนี่ดักแก่ชัดๆ) กับ “Buckethead” อัจฉริยะกีตาร์สารพัดลูกพิศดารที่เอาตระกร้า Bucket ใส่ไก่ทอดมาครอบหัวและใส่หน้ากาก ด้วยเหตุผลว่า เขาถูกเลี้ยงมาโดยพ่อแม่ที่เป็นไก่… และการใส่หมวกนี้เป็นสัญลักษณ์การล้างแค้นที่ไก่ถูกฆ่าตายมาเป็นไก่ทอดตามร้านอาหาร (ลูกชายของไก่) ถ้าขยับมาเป็นยุคปัจจุบันทุกวันนี้มีอีกวงที่โด่งดังและไม่เปิดเผยหน้าตาเช่นกันคือวง “Gorilaz” แต่เจ้านี้มาแปลกกว่าเพื่อนหน่อยนึง ไม่ใช่แค่ใส่หน้ากากหรือปลอมตัวแต่พวกเขาเป็นวงดนตรีที่แทนภาพตัวเองด้วยตัวการ์ตูนใช้เทคโนโลยีภาพสามมิติฉายยืนเล่นบนเวทีเลย ดูๆแล้วการเป็นนักดนตรีที่ไม่เปิดเผยตัวตนแบบนี้มันยิ่งทำให้คนสงสัยขึ้นไปอีกว่าหน้าจริงๆของพวกเขาเป็นอย่างไรกันแน่

กลับมาที่เรื่องของ Daft Punk กันต่อดีกว่า… เรื่องตัวหมวกของ Daft Punk นี่ก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจเหมือนกัน เพราะแต่ละใบนี่มีราคาแพงและผลิตออกมากลไกซับซ้อนมาก เชื่อหรือไม่ว่าในแต่ละยุคแต่ละอัลบั้มหมวกของพวกเขาไม่เคยซ้ำเดิมเลย เริ่มจากอัลบั้ม “Discovery” หมวกในยุคนั้นที่เด่นๆคือของ Guy Manuel (สีทอง) จะมีไฟ LED สีรุ้งและมีสายไฟยาวด้านหลังออกมาเป็นเหมือนผม พอมาเป็นอัลบั้มที่สาม “Human After All (2005)” หมวกของทั้งคู่ก็เริ่มมีเค้าโครงที่เราคุ้นตากันมากขึ้น เป็นสีทองกับสีเงินรายละเอียดน้อยจนแทบจะคล้ายกับหมวกกันน๊อคเลย  จากนั้นก็มีหนังเรื่อง “TRON: Legacy” ที่สองคนได้ทำ Soundtrack ให้และไปเล่นเป็นตัวประกอบในหนังด้วย เปลี่ยนจากหมวกรุ่นเก่ามาเป็นหมวกสีเงินล้วนมีไฟสีฟ้าอ่อนทาบผ่านเหมือนกับสีฟอนต์ของชื่อหนังเปี๊ยบ จนมาเป็นอัลบั้มล่าสุด “Random Access Memories” ในยุคปัจจุบันที่เป็นหมวกสีทองและสีเงินคลีนๆ ตรงใบหน้าเป็นกระจกสีดำล้วนไม่มีรายละเอียดอะไรมากดูเป็น Minimal และกลายเป็นไอคอนของ Daft Punk ไปเลย (เพื่อช่วยอธิบาย เรามีรูปโชว์วิวัฒนาการหมวกของพวกเขาในแต่ละยุคมาฝากกันด้วย) พอทั้้งคู่เริ่มปรากฎตัวเป็นดูโอ้ใส่หมวก ทิ้งคำถามใหญ่ให้กับคนฟัง “แล้วทำไมพวกเขาถึงต้องใส่หมวกเหมือนหุ่นยนต์แบบนี้?” คำตอบจากปากพวกเขาที่เคยให้สัมภาษณ์มีอยู่ว่า “เหตุเกิดในเดือนกันยายนปี 1999 เกิดอุบัติเหตุในห้องอัดของเรา ตอนเวลา 9 โมงของวันที่ 9 ตรงกับตัวเลข 9/9/99 9.09AM พอดี ทำให้ข้อมูลในคอมพิวเตอร์เกิดอาการรวน และเครื่องมือ Synthesizer ของเราก็เกิดการระเบิดใส่เราทั้งคู่อย่างจัง หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นพอรู้สึกตัว ตื่นขึ้นมาอีกทีพวกเราก็กลายเป็นครึ่งคนครึ่งหุ่นยนต์ไปแล้ว ตั้งแต่วันนั้นมาเราก็ไม่ได้ใส่หน้ากากเพื่อให้ดูเหมือนหุ่นยนต์อีกต่อไป แต่ต่อไปนี้เราได้เกิดใหม่ในคราบมนุษย์หุ่นยนต์จริงๆ” นั่นล่ะ… คือสาเหตุอย่างเป็นทางการ ที่มาของภาพลักษณ์ Daft Punk ที่เรารู้จักกันดีในทุกวันนี้

Writer: Pakkawat Tanghom

Image By: thedaftclub.com

RECOMMENDED CONTENT

7.กันยายน.2017

ภาพยนตร์อันน่าสนใจโดยผู้กำกับมัวร์คาร์เบล เรื่องนี้ได้ตามติดและถ่ายทอดชีวิตของเลดี้ กาก้าตลอดระยะเวลา 8 เดือน