fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#CULTURE – Selfie Nation : เมื่อกระแสซีรีส์ Chernobyl ทำให้สถานที่ภัยพิบัติกลายเป็นจุดหมายเซลฟี่ยอดฮิต 
date : 12.กรกฎาคม.2019 tag :

เชื่อว่าต่อให้คุณไม่ได้ดูซีรีส์เลย ก็ต้องได้ยินข่าวคราวของมินิซีรีส์ Chernobyl อยู่บ้าง ซีรีส์เรื่องนี้ฉายทางช่อง HBO เขียนบทโดย Craig Mazin (The Huntsman: Winter’s War) และกำกับโดย Johan Renck (Breaking Bad) ว่าด้วยโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 26 เมษายน ปี 1986 เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศยูเครน (ซึ่งตอนนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต) เกิดระเบิดครั้งใหญ่ สารกัมมันภาพตรังสีที่ว่ากันว่ามีอนุภาพมากกว่าระเบิดนิวเคลียร์ถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 200 เท่าแผ่ขยายไปยังหลายประเทศแถบยุโรปตะวันตกโดยรอบ ทั้งรัสเซีย เบลารุส จนถึงแถบสแกนดิเนเวีย ทำให้ต้องสั่งอพยพผู้คนเกือบ 4 แสนคนออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วนภายใน 3 วัน เมืองทั้งเมืองกลายเป็นเมืองร้าง กับข้าวของที่ชาวบ้านต้องทิ้งไว้เพราะไม่มีเวลามากพอให้เก็บของออกไปได้หมด 

33 ผ่านไป หลังจากซีรีส์ออกอากาศตอนแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สถานที่เกิดเหตุอย่างเชอร์โนบิลก็กลายเป็น Tourist Attraction ในระดับเมนสตรีมของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก มีรายงานว่ายอดการท่องเที่ยวที่นั่นในปีนี้เติบโตขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งจริงๆ เชอร์โนบิลเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมตั้งแต่ปลายปี 1990s แล้ว โดยมีการขายแพ็คเกจทัวร์กันจริงจังภายใต้การดูแลอย่างเข้มงวดของรัฐบาลยูเครน 

กระแสอินสตาแกรมเมอร์แห่กันมา ‘เซลฟี่’ กับเชอร์โนบิลในอินสตาแกรมกลายเป็นไวรัล จนกระทั่งอินสตาแกรมเมอร์สาวคนหนึ่งโพสต์ภาพตัวเองกับตึกรกร้าง ใส่เพียงชุดชั้นใน 2 ชิ้น ซึ่งปรากฏคนส่วนหนึ่งชื่นชม แต่ส่วนใหญ่เข้ามาสาดคอมเม้นต์อย่างเผ็ดร้อนใส่เธอว่านี่เป็นอะไรที่ Stupid ที่สุดที่พวกเขาเคยเห็น บางคนแช่งให้เธอเป็นมะเร็งตายก็มี ลามไปถึงการบุลลี่เธออย่างหยาบคาย ดูเหมือนพลังทำลายล้างของคอมเม้นต์จะมากกว่ากัมมันภาพตรังสีซะอีก!

อีกเคสหนึ่ง ชายหนุ่มโพสต์ท่ายืนฉีกขายิ้มแฉ่งกับชิงช้าสวรรค์ในสวนสนุกร้างเมืองพริเพียต สวนสนุกขนาดใหญ่ที่สร้างไว้แต่ยังไม่ทันได้เปิดใช้ก็มาพบกับหายนะซะก่อน แน่นอนว่าภาพของหนุ่มคนนี้ก็ได้สร้างความหัวร้อนให้ชาวเน็ตอย่างมากมายอีกเช่นกัน และยังไม่หมดแค่นั้น ยังมีอีกหลายคนที่โพสต์รูปเซลฟี่ตัวเองกับอะไรต่างๆ ในเชอร์โนบิลตามด้วยโดนคอมเม้นต์ด่าตามๆ กันไป

อันที่จริงการทัวร์เชิงประวัติศาสตร์ตามสถานที่ที่เคยเกิดภัยพิบัติในอดีตไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร คนจำนวนไม่น้อยหลงใหลการท่องเที่ยวแบบ Dark Tourism สัมผัสความเป็นเมืองร้างบรรยากาศ Ghost Town เช่น ค่ายกักกันเชลยชาวยิวเอ้าช์วิช (Auschwitz) ในโปร์แลนด์ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2, บริเวณที่เคยเกิดเหตุการณ์ 9/11 หรือเเม้แต่ตึก Grenfell Tower ในลอนดอนเคยเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อปี 2017 จนมีผู้เสียชีวิตราว 70 คน ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งไปเที่ยวชม

ไม่ใช่เรื่องเสียหายหากจะเดินทางไปสถานที่เหล่านั้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์หรือเพื่อย้ำเตือนว่าครั้งหนึ่งเคยเกิดสิ่งนั้นบนโลก แต่การที่เราอยู่ในยุค Instragram Age อาจทำให้บางคนทำอะไรก็ได้ที่ว้าวเพื่อเรียกยอดไลก์โดยไม่ได้คิดถึงว่าสถานที่นั้นเคยเกิดหายนะของมนุษยชาติและการสูญเสียล้มตาย ในเคสของตึก Grenfell Tower นี้ถึงกับต้องมีป้ายมาติดว่าขอความร่วมมือ ‘งดเซลฟี่กับซากตึกที่ไฟไหม้ทีเถอะ’ เลยทีเดียว

Craig Mazin โปรดิวเซอร์และผู้เขียนบทซีรีส์ Chernobyl หลังรับรู้ฟีดแบ็กการไปเยือนเชอร์โนบิลแบบถล่มถลาย ก็กล่าวในทวิตเตอร์ว่าเขายินดีที่กระแสของซีรีส์จะสร้างแรงบันดาลใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปดูประวัติศาสตร์ของจริงด้วยตาของตัวเองจริงๆ แต่มันจะดีมากหากจะไปด้วยความเคารพ และระลึกว่าที่เเห่งนั้นเคยมีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้น

จริงแหละไม่ได้มีใครแปะป้ายว่าสิ่งที่เหล่าอินสตาแกรมเมอร์เทำคือความผิดหรือห้ามทำโดยเด็ดขาด บางคนอาจจบอกว่าทำไมต้องมานั่งเปราะบางกับเรื่องแค่นี้ แต่เราไม่มีทางรู้หรอกว่าการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเซลฟี่ของเราอาจทำให้คนที่อยู่ตรงนั้น ในเหตุการณ์วันนั้นเขารู้สึกเจ็บปวดยังไง เหมือนอย่างกรณีของ หนุ่มยูทูปเบอร์ ไปเที่ยวป่าฆ่าตัวตาย (Aokigahara forest) อันโด่งดังในญี่ปุ่นแล้วไปพูดเล่นตลก แต่ชาวญี่ปุ่นและชาวโลกไซเบอร์จำนวนไม่น้อยที่ไม่ตลกด้วย ทำให้เขาโดนลงดาบจาก Youtube โดนถอนดีลโฆษณา ซึ่งเขาต้องออกมาขอโทษหลังจากนั้น

มันน่าคิดต่อเหมือนกันว่าเราไม่ควรต้องมาถึงจุดนี้กันเลย ในเมื่อมันเป็นเรื่องของจิตสำนึกและความเห็นอกเห็นใจความทุกข์ของคนอื่น ขั้นพื้นฐานที่สุดที่ทุกคนพึงมีอยู่แล้วไม่ใช่หรือ… 

RECOMMENDED CONTENT

19.เมษายน.2019

เป็นครั้งแรกที่บริษัทผู้สร้างตัวอักษรที่เก่าแก่ที่สุดอย่าง Monotype ได้ทำการออกแบบตกแต่งตัวชุดอักษรที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลกอย่าง Helvetica หลังจากที่พยายามปลุกปล้ำกันอยู่นานกว่าสองปีเพื่อที่จะปรับปรุงชุดตัวอักษรที่เป็นเอกลักษณ์ตามแบบ swizz font