fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#Visit : The Beautiful Paradox ความงามบนทางย้อนแย้ง และแสงแห่งความหวังในโลกแฟชั่นของ ‘หมู Asava’
date : 5.สิงหาคม.2016 tag :

Visit Polpat Asavaprapha Asava dooddot 1

เวลา 8 ปี มากพอที่จะมีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นในวงจรแฟชั่นบ้านเรา เป็นธรรมดาที่หลายแบรนด์เกิดขึ้น บางแบรนด์ยังอยู่ และไม่น้อยที่ล้มหายตายจากไปตามวัฏจักร

เวลากว่า 8 ปีเช่นกันนับตั้งแต่ ‘หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา’ ก่อตั้งแบรนด์ Asava ขึ้นจากเด็กผู้ตื่นเต้นกับการเปิดแม็กกาซีนสู่ดีไซเนอร์รุ่นใหญ่ในวงการแฟชั่นไทย แม้วันนี้จะเปลี่ยนตำแหน่งจากผู้เสพมาเป็นผู้สร้าง เขาก็ยังคงทำงานหนักไม่ต่างกับวันแรก ไม่ใช่เพียงเพื่อจะตั้งอยู่ในธุรกิจเสื้อผ้า แต่ยังหมายมั่นจะส่งต่อความงามบนวิถีย้อนแย้งที่เขาเชื่อให้กับผู้คน

ก่อนจะถึงวันเกิดครบรอบ 8 ปีของ Asava บทสนทนาว่าด้วยปรัชญาระหว่างเราและพลพัฒน์เริ่มต้นท่ามกลางกองเอกสารล้านแปดบนโต๊ะทำงานของเขา

ทำไมคุณถึงโปรดปรานความย้อนแย้งนัก ?

ผมชอบความเป็นผู้ชายกับความเป็นผู้หญิง ความนุ่มนวลกับความแข็งแกร่ง เหล็กกับไม้ แบบเงินๆ แบบอวกาศกับไม้กับปูน ผ้าลูกไม้กับสูทผู้ชาย ชอบอะไรที่ขัดแย้งกัน แม้กระทั่งลาย Stripe ซึ่งเป็นลายโปรดของผมก็ยังเป็นเส้นขนาน 2 เส้นที่วิ่งไปด้วยกันตลอดเวลา ถึงจะไม่มีวันผนวกกันแต่สวยงาม พอพูดถึงความงาม มันไม่มีเพศ ไม่มีการชี้ว่าแบบไหนผิดหรือถูก มันคือความกลมกล่อม ผมเชื่อว่าเมื่อความขัดแย้งรวมตัวกันจะเกิดพลัง ทุกอย่างที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหาร หรืออินทีเรีย มันเป็นการ Exponential จิตวิญญาณของเราเข้าไว้ด้วยกัน และจะมีความย้อนแย้งอยู่ในนั้นเสมอ 

ความงามที่คุณพูดถึงเป็นแบบไหน ?

คำว่า Authentic ซึ่งเป็นดีเอ็นเอของอาซาว่า สำหรับผมมันคือความเที่ยงถ่องแท้ เป็นธรรมชาติ ธรรมชาติของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายมันต้องหาความกลมกล่อมเจอโดยไร้ซึ่งความพยายาม บางทีพูดอะไรแบบนี้ไปคนจะคิดว่าแค่ออกแบบเสื้อผ้าต้องอะไรขนาดนี้เลยเหรอ แต่สำหรับผมมันต้องคิดเยอะ การทำบริษัทนี้คือการสร้างชีวิต เราไม่ใช่บริษัทใหญ่โตอะไรมากมาย แต่รู้สึกว่าคุณค่าของมันเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราจะอยู่กับงานของเราไปจนตาย เราต้องมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ สำหรับผม เสื้อผ้าเป็นอะไรสักอย่างที่เติมเต็ม…ไม่อยากจะใช้คำว่าความสมบูรณ์ (เขานิ่งคิด คิ้วขมวดเข้าหากัน) เรียกว่าความเป็นมนุษย์ก็แล้วกัน

Visit Polpat Asavaprapha Asava dooddot 2

Visit Polpat Asavaprapha Asava dooddot 10

Visit Polpat Asavaprapha Asava dooddot 3

การทำงานในแต่ละคอลเล็กชั่นเป็นอย่างไร ?

ขึ้นอยู่กับว่าความสนใจในช่วงนั้นเป็นอย่างไร อยากนำเสนออะไร ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของงานศิลปะ สถาปัตยกรรม บทประพันธ์ ภาพยนตร์ ดนตรี ส่วนใหญ่แล้วผมจะสนใจเรื่องราวที่มีคุณค่าหรือมีอิทธิพลต่อความคิดของคน จริงอยู่เราขายความฝัน ขายแฟนตาซี แต่แบรนด์ทั้งหมดที่ผมทำ ผมอยากให้มันมีตัวตน มีเนื้อหาสาระ เราเลยพยายามมองหาแรงบันดาลใจที่มีผลต่อการดำเนินชีวิต ทั้งในเชิงของความงามและในเชิงอัตลักษณ์ เรามองเสื้อผ้าว่าควรมีมิติมากกว่าเป็นแค่สิ่งห่อหุ้มร่างกายหรือเป็นแฟชั่นที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เราไม่ได้เชื่อในการหมุนเร็วของแฟชั่น เราเชื่อการหยั่งลึกลงไปในตัวตนของคนที่สวมใส่มันมากกว่า   

คุณกำลังบอกว่าคนที่ซื้อเสื้อผ้าของอาซาว่าจะได้เสพอุดมคติบางอย่างไปด้วย ?

จริงๆ แล้วคนใส่อาจไม่ได้คิดลึกเท่าเรา อาจแค่อยากใส่เสื้อสวยหรือตรงกับจริตของเขาก็เท่านั้น แต่ในคติของคนทำงาน เราอยากแฝงแนวคิดไว้ในงานของเรา เพราะสุดท้ายแล้วงานที่มี ความหมายและอยู่ได้ในอนาคตจะต้องมีมุมมองที่ชัดเจนและมีเนื้อหาในตัวของมันเอง สังเกตว่างานของดีไซเนอร์ระดับโลกหรือศิลปินชั้นครูจะมีอิทธิพลต่อความคิด ต่อชีวิตของคนๆ หนึ่งมาก ผมอยู่กับเสื้อผ้าทุกวัน  อยากใส่ Conceptual ลงไปในงาน คนซื้อเสื้อผ้า Asava มักจะฟังเพลงแบบนี้ กินข้าวแบบนี้ เดินทางแบบนี้ คุณอาจสัมผัสได้หรือไม่ได้ก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุดในฐานะคนทำ เรามีความสุขที่จะเชื่อว่าเสื้อผ้าของเรามีมากกว่าความฉาบฉวย

ยุคที่คุณเริ่มต้นทำงาน อะไรคือสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดสำหรับคุณในตอนนั้น ?

ผมเป็นคนรักเสื้อผ้า จากวันนั้นถึงวันนี้เสื้อผ้ายังเป็นแรงผลักสำคัญ ผมยังตื่นเต้นกับมัน ยังอยากรู้ อยากเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่น ยังรู้สึกว่าทำได้ไม่พอ สิ่งนี้เป็นไฟลนอยู่เสมอ จะมองว่าเป็น Passion ก็คงใช่ แต่ผมกลับมองว่าผมทำอย่างอื่นไม่เป็น ทำเป็นแค่นี้ (หัวเราะ) ถ้าทำได้ไม่ดี ชีวิตผมคงทำอย่างอื่นไม่ได้แล้ว ทุกวันนี้ยังสนุกกับการดูแฟชั่น ดูคนแต่งตัว เชื่อว่าผมยังเป็นเด็กที่เฝ้ามองแฟชั่นมาตลอดชีวิต ดีใจที่เด็กคนนั้นไม่ได้หายไหน เพราะมันทำให้เราซุกซนตามหาสิ่งต่างๆ ตรงนั้นตรงนี้ตลอดเวลา มาทำงานก็ไม่ได้รู้สึกเหมือนมาทำงาน แต่รู้สึกเหมือนกำลังเข้ามาในสวนสนุก หรือร้านขายของเล่น กระตือรือร้นกับชีวิตทุกวัน

Visit Polpat Asavaprapha Asava dooddot 4

Visit Polpat Asavaprapha Asava dooddot 5

ใครบ้างที่มีอิทธิพลต่องานของคุณ ?

มีหลายคนมาก อย่าง Madame Grès เอย หรือ Paul Poiret ที่ปลดแอกผู้หญิงออกจากคอร์เซ็ต Christian Dior ก็เปลี่ยนจากการแต่งตัวมอซอหลังสงครามมาเป็นนิวลุค Chanel ดึงความหรูหราฟุ่มเฟือยออกแล้วใส่ความเป็น Masculine หรือแม้กระทั่งนักคิดอย่าง Zaha Hadid ในเมืองไทยก็มีคุณแดง- ภาณุ อิงคะวัติ, คุณกบ-เมนาถ นันทขว้าง, คุณไข่-สมชาย แก้วทอง คนเหล่านี้คือผู้บุกเบิกแวดวงเสื้อผ้าและนักออกแบบ ให้มุมมองแก่โลก ให้ทางเลือกกับนิยามของความงาม ให้คนมีโอกาสเสพของที่แปลกออกไปจากกรอบที่ถูกกำหนดไว้ด้วยประวัติศาสตร์หรือนิยามแบบเดิม สำหรับผมคนเหล่านี้ถือเป็นครู ไม่ใช่แค่งานออกแบบ แต่เป็นครูในเชิงของวิธีคิดด้วย

หน้าที่ของครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คืออะไร ?

ผมทำทุกอย่างอยู่แล้ว ห้องน้ำผมก็ดู กระดาษทิชชู่ที่ออฟฟิศผมก็ซื้อ ต้นไม้ที่จะปลูก สิ่งที่บริษัทกำลังจะพูดในแต่ละซีซั่น กระดุมเสื้อสักเม็ด ด้ายสักหลอด ทุกอย่างมีความหมายหมดสำหรับผม มันอยู่ในสารบบ นั่นคือหน้าที่ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ แค่ตู้ย็นพนักงานสกปรกผมก็ไม่แฮปปี้แล้ว

Visit Polpat Asavaprapha Asava dooddot 6

คุณคิดว่าตัวเองเป็นเพอร์เฟ็กชันนิสม์ ?

ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นนะ แต่มันเหมือนเราสร้างโลกของตัวเองขึ้นมาแล้ว ในโลกนั้นเราแค่ชอบที่จะเห็นต้นไม้เขียวๆ แบบนี้ ชอบอยู่กับคนประมาณนี้ เสพงานประมาณนี้ อย่างเมื่อสักครู่ก็เพิ่งให้คนไปซื้อกระดาษทิชชู่ เอาแบบกล่องสีดำเท่านั้น สีอื่นไม่ใช้ ไม่รู้สิ อาจเป็นคนสติไม่ค่อยดี (หัวเราะ) แค่รู้สึกว่าเราอยากอยู่ในโลกของตัวเองอย่างมีความสุข อยากอยู่กับคนที่มีวิถีเหมือนกัน บางครั้งต้องออกไปเจอโลกข้างนอกเพราะงานทำให้จำเป็นต้องข้องแวะกับคน แต่สุดท้ายถ้าเลือกได้ก็อยากให้ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเป็นจิตวิญญาณของเรา

ชีวิตปกติของคุณเป็นอย่างไร ?

ผมอยู่กับเสื้อผ้าทุกวัน ถ้าเลือกได้ก็อยากไม่แต่งอะไรมากมายบ้าง ตอนนี้ไม่อยากใส่เสื้อผ้าแบรนด์ แต่งตัวสตรีต อย่างช่วงนี้ก็ซื้อเสื้อผ้าวินเทจงเยอะหน่อย เสาร์-อาทิตย์ใส่เสื้อผ้าตลาดนัด ใส่ของมือสอง ไม่ได้เหนื่อยนะ แต่บางทีก็ไม่มีเวลาดูเรื่องของตัวเองเท่าไร เพราะมัวแต่คิดเรื่องข้างนอกว่าจะทำอะไร เรื่องของเราเลยเอาไว้วันหลังก็ได้ เมื่อก่อนเวลาไปงานเลี้ยงจะชอบ ความหวือหวาแฟนตาซี แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกอิ่ม ไม่ได้อิ่มในแง่ของการแสวงหา แต่อิ่มในแง่ของการเสพ มาถึงวันนี้มันอยากเป็นผู้สร้างมากกว่าเป็นผู้เสพแล้ว อยากให้คนได้เสพความคิดฝัน แบบที่ครั้งหนึ่งตอนเป็นเด็กเราเคยเสพ เหมือนมันหมดสนุกกับการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในอะไร  ตอนนี้กลับมาอยู่กับความสันโดษ แล้วส่งต่อไอ้ความแฟนตาซีนั้นให้คนอื่นผ่านงานของผมแทน สมการความสุขของตัวเองมันง่ายขึ้นทุกวัน นิ่งขึ้น ไม่ต้องการอะไรหรูหราหรือเวิ่นเว้ออีกต่อไปแล้ว

ไม่คิดว่ามันขัดแย้งกับความหรูหราฟู่ฟ่าของโลกแฟชั่นหรอกหรือ ?

ผมว่าคนที่มองโลกแฟชั่นแบบนั้นคือคนที่มองแค่เปลือก ไม่ได้มองเข้ามาถึงแก่นแท้ของความงาม เพราะความงามคือ Idealistic คือความละเอียดอ่อน เคยได้ยินไหมที่เขาบอกว่า ‘Good Design is no design’ สุดท้ายแล้วความเที่ยงแท้เป็นสิ่งสำคัญ อาจเพราะผมอยู่ในโลกของ ความงามมามากแล้ว จึงเริ่มแสวงหาอะไรที่แท้จริง เป็นเรื่องของมุมมองและวิธีคิดมากกว่าตัววัตถุ

Visit Polpat Asavaprapha Asava dooddot 7

คุณมองว่า ณ เวลานี้ Thai Brand อยู่ตรงจุดไหนในวงการแฟชั่นโลก ?

ดีไซเนอร์ไทยเติบโตขึ้นมาก แต่เรื่องความเป็นสากลอาจยังไปได้ไม่เต็มที่ ด้วยศักยภาพของแบรนด์ คุณภาพสินค้า การตัดเย็บ แบรนด์ไทยควรไปได้ไกลกว่านี้ โชคดีที่เรามีทั้งนักคิดและผู้ผลิตอยู่ในประเทศเดียวกัน อย่างสิงคโปร์เขามีแต่นักคิด ไม่มีคนผลิต จีนมีคนผลิตแต่ขาดนักคิด ประเทศไทยเลยค่อนข้างได้เปรียบในเชิงต้นทุน และอาจเป็นอานิสงส์ของการเติบโตของสังคมชนชั้นกลาง คนมีระดับการศึกษาสูงขึ้น มีอาชีพการงาน เสพสินค้าไลฟ์สไตล์เป็นเงาตามตัว บังเอิญสินค้าดีไซเนอร์มันไปตรงกับชีวิตและจริตของคนกลุ่มนั้นพอดี นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเรา

แต่ ณ เวลานี้ยังไม่มีแบรนด์ไทยแบรนด์ไหนเลยที่มีผลต่อวิธีคิดของคนในระดับโลก สิ่งหนึ่งที่เราพบระหว่างทำรีเสิร์ชคือคนไทยไม่ได้ภูมิใจในความเป็นไทยเท่าไร เพราะรู้สึกว่าของไทยควรจะถูก อีกอย่างคือมีเพอร์เซ็ปชันว่าของไทยเป็นของไม่ดี  แต่ไม่รู้เลยว่ากระบวนการคิด กระบวนการผลิตอาจแพงกว่าฝรั่งเสียอีก สิ่งนี้ทำให้อะไรก็ตามที่อิงกับความเป็นไทยในบ้านเราเติบโตได้ยาก โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ของงานออกแบบ

Visit Polpat Asavaprapha Asava dooddot 8

แบบไหนถึงจะเรียกว่าความเป็นไทยอย่างที่คุณว่า ?

ผมไม่ได้บอกว่าเราต้องนุ่งโจงกระเบน ใส่ซิ่นไปเดินห้าง มันไม่ใช่ในความหมายของผ้าขาวม้าหรือหน้าจั่วอีกต่อไปแล้ว แต่มันคือความเป็นไทยที่ร่วมสมัย คือการให้ความสำคัญและคุณค่ากับคนไทยด้วยกันเองต่างหาก

คิดว่าอะไรคือสิ่งที่น่าจะทำให้แบรนด์ไทยไปสู่สากลได้ ?

ผมคิดว่าตัวเนื้อแบรนด์ไม่ได้มีปัญหาเลย แต่มันไม่ใช่แค่ตัวแบรนด์อย่างเดียว ต้องมีภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน การจะเข้าไปโตในระดับโลกได้ต้องใช้เงินทุนมหาศาล และเราขาดการสนับสนุนที่ต่อเนื่อง อย่างประเทศเกาหลีใต้ ผมว่าเขาเก่งมากที่ผลักตัวเองขึ้นไปในเรื่องดีไซน์ ทั้งที่ย้อนไปเมื่อ 5-6 ปีก่อนเขาเป็นแค่ผู้ผลิต วันนี้เขาเปลี่ยนเป็นผู้ออกแบบเอง สามารถขายราคาพรีเมี่ยม ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มและสามารถโค่นญี่ปุ่นได้ ทุกวันนี้เขาเล่นเกมรุก มันน่าจะเป็นบทเรียนให้เห็นว่าเราควรไปถึงจุดนั้นกันได้แล้ว อย่างลาวหรือเวียดนามเองก็กำลังเติบโตมากในธุรกิจ Textile เพราะเขามีรากค่อนข้างแข็งแรงไม่แพ้บ้านเรา ที่สำคัญคือเขามีแรงฮึด เอาจริงเอาจัง สู้งาน ซึ่งถ้าเราไม่ออกแรงวิ่งต่อกันตอนนี้ อีกไม่นานเขาจะแซงเราแน่

ในฐานะของนายกสมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์ คุณมีมูฟเม้นต์อย่างไรบ้าง ?

Bangkok Fashion Society (BFS) เป็นตัวแทนให้กับดีไซเนอร์ไทยติดต่อกับภาครัฐฯ ไม่แค่ในประเทศ แต่ในต่างประเทศด้วย ทั้งสื่อมวลชน คู่ค้า และภาครัฐฯ หน้าที่ของเราคือยกมาตรฐานตราสินค้าไทยให้สูงขึ้นไปอีก เป็นการส่องสปอร์ตไลต์เข้ามาให้เขาเห็นว่าเรามีศักยภาพแค่ไหน เรารวมกลุ่มกันเพราะจะได้เป็นกระบอกเสียงให้เขาเห็นสิ่งที่เรากำลังทำ หลายปีที่ผ่านมาเราได้รับการตอบรับจากรัฐบาลค่อนข้างดี งานก็หนักขึ้นทุกวัน แต่ถามว่าโอเคหรือยังมันคงพูดยาก เพราะเราเป็นองค์กร Non-profit เป็นกลุ่มคนเล็กๆ ที่พยายามทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยแข็งแกร่งกว่านี้ ยอมรับว่าที่ทำ ทุกวันนี้ก็มีท้อบ้างนะ เพราะมันต้องลงทุน ลงแรง ลงเงิน ไม่ได้มีใครมาดูแลอะไรเต็มที่ แต่ที่ทุกคนยังทำอยู่ก็ทำเพราะความรักล้วนๆ

จะเห็นว่าการเข้ามาของสื่อดิจิตอลส่งผลอย่างมากต่อทิศทางของโลกแฟชั่น คุณมอง อย่างไรต่อการเกิดขึ้นของ See now, buy now และธุรกิจ Fast Fashion ?

ผมมองว่าทุกอย่างเปลี่ยนไปตามวิธีคิดของคน และบังเอิญที่ความรวดเร็วมีผลกับคนหมู่มาก  เหมือนคนกิน Fast-food ย่อมต้องการความอร่อยแบบด่วนๆ ขณะเดียวกันก็เป็นโทษ Fast fashion ก็คือการนำความรวดเร็วมาใส่กับแฟชั่น  ซึ่งข้อดีของมันคือราคาถูก ซื้อง่าย ย่นเวลาทั้งการคิด การผลิต แต่ก็ต้องยอมรับว่าคุณกำลังออกห่างจากความละเมียดละไมของชีวิตเช่นกัน เพราะทุกอย่างขาดการขัดเกลา คนอาจคิดว่าถ้าฉันได้ใส่ก่อนฉันสวย ฉันเลยต้องรีบวิ่งไปซื้อ จะได้รีบถ่ายรูป  รีบอัพโหลด กลายเป็นว่า Beauty กับ Speed คือสิ่งเดียวกัน แต่ผมเชื่อว่าในมุมมองหนึ่ง ยังมีคนที่ไม่อยากใส่เสื้อผ้าเหมือนคนอื่น ยังต้องการเสื้อที่ผ่านวิธีคิดอย่างละเมียดละไม สำหรับผม Freedom และ Space ถึงจะเท่ากับ Luxury ที่แปลว่าไปในแนวทางของตัวเอง ซึ่งจะมองว่า Fast Fashion เป็นเรื่องดีก็ได้ เพราะมันทำให้คนมองออกว่าอะไรคือความถ่องแท้

Visit Polpat Asavaprapha Asava dooddot 11

มันทำลายอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยหรือไม่ อย่างไร ?

ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง คนที่คิดว่าการมาของมันทำลายแฟชั่น แปลว่าเขาไม่พร้อมปรับตัวตามวิถีของโลก เราต่อต้านการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ มนุษย์เองก็เปลี่ยนแปลงทุกวัน หน้าที่ของเราคือการหามุมที่เหมาะกับตัวเองเพื่อจะได้หมุนไปได้กับมัน ถ้าคุณมองว่ามันฆ่าคุณ คุณนั่นละจะโดนมันฆ่า แต่ถ้ามองว่ามันเกิดมาเพื่อผลักให้คุณไปอีกจุดหนึ่ง ให้เคี่ยวกับวิธีคิดมากขึ้น คุณจะอยู่รอด

คุณมักจะย้ำเรื่องวิธีคิด แล้ววิธีคิดแบบไหนที่ทำให้อาซาว่ายังยืนหยัดอยู่จนถึงทุกวันนี้ได้ ?

เรามีแก่น แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปกับโลก คำว่า ‘ความเชื่อมโยง’ มีความหมายกับเรามาก เราจะไม่เป็นแบรนด์ที่ไม่เชื่อมโยงกับอะไรเด็ดขาด เราจำเป็นต้องรู้ว่าโลกจะหมุนไปที่ไหนอย่างไร และเราจะหมุนไปกับมันอย่างไร คำว่าร่วมสมัยสำหรับผมจึงสำคัญ ตัวผมจะแก่ได้ แต่แบรนด์ของผมจะไม่แก่ จะต้องมีแรงขับเคลื่อนแบบนี้อยู่ตลอด ผมอาจต้องออกไปทำงานกับดีไซเนอร์รุ่นเด็ก ออกไปฟังเพลงฮิปฮอป ออกไปเห็นโลกตรงนั้นตรงนี้ เพื่อที่จะได้รู้ว่าทำอย่างไรถึงจะเชื่อมต่อกับโลกได้

Visit Polpat Asavaprapha Asava dooddot 12

อะไรคือสิ่งสำคัญที่ดีไซเนอร์รุ่นใหม่จำเป็นต้องรู้ ?

เราได้ยินคนพูดกันตลอดว่าจะทำอะไรต้องมี Passion มีความรักความหลงใหล แต่ไม่ยักมีใครพูดถึงเรื่องวินัย ความรักที่ปราศจากวินัย ความเพียร และความอดทนก็ไม่มีประโยชน์ นักสร้างสรรค์ที่จะคิดงานได้ ต้องคิดงานทุกวัน มีวินัยในการคิด ในการใช้ชีวิต ถ้าคุณไม่มีวินัยกับสิ่งที่คุณรัก มันจะเกิดเป็นตัวตนที่แข็งแรงได้อย่างไร ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ทุกอย่างอาศัยเวลา อาศัยความอดทน อาศัยความเพียร คุณค่าของอาชีพจะเกิดขึ้นยามเมื่อคุณตกระกำลำบาก และในแต่ละช่วงเวลานั้น คุณจะพบความงามของมันด้วยตัวเอง

Writer: Wednesday

RECOMMENDED CONTENT

19.เมษายน.2019

เป็นครั้งแรกที่บริษัทผู้สร้างตัวอักษรที่เก่าแก่ที่สุดอย่าง Monotype ได้ทำการออกแบบตกแต่งตัวชุดอักษรที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลกอย่าง Helvetica หลังจากที่พยายามปลุกปล้ำกันอยู่นานกว่าสองปีเพื่อที่จะปรับปรุงชุดตัวอักษรที่เป็นเอกลักษณ์ตามแบบ swizz font