fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#TASTINGNOTE — Dinner for One : เมื่อร้านอาหารทั่วโลกต้องปรับตัวให้กับนักทานคนเดียว
date : 15.กุมภาพันธ์.2018 tag :

โดยไม่ทันสังเกต ร้านอาหารส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ …บังคับให้เราไปทานเป็นคู่และเป็นกลุ่มมากกว่าไปทานคนเดียว ไม่เชื่อลองดูวิธีการจัดโต๊ะอาหารที่เน้นหนักที่จำนวน 4 ที่นั่งขึ้น ระบบการจองร้านอาหารที่ไม่รับจองเมื่อบอกว่าจะมาทานคนเดียว ทุกคนมองว่าร้านอาหารคือสถานที่สำหรับการพบปะผู้คน พื้นที่ที่จะต้องมีการปฏิสัมพันธ์กัน เมนูมากมายถูกทำในสัดส่วนที่สามารถตักแบ่งกันได้

แต่รู้หรือไม่ ว่าอีกหนึ่งเทรนด์การกินที่กำลังมาประจำปี 2018 นี้ก็คือ ‘Dinner for One‘ หรือที่เรียกกันเป็นภาษาปากว่า ‘Solo Diner

เหตุผลหลักสำคัญจริงๆ ที่ร้านอาหารส่วนใหญ่มักไม่ใคร่ต้อนรับแขกที่มาทานคนเดียวก็เพราะว่า พวกเขาเหล่านั้นทำให้เสียที่นั่งไปเปล่าๆ แถมยังสั่งอาหารกันเพียงน้อย ไม่คุ้มเท่ารับแขกที่มากันสองคนหรือมากกว่านั้น เพราะพวกเขาจ่ายมากกว่า

↑ — ภาพวาด Nighthawks ของ David Hoppers สื่อถึงวัฒนธรรมการทานคนเดียวนั้นมีมานานแล้ว


ร้านอาหารแนวครีเอทีฟมังสวิรัติชื่อ Dirt Candy ในนิวยอร์คกลับเล็งเห็นช่องโหว่นี้ และเต็มใจอย่างยิ่งที่จะจัด Solo Diner’s Week ในทุกๆ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรักที่พวกเข้าจะสามารถกอบโกยรายได้งามๆ จากเหล่าคู่รัก แต่ Solo Diner’s Week ขอใจกล้าด้วยการจัดกิจกรรมนี้ในสัปดาห์ที่มีเดือนแห่งความรัก พร้อมด้วยเซ็ทเมนูสำหรับทานคนเดียว เชฟ Amanda Cohen บอกว่า “คนที่มาทานอาหารคนเดียวก็แค่ต้องการอยากทานอาหารที่ดีเหมือนกับเราๆ พวกเขาไม่ควรจะถูกลงโทษด้วยซ้ำกับแค่เรื่องนี้”


↑ — หลายร้านอาหารในเมืองใหญ่เลือกที่จะให้แขกนั่งทานกันที่เคาน์เตอร์บาร์ ข้อดีคือประหยัดเนื้อที่อีกด้วย


อะแมนด้ายังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เซ็ทเมนูสำหรับทานอาหารคนเดียวที่ร้านนี้อยู่ที่ 75$ แต่ผู้คนที่มาทานส่วนใหญ่มักจะต้องมีการสั่งอาหารเพิ่ม ไม่ได้แปลว่าเราให้น้อย แต่เพราะพวกเขามองว่าเมื่อร้านอาหารใส่ใจกลุ่มคนอย่างพวกเขา เขาก็ยินดีที่จะจ่ายเพิ่มได้อย่างไม่มีเงื่อนไข และข้อดีที่อะแมนด้าเสริมก็คือ นักทานคนเดียวเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะกลับมาทานอาหารที่ร้านอีกครั้ง เพราะพวกเขาสบายใจกับการบริการ และอาหารตรงหน้า

แต่การที่จะทำให้แขกกลับมาทานอาหารที่ร้านอีกครั้งหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับอะไร คำตอบนั่นง่ายแสนง่าย ก็คือคุณภาพของร้านอาหารนั่นเอง ทั้งเรื่องรสชาติ การบริการ หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการคิดสัดส่วนของเมนูอาหารให้พอเหมาะสำหรับทานคนเดียว

Sara Kramer ผู้ช่วยเชฟและเจ้าของร้านอาหารแนวตะวันออกกลาง Kismet ประจำลอสแองเจลลิสบอกว่า แขกที่มาทานอาหารคนเดียวส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่าประสบการณ์ที่ทำให้พวกเขาจดจำร้านอาหารนี้ได้ เธอยังจำผู้ชายคนหนึ่งที่เดินจากโรงแรมมาเกือบ 2 กิโลเมตรเพื่อมาทานอาหารที่ร้านนี้ ด้วยเหตุผลว่าเขาสักชื่อร้านไว้ที่แขน และเขาอยากเล่าให้ฟังว่าทำไมเขาถึงสักคำนี้ (Kismet แปลว่า โชคชะตา) นั่นเลยทำให้เธอเต็มใจที่จะทำอาหารให้อย่างสุดฝีมือ

พนักงานของร้านอาหารหลายร้านก็เริ่มเข้าใจในกลุ่มนักทานคนเดียวมากขึ้น พวกเขาจะปฏิบัติและให้บริการด้วยระดับเดียวกันกับแขกคนอื่นๆ และเช่นเดียวกัน คือการหมั่นสังเกต และดูว่าแขกคนนี้นั้นต้องการอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ และก็จัดการทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มเติมสักอย่างให้มื้อนั้นของเขาเป็นมื้อพิเศษซะ

↑ — จากซีรี่ส์ Netflix เรื่อง Midnight Diner ที่ทำให้เห็นวัฒนธรรมการทานคนเดียวของญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องปกติ


ถ้าคุณได้มีโอกาสทานอาหารคนเดียว ต้องมีสักครั้งบ้างแหละที่คุณมักจะได้รับอะไรพิเศษสักอย่างจากร้านอาหาร ไวน์หนึ่งแก้วสำหรับแพร์ริ่งอาหารที่คุณกำลังทานอยู่ หรือไม่ก็อาหารว่างเล็กๆ น้อยๆ พิเศษจากเชฟ ระหว่างคอร์ส เหล่านี้คือการสร้างความประทับใจ และทำให้คุณอยากกลับมาอีก ทั้งมาคนเดียว และมาหลายคน

จากการสังเกตของเหล่าร้านอาหาร พบว่านักทานคนเดียวส่วนใหญ่มักจดจ่ออยู่กับจอมือถือหรือจอไอแพดระหว่างทานอาหาร นั่นเลยเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทีมบริการต้องพยายามหาอะไรมาดึงดูดใจให้พวกเขาเหล่านั้นสนใจกับอาหารตรงหน้า บางครั้งเชฟก็ถึงขั้นชวนแขกคนนั้นเข้ามาในครัว เพื่อรับเมนูสุดพิเศษอย่างง่ายๆ อาทิ ล็อปสเตอร์โรล ไอศครีม หรือแชมเปญสักแก้ว

เชื่อหรือไม่ว่าปัจจุบันนี้ในอุตสาหกรรมร้านอาหารและบริการ เริ่มเน้นหนักในหัวข้อการรับมือกับแขกที่มาทานอาหารคนเดียว ผู้เรียนต้องศึกษาศาสตร์ที่เรียกกันอย่างน่ารักว่า ‘read the table’ เพราะบางทีนักกินคนเดียวก็อาจจะไม่ได้ต้องการการพูดคุยอะไร ไม่ต้องการความพิเศษหรือวีไอพี ขอแค่ให้เขาได้ดื่มด่ำกับมื้ออาหารนี้อย่างคนปกติก็พอ

ร้านราเมงญี่ปุ่นที่มีสาขาอยู่ทั่วทุกมุมโลกอย่าง Ichiran หรือร้านราเมงข้อสอบ คือหนึ่งในวิธีการจัดการต้อนรับเหล่านักทานคนเดียวได้อย่างแยบยลและมีเหตุมีผลที่สุด พวกเขาไม่จำเป็นต้องพบปะใครๆ แม้แต่ตัวพ่อครัวเอง (วินาทีเดียวที่จะได้เจอหน้าพ่อครัว หรืออาจจะเป็นแค่เด็กเสิร์ฟ ก็คือเมื่อเปิดม่านเสิร์ฟราเมนที่สั่งไว้)

Hiroshi Kokubun เจ้าหน้าที่การตลาดของ Ichiran USA บอกว่า คอนเซ็ปต์ที่ต้องดีไซน์ร้านราเมงให้เป็นแบบนี้เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทานข้าวคนเดียวของญี่ปุ่นนิดหน่อย แต่หลักๆ ก็คือการอยากให้ลูกค้านั้นได้สนใจแต่ราเมงตรงหน้า และรับรสชาติความอร่อยไปอย่างครบถ้วน

การแก้ปัญหาวัฒนธรรมการมาทานคนเดียวของเหล่าร้านอาหารส่วนใหญ่นั้นมีหลากหลายการรับมือ ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน


↑ — หลายร้านแก้ปัญหาด้วยการมีโต๊ะกลางหลายที่นั่ง ที่รองรับแขกได้ทุกจำนวน


อย่างไรก็ดี ตัวเราเอง ในฐานะคนที่กำลังตัดสินใจไปทานอาหารคนเดียว ก็ต้องศึกษาข้อมูลของร้านอาหารนั้นๆ ให้ดีและถี่ถ้วนก่อน เรียนรู้ว่าที่นั่งของร้านนั้นๆ เพียงพอหรือไม่ ช่วงเวลาพีคคือกี่โมง และแน่นอน เมนูของร้านนั้นสามารถทานคนเดียวได้จริงหรือไม่

ในทางกลับกันร้านอาหารหลายแห่งอาจคิดว่า เหล่านักทานคนเดียวคืออีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เสียรายได้ แต่ถ้าพวกเขาเหล่านั้นได้รับการบริการที่ดี พวกเขาก็พร้อมที่จะกลับมาอีก และกลับมาพร้อมเพื่อนๆ สองที่นั่ง สามที่นั่ง หรือมากกว่าก็เป็นได้

RECOMMENDED CONTENT

12.พฤศจิกายน.2020

ไม่ทำให้แฟน ๆ ต้องรอนาน สำหรับศิลปินหญิงมากความสามารถที่มาแรงที่สุดในขณะ “Bowkylion” หรือ “โบกี้ - พิชญ์สินี วีระสุทธิมาศ” สังกัดค่ายเพลง What The Duck หลังจากปล่อยอัลบั้มเต็มชุดแรกในชีวิต “Lionheart” เรียกเสียงตอบรับอย่างดีเยี่ยม