fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#STYLE – Hail Street! เมื่อ Streetwear ยึดพื้นที่ นี่คือแบรนด์น้องใหม่แกะกล่องใน Fall/ Winter 2018 นี้ที่คุณต้องรู้จัก!
date : 29.ตุลาคม.2018 tag :

หลายคนอาจมอง Streetwear ในแง่ของเทรนด์ แน่ล่ะ เอาไป 10 คะแนน! คำตอบคือใช่ แต่ที่มากกว่าความเป็นเทรนด์ มันคือบทบันทึกคัลเจอร์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ผู้คน สังคม หรือแม้แต่ปัญหาบ้านเมือง นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมสตรีทเเวร์ถึงยังคงยึดครองพื้นที่อย่างไม่เคยตายจนถึงเวลานี้

เราจะพาไปทำความรู้จักแบรนด์สตรีทเเวร์ไม่เกี่ยงค่ายเล็กหรือค่ายใหญ่ ขอเพียงเกิดมาใต้แนวคิดเจ๋งๆ เตรียมหยิบปากกามาจดไอเท็มเด็ดให้ไว อ้อ! แต่ไม่ต้องบินไปหาที่ไหนไกลนะ เพราะ STREET ALLEY โซนใหม่แกะกล่องจาก Siwilai Fall/ Winter 2018 เขาจัดไว้ให้ชาวสตรีทอย่างคุณแล้ว!

สายคัลต์

Fucking Awesome

ในเมื่อวัฒนธรรมรองอย่างสเก็ตบอร์ดและ Streetwear เป็นเสมือนของคู่กัน จะมีใครที่รู้จัก Streetwear ได้ดีไปกว่านักสเก็ตบอร์ดล่ะ

“It’s not about who’s wearing the shirt, rather the shirt itself.”

คือปรัชญาการทำเสื้อยืดอันไม่ซับซ้อนของ Jason Dill หรือที่บางคนรู้จักเขาในฐานะพระเจ้าแห่งวงการสเก็ตบอร์ดอเมริกัน 

เขาคือผู้ลุกขึ้นมาทำแบรนด์สตรีทเเวร์ของตัวเองในชื่อ Fucking Awesome และปล่อย Look Book ที่ใช้คนไร้บ้านตัวจริง (ไม่ใช่แค่อิงสไตล์ Homeless Chic แบบที่เป็นกระแสกันเมื่อปีก่อน) มาเป็นนายแบบเสื้อยืดของเขาเมื่อปี 2009 พร้อมแปะลายปริ้นต์รูปผู้นำเผด็จการคนดังของโลกกับคอนเซ็ปต์ Dictator shirt เมื่อเสื้อยืดของเขาขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เขาตัดสินใจหยุดทุกอย่าง ด้วยเหตุผลว่าไม่อยากให้ไอเดียของเขามันกลายเป็นแค่ ‘สินค้า’ เพราะสิ่งสำคัญสำหรับเขาไม่ใช่ตัวเงินแต่คือความคิดต่างหาก และตอนนี้ก็น่าจับตามองเป็นที่สุดเมื่อเขาเริ่มกลับมาขยับตัวอีกครั้ง

แค่นี้ก็น่าจะบัญญัติแนวคิดสุดขบถของสตรีทเเวร์แบรนด์นี้ได้แล้ว

A-COLD-WALL

สตรีทแวร์ คือเครื่องมือบอกเล่าเหตุการณ์สังคมและการเมืองได้ดีอีกเหมือนกัน

เมื่อ Samuel Ross ดีไซเนอร์ฝั่งอังกฤษผู้เคยทำหน้าที่เป็นมันสมองให้กับทีม Virgil Abloh แห่ง OFF-WHITE ได้ก่อตั้งแบรนด์ A-COLD-WALL ในปี 2005 ซึ่งน้อยคนจะรู้ว่าเริ่มต้นจากแนวคิดยูนิฟอร์มของคนงานในลอนดอน บวกกับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรม สภาพอากาศอันไม่แน่ไม่นอน รวมไปถึงบรรยากาศอึมครึมทางการเมือง สภาพเศรษฐกิจ และสังคมหลังจากเหตุการณ์ Brexit

เขาผลักความคิดเหล่านั้นออกมาในรูปแบบสตรีทแวร์ที่ตัดเย็บเนี๊ยบกริบ แล้วขับเคลื่อนด้วย Youth Culture ให้คนรุ่นใหม่เป็นตัวแทนของอนาคตตัวจริงที่ไม่ใช่แค่ในอุดมคติ 

Carrots by Anwar Carrots

หากเคยได้ยิน Peas & Carrots International เเบรนด์สตรีทเเวร์ชื่อคิขุฝั่ง Los Angeles ซึ่งก่อตั้งโดยแร็ปเปอร์ Casey Veggies คุณต้องรู้จักชายที่เรียกตัวเองว่า Anwar Carrots (AKA : Mr.Carrots) ซึ่งตอนหลังตัดสินใจแยกตัวออกมา จากนั้นโชคชะตาก็เล่นตลกให้เขาได้เจอกับเเร็ปเปอร์หนุ่มจาก Pittsburgh ผู้ล่วงลับ Mac Miller และจับมือกันทำเสื้อยืดทัวร์คอนเสิร์ตด้วยกันในปี 2011

หลังจากนั้นเขาก็เริ่มทำแบรนด์เมนส์แวร์คอลเล็กชั่นแรกของตัวเองในชื่อ Carrots by Anwar Carrots อย่างเป็นทางการในปี 2015 ซึ่งปรากฏว่าขายดิบขายดีโด่งดังมากในญี่ปุ่น ด้วยความตั้งใจที่จะทริบิ้วต์ให้กับความรุ่มรวยของ Street Culture และ Hip hop scene โดยแท้!   

สายล้ำ

Stone Island

Stone Island หรือที่สายสตรีทรู้จักในนาม Stoney แบรนด์สัญชาติอิตาเลียนที่ป๊อปมากในอเมริกา โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ทันยุค 80s จะรักมากเป็นพิเศษ เป็นแบรนด์ที่เริ่มต้นมาจากการรีเสิร์ชเทคโนโลยีการผลิตผ้ารวมไปถึงวิธีการตัดเย็บอย่างจริงจังมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ จนกลายเป็นเเบรนด์สปอร์ตแวร์ที่เก่งเรื่องการใช้ผ้าและวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นการบุกเบิกผ้าต่างๆ นำมาตัดเย็บเป็นเเจ็กเก็ต เช่น Tela Stella หรือผ้าใบคลุมรถบรรทุก ซึ่งคุณสมบัติกันน้ำและทนทานดีเยี่ยม หรือผ้า Heat-reactive (ผ้าที่จะเปลี่ยนสีเมื่อกระทบแสงแดด) เขาก็คิดมาก่อนใครเพื่อนตั้งแต่ปี 80s แล้ว หรือบางตัวก็ทำจาก Stainless Steal งี้ สุดยอดไปเลยมั้ยล่ะ!

แล้วก็ยังคงซิกเนเจอร์คือแจ็กเก็ตฮู้ดสไตล์หทาร (Military Jackets) แปะตราสัญลักษณ์ตรงเเขนเป็นรูปเข็มทิศที่หมายถึงการค้นพบไม่หยุดนิ่ง เรียกว่าเป็นแบรนด์ Outerwear ที่ผ่านยุคสมัยมาได้ เพราะมีดีมากกว่าความ Hype จริงๆ!

Supreme X Stone Island Fall/Winter 2014 Capsule Collection

OAMC

อีกหนึ่งแบรนด์สตรีทสายเเข็งที่เล่นกับนวัตกรรมการผลิตไม่แพ้กัน เมื่ออยู่ในมือของครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ Luke Meier ผู้ที่ทำงานกับ Supreme มากว่า 8 ปียิ่งการันตีความเจ๋ง

จุดเด่นน่าจะเป็นการนำเสื้อผ้าบุรุษชิ้นอมตะไม่ว่าจะเป็น Knitwear, Military Jacket หรือสูทแบบ Traditional มาปรับให้ร่วมสมัยและฟังก์ชั่นเหมาะกับยุคสมัยมากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีการผลิต รวมไปถึงวัสดุแปลกใหม่ เช่น ฟอยด์น้ำหนักเบา ยาง หรือ PVC มาเล่นกับเเสงเงา เลเยอร์ กราฟิก ทำให้มันทั้งวินเทจและอาวอง-การ์ด (Avant-garde) แบบไม่รุงรังในเวลาเดียวกัน แถมหรูหราในตัวเองอีกต่างหาก แต่ก็ไม่ลืมที่จะใส่บริบทของคัลเจอร์ต่างๆ ลงไปในแต่ละคอลเล็กชั่นให้สมกับความเป็นสตรีทเเวร์

OFF-WHITE

คงไม่ต้องพูดมากสำหรับแบรนด์สตรีทไฮ-เอนด์ อย่าง OFF-WHITE โดย Virgil Abloh ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในอุตสาหกรรมแฟชั่นเวลานี้ ไม่ได้เพราะเจ็บคอแต่อย่างใด แต่เพราะการมาถึงของพี่เขาทำให้เราเห็นความสนุกขึ้น สดใหม่ขึ้น (จริงๆ อยากใช้คำว่า ‘จ๊าบ’ ขึ้น แต่เกรงใจ) กว่าครั้งไหนๆ ของสตรีทคัลเจอร์ ความน่าอัศจรรย์ของ OFF-WHITE และ Abloh คือเขาไม่ได้แค่ผลิตสตรีทเเวร์ แต่เขายังผลิตแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งที่คนรุ่นใหม่กำลังมองหา จนมันกลายเป็นเป็นคัลเจอร์มูฟเม้นต์ไปแล้ว

ไหนๆ ก็เพิ่งมาเปิดช็อปฯ ที่เมืองไทยสดๆ ร้อนๆ สาวกคนไหนไปโดนมาแล้ว มาเล่าให้เราฟังด้วยนะ #มองด้วยตาละห้อย

สายกวน ตี**

Chinatown Market

เรียกว่าเป็นแบรนด์ที่เล่นกับความบ้าบอล้วนๆ Chinatown Market แบรนด์จากนิวยอร์กที่มี ‘ความกวน*น’ อยู่ในเส้นเลือดเหลือล้น โดยการหยิบเอาเสื้อผ้าฮิตๆ ที่แบรนด์ดังมักจะถูกก๊อปในตลาดจีนแดงมายำเละ ยำไปยำมาก็ออกมาเป็นเสื้อยืดลายกราฟิก Hoodie กับไอเท็มสารพัดสิ่งที่ดู #ก๊อปในก๊อปในก๊อป สุดแล้วแต่จะดีไซน์ 

สนับสนุนความกวนโดย Michael Cherman ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ และเรา!

Ignored Prayers

สตรีทแวร์ฝั่ง East Coast ที่เริ่มมาจากเว็บไซต์ดาร์กๆ ของแก๊งเพื่อนที่หยิบ Pop Culture มาเป็นมุขตลกร้ายจิกกัดไปซะหมด ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ หนัง เพลง การเมือง สังคม คนในกระแส มาปล่อยความกวนกันบนเว็บซึ่งตอนนั้นโซเชียลมีเดียยังไม่บูมมาก (ก่อนยุคมีม)

จากเดิมที่ทำเสื้อยืดสกรีน ทำเเม็กกาซีน ทำงานอาร์ต ไว้เชยชมกันเอง จนมีคนสนใจจำนวนมาก จะเรียกว่างานสกรีนที่อยู่บนเสื้อยืดของ Ignored Prayers ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังอ่านเเม็กกาซีนใต้ดินแสบๆ คันๆ มันๆ สักเล่มก็คงประมาณนั้น


แล้วพบกันที่ STREET ALLEY! 

Siwilai 

ชั้น 5 CENTRAL EMBASSY

Facebook : https://www.facebook.com/siwilaistore

Instagram: @siwilaistore

RECOMMENDED CONTENT

4.ตุลาคม.2017

Paradox เดือด ซัด ดิบ โดย Wilson Yip ผู้สร้าง IPMAN นำแสดงโดย กู่เทียนเล่อ,  จาพรม และ ปู วิทยา ปานศรีงาม