fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#PHOTOGRAPHY — ‘Paris Syndrome’ : ไม่มีปารีสในเมืองจีน ชุดภาพถ่ายโดย François Prost
date : 16.มกราคม.2018 tag :

“ฉันจำได้เลยว่า ตอนที่ฉันไปเยือนเวนิสครั้งแรกตอนอายุ 23 ความรู้สึกแรกสุดเมื่อลงรถไฟก็คือ ฉันไม่แน่ใจว่าภาพที่เห็นตรงหน้ามันคือของจริงหรือของปลอมกันแน่ ซึ่งมันเกิดขึ้นเหมือนในทุกครั้งที่ฉันไปเยือนกรุงโรม ไปอินเดีย หรือแม้แต่นิวยอร์ก”

ช่างภาพ François Prost พูดถึงที่มาที่ไปของชุดภาพ ‘Paris Syndrome’ – เธอบอกว่ามันเป็นอาการที่ทางการแพทย์เรียกว่า Stendhal Syndrome ซึ่งเป็นอาการของนักท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นเมื่อพวกเขาคาดหวังกับสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ มากเกินไป

อาการ Paris Syndrome นั้นเกิดในหมู่ชาวญี่ปุ่น ที่ได้มีโอกาสไปเยือนกรุงปารีส และพบว่า มันไม่ได้สวยงามชวนฝันเหมือนกับภาพในนิตยสารท่องเที่ยว หรือโบรชัวร์บริษัทนำเที่ยว เรื่องร้ายๆ และเรื่องไม่ดีที่พวกเขาพบเจอ จะส่งผลไปถึงสภาพจิตใจและร่างกาย ทำให้เกิดอาการอาทิ เวียนหัว ทรงตัวไม่ได้ เหงื่อไหลตลอดเวลา รู้สึกประหม่าและไม่มั่นใจในตัวเอง ขึ้นสูงสุดอาจถึงขั้นคลื่นไส้เลยทีเดียว

อีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้ François ตัดสินใจสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ก็คือ การที่เขาได้อ่านบทความของ Rosecrans Baldwin นักข่าวอเมริกันที่เดินทางไปยังเมืองที่ชื่อ Paris ทั้ง 20 เมืองของสหรัฐอเมริกา และดูว่ามีอะไรที่เชื่อมโยงและสัมพันธ์กับเมืองปารีสจริงๆ บ้าง ทั้งสิ่งปลูกสร้าง วัฒนธรรม หรือแม้แต่ผู้คน

ในตอนแรก François ตั้งใจทำโปรเจ็กต์ภาพถ่ายของเธอเป็นเพียงแค่การออกเดินทางไปถ่ายภาพหอไอเฟลจากทั่วทุกมุมโลก แต่ก็แน่นอนว่า เป็นเรื่องที่ยากเย็นไปสำหรับเธอ เพราะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล วันหนึ่งเธอก็ได้มีโอกาสดูมิวสิควิดีโอเพลง Gosh ของ Jamie XX ที่กำกับโดย Ramain Gavras และพบว่าเอ็มวีนี้ถ่ายทำกันที่ประเทศจีน ซึ่งโลเคชั่นก็คือเมืองปารีสที่ถูกเลียนแบบอาคารและสิ่งปลูกสร้างมาเกือบทั้งเมือง เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนคอนเซ็ปต์การทำงาน เป็นการถ่ายภาพเปรียบเทียบกันระหว่างปารีสจริงและปารีสปลอมแทน

…ไม่มีปารีสในเมืองจีน…

หลังจากที่ François ถ่ายภาพและสำรวจมุมต่างๆ ของกรุงปารีส (จริง) จนทะลุปรุโปร่งแล้ว เขาก็เดินทางสู่เมือง Tianducheng หรือกรุงปารีส (ปลอม) นั่นเอง

เมืองเที่ยนตู้เฉิง (ภาษาจีน แปลว่า เมืองหลวง) นั้น ชาวจีนทั่วไปเรียกกันว่า Sky City เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ของชนชั้นกลางไปจนถึงชนชั้นนำ ตั้งในย่านชานเมืองหางโจว จังหวัดเจ้อเจียง ประเทศจีน ซึ่งห่างจากเซี่ยงไฮ้ประมาณ 200 กิโลเมตร สร้างขึ้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว โดดเด่นด้วยหอไอเฟลจำลองความสูง 100 เมตร (เล็กกว่าของจริง 3 เท่าตัว) และอาคารบ้านเรือนที่สร้างเลียนแบบตึกรามบ้านช่องในท้องถนนของปารีส รวมถึงสวนสาธารณะ น้ำพุ ประติมากรรมเลียนแบบ ในอาณาบริเวณพื้นที่ 31 ตารางกิโลเมตร

แรกเริ่มนั้น ที่นี่แทบเป็นเมืองร้างที่ไร้ผู้คน และขึ้นชื่อในฐานะสถานที่ถ่ายรูปพรีเว็ดดิ้งในราคาประหยัด แต่ปัจจุบัน หลังจากที่มีการลดราคาอสังหาริมทรัพย์ การเข้าถึงของระบบสาธารณูปโภค ก็ทำให้อดีตเมืองร้างเมืองนี้มีประชากรอยู่ที่ 3 หมื่นคน

“ถ้าคุณไปที่กรุงปารีสของฝรั่งเศส คุณจะพบกับนักท่องเที่ยวเรือนแสนในทุกๆ วัน เมืองนี้ไม่เคยหลับใหลเลย แต่สำหรับเที่ยนตู้เฉิง ที่นี่กลับเงียบสงบมาก ภาพที่เห็นมักจะเป็นผู้คนท้องถิ่นเดินไปมา หรือไม่ก็ขี่รถสกู๊ตเตอร์”

François เล่าต่อว่า “คนที่นี่ไม่มีใครสนใจเจ้าหอไอเฟลปลอมนี้หรอก อย่างมากก็มีคนถ่ายรูปบ้างก็ตอนกลางคืนที่มีการประดับไฟ ทุกๆ เย็นคนที่นี่จะใช้พื้นที่ลานกว้างจับกลุ่มทำกิจกรรมกัน ออกกำลังกายบ้าง เต้นรำบ้าง แอโรบิกบ้างประปราย”

“ความน่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ ที่นี่และปารีสจริงมีความเหมือนกันตรงที่ ชอบมีคนมาถ่ายรูปพรีเว็ดดิ้งอยู่บ่อยๆ อย่างที่นี่มักจะมีคู่แต่งงานทุกวัยแวะเวียนมาถ่ายภาพ เพราะพวกเขาไม่มีเงินมากพอที่จะบินไปปารีสจริงๆ”

“ผมประทับใจในสิ่งที่คนทั้งโลกเป็นกัน คือถ้าพวกเขาประทับใจกับที่ไหนมากๆ พวกเขาก็จะจำลองมันมาไว้ที่เมืองของตัวเอง จึงไม่น่าแปลกใจอะไรถ้าเราจะเห็น mini Paris หรือ mini New York มีอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชีย ซึ่งน่าจะเป็นที่มาจาก Las Vegas หรือที่ Dubai ทำกันเป็นเมืองแรกๆ”

“มันคือความอิหลักอิเหลื่อ ที่ส่วนใหญ่แล้วมันก็ไม่ได้สร้างความประทับใจเท่ากับการได้เห็นของจริงจริงๆ ผู้คนที่ถ่ายรูปกับของปลอมจึงมักเลือกที่จะถ่ายอย่างตลกและสนุกสนาน มากกว่าถ่ายกับมันเพราะอยากเก็บเป็นความทรงจำ…”

“…น่าเสียดายที่หลายเมืองในเอเชียเลือกที่จะทำแบบนี้ ทั้งๆ ที่พวกเข้ามีมรดกทางวัฒนธรรมที่แข็งแรงมาก แข็งเสียจนเขาไม่จำเป็นที่จะต้องเลียนแบบวัฒนธรรมของตะวันตกเลย”

www.francoisprost.com

RECOMMENDED CONTENT

17.มกราคม.2020

“People on Sunday” (2562) เป็นการตีความ บทสนทนาโต้ตอบ และสาส์นแสดงความนับถือต่อภาพยนตร์บุกเบิกจากประเทศเยอรมันเรื่อง “Menshen Am Sonntag” (2473) หรือ “ผู้คนในวันอาทิตย์” ผลงาน “People on Sunday” (2562) ได้นำภาพยนตร์ต้นฉบับดังกล่าวกลับมาตีความใหม่ผ่านบริบทที่แตกต่างจากเดิม ทั้งยุคสมัย ภูมิประเทศ ตลอดจนสภาพในการทำงาน