fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#PHOTOGRAPHY — ภาพถ่ายอาหารสุดปลอม สำหรับนิตยสารวัฒนธรรมอาหาร ‘The Gourmand’ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Emoji โดย Matthieu Lavanchy
date : 20.พฤศจิกายน.2017 tag :

ความสนุกของการได้เปิดอ่านนิตยสารสาย indie ในยุคปัจจุบันนี้ก็คือ ในแต่ละเล่มนั้นมักจะมีผลงานเด็ดๆ แฝงอยู่อย่างเนียนๆ ชนิดที่สวยจนอยากจะกรีดหน้ากระดาษนั้น แล้วเอาไปใส่กรอบแปะฝาบ้านกันเลยทีเดียว

The Gourmand เป็นนิตยสารราย 6 เดือน ที่พูดถึงอาหาร และวัฒนธรรมการกิน ด้วยจำนวนหน้า 120 หน้า ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อขึ้นชื่อเรื่องความอินดี้ เนื้อหาภายในจึงไม่เหมือนกับนิตยสารสายแมส แต่มักเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเฉพาะด้านอาหาร มุมมอง ความคิดสร้างสรรค์​ รวมถึงทัศนคติ หรือความคิดเห็นส่วนตัวของทีมบรรณาธิการมากกว่า นิตยสารเล่มนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2011 โดย David Lane และ Marina Tweed และถูกจับตามองในเรื่องของการนำเสนอที่ชาญฉลาด และมักเป็นมุมมองใหม่ๆ ให้คนรักอาหาร และวัฒนธรรมอาหารได้ตื่นเต้นอยู่เสมอ

ฉบับล่าสุดของ The Gourmand ก็ได้สร้างเสียงฮือฮาอีกครั้ง กับเซ็ทภาพถ่าย ‘irl.’ ที่นำเอา Emoji ยอดนิยมของโลกใบนี้ มาทำเป็นงานภาพของจริง วัตถุดิบจริง (ที่เราว่าต้องผ่านการรีทัชพอสมควรอยู่แล้ว) ดูผ่านๆ เลยรู้สึกได้ว่ามันคือเจ้าอีโมจินี่แหละ แต่ที่แน่ๆ คือช่างตอบโจทย์กับการพูดถึงวัฒนธรรมอาหาร กับยุคสมัยปัจจุบันนี้ชะมัด

สิ่งหนึ่งที่ทำให้งานภาพเซ็ทนี้น่าสนใจ น่าจะดึงออกจากเล่มมาแปะฝาบ้านมากๆ ก็คือการเลือกสีพื้นหลังได้อย่างตัดกันและลงตัวสวยงาม โดย David Lane และ Hannah Meri Williams ซึ่งเป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์ของภาพชุดนี้ ได้เลือกช่างภาพชาวสวิตเซอร์แลนด์ Matthieu Lavanchy มาถ่ายภาพชุดนี้ ร่วมกับ Seiko Hatfield ในตำแหน่ง Food Stylist

ทีมได้ถกเถียงร่วมกันว่า จะเลือกเฉพาะอาหาร Emoji ที่ถูกใช้ส่งต่อกันบ่อยๆ จนผู้คนทำรูปทรง การจัดวาง สีสัน และทิศทางแสงของมันได้ เพื่อให้แรกเห็น ผู้คนจะได้เกิดความรู้สึกเอะใจ ว่านี่คือกราฟิก หรืองานภาพถ่ายกันแน่ ผลออกมาคือ อาหาร 8 อย่าง ได้แก่ กล้วย, ลูกพีช, แก้วกาแฟร้อน, อะโวคาโด้, ไอศครีม, ชีส และมะเขือยาว ซึ่งความจริงมีอีกสองสิ่ง คือ โลลิป็อบ และ โดนัท ด้วย แต่พวกเขาตัดสินใจตัดออก เพราะภาพที่ได้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ

ทีมบอกว่า ความน่าสนใจของการเลือกอาหาร 8 อย่างนี้ก็คือ ทั้งหมดนั้นไม่ได้มีความหมายถึงการกินเท่านั้น แต่อาหารบางอย่างถูกใช้แทนสัญลักษณ์ทางเพศ ซึ่งกลายเป็นวัฒนธรรมการสื่อสาร ผ่านรูปแบบของอาหารที่น่าสนใจมาก เช่นกันกับวัฒนธรรมการรีทัชอาหารให้น่ากินและดูปลอม ซึ่งพวกเขาบอกว่า นอกจากจะเป็นเรื่องท้าทายมากแล้ว ยังสนุกมากๆ อีกด้วย!

 

ตามอ่านเรื่องราวของวัฒนธรรมอาหาร กับ Emoji และวัฒนธรรมการสื่อสารในสังคมยุคเจนใหม่ได้ในนิตยสาร The Gourmand ฉบับล่าสุด พร้อมสกู๊ปสนุกๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมอาหารอีกมากมายในเล่มได้แล้ววันนี้ที่แผงนิตยสารทางเลือกทั่วไป ส่วนในไทย พบได้ที่ร้าน The Papersmiths เกสร พลาซ่า

RECOMMENDED CONTENT

18.มีนาคม.2020

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปี 2563 กระแสรักสุขภาพ เป็นหนึ่งกระแสที่ผู้คนหันมาให้ความสำคัญและใส่ใจกันอย่างมาก ภาพยนตร์โฆษณาชุด “Bok choy” ถือเป็นภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่จาก สสส. ที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีทั้งในและนอกประเทศในขณะนี้