fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

‘EEC’ โครงการยักษ์ปั้นเศรษฐกิจไทย ดึงการลงทุนจากรายย่อยสู่รายใหญ่
date : 26.มกราคม.2018 tag :

หากใครติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงธุรกิจ อุตสาหกรรม และการทำงานของหน่วยงานภาครัฐกันอยู่บ้าง คงจะเคยได้ยินคำว่า ‘EEC’ กันมาพอสมควรไม่มากก็น้อย แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามหรือได้ยินมายังไม่กระจ่าง วันนี้เราอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักโครงการนี้กัน ด้วยความที่บางคนอาจมองว่าไกลตัว หรือเป็นผลงานระดับชาติไม่เห็นจะเกี่ยวกับตัวเราเลย อันนี้เราว่าคงเข้าใจผิดนิดหน่อย เพราะโครงการนี้มีประโยชน์กับคนไทยทุกคน ที่สำคัญเรายังหาโอกาสลงทุนจากโครงการนี้ได้ด้วย เอาเป็นว่าถ้าเริ่มอยากรู้แล้วงั้นตามอ่านกันต่อเลยดีกว่า…

—————

มาทำความรู้จัก ‘EEC’ ให้มากขึ้น!

EEC ย่อมาจาก Eastern Economic Corridor ซึ่งก็คือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก’ นั่นเอง โดยโครงการนี้เป็นแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่ในแผนพัฒนาประเทศ หรือ ไทยแลนด์ 4.0 เนื่องจากเป็นโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ Eastern Seaboard ที่เริ่มทำมานานแล้วตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สำนักงานเพื่อการพัฒนา ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (สกรศ.) ก็ได้วางเป้าหมายหลักๆ ให้เห็นภาพรวมในการส่งเสริมการลงทุน เพื่อเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว

การลงทุนสำหรับ ‘การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน’

ภายในปีนี้ เราก็จะได้เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของการยกระดับพื้นที่ในเขต 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เพราะเป็นจังหวัดนำร่องในการสร้างเมืองรูปแบบใหม่ และเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ

อีกทั้งการลงทุนดังกล่าวยังเป็นความร่วมมือกับเอกชน ซึ่งงบประมาณมาจากการประมูลเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ตอบแทน และรัฐไม่ต้องนำงบประมาณมาใช้จำนวนมาก โดยการลงทุนขนาดใหญ่ หลักๆ ที่คณะกรรมการฯ ได้อนุมัติโครงการไปแล้วมีจำนวน 6 โครงการ ได้แก่

  • สนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก
  • รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ

  • ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3

  • ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
  • ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา
  • เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตัล

การพัฒนายกระดับเชิงพื้นที่ ดีอย่างไร?

เหตุผลที่ต้องเริ่มจากจังหวัดนำร่อง ก็เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปในแบบบูรณาการ ภายใต้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของรัฐบาล–เอกชน–ประชาชน และหากแผนพัฒนาดังกล่าวเป็นไปตามที่วางไว้ ภายในระยะเวลา 5 ปี ด้วยวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท จะทำให้รายได้มวลรวมของประชาชนทั้งประเทศขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ต่อปี เกิดฐานเทคโนโลยีใหม่ของประเทศ มีการพัฒนาคน ความรู้และเทคโนโลยี ให้ก้าวทันโลกแห่งอนาคต

โครงสร้างที่มีประโยชน์ ส่งผลดีด้านต่างๆ

นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แน่นอนว่าประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ และผู้ที่ต้องการดำเนินการในอุตสาหกรรมการผลิตด้านต่างๆ จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างเหล่านี้…

อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต — เน้นด้านการออกแบบและจัดทำต้นแบบส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพและมีความแม่นยำ

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ — การผลิตยานยนต์ อุปกรณ์โทรคมนาคม ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการออกแบบที่อยู่อาศัยอัจฉริยะที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง — ใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลแบบอัตโนมัติ รวมถึงการวิจัยและลงทุนทางเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์

อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร — จะเพิ่มมาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับด้านความปลอดภัยของอาหาร อีกทั้งยังมีการทำวิจัยและผลิตผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่ใช้โปรตีนทางเลือก

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ — มีการจัดระเบียบและส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวตามสถานที่สำคัญ

หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมและชีวิตประจำวัน — ในอนาคตคาดการณ์ว่าจะจัดให้มีสัดส่วนที่ใหญ่กว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ อย่างเช่นหุ่นยนต์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

อุตสาหกรรมการบิน โลจิสติกส์ และการคมนาคม — ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอากาศยานและโลจิสติกส์ทางอากาศ และเชื่อมโยงการเดินของผู้โดยสารสนามบินหลัก (ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา) โดยรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้การเดินทางระหว่างกทมฯ กับ EEC ไม่เกิน 1 ชม.

อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร — สนับสนุนแพทย์และพยาบาลที่มีความสามารถ พร้อมมีโรงพยาบาลที่ทันสมัย นอกจากนี้ยังลงทุนเกี่ยวกับการผลิตยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการรักษาโรคทางไกล ผ่านอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน เป็นต้น

อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ — เป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน จึงเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพแบบครบวงจร เช่น ใช้ไบโอพลาสติกในการบรรจุหีบห่อและบรรจุภัณฑ์เพื่อการส่งออก

อุตสาหกรรมดิจิทัล — ผลักดันให้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการดำรงชีพ เช่น Ecommerce, Digital Content, Data Content, Cloud Computer, Internet of Things หรือ IOT

ปั้น Startup และ SME หน้าใหม่สู่ตลาดระดับชาติ

หากมองให้แคบลง เหล่าผู้ประกอบการรายย่อยในไทย (SME) หน้าใหม่ รวมถึง Startup คงสงสัยว่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างไร? เราคิดว่าพวกคุณสบายใจได้ เมื่อทาง สกรศ. ได้จัดตั้งศูนย์ SME ICT โดยมีบริการให้คำปรึกษา start–up และ SME จาก co–founder ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อต่อยอดธุรกิจจาก EEC และยังสร้างการเติบโตให้กับกลุ่ม Startup ภายในภาคตะวันออกมากขึ้น อย่างเช่น Uber Skoota Grab ที่สามารถขยายฐานเข้าไปได้ หรือจะเป็น Startup ใหม่ๆ ก็จะมีธุรกิจ SME รองรับการใช้บริการที่มีอยู่ได้มากขึ้นเช่นกัน

ความก้าวหน้าในการพัฒนา EEC สู่ hub รายใหญ่

ในปีนี้ เรายังจะเห็นภาพการลงทุนจากนักลงทุนรายใหม่ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นด้วย ซึ่งสามารถดึงนักลงทุนจาก ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ใต้หวัน และจากฟากฝั่งยุโรป ให้สนใจมาร่วมลงทุนกับเรา เช่น Agoda, Hitachi, Alibaba ที่กำลังสร้างฐาน eCommerce และ logistics เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการทำตลาดในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ยังมี Airbus ที่จับมือกับการบินไทย เพื่อร่วมกันพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานขึ้นที่สนามบินอู่ตะเภา โดยตัวเลขนักลงทุนและการลงนาม มีรายละเอียดดังนี้

> มีการชักชวนนักลงทุน : โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC รวม 160 ราย และ สกรศ. ได้ชักชวนนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายแล้วกว่า 40 ราย ในจำนวนนี้มี 11 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอการลงทุน

> มีการลงนามความร่วมมือกับต่างประเทศ : เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมทั้ง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย และเพิ่มความร่วมมือ เสริมสร้างความสัมพันธ์ และเตรียมการวางแผนความร่วมมือ ทางธุรกิจระหว่างกันตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0

—————

เราเองก็หวังว่าโครงการ EEC จะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้การเติบโตของเหล่า Startup และ SME ที่ดีอยู่แล้ว สามารถพุ่งทยานมากขึ้นไปอีกในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะแม้จำนวนผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ในประเทศที่คิดเป็น 98% จากจำนวนทั้งหมด จะมีมากพอสู้กับอุตสาหกรรมรายใหญ่ได้ แต่ก็ยังคงต้องอาศัยโอกาสในการลงทุนและพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิด เพื่อให้กลุ่มคนเล็กๆ เหล่านี้มีสะพานเชื่อมความสำเร็จ เช่นเดียวกับที่กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่หรืออุตสาหกรรมรายใหญ่เคยได้รับ และนอกจากภาคอุตสาหกรรมที่เรามองเห็นภาพกว้างๆ ได้แล้ว โครงการ EEC ยังส่งผลให้ประชาชนหรือคนในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งด้านสาธารณสุขและสาธารณูปโภคที่ทันสมัย ซึ่งเมื่อสุขภาพกายดีก็ย่อมทำให้สุขภาพจิตดีตามไปด้วย รวมถึงเรื่องของการเดินทางที่สะดวก ง่ายเช่นเดียวกับที่กรุงเทพฯเป็น นอกจากนี้เยาวชนในพื้นที่ยังมีโอกาสสร้างงานสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปหางานทำในกรุงเทพฯ ก็สามารถมีรายได้ดีได้ทุกครัวเรือน เนื่องจากงานในพื้นที่มีให้เลือกอย่างหลากหลายเหมาะสมกับสิ่งที่แต่ละคนสนใจ จึงนับเป็นอีกวิธีกระจายงาน กระจายรายได้ ซึ่งเมื่อคนในพื้นที่ถูกพัฒนาศักภาพในตัวเองควบคู่ไปพร้อมกับโมเดลที่ถูกพัฒนาโดยภาครัฐและเอกชน ก็ยิ่งทำให้เกิดรูปแบบของการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ระหว่างประชาชน ผู้ประกอบการ หรือนักลงทุนนั่นเอง

RECOMMENDED CONTENT

30.พฤษภาคม.2019

ย้อนรอยสู่จุดกำเนิดแห่งดนตรีเทคโนกับผลงาน Black to Techno โดยผู้กำกับฯ หญิงชาวอังกฤษ - ไนจีเรียน Jenn Nkiru ผู้จะพาเราไปสัมผัสวัฒนธรรมดนตรีเทคโนจากจุดกำเนิดที่เมืองดีทรอยท์ สหรัฐอเมริกา จากดนตรีกระแสรองสู่ความนิยมสุดขีดช่วงปลายยุค 1980s นำไปสู่ดนตรีที่สะท้อนต่อสู้เพื่อบทบาทในสังคมและเสรีภาพของกลุ่มคนผิวสีในดีทรอยท์