fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#DESIGN — ‘Storstrøm Prison’ : คุกที่ดีที่สุดในโลกของเดนมาร์ก กับแนวคิดที่นี่ไม่ใช่ที่กุมขัง แต่คือพื้นที่ปรับตัวก่อนกลับเข้าสู่สังคม
date : 15.ธันวาคม.2017 tag :

เราคงเคยได้ยินข่าว และเห็นภาพของ ‘คุกที่ดีที่สุดในโลก’ กันมาแล้ว และพูดกันอย่างติดตลกว่า คุกนั้นดีงามเสียจนเราอยากทำผิดกฏหมายให้รู้แล้วรู้รอด โดยลืมจุดประสงค์ที่แท้จริงของการออกแบบ และจุดประสงค์ของคุกหรือเรือนจำที่แท้จริงไป

การออกแบบที่ดี และทำให้นักโทษหรือผู้ถูกกุมขังนั้นได้รับความสะดวกสบาย หลายคนมองว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม แต่การลงโทษคือการให้อยู่ในสภาพที่ไม่สะอาด ไม่เหมาะสม เป็นเรื่องถูกต้องแล้วหรือไม่? หลายประเทศในตะวันตกมองว่า ‘ไม่จำเป็น’

เพราะจุดประสงค์หลักของการกักขังนั้น นอกจากเพื่อชดใช้สิ่งที่ผู้กระทำผิดได้ก่อ ให้รู้สึกหลาบจำ มีเวลาในการคิดทบทวนสิ่งที่ได้ทำไป มากไปกว่านั้น ประเทศฝั่งยุโรปส่วนใหญ่มองว่า คุกหรือเรือนจำควรเป็นที่ที่ดูแลสภาพร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ผู้กระทำผิด พร้อมที่จะกลับไปสู่สังคมได้อย่างคนปกติ และไม่กระทำผิดซ้ำอีก

Storstrøm Prison ในประเทศเดนมาร์กก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่นี่กำลังจะถูกจัดให้อยู่ในหมวดเรือนจำที่มีมนุษยธรรมมากที่สุด บริษัทสถาปนิกชื่อดังอย่าง C.F. Møller ได้รับโจทย์สุดหินนี้ และออกแบบเรือนจำที่ยังคงคาแร็กเตอร์บางอย่างเอาไว้ เช่น การเป็นที่กุมขัง สถานที่ที่ต้องมีการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องออกแบบให้มีความสะดวกสบายทั้งกับตัวนักโทษ ผู้คุม และพนักงาน รวมถึงต้องออกแบบเพื่อทำให้สภาพจิตใจและร่างกายของผู้ได้รับโทษนั้น ครบถ้วน แข็งแรง สมบูรณ์ และพร้อมที่ออกไปสู่โลกภายนอกได้อย่างคนปกติ

เรือนจำนี้สามารถรองรับนักโทษได้สูงสุด 250 คน ในสเกลที่เป็นเรือนจำขนาดกลาง ซึ่งความจริงสามารถรองรับนักโทษได้มากกว่านั้น แต่เรื่องความแออัด ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สภาพจิตใจของคนที่ใช้พื้นที่เปลี่ยนไปได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะตัวนักโทษเท่านั้น

ผังโดยรวมของเรือนจำนี้ยังคงเอกลักษณ์เรือนจำแบบที่หลายประเทศทำอยู่ นั่นคือมีศูนย์กลางบัญชาการและสำนักงานอยู่เป็นปราการด่านแรก และรายล้อมด้วยอาคารกุมขัง สนามออกกำลังกาย และพื้นที่สันทนาการ ลักษณะคล้ายต้นไม้กำลังแผ่กิ่งก้านสาขา

โครงสร้างของแต่ละอาคารจะมีความสูงไม่เกิน 3 ชั้น เพื่อให้ผู้ต้องขังไม่รู้สึกอึดอัดกับกำแพง ได้มีโอกาสเห็นท้องฟ้า ธรรมชาติ ที่ส่งผลดีต่อสภาพจิตใจได้ ส่วนวัสดุที่ใช้จะมีความแข็งแรง แต่ก็ไม่แข็งกระด้างจนเกินไปนัก อาทิ การใหญ่อิฐสีธรรมชาติ แทรกแซมกับคอนกรีต รวมถึงเหล็กชุบสี และผนังสีเรียบง่าย ที่อาจเสริมส่งสภาพจิตใจของผู้ต้องขังและพนักงานได้อย่างไม่รู้ตัว

ห้องขังแต่ละห้องเปิด–ปิด เป็นเวลา ผู้กุมขังแต่ละคนสามารถใช้พื้นที่ส่วนตัวของตัวเองได้อย่างอิสระ เมื่อประตูห้องขังเปิด ก็สามารถใช้พื้นที่ห้องนั่งเล่นรวมเพื่อพบปะพูดคุยได้ ร่วมถึงยังมีพื้นที่ครัวที่สามารถใช้ประกอบอาหารได้เช่นกัน ส่วนของประดับตกแต่ง หลายชิ้นใช้หลักการเดียวกับของประดับโรงพยาบาล ผลงานศิลปะหลายชิ้นมีส่วนช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจได้

สิ่งที่เราชอบที่สุดคือห้องขังเหล่านี้ มีหน้าต่างที่สามารถรับแสงธรรมชาติเข้ามาได้อย่างเต็มที่ ผู้กุมขังสามารถมองเห็นภายนอกและบริเวณเรือนจำได้ รวมถึงพื้นที่ออกกำลังกายที่สามารถเลือกใช้ได้อย่างอิสระ เพราะมีทั้งในร่มและเอ้าท์ดอร์ รวมถึงยังมีกิจกรรมออกกำลังกายที่หลากหลาย และรับรองได้เลยว่าผู้กุมขัง จะกลับไปพร้อมสุขภาพอนามัยที่ดี

ทั้งหมดนี้ย้อนกลับไปที่คำถามโลกแตกคำถามเดิมว่า คุกที่ดี ควรเป็นคุกที่สกปรก มีแต่ความย่ำแย่ หรือควรสะอาด สะดวกสบาย มีแต่ความสุข คำถามนี้อาจจะยังไม่ต้องการคำตอบเดี๋ยวนี้ เพราะคงต้องถกเถียงกันอีกยาวนาน

แต่ประเทศเดนมาร์กกำลังถามคำถามใหม่ที่ไปไกลกว่าใครๆ ว่า ‘เราจะทำให้ผู้กุมขังออกไปสู่โลกภายนอกอย่างคนปกติได้อย่างไร’

RECOMMENDED CONTENT

9.กรกฎาคม.2020

ROKU (โร-คุ) คืออีกหนึ่งคอลเล็กชั่นที่ร่วมงานกับนักออกแบบระดับโลกอย่าง คอนสแตนติน เกอร์ชิค (Konstantin Grcic) โปรดักซ์ดีไซเนอร์ที่มีผลงานร่วมกับแบรนด์มากมาย อย่าง Muji และ Vitra และยังชนะรางวัลงานออกแบบมาแล้วนับไม่ถ้วน