fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#DESIGN — ขอพื้นที่เล็กๆ ให้ยังเป็นเด็กอยู่ได้ไหม กับการปรับปรุงพื้นที่ public space ใจกลางย่านเก่าของกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
date : 6.กุมภาพันธ์.2018 tag :

สำหรับเราแล้ว เสน่ห์อย่างหนึ่งของกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ก็คือการที่ความเก่าและความใหม่นั้นผสมปนเปกันอยู่ภายในความหนาแน่น แออัด และพลุกพล่านวุ่นวายของเมือง ตามย่านชุมชนโบราณต่างๆ นั้นก็เต็มไปด้วยทั้งบ้านเรือนโครงสร้างเดิม และก็แทรกแซมด้วยร้านอาหาร คาเฟ่ โฮสเทล และพื้นที่สาธารณะอื่นๆ มากมาย

ซึ่งพื้นที่เหล่านี้นี่แหละที่ทำให้สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมมากมาย อยากมีโอกาสลองของ และได้รับโปรเจ็กต์สนุกๆ จากพื้นที่เหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็มักจะต้องรื้อทิ้งโครงสร้างเดิมทั้งหมด เพราะปรักหักพังไปตามกาลเวลา ก่อนที่จะแอบหลงเหลือส่วนที่ยังพอแข็งแรงเอาไว้บ้าง เพื่อให้ความสมัยใหม่กับความเก่าแก่อยู่ร่วมกันได้อย่างไม่เคอะเขิน

พื้นที่เขต Dashilar ตั้งอยู่ไม่ห่างจากจัตุรัสเทียนอันเหมิน และพระราชวังต้องห้ามมากนัก ที่นี่หนาแน่นไปด้วยบ้านเรือนโครงสร้างโบราณ ภายในบริเวณนี้กระจัดกระจายด้วยลานว่างขนาดกระทัดรัด อย่างชุมชนเลขที่ 8 Cha’er Hutong มีลานขนาดเล็กที่รายล้อมด้วยครัวเรือนของ 12 ครอบครัว พื้นที่นี้เป็นเหมือนสนามเด็กเล่นและที่รวมตัวกันของเด็กๆ ในละแวกนี้และใกล้เคียง

ด้วยความที่โครงสร้างของบ้านเรือนและลานขนาดเล็กนี้นั้น มีการอาศัยอยู่จากรุ่นสู่รุ่นมามากกว่า 50 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก และผ่านการปรับปรุงต่อเติมมาก็เยอะ อาทิเช่น การต่อเติมพื้นที่ครัวของหลายๆ บ้านให้กินเข้ามาในบริเวณของลานว่าง ทำให้สภาพของลานนั้นไม่เหมาะแก่การใช้ประโยชน์ใดๆ ของเด็กๆ เลย

ทีมสถาปนิกจาก ZAO/standardarchitecture ได้ทำเรื่องกับทางการ และจัดประชุมร่วมกับชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ เพื่อขอนุญาตทำการปรับปรุงพื้นที่แห่งนี้ขนานใหญ่ ให้กลับมาเป็นพื้นที่ของเด็กๆ ทุกคนอีกครั้ง

พวกเขาตัดสินใจที่จะไม่รื้อถอนโครงสร้างใดๆ ออกไป หากแต่เพียงยึดคอนเซ็ปต์ของการ re– ได้แก่ redesign, renovate และ re-use รวมถึงการพยายามใช้วัสดุทั้งเก่าและใหม่ ที่ยังคงความเป็นชุมชน ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมของชาวกรุงปักกิ่งอยู่

ทีมสถาปนิกได้ขอดัดแปลงพื้นที่ครัวของบ้านหลังหนึ่ง ขนาด 9 ตารางเมตร ให้กลายเป็นห้องสมุดไซส์น่ารัก ที่ทำจากไม้อัด และก่อสร้างให้ดูเหมือนกับเป็นส่วนต่อขยายของโครงสร้างบ้านหลังหลัก ส่วนพื้นที่ว่างใต้ต้นแอ๊ช (จำพวกเดียวกับไม้สน) ขนาด 6 ตารางเมตรนั้น (ซึ่งก็เคยเป็นครัวกลางแจ้งมาก่อน) ถูกดัดแปลงเป็นสนามเด็กเล่นขนาดย่อม ให้เด็กๆ ได้เล่นปีนป่ายกันอย่างสนุกสนาน และทำให้เด็กๆ ได้ปฏิสัมพันธ์กับต้นแอ๊ชที่พวกเขาเป็นเจ้าของร่วมกันด้วย

ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดนี้นั้น ก็ได้ช่วยทำให้ผู้คนในละแวกได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น เนื่องเพราะได้มีพื้นที่ส่วนกลางใหม่ๆ ที่ให้เด็กๆ และผู้ใหญ่ได้มีกิจกรรมร่วมกัน

นับว่าเป็นการปรับโฉมหน้าพื้นที่เดิมจากหน้ามือเป็นหลังมือ จาก private space ให้กลายเป็น public space ที่น่าชื่นชมเลยทีเดียว

RECOMMENDED CONTENT

8.มกราคม.2024

“Epic Worlds” โปรเจ็กต์ภาพยนตร์สั้นสุดพิเศษซึ่งถ่ายทำด้วย Galaxy S23 Ultra สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการสร้างคอนเทนต์โดยใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งการถ่ายทำผ่านขั้นตอนการระดมทุนจากมวลชนก่อนจะนำมาตัดต่อเข้าด้วยกันและเผยแพร่สู่สาธารณะ โดย “Epic Worlds” เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงพลังของการทำงานร่วมกัน