fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#CULTURE — Red Carpet จุดเริ่มต้นของบทสนทนาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในเทศกาลหนังเมืองคานส์
date : 22.พฤษภาคม.2018 tag :

ผ่านไปแล้วกับ 2 สัปดาห์ของเทศกาลหนังเมืองคานส์ งานเทศกาลระดับโลกที่ถูกจับตาตั้งแต่รายชื่อภาพยนตร์ที่ได้ฉายไปถึงดาราเซเล็ปที่ปรากฎตัวบนพรมแดง

สำหรับ Red Carpet ของคานส์ปีนี้คงไม่มีจังหวะไหนจะได้ซีนไปกว่าการถอดรองเท้าของสาว Kristen Stewart อีกแล้ว แม้เจ้าตัวจะไม่ได้ออกมาพูดว่าการถอดส้นสูงครั้งนี้คือการแสดงออกต่อกฏ No Flat หรือจริงๆ แล้วเธอแค่ปวดเท้ากันแน่ แต่มันก็ถือว่าได้สร้างบทสนทนถึงหนึ่งในสาเหตุที่คนบอกว่าคานส์นั้นช่างเป็นเทศกาลที่ บ่มเพาะความเหยียดเพศในสิ่งเเวดล้อม’

ย้อนกลับไปปี 2015 ปีที่ Dress Code ของคานส์ถูกวิจารณ์ครั้งใหญ่ เมื่อเทศกาลปฏิเสธผู้หญิงวัย 50 ปีขึ้นไป หลายคนถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าชมภาพยนต์เรื่อง Carol ด้วยเหตุผลว่า พวกเธอไม่สวมรองเท้าส้นสูง เเม้ Thierry Frémaux ผู้อำนวยการของเทศกาลจะออกมาปฏิเสธว่าข้อกำหนดเรื่องส้นสูงนั้นเป็นเพียงข่าวลือที่หาที่มาไม่ได้ แต่เหตุการณ์นั้นมันเหมือนเป็นการจุดประกายให้ดาราคนดังมากมายออกมาพูดถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศในงานเทศกาลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในวงการภาพยนตร์

Kate Muir อดีตหัวหน้านักเขียนวิจารณ์ภาพยนต์ของนิตยาสาร Times ได้วิจารณ์เทศกาลนี้ไว้ว่า “คานส์เป็นเหมือนช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่มีไว้สำหรับชื่นชมมันสมองของผู้ชายและความงามของผู้หญิง การเดิมพรมเเดงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้อย่างดี”

Kristen Stewart เองก็เคยพูดถึง Dress Code ของคานส์ไว้ว่า “ทุกคนจะดูโกรธมากถ้าคุณไม่ใส่รองเท้าส้นสูง แต่ชั้นรู้สึกว่าผู้คนไม่ควรถามอะไรแบบนั้นกันอีกแล้ว คือถ้าคุณไม่บอกให้ผู้ชายสวมส้นสูงและใส่เดรส คุณก็มาบอกฉันไม่ได้เหมือนกัน”

ชุดเดรสและรองเท้าส้นสูงการเป็นสัญญะของการเลือกปฏิบัติของเทศกาล การเดินพรมแดงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเห็นความไม่เท่าเทียมได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่แท้จริงเเล้วเรื่องใหญ่ที่ทำให้เทศกาลนี้ถูกค่อนแคะว่า ‘บ่มเพาะความเหยียดเพศในสิ่งเเวดล้อม’ คือสัดส่วนของภาพยนตร์ที่กำกับโดยผู้หญิงกับผู้ชายที่ต่างกันจนน่าตกใจ

82 ต่อ 1688 หรือ 5% คือสัดส่วนของภาพยนตร์ที่กำกับโดยผู้หญิงที่ได้เข้าชิงรางวัล Palme d’Or ตลอดระยะเวลา 71 ปีที่ผ่านมา

Cate Blanchett นักแสดงหญิงและประธานคณะกรรมการของคานส์ปีนี้บอกไว้ว่า “ขณะที่มีภาพยนตร์ซึ่งผู้กำกับโดยผู้ชาย 1688 เรื่องเข้าชิงรางวัลอันทรงเกียรตินี้ กลับมีภาพยนตร์ที่กำกับโดยผู้หญิงเพียง 82 เรื่องที่ได้รับโอกาสเดียวกัน” 

ในปีนี้ดูเหมือนว่าคานส์จะไม่สามารถทำทีมองข้ามสัดส่วนที่ชัดเจนนี้ได้อีกต่อไป เมื่อนักแสดง ผู้กำกับ ผู้เขียนบท และผู้หญิงที่มีบทบาทในวงการภาพยนตร์จำนวน 82 คนได้เปลี่ยนการเดินพรมแดงให้เป็นการเดินขบวนเพื่อเเสดงจุดยืนเชิงสัญลักษณ์ต่อความไม่เท่าเทียมในเทศกาลรวมถึงวงการภาพยนตร์ โดย Cate Blanchett ได้กล่าวแถลงการถึงการเดินขบวนครั้งนี้ไว้ว่า 

“ผู้หญิงไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยของโลกใบนี้ แต่ในวงการภาพยนตร์กลับตรงกันข้าม ในฐานะของผู้หญิงเราต้องเผชิญกับความท้าทายที่แตกต่างกันไป แต่ในวันนี้เราทุกคนมายืนหยัดบนบันไดเเห่งนี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นและความตั้งใจในกระบวนการนี้ (5050×2020) เรายืนหยัดร่วมกับผู้หญิงทุกคนในวงการนี้เพื่อขอให้ที่ทำงานของเราเปิดรับความแตกต่างและความเท่าเทียม เพื่อให้เราสามารถสะท้อนโลกที่เราอาศัยอยู่ได้ตามความเป็นจริง เรายอมรับทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ขั้นบันไดสำหรับอุตสาหกรรมของเราสามารถเข้าถึงได้ทุกคน”

แม้ตั้งแต่แรก Thierry Frémaux ผู้อำนวนการของเทศกาล จะปฏิเสธว่าการคัดเลือกภาพยนตร์นั้นไม่ได้สนใจเรื่องเพศ แต่ดูที่คุณภาพของภาพยนตร์เป็นหลัก แต่เขาก็ได้เซ็นต์สัญญาเรื่องการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมของทุกเพศในเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งต่อๆ ไปกับองค์กร 5050×2020 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่ง Cate Blanchett เองก็ได้กล่าวขอบคุณ Frémaux ไว้ว่า “ถ้าเขาคือส่วนหนึ่งของปัญหา เขาก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาเช่นกัน”

เรามั่นใจว่าพรมแดงของคานส์ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อให้ผู้กำกับ ดารา นักแสดงแต่งตัวสวยหล่อมาเดินเฉิดฉายให้ช่างภาพถ่ายรูปก่อนเข้าไปดูหนังเท่านั้น แต่มันยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดคำถาม เกิดความสงสัย เป็นพื้นที่ที่มีไว้เพื่อแสดงจุดยืนของผู้คนมากมาย

ถ้าพรมแดงของคานส์คือจุดเริ่มต้นถึงข้อถกเถียงเรื่องปัญหาความไม่เท่าเทียม เราหวังว่ามันก็คงจะเป็นพื้นที่ที่สร้างการตระหนักและการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมได้เช่นกัน

RECOMMENDED CONTENT

30.เมษายน.2021