fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#VISIT : ‘Based On True Stories’ เรื่องจริงไม่อิงนิยาย ตามสไตล์ Juli Baker และ เตว-จารุวัฒน์
date : 11.กันยายน.2018 tag :

ยุคแม่งอนที่ปารีส

เรา “ภาพวาดแบบนี้มีชื่อเรียกในทางศิลปะมั้ย”

เธอ “เรียกว่าศิลปะแบบยุคแม่งอนที่ปารีส”

เรา “ฮะ?!”

เธอ “ไม่ต้องไปหาในกูเกิลนะ ไม่เจอหรอก”

เรา “………..”

และเราอีกรอบ “………..”

จุดเริ่มต้นของบทสนทนามึนๆ ตามมาด้วยการเม้าต์มอยชาวบ้าน (อีกแล้ว!) ระหว่างเรากับ ป่าน – ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา หรือนักวาดภาพอิสระที่หลายคนรู้จักในชื่อ Juli Baker and Summer และ เตว – จารุวัฒน์ น้อมรับพร ศิลปินที่เราเคยไปเยี่ยมเยือนใน Jaruwat : Mostly People นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขาเมื่อไม่นานมานี้

Based On True Stories คือนิทรรศการครั้งที่ 2 ของ เตว- จารุวัฒน์ ที่โชว์คู่กับ ป่าน Juli Baker ซึ่งคราวนี้เป็นโชว์ครั้ง 3 ของเธอก็จริง แต่งานของ Juli Baker ที่ทั้งทำร่วมกับแบรนด์และงานส่วนตัวนั้นเหมือนว่าจะอยู่ในสายตาเรามาตลอด และคงนับนิ้วไม่ถ้วนเเน่ๆ ว่าเธอทำอะไรบ้าง แต่เราก็ยังไม่เคยมีโอกาสได้เจอเธอจริงๆ เสียที  จนกระทั่งวันนี้ที่แกลเลอรี่ Yelo House ชวนเพื่อนซื้ในชีวิตจริงคู่นี้มาแสดงงานพร้อมกันซะเลย

ทำ– ก่อน– คิด

“ถ้าในแง่ของการทำงาน ป่านทำงานมานานกว่าเราอีกนะ แต่เราก็คุยเล่นกันแบบนี้แหละ ไม่ถึงกับต้องคลานเข่าเข้าหากันแบบ ‘คุณป่านคะ’ ขนาดนั้น” คู่หู Duo ในโชว์และในชีวิตจริงเริ่มเม้าต์มอย

วิธีการทำงานในโชว์ครั้งนี้คือทั้ง 2 ต่างคนต่างวาดรูปอยู่แล้ว พอ Yelo House ชวนมาทำโปรเจ็กต์ จึงค่อยเอาที่วาดไว้มารวมกัน แล้วค่อยมาคิดคอนเซ็ปต์เอาทีหลัง แต่จริงๆ ทั้งคู่ก็บอกว่ามันไม่ได้มีคอนเซ็ปต์อะไรมากหรอก  

เตวบอกกับเราว่า กระบวนการคิดของเขาต่างกับคนที่เรียนกราฟิกดีไซน์ หรือเรียนโฆษณามา พวกนั้นจะมีกระบวนการคิดอีกแบบหนึ่ง คือคิดคอนเซ็ปต์เรื่องที่จะเล่าก่อน วางสตอรี่นู่นนี่ แล้วค่อยสร้างงาน แต่ตัวเขา พอเห็นอะไรที่เป็นวัตถุดิบได้ก็ลงมือวาดเลย ไม่ได้เริ่มทำงานจากคอนเซ็ปต์ แล้วกระบวนการนี้ดันเป็นการทำงานที่คล้ายกับป่าน ซึ่งเขาเรียกมันว่าการ ‘ไหลไปเรื่อยๆ’

วิธีการคิดนี้ไม่ถึงกับทำให้งานหลุดธีมหรือไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิงขนาดนั้น สิ่งที่มันจะทำให้งานหลุดจากกันบ้าง สำหรับตัวเขา อาจเป็นการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ ทางความคิดในแต่ช่วงวัยหรืออายุการทำงานมากกว่า เพราะทั้งเตวและป่านก็ยังวาดจากวัตถุดิบเดิมที่พวกเขาสนใจอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ หรืออะไรก็ตามที่ผ่านเข้ามาในหัวและในแว่นสายตาของทั้งคู่  

พวกเขาแค่ไปนั่งอยู่ในสวน เห็นต้นไม้ เห็นคน หรืออาจจะเห็นแมวสักตัว แล้วก็วาดออกมา

เกาหลี (เหนือ)

“เนี่ย สาวเกาหลีในร้านกาแฟ เกาหลีเหนือ ดูมีประเด็นขึ้นมาทันทีมั้ย ฮ่าๆ”

ป่านเดินมาบอก ขณะเรากำลังดูภาพไปเรื่อยๆ ทำให้เราต้องหันกลับวิเคราะห์ภาพนั้นอย่างจริงจังอีกรอบว่าเป็นสาวเกาหลีเหนือจริงหรือเปล่า!

งานของทั้งคู่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัว ไม่ได้มีประเด็นสังคมมากมายนักอย่างที่ศิลปินบางคนมักจะหยิบมาเล่า ป่านบอกว่าจริงๆ แล้วเตวเป็นคนมีสาระและซีเรียสพอตัว เขาจะชอบอ่านหนังสือหนักๆ เรื่องสังคม การเมือง อะไรของเขาอยู่เหมือนกัน 

เมื่อเราหันมาถามเตวว่า อยากลองสร้างงานอะไรที่ได้ระบายความคิดเกี่ยวกับสังคมหรือการเมืองบ้างไหม เขาบอกว่าตอนนี้ยังไม่ได้อยากจะวาดเรื่องพวกนั้น ซึ่งเขาก็ไม่แน่ใจว่ามันจะทำให้เขาดูเป็นคนที่สนใจเฉพาะเรื่องของตัวเองหรือเปล่า แต่เราแอบเห็นด้วยกับเขาอย่างหนึ่งว่า เป็นธรรมดาที่เรื่องเล่า และวิธีการเล่าเรื่องของศิลปินแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน

“แค่อยากให้ดูสนุก ไม่ต้องพยายามเข้าใจมันก็ได้” เขาว่า

งานของเขาก็อาจเป็นสุนทรียภาพอีกแบบหนึ่ง และเราก็แค่เสพสุนทรียภาพนั้น… เท่านั้นเอง

“เหมือนว่าคล้ายๆ คล้ายๆ ว่าจะเหมือน”

ระหว่างเราเดินดูภาพวาดเต็มเรียงรายกำแพง เอาจริงๆ งานของทั้งคู่คล้ายกันมากจนแทบแยกไม่ออกหากไม่สังเกตดีๆ ทั้งเส้นสายฉวัดเฉวียน และเส้นสีฉูดฉาด ทว่าลึกลงไปในรายละเอียด อารมณ์ในงานของ 2 คนนี้ แทบเป็นคนละเรื่องกันเลย

งานของเตวยังเหงาเหมือนเดิม และยังดำเนินเรื่องด้วยบุคคล บรรยากาศเงียบเชียบ พูดน้อย ครุ่นคิด คล้ายมีบางอย่างปริ่มอยู่ในใจ ราวกับว่ามีแค่ตัวเขากับคนในภาพเท่านั้นที่ได้ยินบทสนทนาระหว่างกัน ขณะที่งานของป่านดูสดใสไม่ต่างกับสีที่เธอใช้ เหมือนภาพวาดของเด็ก อย่างที่บางคนนิยามงานเธอว่า ‘Naive Art’ ดำเนินเรื่องด้วยคนบ้าง แมวตลกๆ บ้าง มีความอารมณ์ดีอยู่ในนั้น ซึ่งครั้งนี้มีแค่ภาพวาด ไม่ได้มีงานอินสตอลเลชั่นให้เล่นจุกๆ จิกๆ เหมือนโชว์ Please Make Yourself at Home ครั้งที่ผ่านมาของเธอ

ก่อนลากลับ เราถามป่าน Juli Baker ว่า รู้สึกยังไงที่เตวมักจะบอกใครๆ ว่าป่านเป็นแรงบันดาลใจในการใช้สีของเขา

“เราบอกป่านตลอด แต่ป่านไม่เชื่อ”

เธอว่าไม่เห็นจะเกี่ยวกับเธอเลย –นั่นแหละเหตุผลของป่าน

“มันอาจจะเป็นเพราะเรามีอะไรบางอย่างเหมือนกัน ที่ทำให้เราเป็นเพื่อนกันได้มั้ง”

“ใครบอกว่าฉันอยากเป็นเพื่อนเธอ!” ป่านได้กล่าวไว้  

ถ้าให้เราวิเคราะห์แบบเร็วๆ ก็อาจเป็นไปได้ว่า Based On True Stories คือความเหมือนในความแตกต่าง ในความแตกต่างมีความเหมือน ในความไม่เหมื..พอ!

สรุปคือ เราอยากให้คุณมาแยกแยะความเหมือน ความไม่เหมือนนี้ด้วยตาตัวเองจะดีกว่า

นิทรรศการ Based On True Stories 

https://www.facebook.com/events/480499305802075/?active_tab=discussion

จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – 23 กันยายน 2561

ที่ Yelo House ซอยเกษมสันต์ 1 ถนนพระราม 1 (BTS สนามกีฬาแห่งชาติ)

https://www.facebook.com/yelohouse/

RECOMMENDED CONTENT

14.ธันวาคม.2020

‘School Town King’ แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน เป็นหนังสารคดีที่สร้างจากเรื่องจริงของ ‘บุ๊ค’ เด็กหนุ่มวัย 18 และ ‘นนท์’ วัย 13 ผู้เติบโตมาในชุมชนคลองเตย หรือที่ใครๆ ต่างรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘สลัมคลองเตย’ นอกจากความยากจนที่มาพร้อมกับสถานะทางสังคมที่เลือกไม่ได้แล้ว ทั้งบุ๊คและนนท์ยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับระบบการศึกษา รวมทั้ง หลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นแต่ความสำเร็จเชิงวิชาการก็ยิ่งทำให้เด็กเรียนไม่เก่งอย่างพวกเขาขาดความสนใจในชั้นเรียนลงไปเรื่อยๆ  ระบบการศึกษาที่น่าจะเป็นความหวังและเท่าเทียมกันของเด็กทุกคน กลับยิ่งบีบบังคับและผลักไสให้พวกเขาเป็นแค่ ‘คนนอก’ ของสังคมไปโดยปริยาย