fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#EXHIBITION — เส้นทางของความแตกต่าง ค้นหาตัวตน สู่การเยียวยาและพลังที่พาให้ชีวิตคุณก้าวต่อไปใน ‘ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination’
date : 5.มิถุนายน.2018 tag :

ประเทศไทยต้อนรับเดือนแห่งความหลากหลาย หรือ Pride Month ด้วยสารพัดดราม่าที่เกี่ยวกับเพศภาวะและเพศวิถี ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเเปลกสักเท่าไหร่ แม้หลายๆ คนจะบอกว่าเมืองไทยคือเมืองสีรุ้ง เป็นหนึ่งในประเทศที่เปิดกว้างด้านความหลากหลายทางเพศมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

แต่ดูเหมือนว่าดราม่าต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ (และตลอดเวลาที่ผ่านมา) จะเป็นการตอกย้ำว่า จริงๆ เเล้วเมืองไทยนั้นแค่ตระหนักรู้ถึงการมีตัวตนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ไม่เคยทำความเข้าใจ แถมยังมีแนวโน้มการยอมรับกลุ่มเพศดังกล่าวลดน้อยลงหรือแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตเลยอีกด้วย

การจะทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าคุณอยากเรียนรู้หรือพร้อมที่จะทำความเข้าใจ เราว่านิทรรศการ ‘ชาย หญิง สิ่งสมมติ : Gender Illumination’ ที่กำลังจัดขึ้นในตอนนี้ ที่มิวเซียมสยาม เป็นหนึ่งในนิทรรศการที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราว ความหมาย ค่านิยมทางสังคม การมีอยู่ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ความเข้าใจและมุมมองความหลากหลายทางเพศในสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

‘ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination’ อธิบายและนำเสนอความหลากหลายผ่านโซนต่างๆ อย่างเช่น เขาวงกตแห่งเพศ ที่เริ่มกระตุกต่อมคิดมายาคติทางเพศตั้งแต่ทางเข้า ในรูปแบบของทางวงกตที่มีคำต่างๆ ซึ่งถูกใช้ในสังคมไทยเพื่อกรอบความคิดเรื่องเพศว่าคำใดสะท้อนความเป็นเพศหญิง คำใดสะท้อนความเป็นเพศชาย เช่น เพศแม่ รักนวลสงวนตัว กุลเกย์ ชายชาตรี

เมื่อเดินเข้ามาในนิทรรศกาลเราก็เจอกับ โมเดลมนุษย์ขนมปังขิง ที่มาช่วยให้เราเข้าใจคำว่า ‘เพศ’ นำเสนอความเชื่อมโยงระหว่าง สำนึกทางเพศ การแสดงออก เพศกำเนิด และความรู้สึกทางเพศ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลง ลื่นไหล และไม่ต้องเป็นไปตามแบบแผนของสังคม

รวมไปถึง ห้องน้ำไร้เพศ พื้นที่ที่นำเสนอการแบ่งกล่องแห่งเพศซึ่งจำกัดแค่ความเป็นชายและหญิงในที่สาธารณะจากการใช้ห้องน้ำ พร้อมข้อความกระตุ้นความคิด จะดีกว่าหรือไม่ หากมีห้องน้ำไร้เพศในที่สาธารณะ

อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือ บันทึกเพศสยาม ซึ่งนิทรรศการได้ร้อยเรียงประวัติศาสตร์การเริ่มขึ้นของความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงปัจจุบัน ผ่านแผนผังไทม์ไลน์เหตุการณ์ที่สำคัญ พร้อมเรียนรู้เรื่องราวของสื่อต่างๆ อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ โปรแกรมแชท โซเชียลมีเดีย

และส่วนที่เรียกว่าไฮไลต์ของนิทรรศกาลครั้งนี้คือ ฉากชีวิต โซนจัดแสดงที่รวบรวมวัตถุจัดแสดงจากผู้คนจริงๆ กว่า 100 ชิ้น ซึ่งวัตถุทุกชิ้นต่างก็มีเรื่องราวเบื้องหลังที่เกี่ยวข้องกับการค้นพบตัวตน ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ของสะสม สิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สิ่งของที่แสดงถึงเหตุการณ์สำคัญ

ซึ่งสะท้อนการใช้ชีวิตการดำเนินชีวิตของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ วัตถุบางชิ้นเรามองเห็นความกดทับ การไม่ยอมรับ ความไม่เข้าใจ แต่วัตถุหลายชิ้นเราก็มองเห็นความสุข ความรัก การเยียวยา และแรงบันดาลใจที่เป็นเหมือนพลังให้เราอยากก้าวเดินต่อไปออกจากตู้เสื้อผ้าแห่เพศสภาพ

การชมนิทรรศการ ‘ชาย หญิง สิ่งสมมติ : Gender Illumination’ มันเหมือนกับการปอกเปลือกของเหล่าถ้อยคำที่ถูกประกอบสร้าง ที่กลายเป็นป้าย เป็นการตีตรา เป็นบรรทัดฐานทางสังคม เมื่อเราปอกไปเรื่อยๆ เเล้วเราจึงพบว่าความหลากหลายทางเพศนั้นมันลื่นไหล มันไม่มีแก่นแท้ ไม่มีความจริงอะไร บางทีบนโลกนี้อาจไม่มีเพศหญิง เพศชายหรือเพศอื่นใด เพราะความเป็นชาย เป็นหญิง นั้นเป็นเพียงสิ่งสมมุติ

นิทรรศการ
‘ชาย หญิง สิ่งสมมติ : Gender Illumination’

เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 กันยายน 2561
วันอังคาร–วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์)
เวลา 10.00–18.00 น.

ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ
โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

www.museumsiam.org

RECOMMENDED CONTENT

28.ตุลาคม.2020

khai dreams นักร้องนักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ หลังจากปล่อยซิงเกิล “Sunkissed” จาก EP Now and Then จนได้รับการสตรีมไปแล้วมากกว่า 85 ล้านครั้ง และถูกนำใช้ในคลิปวิดีโอบน TikTok มากกว่า 300,000 รายการคลิป