fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#ART — ลงลึกถึงงานศิลปะระดับท้องถิ่น : ธง Tairyo-bata ของชาวประมงในญี่ปุ่น ที่แบรนด์สตรีทแวร์สุดฮิตอย่าง visvim กำลังสนใจ และอาจกลายเป็นไอเท็มใหม่ในไม่ช้า
date : 14.ธันวาคม.2017 tag :

visvim คือชื่อของแบรนด์สตรีทแวร์ที่กำลังมาแรงมาก ก่อตั้งโดย Hiroki Nakamura มาตั้งแต่ปี 2000 โดดเด่นเรื่องรองเท้าบูทหนังกวางสุดเนี้ยบที่สายสตรีทต้องมีติดบ้านไว้อย่างน้อยหนึ่งคู่ และกลายเป็นไอเท็มสุดคลาสสิกที่ไม่ว่า visvim ทำออกมาเมื่อไหร่ ก็ต้องมีคนจ้องและจับจองกันอย่างรวดเร็ว

visvim มีร้าน boutique stores สาขาหลักอยู่ในญี่ปุ่นและฮ่องกงรวมแล้ว 10 สาขา และส่งขายไปยังรีเทลเลอร์อีกกว่า 111 ช้อปทั่วโลก รวมถึงอย่าง Bergdorf Goodman ในนิวยอร์ค และ Dover Street Market ในลอนดอน

เอกลักษณ์ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งที่ Hiroki Nakamura สนใจและเลือกจับมันมาใช้เป็นแรงบันดาลใจเป็นพิเศษ นั่นก็คืองานศิลปะแขนงต่างๆ ของญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม และแน่นอนว่ามันกำลังจะเลือนหายไปจากกระแส แต่ visvim ก็สามารถทำมันให้กลายเป็นกระแส เพราะนำมาจับเข้ากับความป็อบของสตรีท และกลายเป็นไอเท็มบ้านๆ แต่ถ้ามีติดบ้านไว้ก็ถือว่าแสนเก๋และเท่มาก เหมือนอย่างที่ Supreme ทำไว้กับไอเท็มต่างๆ ในชีวิตประจำวันของชนอเมริกันนั่นเอง

ทาง visvim เพิ่งลงคอนเท้นต์ในเว็บไซต์ official ไป และพูดถึงเรื่องงานศิลปะชาวบ้าน แต่แสนเก๋และเท่มากอย่าง ‘Tairyo-bata’ (ทาอิเรียวบาตะ) ธงลวดลายสีสันสดใส ที่ชาวประมงมักจะชักขึ้น เพื่อแสดงออกและเฉลิมฉลองไปทั่วน่านน้ำว่า วันนี้จับปลาได้เป็นจำนวนมาก

ในยุคปัจจุบัน เรามักจะเห็นธง Tairyo-bata นี้อยู่ตามร้านอาหารที่มีจานหลักเป็นปลาและวัตถุดิบจากทะเล หน้าตาของมันมักจะมาในรูปแบบของแพทเทิร์นคลื่น เรือ ปลา มีการเขียนชื่อเรือลงไป ทั้งหมดทั้งมวลจะถูกวาดด้วยสีสดใส เพื่อให้โดดเด่นเห็นชัดมาแต่ไกล และถ้าหากสังเกตหลายๆ ธงดีๆ เราจะพบสัญลักษณ์แห่งความโชคดี อาทิ พระอาทิตย์ขึ้น เต่า ปั้นจั่นยกแห รวมถึงภูเขาไฟฟูจิ ที่มักมาในขนาดใหญ่กว่า 1 เมตร

ธง Tairyo-bata เป็นธงสัญลักษณ์ที่ช่วยในการบอกตำแหน่งของเรือ รวมถึงบอกแหล่งทำประมง ว่าตรงไหนมีปลามาก ในยุคที่ยังไม่มีวิทยุสื่อสาร ธงนี้ยังเป็นสัญญาณที่ใช้บอกคนบนฝั่งด้วยว่า ให้เตรียมตัวเตรียมอุปกรณ์เอาไว้สำหรับจัดการปลาเหล่านี้ได้เลย แต่ถ้าวันนั้นได้ปลาน้อย ธงสีขาวก็จะถูกชักขึ้นมาแทน ธง Tairyo-bata นี้มักเป็นธงที่มอบให้โดยเพื่อนฝูงชาวประมงทั้งหลาย เพื่อเป็นของขวัญเนื่องในวาระของการออกเรือครั้งแรกอีกด้วย

ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าธง Tairyo-bata นี้มีมาตั้งแต่สมัยไหน แต่จากเรื่องเล่าปากต่อปากทุกคนต่างบอกว่ามีมาตั้งแต่สมัยเอโดะ และลวดลายของธงมีเพียงแค่สีแดงล้วน และขาวล้วน ซึ่งทำจากวัสดุใยกัญชงเท่านั้น ว่ากันว่าลวดลายนั้น เพิ่งมาเริ่มต้นมีหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่เอง และปัจจุบันเมื่อมีวิทยุสื่อสาร ธงเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป กลายเป็นธงที่ใช้ในวาระสำคัญ เช่น การออกเรือลำใหม่ เทศกาลปีใหม่ และติดในร้านอาหารเพื่อแสดงว่ามีวัตถุสดใหม่เท่านั้น

ทีมออกแบบของ visvim เดินทางไปยังเมืองชิสุโอะกะ เพื่อพบกับ Hiroyuki Takahashi ทายาทรุ่นที่สามของโรงงานทำธง Tairyo-bata ที่หลงเหลืออยู่เพียงแค่สองแห่งเท่านั้น Hiroyuki เล่าว่า เข้ายังจำภาพของพ่อได้ดี กับการต้องทำงานหนักทุกคืนมาตั้งแต่ช่วงปี 1960s ในยุคนั้น ท่าเรือ Yaizu ของเมืองนั้นคับคั่งไปด้วยเรือจับปลาในจำนวนนับไม่ถ้วน

กรรมวิธีการผลิตธง Tairyo-bata ที่ทาง Hiroyuki ทำนั้นยังคงสืบสานขั้นตอนเหมือนที่คนรุ่นก่อนๆ ทำ ผืนผ้าสำหรับทำธงถูกกางแบหราลอยอยู่กลางห้อง ก่อนที่ Hiroyuki จะทำการวาดลวดลายสีสดใสลงไป ที่มีทั้ง แดง เขียว ฟ้า และดำ สำหรับการตัดเส้น ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลาหลายวัน เมื่อวาดเสร็จ ต้องนำไปตากแดดให้สีแห้งและซึมลงเนื้อผ้าอย่างเต็มที่ ก่อนที่จะนำไปซักเพื่อลบลายเส้นร่างออก ตากแดดอีกหนึ่งครั้ง เป็นอันเสร็จ

นอกจากนี้ โรงงานแห่งนี้ยังผลิตธงประเภทอื่นๆ เช่น ธงสำหรับทีมกีฬาประเภทต่างๆ และอื่นๆ รวมถึงยังเปิดเวิร์กช้อป เพื่อให้ผู้ที่สนใจและนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสได้ลองทำหัตถกรรมพื้นบ้านญี่ปุ่นชิ้นนี้

น่าเสียดายที่เมื่อเดือนมิถุนายน 2016 Hiroyuki Takahashi ได้เสียชีวิตลง และกลายเป็นคำถามว่า งานศิลปะชาวบ้าน ที่ส่งผ่านเรื่องราวความร่ำรวยทางวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติชิ้นนี้ จะยังคงอยู่และมีคนสานต่อหรือไม่

คำตอบคงอยู่ในสายลมที่กำลังพัดธง Tairyo-bata ปลิวไสวอยู่ในเวิ้งอ่าว Yaizu